เช็กตัวเอง! นี่เราเผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่บ้างหรือเปล่า?

รู้ไหมว่า การพยายามอธิบายเหตุผลด้วย 'เสียงที่ดัง' พ่อแม่อาจมองว่าเราเป็น  ‘คนก้าวร้าว’

เขาว่ากันว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเซนซิทีฟ เพราะการที่ความสัมพันธ์นี้จะดีได้นั้น ต้องอาศัยทั้งความรัก ความเข้าใจ และการประนีประนอม  ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน ก็อาจส่งผลให้เกิดการขัดแย้งและปัญหาภายในครอบครัว ที่ทำให้ลูกหลายคน ‘เผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่’ โดยไม่ได้ตั้งใจได้เลยแหละค่ะ

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com

ทำไมเราถึงเผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่?

    สาเหตุหลักที่ลูกวัยรุ่นเรามักเผลอลืมตัวขึ้นเสียงใส่พ่อแม่ มาจากอารมณ์ความรู้สึกโกรธที่เรากำลังรู้สึกอยู่ในขณะนั้น จนทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือระงับการกระทำที่ออกมาได้ แต่ถึงอย่างไรนั้น พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากเพจ หมอปุ๊ก Doctor For Kids ก็ได้อธิบายไว้ว่า การที่ลูกมีอารมณ์รุนแรงหรือขึ้นเสียงกับพ่อแม่ถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะหลังจากที่คุณหมอได้คุยกับทั้งพ่อแม่และลูกก็พบว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นมักมาจาก 2 สาเหตุคือ

  1. พ่อแม่ไม่เข้าใจพัฒนาการทางจิตใจของวัยรุ่น : การเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กทำให้พ่อแม่ชินกับการบังคับให้ลูกทำตามที่ตัวเองต้องการ พอผลออกมาไม่ได้อย่างที่คิด หรือลูกโตพอจนสามารถตัดสินใจในหลาย ๆ เรื่องได้เอง ก็ทำให้พ่อแม่ไม่พอใจ อีกทั้งตัวลูกเองก็รู้สึกโกรธที่ถูกบังคับด้วย
  2. ปัญหาการสื่อสารระหว่างพ่อแม่และลูก : ด้วยอายุ ช่วงวัย และความคิดที่อาจแตกต่างกัน ทำให้พ่อแม่และลูกสื่อสารไม่เข้าใจกัน ยิ่งสื่อสารไม่เข้าใจ ยิ่งเกิดการทะเลาะและการต่อต้าน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การที่เราขึ้นเสียงใส่พ่อแม่ได้เช่นกัน

ความโกรธที่อาจส่งผลต่อสุขภาพได้

    เมื่ออารมณ์ความรู้สึกโกรธนำไปสู่การขึ้นเสียงใส่พ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ความโกรธนั้นก็ยังสามารถส่งผลต่อสุขภาทั้งทางร่างกายและจิตใจของเราได้โดยตรงเหมือนกัน 

อาการทางร่างกาย : เมื่อเราโกรธ เราจะไม่ตอบสนองด้วยการตะโกนหรือขึ้นเสียงเพื่อระบายอารมณ์ทันที แต่ร่างกายจะตอบสนองต่อความโกรธด้วยวิธีหนี ที่ทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา เช่น อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล จนทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันขึ้น ตัวสั่น หรืออาจรู้สึกขาอ่อนแรงได้เลย

อาการทางจิตใจและพฤติกรรม : เนื่องจากภาวะอารมณ์ของความโกรธนั้นมีหลายระดับมาก เมื่อการแสดงออกด้วยวาจาทำให้เกิดความขัดแย้ง หลายคนอาจเลือกเก็บกดอารมณ์ของตัวเองไว้แทนการปล่อยออกมา จนอาจเปลี่ยนเป็นความเศร้า ล้า หมดเรี่ยวแรง แยกตัวจากสังคม และนำไปสู่ภาวะของโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้เลย

ทำไมการขึ้นเสียงใส่พ่อแม่จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี?

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com

ปัญหาจะยิ่งแก้ไขยาก

    เพราะการขึ้นเสียงใส่กัน โดยเฉพาะการที่ลูกขึ้นเสียงใส่พ่อแม่ จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นการพยายามอธิบายถึงสิ่งที่เราคิด แต่เราจะถูกเข้าใจได้ว่าเป็น ‘คนก้าวร้าว’ ยิ่งเสียงดังใส่กันมากเท่าไหร่ ความโกรธ อารมณ์หงุดหงิดก็ยิ่งปะทุขึ้นมามากเท่านั้น จนสุดท้าย จากแค่ปัญหาเล็กๆ ของความคิดที่ไม่ตรงกัน อาจขยายใหญ่เป็นปัญหาครอบครัวที่ยากจะแก้ได้เลย

การขึ้นเสียงใส่กันจะกลายเป็นเรื่องปกติ

    เป็นเรื่องที่เราน่าจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สมาชิกในครอบครัวไม่ควรสื่อสารกันด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและแฝงไปด้วยอารมณ์ด้านลบ เพราะมันจะกลายเป็นความเคยชินและนิสัยติดตัว ที่ไม่ว่าคุยกันเรื่องอะไรก็มักจะขึ้นเสียงใส่กัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอีกฝ่ายเสียงดังมา ก็จะเสียงดังกลับโดยที่คิดว่า ‘มันไม่เป็นอะไร’ ทั้ง ๆ ที่การสื่อสารภายในครอบครัวที่ดีไม่สมควรต้องเสียงดังใส่กันตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

เราจะเสียใจทีหลัง

    คงไม่มีใครที่เผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่แล้วแฮปปี้หรอกเนอะ และการตอบโต้ด้วยการกระทำเช่นนี้ก็ไม่ใช่การกระทำที่เหมาะสมเท่าไหร่ด้วย บางครั้งที่อาจจะเกิดจากการที่เราขาดสติ ไม่ได้คิดไตร่ตรองถึงผลที่ตามมา ปล่อยให้อารมณ์โกรธเข้าควบคุมเกินไป และคนที่เสียใจก็ไม่ได้มีแค่พ่อกับแม่เราเท่านั้น สุดท้ายตัวเราเองก็ต้องจมอยู่กับความรู้สึกเสียใจไม่น้อยไปกว่าพวกเขาหรอก

ทำยังไงไม่ให้เราเผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่?

ภาพจาก  freepik.com
ภาพจาก  freepik.com
  • จัดการอารมณ์ตัวเองก่อน : คอยสังเกตอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ เมื่อรู้สึกว่าอารมณ์หงุดหงิด หรืออารมณ์โกรธเริ่มเข้ามาแทรกแซง ลองคิดหาวิธีระงับอารมณ์นั้นและแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก
  • สร้างอารมณ์ที่สมดุล : หากการแก้ปัญหาครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้การสื่อสารกับพ่อแม่ร่วมด้วย พยายามนิ่งให้ได้มากที่สุด อย่าใจร้อนและอย่าใช้คำพูดเสียดสี หรืออาจจะใช้อารมณ์ขันเข้ามาช่วย เพื่อให้ความตึงเครียดเบาบางลงบ้าง
  • ยอมรับความจริงและหาตัวเลือกอื่น : ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ที่อาจทำให้การสื่อสารนั้นไม่ส่งผลตามที่ต้องการ พ่อแม่ไม่เข้าใจสิ่งที่เราพูด เราไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่คิด การยอมรับและพยายามปรับตัวจึงต้องกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางออก
  • เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม : เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์ และไม่ปล่อยให้ตัวเราได้เผลอเสียงดังใส่พ่อแม่ เราจึงควรที่จะพาตัวเองแยกออกไปอยู่ตามลำพังสักพัก เมื่อใจเย็นลงและแน่ใจแล้วว่า เราจะไม่เผลอพูดหรือทำอะไรโดยใช้อารมณ์ ค่อยกลับไปคุยกับพวกเขาอีกครั้ง
  • สื่อสารด้วยความเข้าใจ : สมาชิกทุกคนในครอบครัวควรคำนึงถึงความรู้สึกของกันและกัน พูดเชิงบวกเพื่อให้เกียรติอีกฝ่าย เมื่อเราต่างสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ การสนทนาหรือการแก้ปัญหาก็จะสามารถผ่านไปได้อย่างราบรื่น

สุดท้ายนี้ก็ขอฝากให้ทุกคนอย่าลืมสังเกตอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องระวังคำพูดและสีหน้าท่าทางของเราด้วย เพราะบางครั้งแค่อารมณ์หงุดหงิดเพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเผลอขึ้นเสียงใส่พ่อแม่และคนที่เรารักแบบไม่ตั้งใจได้นะคะ

ที่มา:https://www.choosingtherapy.comhttp://satitapp.kus.ku.ac.thhttps://www.psychologytoday.comhttps://www.parent.comhttps://www.pobpad.com
พี่พิ้งค์
พี่พิ้งค์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น