มาทำความรู้จักกับ “IPUTSA” ศิลปิน NFT เจ้าของภาพที่ชื่อว่า 'The Invitation'

Spoil

  • คอนเซ็ปต์ของรูปภาพมาจากความฝัน ความทรงจำและสถานการณ์ที่ประทับใจ
  • ศิลปะไม่ได้มีอะไรมาวัดค่าได้อยู่แล้ว มันมีแค่คนที่ดูแล้วชอบหรือไม่ชอบ
  • “เศรษฐกิจ” และ “ความเชื่อ” ทำให้ศิลปะในไทยไปไม่ไกลเท่าประเทศอื่น ๆ
  • NFT ได้ช่วยให้วงการศิลปะในไทยนั้นเติบโตขึ้น เพราะ NFT Platform ต่าง ๆ มันเป็น Global

สวัสดีน้อง ๆ ชาว Dek-D.com ทุกคนนะคะ พี่เชื่อว่ามีน้อง ๆ จำนวนไม่น้อยเลยที่มีความฝันอยากจะวาดรูปเพื่อนำมาเป็นอาชีพ แต่มักจะโดนขัดด้วยคำพูดต่าง ๆ จากความเชื่อของผู้คน แต่วันนี้พี่หมิวหมิวได้รับเกียรติจาก  NFT Creator ท่านนึง คือ  “คุณพุทรา - ณหทัย เนาถาวร” หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนามปากกาว่า “IPUTSA”  นั่นเองค่ะ! 

ถ้าใครที่ติดตามวงการ NFT คงจะรู้จักคุณพุทรากันดี เพราะคุณพุทราเขาเป็นเจ้าของภาพที่ชื่อว่า  ‘The Invitation’   ซึ่งวันนี้พี่ก็ได้เชิญคุณพุทรามาพูดคุยกันถึงเรื่องของจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มาเข้าร่วมวงการ NFT เรื่องราวความก้าวหน้าของวงการศิลปะในประเทศไทย และเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมาย 

บอกเลยค่ะว่างานนี้น้องๆ ที่อยากเป็นศิลปิน NFT ต้องห้ามพลาด! 

ก่อนจะมาเข้าวงการ NFT เคยทำงานบริษัทโฆษณามาก่อน 

คุณพุทราเขาได้เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเองเคยทำงานเป็นพนักงานประจำในบริษัทโฆษณาแห่งนึง แต่ต้องลาออกไปเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ บวกกับคุณพุทราเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ๆ พอไม่มีเวลามาให้การวาดรูปนานเข้าก็รู้สึกอึดอัด เหมือนไม่ได้มีอะไรมาให้ความสุข เพราะงานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้เติมเต็มตัวเขาได้ขนาดนั้น คุณพุทราจึงลองผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์

 “ช่วงที่ออกใหม่ๆ เราเคว้งมาก เพราะไม่ได้วาดมานาน ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักผลงาน บางเดือนแทบไม่มีรายได้เลย จนวันนึงแฟนพุทราที่เขาเป็น Artist ที่มีผลงานมาก่อน (Jeff Aphisit) ก็ได้รู้จัก NFT จากพี่ ๆ ในวงการ แล้วก็เลยมาชวนพุทราไปลองศึกษาด้วยกัน” 

ใช้เวลาหาสไตล์การวาดรูปนานมาก! 

คุณพุทราเล่าให้พี่ฟังว่า เขาหาสไตล์การวาดรูปนานมาก และตัวเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขามีสไตล์เป็นของตัวเองขนาดนั้น 

“ตอนเด็ก ๆ เป็นคนวาดหลายแนวมาก แล้วแต่ว่าช่วงไหนอินแบบไหน บางทีสไตล์ที่ทำก็ขึ้นอยู่กับสตอรี่ของเราด้วย เราชอบดู Art ของพวกเกมส์ที่มีเนื้อเรื่อง มี Theme ชอบงาน Interior แบบวินเทจ ๆ ของต่างประเทศ ก็จะได้ Inspire มาจากตรงนั้นเยอะ” 

คอนเซ็ปต์ของรูปภาพมาจากความฝันและความทรงจำ 

ถ้าใครที่ติดตามผลงานของคุณพุทราก็จะเห็นว่ารูปภาพของคุณพุทราจะค่อนข้างสดใส ดูแฟนตาซีและมีสีสันที่น่ารักมาก! 

คุณพุทราได้เล่าให้พี่ฟังว่า เขาได้คอนเซ็ปต์มาจากความฝัน ความทรงจำและสถานการณ์ที่ประทับใจ ซึ่งคุณพุทราได้เล่ามันออกมาโดยผ่านมุมมองอบอุ่น ๆ childish หน่อยๆ ให้มันดูน่ารักสดใส กลับมามองแล้วได้ผ่อนคลาย

หัวตันคิดงานไม่ออกบ่อยมาก!  

  คุณพุทราได้บอกกับพี่ว่า ตัวคุณพุทราเองคิดงานไม่ออกบ่อยมาก ยิ่งช่วงที่ไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะอยู่แค่ที่บ้าน ไม่ได้เจอใคร ทำให้คิดงานไม่ออก แล้วก็ทำให้ไม่มีแรงทำงานด้วย

“เราเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะ ถึงเป็น introvert ยังไงก็ต้องมีออกไปข้างนอกบ้าง ไปรับแรงบันดาลใจ การอยู่คนเดียวสำหรับเรามันไม่ได้ส่งผลแค่กับงานวาด แต่เป็นสุขภาพจิตเลย” 

งานแรกลงขายไว้นานเป็นเดือน ๆ ถึงจะขายได้ 

คุณพุทราได้เล่าให้พี่ฟังว่า “งานแรกเขาลงขายไว้นานมาก เป็นเดือน ๆ กว่าจะขายได้ ตอนนั้นเขาค่อนข้างรู้สึกเซ็ง ไม่อยากขาดทุนเพราะ ณ ตอนนั้น ค่าลงงานแพงมากสำหรับเรา พอขายได้ก็ดีใจมาก ไม่ใช่แค่เพราะขายได้ แต่เพราะ Collector ทักมาชมงานเราก่อนซื้อด้วย มันรู้สึกได้รับกำลังใจ”

ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำอะไรก็คงไม่เลิกวาดรูป

พี่ได้ถามคุณพุทราว่า “คิดว่าการวาดรูปจะเลี้ยงเราไปจนแก่ได้ไหม?”

คุณพุทราได้ตอบคำถามนี้ว่า “เดาไม่ได้เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปไวมาก อนาคตคนอาจจะให้ความสนใจกับงานศิลปะมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ แถมเราก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสนใจทางอื่นอีกไหมด้วย แต่ที่แน่ ๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำอะไรก็คงไม่เลิกวาดรูปอยู่ดี”

เพราะ “คน” ทำให้ศิลปะโดนด้อยค่า 

เมื่อพี่ได้ลองถามถึงเหตุผลว่าอะไรที่คุณพุทราคิดว่าทำให้ศิลปะโดนด้อยค่า คุณพุทราก็ตอบทันทีว่า “คน” 

“ในความคิดเราศิลปะไม่ได้มีอะไรมาวัดค่าได้อยู่แล้ว มันมีแค่คนที่ดูแล้วชอบหรือไม่ชอบ แล้วปฏิบัติกับมันยังไงมากกว่า ถ้าเป็นงานที่เราทำแล้วชอบ ถึงราคาไม่สูงหรือ Engagement ไม่ดีก็ไม่ได้ทำให้ค่ามันหายไป แต่อยู่ที่ว่า เราจะเลิกชอบมันหรือเปล่า มากกว่า” คุณพุทรากล่าว 

“เศรษฐกิจ” และ “ความเชื่อ” ทำให้ศิลปะในไทยไปไม่ไกลเท่าประเทศอื่น ๆ 

เมื่อพูดถึงปัญหาที่ทำให้ศิลปะในไทยไปไม่ไกลเท่าประเทศอื่น ๆ คุณพุทราก็บอกว่าปัญหานั้นเกิดจากสองเรื่องหลัก ๆ คือ “เศรษฐกิจ” และ “ความเชื่อ”

คุณพุทราบอกกับพี่ว่า “ความจริงในไทยมีศิลปินเก่ง ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่อีกมากมาย แต่หลายคนไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ เพราะต้องใช้เวลาไปกับการทำงานอื่นเพื่อหาเงินเดือนชนเดือน” 

และคุณพุทรายังบอกอีกว่า “ทุกวันนี้บางบริษัทยังให้ลูกน้องที่มีความสามารถ ทำงานเกิน Job Description โดยไม่มีค่าจ้างเพิ่มด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยอม เพราะหากต้นทุนไม่มาก ราคางานศิลปะในประเทศนี้มันไม่พอกับการใช้ชีวิตที่ดีได้เลย พอเป็นแบบนี้เลยส่งผลไปถึงมุมมองของคน ที่มองความสำคัญของงานศิลปะเป็น “เรื่องเล็กน้อย” เพราะแค่หาเงินเลี้ยงปากท้องยังยาก โอกาสที่จะ Spend เงินให้กับงานศิลปะก็ยิ่งเกิดขึ้นไม่ได้” 

และอีกปัญหานึงที่คุณพุทราคิดว่าทำให้ศิลปะในไทยไปไม่ไกลเท่าประเทศอื่น ๆ  คือ เรื่องค่านิยมความเชื่อต่าง ๆ ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ คุณพุทราได้ยกตัวอย่างศิลปะในประเทศญี่ปุ่น ที่เขามีการนำชุดประจำชาติ หรือรูปปั้นเทพเจ้าต่าง ๆ มาดัดแปลงสร้างงานศิลปะ, สื่อบันเทิง เช่น อนิเมะ หรือหนัง เป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุน เพราะมันช่วยทำให้คนทั่วโลกได้คุ้นชิน ชื่นชอบกับวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ 

“จริง ๆ แล้วประเทศเรามีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาก และสามารถนำมาดัดแปลงได้หลากหลาย แต่แปลกที่คนที่นำเรื่องเหล่านี้มานำเสนอในมุมมองที่แตกต่าง กลับถูกมองว่าไม่ดี เพราะเรื่องความเชื่อว่าแตะต้องไม่ได้”

แค่เปลี่ยนมุมมองการทำงานศิลปะ

หลังจากได้พูดถึงปัญหาที่ทำให้วงการศิลปะในประเทศไทยไปไม่ไกลเท่าประเทศอื่น ๆ พี่ก็ได้ถามคุณพุทราเพิ่มเติมว่า “ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวงการศิลปะได้หนึ่งอย่าง จะแก้ปัญหาเรื่องอะไร?” 

คุณพุทราได้บอกกับพี่ว่า ถ้าเป็นไปได้เขาอยากแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้ได้ แต่เรื่องใกล้ตัวที่คิดว่าทุกคนทำได้ คือ ‘เปลี่ยนมุมมองการทำงานศิลปะ’

นอกจากนี้ คุณพุทรายังเสริมอีกด้วยว่า “นายจ้างหรือบริษัทควรให้เกียรติสายอาชีพศิลปิน ไม่กดราคางานอาร์ต เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าใจงานศิลปะมากขึ้น ช่วยผลักดันวงการศิลปินไทยด้วยการไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ และเปิดใจรับมองมุมมองที่แตกต่าง” 

NFT ช่วยให้วงการศิลปะในไทย ออกไปสู่สายตาคนทั่วโลก!

คุณพุทราได้บอกกับพี่ว่าวงการ NFT ได้ช่วยให้วงการศิลปะในไทยนั้นเติบโตขึ้น เพราะ NFT Platform ต่าง ๆ มันเป็น Global ทำให้ทุก ๆ คนในโลกสามารถเข้ามาชมได้ รวมถึงการช่วยกันโปรโมทใน Community นี้ ก็ยิ่งส่งเสริมให้มีคนรู้จักเป็นวงกว้างขึ้น

 “คนต่างชาติหลายคนก็เคยพูดว่า ศิลปินไทยเป็นเหมือน Hidden Gem ด้วยซ้ำ”

ถ้าอยากเป็นศิลปิน NFT ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

คุณพุทราได้บอกกับพี่ว่า “ในเรื่องของการสร้างสรรค์ผลงานมันไม่มีข้อกำหนดอะไรเลยค่ะ ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ พื้นที่นี้ไม่มีบรีฟ ทุกอย่างที่เป็นไฟล์ Digital ได้ก็สามารถเปลี่ยนเป็น NFT ได้ สิ่งที่จำเป็นก็น่าจะเป็นเรื่องภาษา เพราะ NFT Platform มันเป็นสากล ทุกคนบนโลกมีโอกาสพบเจอกัน ก็คงเลี่ยงการพูดคุยกัน หรือโปรโมทผลงานด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้”   

และคุณพุทรายังบอกอีกด้วยว่า “แค่เป็นตัวของตัวเองให้มีความสุข ไม่ต้องพยายามแข่งกับใครทั้งนั้น ภูมิใจในงานของตัวเอง ชมตัวเองบ่อย ๆ ด้วย สู้ ๆ ค่ะ” 

จบไปแล้วนะคะสำหรับบทสัมภาษณ์ พี่หวังว่าน้อง ๆ ที่อยากทำงานเป็นศิลปินจะได้ความรู้และกำลังใจจากบทสัมภาษณ์นี้ของคุณภุทรานะคะ สำหรับใครที่อยากติดตามผลงานของคุณพุทราเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่  Facebook : IPUTSA  Twitter : IPUTSA IG : IPUTSA ได้เลยค่ะ รับรองว่ามีผลงานดี ๆ มาให้ทุกคนได้ชมแน่นอน! 

พี่หมิวหมิว
พี่หมิวหมิว - Columnist นักเขียนมือสมัครเล่น เป็นคนใช้ชีวิตไปวันๆ เพราะใช้ทีละสองวันไม่ได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

pthanachot Member 7 พ.ย. 65 22:31 น. 1

เพิ่งร่วมเขียนคอนเทนท์นี้ไป 10 สุดยอดศิลปิน NFT ไทย ผลงานดังไกลถึงเวทีโลก มีคุณ IPUTSA ด้วยครับ แต่เสียดายไม่เคยมีงานของศิลปินคนนี้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด