โซเดียม...ต้นเหตุของความ 'บวม' ทำให้ดูอ้วนขึ้นได้!

Spoil 

  • โซเดียมมีอยู่ในอาหารหลายประเภท ปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับแล้วไม่เป็นอันตราย คือ ประมาณ 1 ช้อนชา 
  • การได้รับโซเดียมมากเกินไปทำให้ร่างกายต้องกักเก็บน้ำไว้ในเซลล์มากกว่าปกติ ส่งผลทำให้ตัวดูบวมขึ้น
  • วิธีแก้ไขการตัวบวมโซเดียมได้ง่ายที่สุด คือลดอาหารรสเค็มและดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ (1.5-2 ลิตร/วัน)

 

น้องๆ ชาว Dek-D.com  เคยสงสัยไหมคะ? ว่าตัวเองก็ไม่ได้กินอะไรเยอะนะ ของหวานก็ไม่ค่อยได้แตะ...แต่ทำไมเราถึงดูตัวบวมหรือหน้าบวมจัง?  วันนี้พี่ออมจะมาบอกอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราดูอ้วนขึ้นค่ะ เรื่องใกล้ตัวเรานี่เอง บอกเลยว่าสาเหตุนี้ถ้ารู้แล้วปรับพฤติกรรมก็สามารถแก้ไขได้เลยทันทีค่ะ

คำตอบนั่นคือ อาจเป็นเพราะเรากินอาหารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่มากไปจนเกินความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เราดูหน้าบวม ตัวบวมได้!

โซเดียมกับเกลือ อันเดียวกันไหม? 

โซเดียม เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย (เพราะฉะนั้นก็ห้ามขาดน้องเขานะคะ) ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปแล้วร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1500 มิลลิกรัม/วัน ปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่เป็นอันตรายคือไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน  หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา ดังนั้นเราจึงไม่ควรกินโซเดียมเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน  

สำหรับใครที่สงสัยว่าเกลือกับโซเดียมนี่มันเหมือนกันหรือเปล่า? จะบอกแบบนี้นะคะ...เกลือ คือสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ โดยปกติเกลือที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้จะมีโซเดียมร้อยละ 40 ดังนั้นเมื่อพูดถึง เกลือ 1 กรัม จึงหมายถึงมีโซเดียม 0.4 กรัม (ข้อมูลจาก สสส.)

โซเดียม มีอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง? 

อาหารส่วนมากมักจะมีโซเดียมประกอบอยู่อย่างที่เราไม่คาดคิดเลย เช่น ในเนื้อสัตว์ ถั่ว ผักต่างๆ แต่ว่าอาหารธรรมชาติเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและเราไม่จำเป็นต้องปรุงเพิ่มเลยค่ะ  แล้วน้องๆ รู้ไหมคะว่าแม้แต่ ผงฟู ที่เราใช้ทำขนมปังหรือคุกกี้ ก็มีโซเดียมประกอบอยู่เหมือนกัน

อาหารอีกจำพวกที่มักจะเจอโซเดียมบ่อยนั่นก็คือ อาหารแปรรูป-อาหารสำเร็จรูปนั่นเองค่ะ พวกอาหารหมักดอง อาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ ขนมกรุบกรอบ อาหารรสเค็มๆ เครื่องปรุงรส เป็นต้น ของโปรดของใครบ้างเอ่ย!! 

มาถึงตรงนี้น้องๆ หลายคนคงนั่งคิดกันใหญ่แล้วสิ ว่าวันนี้เรากินโซเดียมกันไปขนาดไหนแล้วเกิน 1 ช้อนชาหรือยัง? ซึ่งคำถามต่อมาน้องๆ ก็คงจะคิดว่า ‘เอาแล้ว...เหมือนจะกินโซเดียมเกินนะเรา แล้วถ้าได้รับโซเดียมมากเกินมันจะเป็นยังไงละ?!  ’

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

กินโซเดียมมากเกินไปทำให้ตัวบวม?! 

บางทีที่เราสังเกตตัวเองว่าดูอ้วนขึ้น อาจเป็นเพราะเราได้รับโซเดียมมากเกินไป อาการหน้าบวม-ตัวบวมเกิดจากการที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายต้องการ ทำให้ร่างกายของเรากักเก็บน้ำไว้ใต้ผิวเพื่อใช้ละลายความเข้มข้นของโซเดียม จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อในร่างกายบริเวณต่างๆ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และร่างกายดูบวมกว่าปกติ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า อาการบวมน้ำ/บวมโซเดียม นั่นเองค่ะ

แต่ว่าการบวมน้ำก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินโซเดียมมากเกินไปอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาเหตุเลย ไม่ว่าจะเป็น : 

  • อาการท้องผูก ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาได้อย่างปกติ
  • การทานยารักษาโรคบางชนิด
  • อยู่ในอิริยาบถเดิมเดิมนานๆ ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปยังส่วนอื่นของร่างกายเกิดเป็นอาการตัวบวมได้ค่ะ ลองสังเกตเวลาที่เราหลับแล้วตื่นมาบางทีเราจะหน้าบวม เพราะเมื่อเวลาเรานอนหน้าเราอยู่ในท่ากดทับตำแหน่งเดิม หรือแม้กระทั่งการนั่งนานๆ ก็ทำให้เกิดเลือดคั่งบริเวณขา เป็นสาเหตุทำให้ขาบวมได้เหมือนกัน
  • ช่วงมีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อประจำเดือนหายความบวมเหล่านั้นก็จะหายไปเองค่ะ
  • การดื่มน้ำน้อยเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้เหมือนกัน
ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

วิธีกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย 

  • การกำจัดโซเดียมออกจากร่างกายมีวิธีง่ายที่สุดคือ การดื่มน้ำ  การดื่มน้ำให้เพียงพอคือ 1.5-2 ลิตร/วัน จะช่วยให้ของเหลวภายในร่างกายมีการไหลเวียนที่ดี มีความสมดุลมากขึ้น ทั้งยังช่วยขับของเสียออกจากร่างกายได้มากขึ้นด้วยค่ะ
  • ออกกำลังกาย  ให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าหากนั่งเรียนไม่สามารถออกกำลังกายอย่างจริงจังได้แนะนำขยับขาเปลี่ยนอิริยาบถก็ยังได้ค่ะ หรือเวลานอนเล่นก็ยกขาขึ้นสูงหรือวางบนหมอนนุ่มๆ  ให้เลือดได้ไหลเวียนสะดวกมากขึ้น
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดการกินอาหารแปรรูป, ของหมักดองและอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมถุงกรุบกรอบแสนนัวลิ้น เครื่องปรุงรสต่างๆ หรือแม้แต่น้ำผลไม้บางทีก็มีการเติมเกลือลงไปเพื่อทำให้มีรสชาติที่ดีขึ้นด้วยนะคะ
  • อาหารที่ช่วยลดโซเดียมในร่างกายได้ คืออาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น  กล้วย ถั่วขาว ผักใบเขียว มันฝรั่ง แต่ว่าหมายเหตุไว้สักนิดสำหรับผู้ป่วยโรคไตซึ่งต้องคอยควบคุมปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายกันให้ดีนะคะ

 

ส่วนตัวพี่ออมเองยอมรับเลยค่ะว่าเป็นคนติดกินเค็มคนนึงเลย  แล้วก็เจอเหตุการณ์ตัวบวมหลายครั้ง ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย  ตอนนี้ก็พยายามลดการทานเค็ม ลดการเติมเครื่องปรุงเวลาทานอาหารแล้วก็พยายามดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย เพื่อสุขภาพในระยะยาวกันนะคะ แน่นอนกินโซเดียมมากๆ ในอนาคตจะไม่ใช่แค่ตัวบวมน้ำแล้วหาย บอกเลยว่าโรคไตถามหาแน่นอน ไตจริงๆ เลย ไม่ใช่ไตหาหัวจามด้วยนะคะ ดักไว้ก่อน! 

 

ข้อมูลจากhttps://www.hunimed.eu/https://www.cookinglight.comhttps://www.rajavithi.go.th/https://www.thaihealth.or.th/https://www.apexprofoundbeauty.com/

 

พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด