ปริศนาชาไทย! เราดื่มชากันตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วใครเป็นคนคิดค้นชานม?

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถึงช่วงนี้ฝนจะกระหน่ำตกแทบไม่เว้นวัน แต่อากาศก็ยังร้อนแรงเหมือนเดิม ถ้ามีชาเย็นสักแก้วมาดับกระหายก็คงจะดีไม่น้อยเลยใช่มั้ยล่ะคะ?

แต่เอ๊ะ...พูดถึงชาแล้ว มีใครทราบมั้ยคะว่าเจ้าเครื่องดื่มยอดฮิตนี้มันมาจากไหน? ทำไมถึงได้ครองใจคนไทยทุกสภาพอากาศแบบนี้? พี่พันตาไม่ปล่อยให้น้องๆ สงสัยนานแน่นอนค่ะ เพราะเราได้ทำการรีเสิร์ชมาเรียบร้อยแล้วว ><  แอบกระซิบว่าเรารับชามาจากหลายที่เลยทีเดียว ถ้าอยากรู้ก็ตามมาเลยค่า~

………………

สมัยอยุธยาก็ดื่มชากันแล้ว!

ภาพโดย Ulrike Leone จาก Pixabay
ภาพโดย Ulrike Leone จาก Pixabay

         อันที่จริงพี่ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าคนไทยเริ่มดื่มชามาตั้งแต่เมื่อไหร่ (แฮะๆ) เพราะเราขาดหลักฐานที่ระบุเรื่องนี้แบบชี้ชัด บางเสียงก็บอกว่าเราดื่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว บ้างก็ว่าไม่ใช่ แต่ที่เริ่มแล้วชัวร์ๆ คือสมัยอยุธยาค่ะ อ้างอิงจากบันทึกของมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Monsieur de La Loubere) ที่เขียนไว้ว่าชาวสยามนิยมดื่มชาเพื่อความเพลิดเพลิน และยังดื่มมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำเปล่าอีกต่างหาก!

         แต่การบริโภคชาของชาวสยามก็สวนทางกับสภาพภูมิประเทศซะอย่างนั้น เพราะที่นี่ไม่เหมาะกับการปลูกชาสักเท่าไหร่ และพื้นที่ใกล้เคียงที่พอจะปลูกได้ก็มีแต่พื้นที่ของอาณาจักรล้านนา (ภาคเหนือในปัจจุบัน) นั่นเองค่ะ แม้จะมีคนล้านนาบางกลุ่มที่บริโภคชา ทว่าลักษณะการบริโภคของชาวล้านนาคือการหมักทำเป็นของขบเคี้ยวที่เรียกว่า “เมี่ยง” ซึ่งการทานเมี่ยงนั้นอยู่ในวงจำกัดมากๆ ดังนั้นส่วนใหญ่ชาวสยามจึงนิยมสั่งชาจากประเทศจีนแทนค่ะ

         นอกจากนี้ชาวสยามยังมองว่า ‘ชาจีนชั้นดี’ ถือเป็นเครื่องดื่มทรงคุณค่าและของหรูหรา เห็นได้จากการที่จักรพรรดิจีนส่งถ้วยชาจีนและชาชั้นเยี่ยมให้กษัตริย์สยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และกษัตริย์สยามเองก็เลือกที่จะส่งชาเหล่านั้นให้ประเทศตะวันตกต่ออีกทอดเพื่อแสดงความเป็นมิตรเช่นกัน

เมื่อชาตะวันตกเยือนกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพโดย Terri Cnudde จาก Pixabay
ภาพโดย Terri Cnudde จาก Pixabay

         ถึงชาวสยามจะชอบชาจีนเอามากๆ จนดูเหมือนจะไม่เปิดใจให้ชาตะวันตก แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 สยามก็เลิกส่งเครื่องบรรณาการให้จีนค่ะ และยุคนี้ก็เกิดสัญญาการค้ากับตะวันตกหลายฉบับ ทำให้ชนชั้นนำของสยามเริ่มรับการดื่มชาแบบอังกฤษเข้ามา

         แต่การดื่มชาจีนก็ไม่ได้หายไปไหนนะคะ เพราะความนิยมชาอังกฤษก็กระจุกตัวอยู่แค่ในกลุ่มชนชั้นนำ และสยามเองก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนที่ทำธุรกิจนำเข้าชามาอยู่ดี (พร้อมทั้งผู้อพยพชาวจีนอีกเพียบ) น้องๆ รู้มั้ยว่าสมัยนั้นมีหลักฐานว่าร้านชาจีนเคยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยนะ เรียกได้ว่าต่อให้รัฐไม่ส่งเครื่องบรรณาการแล้วยังไงชาวสยามก็ต้องเห็นชาจีนผ่านตากันบ้างแหละ

เสพเยอะขนาดนี้ แล้วคนไทยปลูกชาเองไหมนะ?

ภาพโดย Drew Jammettจาก Pixabay
ภาพโดย Drew Jammettจาก Pixabay

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นเลยค่ะว่าที่ไทยเราปลูกชาได้แค่เฉพาะภาคเหนือเท่านั้น ซึ่งก็เป็นชาที่นำเข้าจากหลายที่มาตัดแต่งและปลูกเป็นใบเมี่ยงเป็นของตัวเอง และถึงจะมีอยู่เป็นร้อยๆ ปี แต่ธุรกิจปลูกชาก็ไม่ค่อยจะนิยมเท่าไหร่ค่ะ จนกระทั่งปี 2480 ที่เกิดบริษัทใบชาตราภูเขาขึ้น ทางบริษัทเห็นว่าใบเมี่ยงที่รับซื้อมาจากคนในพื้นที่ไม่ได้คุณภาพ จึงจัดหาชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีความรู้เข้ามาจัดอบรม

แต่การปลูกชามาบูมจริงๆ ก็ตอนเกิดโครงการสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยบริเวณภาคเหนือหันมาปลูกชาแทนฝิ่นค่ะ โดยชาชนิดสำคัญที่ใช้ปลูกคือ ‘ชาอู่หลง’ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนกล้าพันธุ์จากไต้หวัน เพราะฝั่งนั้นเขาต้องการให้ต้นชากับชาวแม่สลองที่เป็นลูกหลานของจีนคณะชาติ กองพลที่ 93 (ก๊กมินตั๋ง) 

อ้าว แล้วเมืองไทยมีลูกหลานของก๊กมินตั๋งอยู่ด้วยเหรอ? 

Wellcome Collection gallery (2018-04-05)
Wellcome Collection gallery (2018-04-05)

ก็ต้องย้อนนนกลับไปอีกค่ะว่าเมื่อปี 2492 พรรคก๊กมินตั๋ง (ไต้หวัน) แพ้เหมาเจ๋อตุง (จีนแผ่นดินใหญ่) จึงเกิดการไล่ล่ากองกำลังของก๊กมินตั๋งขึ้น พวกเขาก็เลยต้องหนีการไล่ล่าลงมาทางใต้เรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อปี 2504 กองทหารก๊กมินตั๋งราวๆ 5,000 กว่าคนพร้อมลูกหลานจึงตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ที่ดินแดนแม่สลองในประเทศไทยนี้เอง

ไต้หวันถือว่าเป็นหนึ่งในดินแดนตัวท็อปเรื่องชามาช้านานเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเค้ามีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับชาโดยเฉพาะอย่าง Tea Manufacture Experiment Station (TMES) (ปัจจุบัน: Tea Research and Extension Station (TRES)) ขึ้นเพื่อใช้คัดเลือกและตัดแต่งพันธุ์มาตั้งแต่ปี 1903 (พ.ศ.2446) โดยชาหลายๆ ตัวจากที่นี่ก็ถูกส่งมายังประเทศไทยโดยเฉพาะ (ที่สถานีอ่างขางและฝาง) เกิดเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมชาไทย จนปัจจุบันบริเวณภาคเหนือของเราก็ได้กลายเป็นแหล่งผลิตชาคุณภาพแห่งหนึ่งของโลกไปแล้วเรียบร้อย!

ปริศนาชาเย็น เอ๊ย! ชาไทย!!

ภาพโดย Markus Winkler จาก Pixabay
ภาพโดย Markus Winkler จาก Pixabay

ชานม ชาเย็น ชาส้ม หรือ 'ชาไทย' (ใครเรียกชื่อไหนกันบ้าง 5555) ต้องบอกว่าเป็นปริศนาอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วมาจากไหนและใช้วัตถุดิบอะไรกันแน่ รู้แค่ว่าเกิดมาเราก็คุ้นหน้าคุ้นตามันซะแล้ว แต่หลายคนบอกกันว่าจุดเริ่มต้นจริงๆ ของตำนานชาไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามค่ะ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับจอมพล ป.

  • จอมพล ป. เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อกันมาอย่างแน่นอน เพราะท่านมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในชาติอย่างมหาศาลจากแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามนำวิถีชีวิตของตะวันตกมาสู่คนในประเทศ และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยก็เกิดขึ้นในยุคนี้นี่เอง!
  • ด้วยความที่ต้องการผลักดันแนวคิดชาตินิยมควบคู่ไปกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก ย้อนไปสมัยนั้นมีการบัญญัติกฎมากมายที่แปลกมากๆ เช่น ห้ามเคี้ยวหมาก ต้องใส่หมวกแบบชาวตะวันตก ห้ามเล่นดนตรีไทย เป็นต้น รวมถึงเมนูอาหารจานโปรดของใครหลายคนอย่าง ‘ผัดไทย’ ที่ได้กลายเป็น soft power ไปทั่วโลกในทุกวันนี้ ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน
  • และเช่นเดียวกับ ‘ชาไทย’ ที่เราตั้งคำถาม หลายคนจึงมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอีกผลงานในยุคของจอมพล ป. ด้วยเหมือนกันค่ะ
ภาพโดย John Aledia จาก Unsplash
ภาพโดย John Aledia จาก Unsplash

แต่ชาไทยกับจอมพล ป. ก็เป็นแค่ข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งค่ะ เพราะบ้างก็ว่าชาไทยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังมีอีกหลายข้อมูลและทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาไทยอีก เช่น

  • สีส้มจากชาซีลอน - ใบชาซีลอนของศรีลังกาให้สีส้มโดยธรรมชาติ แต่ด้วยราคาแพงมากๆ พ่อค้าแม่ค้าก็เลยหันไปพึ่งสีผสมอาหารแทน บ้างก็ว่าใช้ชาอัสสัมปรุงให้เป็นสีส้มค่ะ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ชาไทยเปลี่ยนไปใช้ชาดำปรุงแล้ว
  • ใส่นมตาม ‘มาซาล่าชัย’ - ชาของทิเบตจะใส่นมจามรีและเนยเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมของทิเบตนี้จะถูกเผยแพร่ไปยังจีน และจีนก็ส่งต่อไปยังอังกฤษ ก่อนจะเผยแพร่ไปอีกหลายพื้นที่ ในส่วนของประเทศไทยนั้น เรารับมาจากมาซาล่าชัย ชาชนิดหนึ่งของอินเดียค่ะ โดยมาซาล่าชัยจะใส่นมและเครื่องเทศ แต่ส่วนของเราเป็นสูตรที่ปรับให้ไม่ใส่เครื่องเทศ
  • หรือจริงๆ แล้วชาไทยก็คือ ‘ชาชัก’ -  ชาของมาเลเซียที่พบเห็นได้ง่ายตามภาคใต้ของไทย เพราะพรมแดนประเทศอยู่ติดกันจึงทำให้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้ง่าย อีกทั้งรสชาติยังคล้ายๆ กันอีก แตกต่างแค่ฝั่งนั้นเขาจะเข้มข้นกว่าและมีฟองที่เกิดจากการเทชาขึ้นลงให้วัตถุดิบเข้ากัน
  • ใส่ไข่มุกตามไต้หวัน - ถึงชาไทยรุ่นแรกๆ จะไม่ใส่ไข่มุก แต่หลังๆ มานี้ก็มีคนนิยมทานกับไข่มุกมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ โดยเจ้าไข่มุกนี่ถูกคิดค้นจากไต้หวันในปี 1988 จากขนมหวานจีนที่เรียกว่าเฝิ่นหยวน (粉圓)
การเก็บเกี่ยวชาในศรีลังกา
การเก็บเกี่ยวชาในศรีลังกา
ภาพโดย  jürgen Scheffler จาก Pixabay

อีกทั้งระหว่างที่ค้นคว้า พี่ยังพบข้อมูลประมาณว่า จริงๆ แล้วชาไทยไม่ได้มีสีส้มหรอกนะ แต่เกิดจากคนไทยไปขายอาหารที่อเมริกาแล้วใส่สีผสมอาหารเพื่อให้ลูกค้าจดจำเมนูนี้ได้ด้วยค่ะ (แต่ส่วนตัวพี่ไม่ค่อยเชื่อสมมติฐานนี้เท่าไหร่ เพราะตั้งแต่เกิดมาพี่ก็เห็นชาไทยสีส้มในทุกที่ของเมืองไทย ซึ่งไม่น่าจะเป็นการหยิบเอาเมนูอาหารไทยในอเมริกันมาใช้ นอกจากนี้แล้วยังมีชาสีส้มอื่นๆ นอกจากชาไทยอีกเยอะ ชาสีส้มจึงดูไม่น่าจะใช่จุดขายขนาดนั้น //แล้วน้องๆ ล่ะคิดว่ายังไงคะ คอมเมนต์บอกได้เล้ย!)

ถึงปริศนาจะเยอะแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ก็คือความนิยมชาจีนในหมู่คนไทยมีส่วนทำให้เกิดชาไทยขึ้น เห็นได้จากคำว่า ‘ชา’ ของเราที่ออกเสียงคล้ายกับ ‘ฉา’ (茶) ที่แปลว่าชาในภาษาจีนนั่นเอง

..........

สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่รู้ที่มาที่แท้จริง แต่เรียกได้ว่าความเป็น ‘ชาไทย’ นั้นหลากหลายและมีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูงมากๆ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นชาสีส้มๆ ที่ครองใจคนทั่วโลกอย่างในทุกวันนี้นั่นเองค่ะ //  แล้วพบกันใหม่กับ Dek-Cult บทความหน้านะคะ บ๊ายบาย~

 ************

sources:https://urbancreature.co/thai-tea/ https://www.tasteofthailand.org/the-origin-of-thai-tea-pulling-cha-chakthe-terik/ https://teacoffee.mfu.ac.th/tc-tea-coffeeknowledge/tc-tea/tc-teahistory.html https://www.foodandwine.com/tea/all-things-you-really-should-know-about-thai-iced-teahttps://www.expique.com/article/traditions-of-drinking-tea-in-thailand/http://steventearoom.blogspot.com/2017/02/12.html?m=1https://www.matichon.co.th/article/news_2280643https://edition.cnn.com/travel/article/bubble-tea-inventor/index.htmlhttps://www.tinroofteas.com/tea-blog/history-adding-milk-teaประวัติศาสตร์ธุรกิจชาพร้อมดื่มในสังคมไทย ทศวรรษ 2530-2550 - เปรมกมล ขุนรัตน์
พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด