spoil

  • Friendship Toxic คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่มักทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจ ไม่เคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
  • Friendship Toxic ไม่ใช่แค่ทำลายความสัมพันธ์ แต่ยังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกายและใจอีกด้วย
  • การพยายามแก้ไขให้ความสัมพันธ์กลับมาในภาวะปกติสามารถทำได้ แต่หากพยายามแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรเซฟใจตัวเองและปล่อยความสัมพันธ์นั้นไปก่อน

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนเลยนะคะ! ไหนใครมีเพื่อนสนิทที่แค่มองตาก็รู้ใจ รับฟังเป็นที่หนึ่ง จะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็พร้อมอยู่ข้างกันเสมอ คือสนิทมากกว่านี้ก็ต้องปาท่องโก๋แล้วแหละ

จริง ๆ แล้วการมีเพื่อนสนิทถือเป็นเรื่องสำคัญเลยก็ได้ว่าได้นะคะ เพราะช่วยทำให้เราไม่เหงาและโดดเดี่ยว รับมือและผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิตได้ มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น

แต่แน่ล่ะ บางครั้งการสนิทกันมาก ๆ ก็อาจทำให้เราหลงลืมใจกันและกันไป คิดว่าพูดอะไรเพื่อนก็ไม่โกรธ ทำอะไรเพื่อนก็ยอม ไม่ถนอมใจเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นเราเองนี่แหละที่อึดอัด ซึ่งถ้ามากเข้าก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจกำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Friendship Toxic อยู่!

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

Friendship Toxic คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่มักทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจ ไม่เคารพขอบเขตของกันและกัน ชอบทำให้เสียความมั่นใจ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนับสนุนผลักดันอีกฝ่ายไปในทิศทางที่ดี

โดยศาสตราจารย์ Suzanne Degges White ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาจาก Northern Illinois University กล่าวว่า Friendship Toxic จะเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถูกทำร้ายทางอารมณ์ จนทำให้รู้สึกทุกข์มากกว่ารู้สึกดีในความสัมพันธ์ อีกทั้งคุณ Erin Miers นักจิตวิทยาคลินิก ก็ได้กล่าวอีกด้วยว่าการอยู่ในมิตรภาพที่เป็นพิษสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น ความวิตกกังวล รู้สึกห่อเหี่ยวไม่มีความสุข ลากยาวไปจนถึงปัญหานอนไม่หลับเลยก็มี

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นหรือเปล่า ลองมาเช็คสัญญาณเหล่านี้กันเลย

เพื่อนหยอกล้อในเรื่องที่ไม่โอเค 

การหยอกล้อกันไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ได้เป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ให้พังลงขนาดนั้น แต่การหยอกล้ออย่างไม่มีขอบเขต เอาเรื่องเซนซิทีฟมาพูดอยู่ตลอด สิ่งนี้แหละจะเป็นตัวสำคัญที่ไม่ว่าสนิทกันแค่ไหนก็มีเคือง

 ไม่เคยมีแรงสนับสนุน

คุณ Courtney Glashow นักจิตบำบัด กล่าวว่า เพื่อนที่ดีคือเพื่อนที่คอยสนับสนุน รับฟัง แบ่งปัน ผลักดันให้เราประสบความสำเร็จในทิศทางที่ดีอยู่เสมอ ไม่ใช่เพื่อนที่คอยแต่จะขัดและถากถางอยู่เรื่อย

เก็บความลับไม่เคยได้

เมื่อวานปรึกษา อีกวันรู้ทั้งกลุ่ม มันยังไงกันนะ? ถ้าไม่เคยเกิดขึ้นก็ยังพอเข้าใจได้ แต่หากปรึกษาทีไรความลับเปิดเผยทุกที นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเพื่อนสนิทของเราเป็นคน Toxic ได้

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

พูดขอโทษแบบไม่จริงใจ

บางทีก็อดไม่ได้ที่จะโมโหกับการกระทำหรือคำพูดของเพื่อน ซึ่งแทนที่จะขอโทษเรากลับบ่ายเบี่ยงทำเป็นติดตลกต่อ พอเห็นว่าโกรธจริง ๆ ก็ขอโทษแบบขอไปทีพร้อมบอกว่า ‘แซวเล่นเฉย ๆ’ ฮึ่ม! ไม่ตลกสักนิด

ไม่เป็นตัวเอง

ถ้าอยู่กับเพื่อนคนนี้แล้วรู้สึกไม่เป็นตัวเอง อยากทำอะไรก็กังวลว่าเพื่อนจะโอเคไหม เพื่อนจะยอมรับหรือเปล่า จนพยายามฝืนตัวเองในทุก ๆ เรื่องเพื่อให้อยู่กันรอด นี่อาจเป็นสัญญาณถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอยู่

โดยคุณ Courtney Glashow นักจิตบำบัด กล่าวว่าเพื่อนแท้จะไม่ฝืนเปลี่ยนให้เราเป็นอย่างอื่น แต่จะสนับสนุนให้เรารักและเชื่อมั่นในตัวของตัวเองมากที่สุด

วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา

เดี๋ยวก็บอกว่าเราใส่เสื้อตัวนี้ไม่สวย คนอื่นใส่สวยกว่า เดี๋ยวก็บอกว่าเราไม่ถนัดด้านนี้ให้คนอื่นทำดีกว่า แต่ละคำที่พ่นออกมามีแต่บอกว่าเราไม่ดีอย่างงู้นอย่างงี้ 

คุณ Erin Miers กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตา รสนิยม การแต่งกาย นั่นไม่ใช่แค่การหยอกล้อแต่เป็นการพูดทำให้รู้สึกผิดหวัง แน่ล่ะเพื่อนสามารถเตือนกันได้แต่เพื่อนที่ดีจะไม่ทำให้รู้สึกอับอาย 

ภาพจาก freepik.com
ภาพจาก freepik.com

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนยกมือแสดงตัวว่ากำลังเจอความสัมพันธ์แบบ Friendship Toxic อยู่แน่ ๆ รวมถึงบางคนอาจยังไม่รู้ว่าควรแก้ปัญหาเหล่านี้ยังไงดี ไม่ต้องกังวลไปค่ะ พี่มีทริกดี ๆ มาฝาก

1. นั่งทบทวนว่าเรารู้สึกยังไง

ก่อนจะพยายามแก้ไขอะไร เราลองมานั่งทบทวนกันก่อนดีกว่า ว่าตอนนี้รู้สึกยังไงกับเพื่อนบ้าง

  • เพื่อนพูดแบบนั้นทำให้เรารู้สึกยังไง?
  •  เรายังอยากเป็นเพื่อนกับเขาต่อไหม?
  • อยากให้เพื่อนหยุดทำพฤติกรรมเหล่านั้นหรือเปล่า?
  • ข้อดีด้านอื่นของเพื่อนเป็นยังไง?
  • พฤติกรรมของเราต่อเพื่อนเป็นยังไง?

หากตกผลึกแล้วรู้สึกว่ายังอยากรักษาความสัมพันธ์ครั้งนี้ไว้อยู่ ก็ให้คิดอีกครั้งว่าเราสามารถพูดถึงปัญหาเหล่านี้ตรง ๆ กับเพื่อนได้ไหม เพราะเขาอาจจะไม่รู้ตัวจริง ๆ ก็ได้ 

ถ้าบอกได้ก็ให้เน้นไปที่ความรู้สึกของเราก่อนว่าเสียใจแค่ไหน ไม่ใช่การต้อนให้อีกฝ่ายจนมุมและรู้สึกผิด สำคัญว่าต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดของอีกฝ่ายด้วย

2. หาพื้นที่ให้ตัวเอง

ถ้าการพูดคุยไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่าไหร่ งั้นถอยมาตั้งหลักในพื้นที่ของตัวเองก่อน ลองมองดูจากระยะไกลบ้าง ว่าตอนที่ห่างออกมา เราสามารถอยู่ได้โดยไม่มีเพื่อนคนนั้นไหม รู้สึกสบายใจขึ้นไหม รวมถึงสอดส่องปฏิกิริยาของอีกฝ่ายด้วยว่าสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นมากแค่ไหน 

หากเรารู้สึกสบายใจไม่กังวลอะไรเลย การเลือกยุติความสัมพันธ์อาจเป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกันนะ

3. กำหนดขอบเขตของตัวเองให้ชัดเจน

ให้บอกตัวเองให้ชัดเจนไปเลยว่าเรามีขอบเขตยังไงในความสัมพันธ์ เช่น ไม่ชอบคนนินทา ไม่ชอบคนโกหก ไม่ชอบคนพูดจาบั่นทอน เมื่อได้ขอบเขตที่ชัดเจนแล้ว ก็ให้บอกคนอื่นด้วย ว่าเราไม่โอเคกับอะไร อาจจะพูดผ่านการคุยเล่นขำ ๆ ว่าเราไม่ชอบคนนินทานะ ไม่ชอบคนโกหกนะ แบบชิล ๆ สบาย ๆ 

4. เปิดใจให้ความสัมพันธ์ใหม่ ๆ

ถ้าเพื่อนคนนี้ยังไง๊ยังไงก็ไม่ใช่ พยายามแค่ไหนก็เหนื่อย แนะนำว่าให้โบกมือลา เพราะโลกใบนี้ยังมีคนที่พร้อมเป็นเพื่อนที่ดีอีกมาก เป็นเพื่อนที่พร้อมสนับสนุน เป็นเพื่อนที่พร้อมจะรับฟังเราอย่างจริงใจ เชื่อสิเดี๋ยวเราก็เจอคนที่ใช่

สุดท้ายนี้พี่ก็หวังว่าทุกคนจะได้เจอกับเพื่อนที่ทำให้รู้สึกสบายใจ เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่ด้วยนะ ใครอยากฝากอะไรก็อย่าลืมคอมเมนต์บอกพี่ด้วยน้า 

อ้างอิงจากhttps://au.reachout.com/articles/how-to-tell-your-friend-theyve-hurt-youhttps://www.lifehack.org/articles/communication/6-characteristics-toxic-friends.html#:~:text=A%20common%20trait%20of%20toxic,a%20toxic%20friend%20very%20easily.https://www.womenshealthmag.com/relationships/a25939904/signs-of-toxic-friendships/https://www.wellandgood.com/signs-of-toxic-friendship/https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/friendships/art-20044860https://au.reachout.com/articles/dealing-with-a-toxic-friendship
พี่เอย
พี่เอย - Columnist คอลัมนิสต์ผู้หลงรักการกิน และอินซีรีส์เกาหลีมากถึงมากที่สุด

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Arnon 9 ธ.ค. 66 00:19 น. 1

สวัสดีค่ะ หนูขอบคุณมากนะคะที่มีบทความสุขดีๆแบบนี้มันทำให้ได้ได้คิดและตกผลึกมากเลยค่ะ ตัวหนูเองเป็นคนรูปร่างอ้วน ผิวดำ เพราะเป็นเด็กบ้านนอกหน้าตาบ้านๆ ที่บ้านก็ค่อนข้างจะปานกลางค่ะ หนูได้มีโอกาสเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยไกลจากบ้านเกิดมาก และหนูก็ได้มีเพื่อนใหม่ 5 คน ตอนช่วงแรกๆ ไปไหนไปกันทั้งกลุ่ม แต่พอโตขึ้นก็จะเริ่มไปกันเป็นคู่ บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ตัวหนูเองมีเพื่อนสนิทในกลุ่มอยู่2คนที่สามารถพูดทุกอย่างให้เขาฟังได้ แต่หนูพึ่งได้มารู้ค่ะว่า เวลาเราไม่อยู่เพื่อนก็จะนินทาเรา เพื่อนสนิท1 ในนั้นมาบอกเรา เราเสียใจมากค่ะ บรรยากาศในกลุ่มก็อึดอัด ชิงดีชิงเด่นกันตลอด ไม่รู้ว่ามันคือคำว่าเพื่อนแบบไหน เวลาเราจะทำอะไรก็โดนว่าไปหมดว่าทำไม่ได้หรอก บูลี่เรื่องอ้วน ผิว ตลอด เราจะใส่ตัวไหนก็ผิด เราเหนื่อยใจ เราท้อมากเลยค่ะ เคยมีครั้งนึงไปเที่ยวผับครั้งแรก เราพึ่งกินก็เมามากเพื่อนก็ทิ้งเราไว้คนเดียว แต่ตอนนั้นก็เข้าเพื่อนนะ เราเรื้อนเอง หลังจากนั้นเราก็ไม่ไว้ใจเวลาออกไปข้างนอกอีกเลย เคยเปิดใจคุยกันแล้วค่ะเรื่องคำพูด เพื่อนก็ขอโทษนะคะ แต่วันต่อมาก็ทำอยู่ดี หนูเลยเลือกจะอยู่เงียบๆต่อไป ขอโทษนะคะบ่นไว้สะยาวเลย หนูแค่รู้สึกว่าไม่รู้จะคุยกับใครดี เม้นนี้เป็นเม้นแรกสำหรับหนู

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด