ตีแผ่ชีวิตจริงยิ่งกว่าหนังของ ‘ฮิจรา’ เพศที่สามแห่งเอเชียใต้

ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง 'คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ'
ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง 'คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ'

“ฉันอาจไม่ใช่ทั้งชายและหญิง แต่ก็มากพอสำหรับคนอย่างแก”

— ราเซียไบ (Raziabai)

 

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ในช่วงเดือนที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่อง ‘คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ กลายเป็นกระแสฮอตฮิตในประเทศไทย ด้วยเนื้อหาที่เร้าใจและปลุกให้เราลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงสิทธิสตรีและ Sex Worker (อาชีพบริการทางเพศ) แต่เรื่องราวของคังคุไบคงจะไม่เข้มข้นขนาดนี้หากขาดตัวละคร ‘ราเซียไบ’ ตัวเต็งผู้ลงสมัครเลือกตั้งแห่งกามธิปุระ ผู้เป็นหัวหน้าของกลุ่มสตรีค้าบริการกลุ่มใหญ่ นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็น ‘ฮิจรา’ กลุ่มคนข้ามเพศที่มีอยู่ราว 10 ล้านคนในประเทศอินเดียอีกด้วย!

เมื่อกล่าวถึง ‘ฮิจรา’ หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาเป็นใคร มองผิวเผินแล้วอาจจะเหมือนสตรีข้ามเพศ แต่ความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่? วันนี้พี่พันตาขออาสาพาน้องๆ ท่องโลกที่เต็มไปด้วยความรุ่งเรืองแต่กลับเจ็บปวดของฮิจรากันค่ะ

 

เพศกำเนิดเป็นชาย สวมใส่ส่าหรี แนวคิดก้าวข้ามเรื่องเพศ 
พวกเธอคือ ‘ฮิจรา’

ที่มา: USAID Bangladesh, Wikimedia Commons:
ที่มา: USAID Bangladesh, Wikimedia Commons:

ฮิจราเป็นกลุ่มที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย นิยมสวมใส่ส่าหรี บางกลุ่มแต่งงานกับชาย แต่บางกลุ่มก็สามารถแต่งงานกับหญิงได้เช่นกัน ต้องบอกก่อนว่าฮิจรานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยล่ะค่ะ เพราะมีประวัติความเป็นมาบนผืนแผ่นดินของอนุทวีปอินเดียยาวนานมากกว่า 4,000 ปีเลยทีเดียว! อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากเอเชียใต้หลายประเทศรวมไปถึงอินเดียว่าเป็น ‘เพศที่สาม’ อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

นิยามสำคัญของฮิจราคือ ‘การไม่ปรารถนาเพศ แต่เป็นการน้อมรับเพศทั้งสองเข้าด้วยกัน’ และเมื่อใช้แนวคิด LGBTQ+ เข้ามาจับ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าพวกเธอคือกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) กลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวคิดหลักของฮิจราจะพูดถึงการไม่ปรารถนาเพศ แต่บางคนต้องการเปลี่ยนตนเป็นผู้หญิงจริงๆ จึงเกิดการถกเถียงว่าเราสามารถนับฮิจราเป็นสตรีข้ามเพศ (Transwomen) ได้หรือไม่ 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีคนชี้ให้เห็นว่าจากบริบททางประวัติศาสตร์ของฮิจราที่ลึกซึ้งและมีมาอย่างยาวนาน ทำให้อาจไม่มีศัพท์คำใดที่อธิบายพวกเธอได้ดีเท่ากับคำว่า ‘ฮิจรา’

 

“ฉันเป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิงเหรอ? หรือฉันไม่ใช่ทั้งชายและหญิง?

ฉันคือฮิจรา ดังนั้นฉันจึงเข้าถึงภาวะความเป็นอยู่ของทั้งสองอย่างได้”

— Laxmi Narayan Tripathi 

 

เปิดตำนานของ ‘ฮิจรา’ ในหน้าประวัติศาสตร์

ที่มา: Damian N. Boodram, Wikimedia Commons
ที่มา: Damian N. Boodram, Wikimedia Commons

หลักฐานที่บ่งชี้ว่ากลุ่มฮิจราอยู่มานานกว่า 4,000 ปี นั้นเห็นได้จากงานศิลปะอินเดียหลายชิ้นที่พรรณนาฮิจราในฐานะ ‘สาวกของพระแม่พหุชรา’ ซึ่งเป็นเทพแห่งความบริสุทธิ์และความอุดมสมบูรณ์ของศาสนาฮินดู นอกจากนี้แล้วพวกเธอยังปรากฏในตำราศาสนาฮินดูอื่นๆ เช่น ในรามายณะตอนหนึ่งที่พระรามถูกขับไล่จากอาณาจักร ท่านถูกปฏิเสธจากทั้งกลุ่มชายและหญิง เหลือเพียงฮิจราที่ยืนหยัดเคียงข้าง ดังนั้นในสมัยอินเดียโบราณฮิจราจึงได้รับความเคารพนับถือและถูกยกย่องเรื่องความจงรักภักดีนั่นเองค่ะ 

ไม่ใช่เพียงแค่นั้นนะคะ เพราะต่อมาในยุคจักรวรรดิโมกุล โดยเฉพาะในยุคสมัยของพระเจ้าอัคบาร์มหาราช ฮิจรามีหน้าที่สำคัญในการบริหารการเงินของรัฐ พวกเธอมีฐานะสูงและครอบครองความมั่งคั่ง จนบางครั้งพระเจ้าชาร์ฮันคีร์ โอรสของพระเจ้าอัคบาร์ก็สั่งห้ามคัดตัวฮิจราเข้ามาในจักรวรรดิกันเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นในจักรวรรดิโมกุลปีต่อๆ มา กลุ่มฮิจราก็ยังคงดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลอยู่ดีค่ะ และยังคงเป็นที่พึ่งพาสำคัญของพระเจ้าออรังเซพอีกด้วย

แต่ถ้าในอดีตฮิจรารุ่งเรืองขนาดนั้น…แล้วอะไรที่เป็นจุดพลิกผันของพวกเธอกันนะ?

 

การมาของอังกฤษเปลี่ยนความคิดให้คนเกลียดฮิจรา

ที่มา: Wikimedia Commons
ที่มา: Wikimedia Commons

คำตอบก็คือ ‘การล่าอาณานิคม’ ในช่วงศตวรรษที่ 15 หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุคสมัยแห่งการค้นพบของยุโรป’ ค่ะ การล่าอาณานิคมก็คือการเข้าควบคุมอำนาจของรัฐอื่นๆ ทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่เป็นอาณานิคมนั้นขึ้นอยู่กับประเทศแม่เป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่อังกฤษเข้ามาควบคุมพื้นที่ก็ทำให้อินเดียเสียอธิปไตยของอำนาจรัฐ และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฮิจรานั่นเองค่ะ

อิทธิพลของอังกฤษเริ่มเข้าปกคลุมอินเดียในช่วงที่จักรวรรดิโมกุลกำลังล่มสลาย (ช่วงศตวรรษที่ 18) และเมื่ออำนาจกลุ่มอื่นเริ่มแข็งแกร่งขึ้น บวกกับคนพื้นเมืองที่หันไปร่วมมือกับอังกฤษเพื่อกดขี่คนอินเดียด้วยกัน เลยทำให้ท้ายที่สุด อังกฤษสามารถเข้าปกครองอินเดียได้แบบสมบูรณ์!

หลังจากนั้นคนอังกฤษก็เริ่มยัดเยียดความคิดยุควิกตอเรียนให้คนพื้นเมือง ทั้งความเชื่อที่ว่า

  • การแสดงออกทางเพศของกลุ่มฮิจรา ขัดกับหลักธรรมชาติและความเชื่อเรื่องบทบาททางเพศ
  • ในความคิดของชาวอังกฤษยุคนั้น ฮิจราคือประชากรที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อการปกครองอาณานิคม

ส่งผลให้ในปี 1871 เกิดกฎหมายมาตรา 377 ที่ตราว่าการ 'กระทำทางเพศที่ผิดธรรมชาติ*ถือเป็นอาชญากรรม’ ขึ้นมา โดยเป้าหมายของกฎหมายนี้ชัดเจนว่าถูกตราขึ้นเพื่อทำให้เกิด ‘การทำลายล้างฮิจรา’ และนั่นก็ทำให้พวกเธอต้องพบกับความยากลำบากมากมาย ทั้งต้องหลบหนีตำรวจ ถูกเหยียดหยาม ขับไล่ ข่มขืน แต่ถึงอย่างนั้นฮิจราก็ยังยืนหยัดในอัตลักษณ์และพยายามรักษาประเพณีวัฒนธรรมของพวกเธอให้คงอยู่ไปด้วย

*การกระทำทางเพศที่ผิดธรรมชาติ ในกฎหมายมาตรา 377 หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนัก  รวมไปถึงการเป็น homosexual

‘จากผู้ถือครองอำนาจ สู่คนชายขอบ’ ผู้อาศัยอยู่ด้วยแสงแห่งความหวัง

การสัมภาษณ์ฮิจราในปี 2015 ของ The Guardian
การสัมภาษณ์ฮิจราในปี 2015 ของ The Guardian
ในสกู๊ป "Being Laxmi: 'I belong to the hijra, the oldest transgender community'"

แม้ในปี 2014 จะมีกฎหมายรองรับให้ฮิจราเป็นเพศที่สามในอินเดีย แต่ในทางปฏิบัติ ฮิจรายังเป็นคนชายขอบที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างสมบูรณ์ ฮิจราเด็กหลายคนถูกไล่ออกจากบ้าน บังคับให้ขอทาน และขายร่างกายของตนค่ะ

เดิมทีแล้วฮิจราหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการเต้นรำและขอทาน โดยพวกเธอจะให้คำอวยพรเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะฮิจรามีวาจาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนานั่นเองค่ะ แต่แล้วกาลเวลาก็เปลี่ยนให้อาชีพนี้ล้าสมัย และแทบไม่เหลืออาชีพที่ฮิจราทำได้เลย ไม่ใช่เพียงรัฐที่ไม่แจกจ่ายงานให้เท่านั้น แต่ยังไม่มีใครยอมรับฮิจราเข้าทำงานด้วย

การสัมภาษณ์ฮิจราที่เผยแพร่โดยผู้ใช้งาน Youtube ชื่อ Anna Lofi 
การสัมภาษณ์ฮิจราที่เผยแพร่โดยผู้ใช้งาน Youtube ชื่อ Anna Lofi 
ในสกู๊ป  "Third gender in India. Hijras, the Kinnars daughters"

สุดท้ายพวกเธอจึงเริ่ม “ขายบริการ” แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก ย้อนไปเมื่อปี 2015 หนึ่งในฮิจราเคยเผยผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ของ Guardian ว่าตนเคยถูกชายห้าคนรุมข่มขืนมากถึง 5-6 ครั้ง ซ้ำยังฉกชิงของมีค่าไปด้วย 

แน่นอนว่าพวกเธอมีโอกาสเจอโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกเมื่อ แต่ที่เศร้ากว่านั้นคือ ฮิจรามักถูกปฏิเสธสิทธิ์การรักษาในสถานพยาบาล! ถึงอย่างนั้นพวกเธอก็ใช้ชีวิตด้วยแสงแห่งความหวัง ชุมชนนี้ยังคงมีฮิจราที่เป็นนักเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น Laxmi Narayan Tripathi ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของฮิจราและ LGBTQ+

“ฉันไม่ได้สร้างพระราชวัง แต่อย่างน้อยฉันได้วางหินก้อนหนึ่งไว้ที่​​ฐานราก 

เป็นรากฐานแห่งความเสมอภาค ศักดิ์ศรี และการรวมชุมชนของฉันไว้ในสังคมกระแสหลัก”

— Laxmi Narayan Tripathi 

 

ปัจจุบันมุมมองความหลากหลายทางเพศในอินเดียกำลังก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เหมือนแสงแห่งความหวังที่เริ่มจากจุดเล็กๆ และฉายชัดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2018 กฎหมายมาตรา 377 ก็ได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของกลุ่ม LGBTQ+ ทีเดียวค่ะ!

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วทุกคนก็คงจะได้ซึมซับเรื่องราวของฮิจรากันไปบ้าง หวังว่าบทความเล็กๆ นี้จะทำให้เพื่อนๆ รู้จักกันฮิจรากันมากขึ้นนะคะ วันนี้พี่พันตาก็ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สุขสันต์เดือน Pride Month ค่ะ  ️‍️‍:)

 

___________________________________

 

Sources:https://www.vox.com/2014/4/16/5618610/hijras-rulinghttps://www.nytimes.com/2018/02/17/style/india-third-gender-hijras-transgender.htmlhttps://theculturetrip.com/asia/india/articles/a-brief-history-of-hijra-indias-third-gender/https://sewa-aifw.org/the-hijra-community-and-decolonizing-gender/https://sites.uab.edu/humanrights/2018/10/29/indias-relationship-with-the-third-gender/https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2016/04/23/why-terms-like-transgender-dont-work-for-indias-third-gender-communities/https://www.dailymail.co.uk/news/article-4286052/The-gender-Hijras-forced-work-sex-trade.htmlhttps://www.wessexscene.co.uk/magazine/2019/03/17/history-of-the-hijra-ancient-india-to-today/https://law.unimelb.edu.au/centres/alc/engagement/past-events/2019-past-events/governing-gender-and-sexuality-in-colonial-india-the-hijra,-c.-1850-1900https://indianexpress.com/article/research/eunuch-security-guards-bihar-mughal-empire-history-5266102/https://www.bbc.com/news/world-asia-india-48442934https://www.teenvogue.com/story/colonialism-explainedhttps://asiancenturyinstitute.com/development/1568-britain-s-shameful-colonisation-of-indiahttps://www.youtube.com/watch?v=kpp9_YmLlckhttps://wiki.fibis.org/images/3/32/British_soldiers_looting_Qaisar_Bagh_Lucknow.jpghttps://www.youtube.com/watch?v=5O3gqFvhIiU

 

พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น