เปิดประเด็น ‘Gun Culture’ ในอเมริกา วัฒนธรรมความผูกพันใน ‘ปืน’ และปัญหาการกราดยิง

สวัสดีค่ะชาว Dek-D … น้องๆ คงจะได้ยินข่าว ‘การกราดยิงในสหรัฐอเมริกา’ มาบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่รัฐเท็กซัส (Texas) ซึ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ นับได้ว่าเป็นคดีที่ร้ายแรงและสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก // ว่าแต่น้องๆ สงสัยเหมือนกันมั้ยว่าทำไมพลเรือนสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้อย่างง่ายดายขนาดนั้น และนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงบ่อยครั้งหรือเปล่านะ? 

วันนี้พี่พันตาจะขอพาน้องๆ ไปเจาะลึกที่มาที่ไปของ ‘Gun Culture’ วัฒนธรรมปืนของคนอเมริกาที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวมากมาย // ไปกันเล้ยยย

…………………

ปืนกับการเดินทางของคนผิวขาวสู่อเมริกา

cr. Dylan Hunter via Unsplash
cr. Dylan Hunter via Unsplash

ถ้าถามว่าคนผิวขาวในอเมริกาเอาปืนมาจากไหน ก็ต้องย้อนไปดูประวัติศาสตร์ว่าแท้จริงแล้วคนผิวขาวในอเมริกาไม่ใช่กลุ่มคนดั้งเดิมของที่นี่ค่ะ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษที่อพยพมาเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา และพวกเขาก็พกอาวุธปืนมาพร้อมกับการเดินทางครั้งนั้นด้วย

ภายหลังจากที่อังกฤษครอบครองพื้นที่บางส่วนของอเมริกาแล้ว  ประเทศแม่ (=อังกฤษ) มีนโยบายสนับสนุนอาวุธปืนให้ชาวอาณานิคม (=คนอเมริกา) ใช้ป้องกันตัวเองเพื่อเอาตัวรอดจากชนชาติอื่น พูดง่ายๆ คืออังกฤษ “ให้ปืน” เพื่อทุ่นแรงในการเข้าไปดูแลพื้นที่นั้นๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้นสำหรับคนอเมริกา ‘ปืน’ จึงหมายถึง ‘การปกป้อง’ นั่นเองค่ะ

วัฒนธรรมคาวบอยในอเมริกาตะวันตก

cr. Taylor Brandon via Unsplash
cr. Taylor Brandon via Unsplash

สวมหมวกปีกกว้าง ถือปืนไรเฟิล  พกเชือกหนังไว้ควบคุมสัตว์ 

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็น ‘คาวบอย’ ในภาพจำของคนทั่วไป แต่หารู้ไม่ว่าคาวบอยที่คนคุ้นเคยกันคือ ‘คาวบอยอเมริกา’ และแรกเริ่มเดิมทีจริงแล้ววัฒธรรมคาวบอยนั้นก่อกำเนิดที่ประเทศสเปนค่ะ โดยมีฉากหลังคือการดูแลไร่องุ่นในยุคกลาง และการเลี้ยงโคทั่วคาบสมุทรไอบีเรีย แต่หลังจากการเข้ามาของสเปน อเมริกาก็รับเอาวัฒนธรรมนี้มาปรับใช้

กลุ่มคาวบอยอาศัยอยู่ทางตะวันตกของประเทศ และรวมตัวจากคนหลากหลายพื้นเพ ไม่ว่าจะเป็นทาสที่หลบหนี แรงงานชาวจีนที่คอยสร้างทางรถไฟ คาวบอยเม็กซิกัน และทหารที่ผ่านศึกสงครามกลางเมือง พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องความเด็ดเดี่ยว ว่องไว และมักเดินทางพร้อมกับม้าคู่ใจ

แน่นอนค่ะว่าคาวบอยต้องมีปืนไรเฟิลไว้คอยไล่พวกสัตว์นักล่าที่อาจจะเข้ามาวุ่นวายในฟาร์มตัวเอง แต่โดยทั่วไปแล้วพวกเขาก็ไม่ได้พกกันเยอะแยะมากมายหรอกนะคะ เพราะนอกจากปืนจะแพงแล้วยังหนักเอาเรื่องอีกต่างหาก

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: รู้หรือไม่ว่าคาวบอยเป็นคนต้นคิดเพลงคันทรี!

คาวบอยในหนังก็ต้องคู่กับความกล้าหาญ ผู้หญิง และ ‘ปืน’

ภาพยนตร์คาวบอยหรือเรียกอีกอย่างว่าภาพยนตร์แนวเวสเทิร์น (Western) มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 เลยค่ะ แทบทุกเรื่องจะต้องมีพล็อตที่คล้ายๆ กันคือคาวบอยสุดกล้าหาญเข้าไปปราบความชั่วร้าย และเอาชนะใจสาวที่หมายปองได้ในตอนจบ ฉากที่เป็นไฮไลต์ของเรื่องก็จะหนีไม่พ้นการดวลปืน

ถึงจะฟังดูซ้ำซากจำเจ แต่เชื่อไหมคะว่าภาพยนตร์เวสเทิร์นได้รับความนิยมสูง เพราะแนวคิด ‘ความเป็นชาย’ ของคาวบอยในหนังมันช่างเท่กระชากใจ! เรียกได้ว่าเติมเต็มจินตนาการของชายอเมริกันยุคนั้นเอามากๆ ทว่าสิ่งที่เห็นล้วนเป็นภาพมายาที่ผ่านการเติมแต่งจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม  ทั้งฉากแอ็กชันสุดระห่ำ หมู่บ้านที่สวยงาม และเรื่องที่คนในกลุ่มมีแค่คนผิวขาวและชายล้วนเท่านั้น

ถึงอย่างนั้นข้อมูลในหนังก็กลายเป็นภาพจำของคาวบอยไปแล้ว ปืนกลายเป็นสัญลักษณ์ความองอาจ จนเกิดความคิดว่า  ‘ถ้าอยากเท่แบบคาวบอยก็ต้องมีปืนสิ!’ ในที่สุดการสะสมปืนก็กลายเป็นงานอดิเรกยอดนิยม กลุ่มคนรักปืนในอเมริกามีเยอะมากจนถึงขั้น “อาวุธปืน” กลายเป็นสินค้าที่ซื้อง่ายขายคล่อง โดยเฉพาะรัฐที่เป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของคาวบอยอเมริกาอย่างเท็กซัส

แต่มีปืนไม่ได้หมายถึงมีอันตรายเสมอไป

cr.Zed Nelson
cr.Zed Nelson

อย่างที่เล่าไปว่า สำหรับชาวอเมริกันแล้ว ปืนคือเครื่องมือป้องกันตนเองและช่วยให้มีชีวิตรอด เช่นเดียวกับในภาพถ่ายข้างต้นของ Zed Nelson เมื่อปี 1998 ที่เคยตกเป็นประเด็นใหญ่โต เมื่อผู้เป็นพ่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่สมควรเอาปืนจ่อหัวลูกสาว โดยเฉพาะลูกที่อยู่ในวัยทารก

ต่อมาในปี 2016 The Guardian ก็ได้สัมภาษณ์ทั้งคู่ในสกู๊ป Gun Nation – America’s deadly love affair with firearms ฝ่ายพ่อเปิดเผยว่ามันคือภาพที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยการปกป้อง นอกจากนี้แล้วลูกสาวของเขาที่อยู่ภาพก็ยังมีมุมมองเชิงบวกอีกด้วย เธอกล่าวว่า
 

“นิ้วของพ่อไม่ได้อยู่ในระดับที่จะลั่นไก และภาพนี้ไม่ได้สื่อถึงการทำร้าย 
พ่อไม่ได้พยายามจะทำแบบนั้นกับฉัน แต่พ่อกำลังปกป้องฉันต่างหาก”

NRA ตัวร้ายกับปืนมากมายในอเมริกา

cr. kalhh via Pixabay
cr. kalhh via Pixabay 

กฎหมายครอบครองปืนในอเมริกาเกิดขึ้นพร้อมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ในเนื้อความระบุว่า “ทหารรักษาการณ์ที่ควบคุมเอาไว้อย่างดีนั้นจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐอิสระ ดังนั้นประชาชนจะไม่ถูกละเมิดสิทธิในการรับและเก็บรักษาอาวุธ” จึงเป็นเหตุผลที่คนอเมริกาสะสมปืนมากขึ้นเรื่อยๆ

และเพื่อให้เห็นภาพว่ามีปืนมากขนาดไหน ก็ลองย้อนไปดูผลสำรวจของ Small Arms Survey ที่เผยว่าในปี 2018 อเมริกามีประชากรน้อยกว่า 5% จากทั้งโลก แต่ผู้ครอบครองปืนทั้งโลกกลับเป็นพลเรือนอเมริกันไปแล้ว 46%!!

และผู้สนับสนุนการเป็นเจ้าของอาวุธเหล่านี้ก็คือ "สมาคมปืนไรเฟิลแห่งสหรัฐ" หรือ The National Rifle Association (NRA) อันทรงอิทธิพลมากๆ (และอุดมไปด้วยเส้นสายและงบประมาณแบบสุดๆ เลยค่ะ) ถ้าถามว่า NRA ยิ่งใหญ่ขนาดไหน บอกเลยว่าแม้แต่อดีตประธานาธิบดีอย่างจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ก็เคยเข้าร่วมสมาคมนี้ด้วย (แต่ท้ายที่สุดเขาก็ลาออกไปในปี 1995) และว่ากันว่ามีสมาชิก NRA ทั้งหมดมีมากถึง 3-5 ล้านคนเลยล่ะค่ะ

เป้าหมายของ NRA คือ พยายามลดการควบคุมและเพิ่มอิสระในการใช้ปืน พวกเขาทุ่มเงินปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านเหรียญ และเฉพาะแค่ปี 2020 ปีเดียว สมาคมนี้ใช้งบไปถึง 250 ล้านเหรียญเลยค่ะ! แค่นั้นยังไม่พอนะคะ NRA ยังมีอำนาจทางอ้อมต่อการเมืองสหรัฐฯ ภายในสมาคมจะแบ่งแยกระดับสมาชิกในสภาคองเกรส (=สภาสูงสุดในรัฐบาลกลางของอเมริกา) ตั้งแต่เกรด A-F โดยใช้เกณฑ์คือความเป็นมิตรกับปืน

แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมา NRA ก็ถูกนำขึ้นชั้นศาลด้วยคดีทุจริตทางการเงินค่ะ อำนาจของสมาคมจึงอ่อนลงอย่างมาก แม้ว่าจะพวกเขาจะประกาศล้มละลาย แต่ศาลก็ไม่อนุมัติเพราะดูยังไงมันก็ไม่ชอบมาพากลเอาเสียเลย คงต้องรอดูกันต่อไปว่าทิศทางของสมาคมนี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต

อัตราการกราดยิงอันน่ากลัว

cr. reuters.com
cr. reuters.com

ในอเมริกาเกิดการกราดยิงขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 5 ครั้ง โดยในปี 2017 มียอดกราดยิงถึง 34 ครั้ง นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่ากังวล อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้และเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกก็คือการกราดยิงในรัฐเท็กซัสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 65 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 22 คนและเป็นเด็กประถมไปแล้ว 19 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่กระแสความคิดเห็นหลายทิศทาง โดยเฉพาะการมองว่า Gun Culture คือรากลึกของปัญหา เพราะดูได้จากอัตราการครอบครองปืนที่สูงลิ่วในอเมริกานั้นค่อนข้างสอดคล้องกับการเกิดเหตุกราดยิงที่นับวันยิ่งเพิ่มเรื่อยๆ 

แม้ว่าวัฒนธรรมปืนในอเมริกาจะเริ่มจากเจตนาในการปกป้อง แต่แล้วกลับค่อยๆ เติบโตไปสู่ความคิดว่า ‘การมีปืนเป็นเรื่องเท่ๆ’ พวกเขาเริ่มสะสมเป็นงานอดิเรกและมองปืนในแง่บวก แถมมีกฎหมายที่เอื้อต่อการครอบครองอาวุธ ทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ให้อาชญากรซื้อขายได้อย่างง่ายดาย จากเสรีภาพในการครอบครองปืน กลับกลายเป็นความสูญเสียที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด…  

Photo Credit: @naaatsnaps via Unsplash
Photo Credit: @naaatsnaps via Unsplash 

…………………
 

Sources:https://www.youtube.com/watch?v=QHWDnRx6sl8https://www.youtube.com/watch?v=V4N4KON90vYhttps://www.youtube.com/watch?v=L1iQUF1gQmIhttps://www.youtube.com/watch?v=lUpCqBonOFwhttps://www.youtube.com/watch?v=fXpXjsTRAYMhttps://www.thenationalnews.com/opinion/comment/2022/05/30/americas-gun-obsession-isnt-culture-its-a-sickness/https://www.cfr.org/backgrounder/us-gun-policy-global-comparisonsshttps://www.bbc.com/thai/international-61574566https://everytownresearch.org/maps/mass-shootings-in-america/https://www.timesnownews.com/mirror-now/in-focus/explained-americas-obsession-with-guns-and-loss-of-thousands-of-lives-in-us-school-shootouts-article-91784667https://www.azcentral.com/story/news/local/arizona-best-reads/2016/08/05/inglorious-arizona-how-hollywood-westerns-got-wrong/87983520/https://xroads.virginia.edu/~ug00/3on1/cowboy/movie.htm 
พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น