spoil

  • Happiness Hangovers เป็นหนึ่งในภาวะหดหู่ใจหลังจบช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมาก ๆ  โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นเหตุการณ์อะไร เพียงแค่ทำแล้วมีความสุข รู้สึกดีมากก็พอ
  • Happiness Hangovers ไม่ได้เป็นโรคจิตเวช เป็นเพียงภาวะของอารมณ์เหมือนการโกรธ  เศร้า เสียใจ มีความสุข
  • แม้จะเป็นเพียงภาวะอารมณ์หนึ่ง แต่ Happiness Hangovers ก็สามารถทำให้รู้สึกดาวน์ หดหู่ เศร้า จนไม่มีเรี่ยวแรงทำอะไรได้
  • ทางที่ดีที่สุดคือเข้าใจและรับมือกับภาวะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบที่รุนแรงจนเกินไป

น้อง ๆ ชาว Dek-d เคยเป็นกันไหมเอ่ย? เวลาได้ทำกิจกรรมอะไรที่ตื่นเต้นมาก ๆ พอสิ่งนั้นจบลงปุ๊ปใจก็โหวงมืดมนทันที อาจจะเป็นการไปคอนเสิร์ต ไปเที่ยว เล่นเครื่องเล่นหวาดเสียว หรือเป็นอะไรก็ได้ที่ตอนทำเรามีความสุขตื่นเต้นมาก ๆ 

เอาเป็นว่าหากใครที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเป็น หรือกำลังเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะ ‘Happiness Hangovers’ อยู่ได้

ว่าแต่อะไรคือ Happiness Hangovers กันนะ? มีอาการยังไง? ส่งผลกับเรายังไง? ป่ะ ลองไปดูกัน 

ภาพจาก  pexels.com
ภาพจาก  pexels.com

Happiness Hangovers คืออะไร

Happiness Hangovers เป็นหนึ่งในภาวะหดหู่ใจหลังจบช่วงเวลาที่ตื่นเต้นหรือมีความสุขมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปคอนเสิร์ต การออกทริปเที่ยว งานจบการศึกษา ได้รางวัลจากกิจกรรมบางอย่าง เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นจบลง ความรู้สึกว่างเปล่าจะจู่โจมเราทันที

ด็อกเตอร์ Jake Teeny นักจิตวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัย Ohio State University ได้ระบุว่า Happiness Hangovers เป็นภาวะที่สามารถอธิบายตามทฤษฏี Opponent process theory หรือทฤษฎีกระบวนการตรงกันข้ามได้ ว่าร่างกายของเราเมื่อเจอะเจอกับความตื่นเต้นแบบเรื่อย ๆ ไม่หยุดหย่อน ระบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะกระตุ้นให้เกิด ‘กระบวนการลดความตื่นเต้นลง’ เพื่อปรับให้เกิดความสมดุลในร่างกายเหมือนแต่เก่า

ปัญหามันอยู่ตรงที่ แทนที่เหตุการณ์ต้นทางจบลงทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ กระบวนการปรับให้ตื่นเต้นน้อยลง ดันไม่หยุดทันที อารมณ์ของเราจึงอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดความเศร้าหรือดาวน์เล็กน้อย

แล้วเศร้าแค่ไหนถึงจะเรียกว่า อาการของ Happiness Hangovers กันล่ะ

  • รู้สึกดาวน์
  • ไม่มีเรี่ยวแรง
  • อ่อนล้า
  • กังวลและเครียด
  • รู้สึกโดดเดี่ยว
  • รู้สึกเหมือนอะไรหายไป
  • ไม่มีเป้าหมายและแรงจูงใจ
ภาพจาก  pexels.com
ภาพจาก  pexels.com

ต้องบอกก่อนว่า Happiness Hangovers ไม่ใช่โรคทางจิตเวชแต่อย่างใด เป็นเพียงหนึ่งในภาวะอารมณ์ทั่วไปเหมือนกับการโกรธ หงุดหงิด เศร้า เสียใจ มีความสุข เพียงแต่ภาวะดังกล่าวจะซับซ้อนเข้มข้นกว่าอารมณ์ทั่วไปนิดหน่อย ซึ่งสามารถทำให้เกิดความอึดอัดใจไม่มากก็น้อยแก่ผู้ที่ประสบ

ในวันนี้พี่จึงได้นำวิธีการรับมือกับ Happiness Hangovers มาฝากกันค่ะ ลองไปดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง

1. ไม่ต้องกลบความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้น

แหงล่ะคงไม่มีใครอยากจะดาวน์หรอก แต่การพยายามกลบหรือปิดความรู้สึกเสียใจคงไม่ใช่ทางออกที่ดีในระยะยาวสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการยอมรับว่าตัวเองรู้สึกยังไง จึงเป็นหนทางที่ดี ทั้งช่วยเราให้ตามทันความคิด อารมณ์ ความรู้สึก แถมยังช่วยให้เรารับมือกับภาวะดังกล่าวอย่างมีสติอีกด้วย

โดยอีกหนึ่งตัวช่วย คือการระบายความคิดออกมา อาจจะเป็นการเขียนลงบนสมุดโน้ต พิมพ์ลงในมือถือ หรือแม้แต่เล่าให้เพื่อนสนิทฟังก็ช่วยได้เหมือนกันนะ

2. แพลนสิ่งที่อยากทำต่อ

ในเมื่อดาวน์เพราะความสุขเหล่าจบลง งั้นเราก็สร้างความสุขชิ้นใหม่ขึ้นมาต่อเลยสิ อาจจะจัดทริปเที่ยวในเดือนถัดไป หาวันกินข้าวร้านอาหารที่ชอบสักวัน หรือบุ๊คกิจกรรมที่อยากทำเตรียมเอาไว้

การแพลนสิ่งที่อยากทำต่อจะช่วยให้ภาวะ Happiness Hangovers เบาบางลงได้ เพราะเรามุ่งไปโฟกัสจุดอื่นแทน ลดความเบื่อหน่าย ลดความซึมเศร้า มีแรงมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

ภาพจาก  pexels.com
ภาพจาก  pexels.com

3. เอาภาพเก่ามาดู

ข้อนี้อาจจะเอ๊ะยังไงนะ? ก็ในเมื่อความทรงจำเหล่านั้นกำลังทำให้เราดิ่งสุด ๆ ครั้นจะหยิบภาพคลิปเก่ามาย้อนดู มันไม่ยิ่งตอกย้ำให้หนักขึ้นเหรอ!? 

จริง ๆ แล้วการได้คิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ได้เป็นการย้ำให้เราซึมเศร้าหนักขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกันถือเป็นตัวช่วยเติมเต็มความสุขอีกครั้งผ่านความทรงจำ โดยอาจเป็นเพียงการนอนฝันกลางวันนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ นึกถึงเสียงหัวเราะที่เราเคยเปล่งออกมา หรือจะเป็นการนั่งดูภาพที่เคยถ่ายไว้ก็ได้ 

4. คิดย้อนกลับ

การจะเกิดภาวะ Happiness Hangovers ได้ นั่นหมายความว่าเราจะต้องได้เจอกับประสบการณ์ที่ตื่นเต้นมาก ๆ ในชีวิต เพราะถ้าเป็นแค่การรู้สึกดีทั่ว ๆ ไป เราก็คงไม่ดาวน์หนักเบอร์นี้หรอก เพราะฉะนั้นการย้อนกลับไปดูว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาคืออะไร ทำไมเราถึงแฮปปี้ขนาดนั้น อาจทำให้เราเข้าใจและรู้จักตัวเองได้ดีมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสซะเลย!

5. หายใจเข้าออกช้า ๆ 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ภาวะ Happiness Hangovers สามารถทำให้เราเกิดความเครียด ความวิตกกังวลต่าง ๆ ได้ ซึ่งเวลาที่เราเครียด ร่างกายจะเกิดการเกร็ง ปวดหัว เจ็บนู่นเจ็บนี่ง่ายแบบไม่รู้ตัว 

วิธีแก้ที่ดีที่สุด คือให้เราฝึกหายใจเข้าหายใจออกช้า ๆ สูดลมหายใจลึก ๆ และพ่นลมหายใจออกยาว ๆ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายหายเกร็งแล้ว ยังทำให้เราใจเย็น มีสติ ไม่มัวแต่จมอยู่กับความทุกข์ในใจนานเกินไป

Happiness Hangovers อาจจะทำให้เรารู้สึกซึมเศร้าไปบ้างแต่ก็ไม่ได้มีอันตรายอะไร ขอเพียงแค่หมั่นสังเกต รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง  พร้อมที่จะรับมือกับสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างใจเย็น เพียงเท่านี้อะไรก็ไม่สามารถทำร้ายเราได้แล้ว ไหนใครเคยเป็นบ้าง แล้วรับมือยังไงอย่าลืมเล่าให้ฟังกันด้วยล่ะ!

อ้างอิงจากhttps://everydaypsych.com/happiness-hangovers/https://www.psychologytoday.com/us/blog/better-perfect/201812/are-you-experiencing-happiness-hangoverhttps://www.psychologytoday.com/au/blog/better-perfect/201812/are-you-experiencing-happiness-hangoverhttps://medium.com/the-ascent/when-youre-dealing-with-a-happiness-hangover-748c9595414https://qz.com/1046605/theres-a-biological-reason-you-feel-down-after-having-the-time-of-your-life/
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น