ใน 1 วัน เราควรใช้เวลากับโทรศัพท์นานแค่ไหน?

Spoil

  • เวลาเฉลี่ยในการใช้โทรศัพท์ของคนไทยต่อวันสูงเป็น ‘อันดับที่ 7 ของโลก’
  • วัยผู้ใหญ่ไม่ควรใช้โทรศัพท์ที่นอกเหนือจากการทำงานเกิน   ‘2 ชั่วโมงต่อวัน’
  • เราสามารถใช้ ‘ฟีเจอร์วิเคราะห์การใช้งานโทรศัพท์’ เพื่อจำกัดเวลาให้เหมาะสมได้
  • การใช้โทรศัพท์ก่อนเข้านอนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

เราเคยคิดสงสัยกันหรือเปล่า ว่าในแต่ละวันเราใช้โทรศัพท์นานแค่ไหน กี่ชั่วโมงหรือกี่นาที และเวลาที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ต่อวัน งั้นวันนี้พี่จะพามาไขข้อสงสัยนี้กับเรื่องของการใช้โทรศัพท์และ Social Media กันค่ะ!

คนไทยใช้โทรศัพท์กันนานแค่ไหนต่อวัน?

ภาพจาก :  สํานักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ภาพจาก :  สํานักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    จากผลสํารวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ที่จัดทำโดย สํานักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในช่วงต้นปี 2565 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตกันเป็นจำนวน 56.7 ล้านคน (86.6%) และมีโทรศัพท์มือถือไว้ในครอบครองกว่า 62.3 ล้านคน (95.2%) ซึ่งวัยรุ่นอายุ 15 - 24 ปี คือกลุ่มคนที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือสูงที่สุด หรือเท่ากับ ร้อยละ 99.2 เลยทีเดียว

    อีกทั้งผลสำรวจจาก Datareport ยังระบุว่า คนไทยใช้เวลาไปกับโทรศัพท์เฉลี่ยมากถึงวันละ 9 ชั่วโมง 6 นาที  และนับเป็นประเทศที่มีการใช้โทรศัพท์มากที่สุดเป็นลำดับที่ 7 จากเกือบทุกประเทศทั่วโลกเลยด้วย

แล้วเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้โทรศัพท์คือเท่าไหร่?

ภาพจาก www.freepik.com
ภาพจาก www.freepik.com

    ทุกคนคงสงสัยใช่ไหมล่ะคะ ว่า “แล้วเราควรใช้เวลากับโทรศัพท์นานแค่ไหนต่อวัน?” เท่าไหร่คือเหมาะสม และเท่าไหร่คือมากเกินไป โดยเวลาที่เหมาะสมของในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกันไป  ขึ้นอยู่หน้าที่การงานและกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ของแต่ละคน ซึ่งจะสรุปได้ดังนี้เลยค่ะ

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี : สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ โทรศัพท์ถือเป็นสิ่งที่อันตรายทั้งต่อร่างกายและพัฒนาการ จึงเป็นช่วยวัยที่สมควรหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างยิ่ง
  • เด็กอายุ 2-5 ปี : ทาง WHO แนะนำว่าเด็กในช่วงวัยนี้ควรใช้เวลาไปกับโทรศัพท์ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรดูเฉพาะสิ่งที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการศึกษา
  • เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป : เด็กช่วงวัยนี้สามารถใช้โทรศัพท์มากขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวันในช่วงสุดสัปดาห์ หากมีการใช้โทรศัพท์มากกว่าระยะเวลาข้างต้น ก็อาจส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กได้
  • ผู้ใหญ่ : ด้วยกิจวัตรและความจำเป็น ทำให้ผู้ใหญ่ถือเป็นวัยที่มีการใช้โทรศัพท์มากกว่า ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้โทรศัพท์นอกเวลางานนั้น ควรเฉลี่ยแล้วไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จึงจะถือว่าเป็นเวลาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

สัญญาณที่บอกว่า ‘เราติดโทรศัพท์เกินไปแล้ว’

  • มีความต้องการใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา
  • เมื่อพยายามลดการใช้โทรศัพท์ก็มักจะทำไม่สำเร็จ
  • จิตใจจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์
  • การเรียนหรือการทำงานมีปัญหา
  • อยากได้โทรศัพท์รุ่นใหม่ทุกครั้งที่มีการอัปเดตออกมา
  • รู้สึกโกรธ เครียด และซึมเศร้า เมื่อไม่ได้ใช้โทรศัพท์

อยากใช้โทรศัพท์ให้น้อยลงต้องทำยังไง?

ภาพจาก www.freepik.com
ภาพจาก www.freepik.com

คิดทุกครั้งก่อนจะหยิบขึ้นมา

เพราะส่วนใหญ่แล้ว การที่คนเรามักจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้นั้น เป็นสาเหตุที่มาจากความเคยชินเสียมากกว่าความจำเป็นต้องใช้จริง ๆ หรือสถานการณ์รอบตัวขณะนั้นมันน่าเบื่อและน่าอึดอัดเกินไป จนเราต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาปรับอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้น หากเราต้องการใช้โทรศัพท์ให้น้อยลงก็ควรหยุดคิดและถามตัวเองเสียก่อน ว่าเราจำเป็นต้องใช้มันมากขนาดนั้นหรือเปล่า

จำกัดเวลาให้ชัดเจน

    ในเมื่อเรามีโทรศัพท์อยู่ในมือแล้ว ก็ควรจะใช้ฟีเจอร์ที่มีมาในนั้นให้เกิดประโยชน์นะ! ลองกดดูผลวิเคราะห์การใช้โทรศัพท์ของเราดู ว่าในแต่ละวันเราหมดเวลาไปกับแอปพลิเคชันอะไรมากที่สุด และตั้งค่าให้จำกัดเวลาการใช้แอปพลิเคชันนั้น ๆ ลง เพียงแค่นี้เราก็จะสามารถลดการใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็นได้แล้ว

ลบแอปพลิเคชันที่ทำให้ไขว้เขวออก

    พวกแอปพลิเคชัน Social Media ต่าง ๆ นี่ถือว่าเป็นตัวการที่ทำให้เราเสพติดการใช้โทรศัพท์เลยนะ แถมทำให้เราต้องพะวงตลอดเวลาด้วยว่า “ตอนนี้เพื่อนในโลกออนไลน์กำลังทำอะไรอยู่?” หรือ “มีใครโพสต์รูปภาพใหม่บ้างไหม?” เราสามาถลดการใช้แอปพลิเคชันพวกนั้นลงได้ ด้วยการย้ายให้ไอคอนของแอปพลิเคชันไปซ่อนอยู่ในกล่อง ที่จะทำให้ยุ่งยากต่อการกดเข้าไปดู หรือถ้าใครใจเด็ดและอยากเลิกใช้จริง ๆ ก็แนะนำว่าสามารถลบแอปพลิเคชันนั้นออกไปได้เลย!

ภาพจาก www.freepik.com
ภาพจาก www.freepik.com

ตั้งให้มีการแจ้งเตือนแค่บางรายการ

     เสียงแจ้งเตือนนี่ก็เปรียบเสมือนเสียงเรียกให้เราปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์เหมือนกัน เพราะหลายครั้งที่มีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้นมา เราก็มักจะกดเข้าไปและเผลอเลื่อนไปดูอย่างอื่นด้วย กว่าจะรู้สึกตัวก็นั่งเล่นโทรศัพท์ไปสิบกว่านาทีแล้ว เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการปิดการแจ้งเตือนหรือตั้งให้มีการแจ้งเตือนแค่บางรายการที่สำคัญก็พอ

ไม่ใช้โทรศัพท์ก่อนเข้านอน

    ข้อนี้คือสำคัญที่สุด! เพราะคนส่วนใหญ่มักจะติดนิสัยนอนเล่นโทรศัพท์บนเตียง โดยเฉพาะก่อนเวลาเข้านอน และผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็ออกมาเตือนอยู่เสมอ ว่าการเล่นโทรศัพท์ในช่วงเวลาก่อนนอนส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้ยากต่อการนอนหลับ เพราะจิตใจจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์ จนทำให้เวลานอนของเราผิดเพี้ยนไป เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ก่อนเข้านอน หรือวางโทรศัพท์ไว้อีกห้องไปเลยยิ่งดี

ผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มากเกินไป

  • การนอนมีปัญหา นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
  • เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
  • อาจเกิดภาวะของโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder (OCD)
  • ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • โรควิตกกังวล โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

    รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำวิธีข้างบนไปปรับใช้ เพื่อให้การใช้โทรศัพท์ต่อวันของเราอยู่ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ใช้โทรศัพท์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลเสียทั้งต่อสุขภายกายและสุขภาพจิตของเรานะคะ

    ลองสังเกตกันหน่อย เพื่อน ๆ ใช้เวลาไปกับโทรศัพท์นานแค่ไหนต่อวัน มาแชร์กันได้นะ :)

ที่มา  :http://www.nso.go.thhttp://www.nso.go.thhttps://datareportal.comhttps://www.reidhealth.orghttps://pharmeasy.inhttps://www.psychguides.comhttps://readdle.com

 

พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด