ตรวจ HIV ด้วยตนเองได้ไหม? ชุดตรวจ HIV เชื่อถือได้หรือเปล่า?

ตรวจ HIV ด้วยตนเองได้ไหม? ผลตรวจเชื่อถือได้หรือเปล่า?

ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตรวจเชื้อต่างๆ ด้วยตนเองนั้นพัฒนาไปไกลมากแล้วครับ อย่างที่เราเห็นกันชัดเจนก็โดยเฉพาะโควิด-19 กำลังระบาด แทบทุกคนน่าจะเคยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ด้วยตนเอง และผลการตรวจนั้นก็ช่วยคัดกรองโรคได้อย่างมากเลยทีเดียวครับ 

ทีนี้พูดถึงโดยหลักการของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้นก็เหมือนกับการตรวจหาเชื้อไวรัสทั่วไปเลยครับ เช่นเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ที่น้องๆ ถามเข้ามาวันนี้นั่นเอง

ชุดตรวจ HIV Test Kit ลดการแพร่ระบาดและรักษาได้รวดเร็วขึ้น

หากใครจำได้... หรืออาจจะเพิ่งทราบก็ได้ครับ เมื่อปลายปี 64 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีประกาศอนุญาตใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองได้แล้ว โดยขณะนั้นมีชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. แล้ว และจะมีการวางขายตามร้านขายยาทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เพื่อผลในการเข้ารับการรักษาหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วขึ้นนั่นเอง

โดยสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในขณะนั้น (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565) มีเป้าหมายใจการยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 โดยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 1,000 ราย/ปี ลดการเสียชีวิตจากเอดส์ ไม่เกิน 4,000 ราย/ปี และลดการรังเกียจตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย ให้ได้ร้อยละ 90 

ชุดตรวจ HIV Test Kit  ที่ผ่านการรับรองจาก อย.

เมื่อปี 2564 มีชุดทดสอบผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานจาก อย.แล้ว 2 ชนิด คือ ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีจากการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ รู้ผลภายใน 1 นาที และชุดตรวจโดยการใช้น้ำลายอ่านผลได้ใน 20 นาที 

คล้ายกับชุดตรวจโควิด-19 อย่างที่พี่หมอบอกไปเลยใช่ไหมครับ ซึ่งความสะดวกก็คือ สมัยก่อนเราอาจสงสัยว่าได้รับเชื้อแต่ก็เขินอายที่จะไปรับการตรวจที่สถานพยาบาล แม้กระทั่งมีคลินิกนิรนามหลายแห่งช่วยอำนวยความสะดวกก็ตาม แต่ปัจจุบันชุดตรวจ HIV จะช่วยเรื่องความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากเราสามารถคัดกรองโรคได้ด้วยตนเองผ่านวิธิการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพื่อได้รู้สถานะการติดเชื้อเบื้องต้น และรอตรวจยืนยันผลโดยสถานพยาบาลอีกครั้ง จากนั้นก็เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ทันที 

5 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV 

  1. กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์ชาย
  2. กลุ่มหญิงข้ามเพศ
  3. กลุ่มพนักงานบริการ
  4. ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  5. ประชาชนทั่วไป

สถานการณ์การติดเชื้อ HIV ในไทย ปี 2527-2563

มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ยังมีชีวิตอยู่ 462,376 คน ในปี 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,855 คน เสียชีวิต 11,882 คน ผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิต รู้สถานะการติดเชื้อของตนเองร้อยละ 94.3 ขณะนี้อยู่ในระบบการรักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศด้วยยาต้านไวรัสร้อยละ  83.5 ในจำนวนนี้สามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ร้อยละ 97.2

เราจะเลือกชุดตรวจ HIV Test Kit  อย่างไรดี?

ปัจจุบัน ชุดตรวจ HIV test kit มีทั้งการตรวจทางเลือด และตรวจจากเนื้อเยื่อบุในช่องปาก ซึ่งวิธีการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ และชุดตรวจที่ดีนั้นควรจะมีความแม่นยำ (Sensitiviity) และความจำเพาะ (Specitivity) มากกว่า 90% หรือมีผลที่ตรวจผิดพลาดต่างๆ ไม่เกิน 10 % โดยก่อนซื้อ หรือสั่งทางออนไลน์ ควรตรวจสอบตนเองและชุดตรวจก่อน ดังนี้

1.      เป็นชุดตรวจที่ได้รับการรับรองโดย อย. (องค์การอาหารและยา) ประเทศไทย 

ที่อนุญาตให้นำเข้ามาขายได้ในไทยหรือในร้านขายยา ซึ่งบางร้านเป็นการนำเข้ามา นำเลขที่อนุญาตไปตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้เลย จะเป็นชุดที่เขาตรวจสอบแล้วว่าเชื่อถือได้และมีความแม่นยำ

2.      มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมามากกว่า 2-3 สัปดาห์ 

ข้อนี้จริงๆ แล้วขึ้นกับชนิดการตรวจว่าตรวจเชื้อหรือตรวจหา Antibody (โปรตีนที่เป็นภูมิคุ้นกันของร่างกายที่จะคอยตอบสนองเวลามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย) ที่จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละชุดตรวจ ดังนั้น ถ้าให้ดี ควรจะตรวจในช่วงที่เลย window period (ช่วงเวลาฟักตัว หรือตรวจไม่พบเชื้อ) หลังจากมีความเสี่ยงด้วย แต่หากมีความเสี่ยงวันนี้ ตรวจเจอวันนี้นั้น อาจจะต้องลองคิดดูแล้วว่า มีความเสี่ยงมาก่อนหน้านี้ หรือติดมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่

3.      ผลบวกลวง (False positive) และผลลบลวง (False negative) สามารถเกิดขึ้นได้ 

แม้มีโอกาสเพียงเล็กน้อยจากชุดตรวจที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การตรวจสอบซ้ำที่โรงพยาบาล ก่อนทำการรักษา หรือหากมีความเสี่ยงมาก ก็ควรจะพบแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาครับ เพราะยังมีการติดเชื้ออื่นๆที่ตามมาได้ หรือการรับประทานยาเพื่อป้องกันไว้ก่อนหากมีการได้รับเชื้อมา (Post-exposure Prophylaxis)

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อให้ไวที่สุด เพื่อที่จะได้เริ่มทำการรักษาเป็นสิ่งจำเป็นครับ หากน้องๆ คนไหน พลาดไปแล้ว และคิดว่าตนเองมีความเสี่ยง การลองตรวจด้วยตนเองก่อน ก็อาจจะคุ้มค่าดีกว่ารอปล่อยให้แสดงอาการของโรคหรือติดเชื้อแทรกซ้อน (Opportunistic infection) จากการที่เรามีภูมิคุ้มกันที่ต่ำมากๆ แล้วครับ เพื่อจะได้เริ่มทานยา แล้วใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปเลยครับ 

 

 

นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล

 

 

พี่โด่ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด