ทำความรู้จัก! โรคหลงผิดคิดว่ามีคนมาหลงรัก Erotomania

Spoil

  •  Erotomanic Delusional Disorder/ Erotomania หรือโรคหลงผิดคิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักหรือเป็นคู่รักของตนเอง เป็นหนึ่งในชนิดของโรคหลงผิด
  • สาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของสมอง สภาพแวดล้อมหรือจากสภาพจิตใจของผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักจะคลั่งไคล้ในตัวคนๆ หนึ่งมาก แม้จะไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวหรือไม่เคยเจอหน้ากัน และคิดว่าบุคคลนั้นรัก-ชื่นชอบเราเป็นพิเศษ จนเริ่มมีพฤติกรรมคุกคามชีวิตส่วนตัวของเขา

สวัสดีค่พน้องชาว Dek-D.com บทความนี้พี่ออมจะพาน้องๆ มารู้จักกับ โรคหลงผิดประเภท  Erotomanic Delusional Disorder/ Erotomania หรือโรคหลงผิดคิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรัก พร้อมยกกรณีตัวอย่างประกอบ ซึ่งในปัจจุบันเราอาจพบผู้ป่วยในโรคนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการเสพสื่อในโลกออนไลน์มากเกินไปจนเกิดเป็นความหมกมุ่น และไม่สามารถแยกระหว่างโลกความเป็นจริงกับจินตนาการออกจากกันได้ แต่น้องๆ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ พี่ออมจะมี Checklist อาการเบื้องต้นให้ว่าเรากำลังคลั่งไคล้คนๆ หนึ่งมากจนถึงขั้นป่วยเป็นโรค Erotomania หรือไม่

โรคหลงผิดประเภท Erotomania

 Erotomanic Delusional Disorder/ Erotomania หรือโรคหลงผิดคิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักหรือเป็นคู่รักของตนเอง เป็น 1 ในชนิดของโรคหลงผิด (Delusional Disorder; โรคทางจิตเภทที่ผู้ป่วยจะแยกความจริงกับโลกของจินตนาการไม่ได้) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าคนที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ศิลปิน, ดารา มาหลงรักตนในเชิงชู้สาว ต่อมานักวิชาการก็ได้บัญญัติคำให้เห็นชัดขึ้นว่า การหลงใหลคนดังหรือดาราคือภาวะ A romantic delusion  โดยผู้ป่วยมักจะสะกดรอยตามหรือพยายามติดต่อสื่อสารในหลายๆ รูปแบบกับบุคคลนั้น เช่น เขียนจดหมาย, ติดต่อไปทางช่องทางส่วนตัวใน Social media  และมีข้อความที่คุกคามไปในเชิงชู้สาวมากขึ้นเรื่อยๆ หรือกระทั่งตามไปถึงที่พักของบุคคลนั้นๆ ก็มีค่ะ  

สาเหตุ

สาเหตุของโรคนี้มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ด้านจิตใจของตัวผู้ป่วยเองหรือจากการเลี้ยงดูของครอบครัว เพราะหลายกรณีเมื่อเราย้อนไปดูภูมิหลังของผู้ป่วย มักจะเจอการสภาพการเติบโตหรือปัญหาการเลี้ยงดูบางอย่างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางจิตที่เกิดขึ้น เช่น การถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง  หรืออาจมาจาก ความผิดปกติในระดับพันธุกรรมบางอย่าง ที่เกี่ยวกับสารเคมีผิดปกติในสมองของตัวผู้ป่วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจแสดงอาการโรคหลงผิดนี้ เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นตามมาจากโรคทางจิตเภทชนิดอื่นๆ หรือเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบในผู้ป่วยโรคภาวะสมองเสื่อม จนทำให้พัฒนาเกิดเป็นอาการหลงผิดแบบดังกล่าวก็เป็นได้ค่ะ 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

กรณีศึกษา: ตัวอย่างผู้ป่วยที่เป็นโรคหลงผิดประเภท  Erotomania

พี่ออมยกเคสจากทาง University Hospital, Kuala Lumpur  มาเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นถึงลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคนี้มากยิ่งขึ้นนะคะ

ผู้ป่วย S (นามสมมติ)  อายุ 25 ปี เพศหญิง  ถูกพามารักษาจากพฤติกรรมที่บ้าคลั่งและแปลกประหลาด จากการที่เธอวางแผนจะแต่งงานกับอาจารย์ K (นามสมมติ) เพศชาย อายุ 32 ปี

เรื่องราวคือ S ได้ส่งการ์ดแต่งงานไปให้เพื่อนของคุณ K  โดยบอกว่าเธอและ K จะแต่งงานกันพร้อมทั้งระบุรายละเอียดทั้งวันและสถานที่จัดงานอย่างชัดเจน  ซึ่งเพื่อนของคุณ K ก็ตกใจเป็นอย่างมากเพราะถือว่าเป็นการแต่งงานที่กระทันหันและไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าสองคนนี้คบหากัน

 

ต่อมาเรื่องนี้ไปถึงบาทหลวงประจำโบสถ์และในขณะเดียวกันคุณแม่ของ S  ก็เจอการ์ดแต่งงานบางส่วนในห้องของเธอด้วย หลังจากที่สองคนนี้ได้ไปพูดคุยกับ S  เธอก็แสดงอาการโกรธและไม่ยอมรับความจริงที่ว่า K ไม่ได้มีความเสน่หาหรือต้องการที่จะแต่งงานกับเธอแต่อย่างใด  ในทางกลับกัน S กลับบอกว่า K รักเธอมาก ต้องการที่จะแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกับเธอ  

 

ลักษณะนิสัยของ S เธอเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ ขยันเรียนและทำคะแนนได้ดีมาตลอดการสอบ แต่หลังจากที่เธอได้เข้ามาให้ความสำคัญกับพิธีทางศาสนาของเธอก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น นั่นคือเธอหมกมุ่นในการไปทำกิจกรรมทางศาสนามากขึ้นและความตั้งใจในการเรียนก็ลดลง

 

พฤติกรรมที่เธอไปคุกคามคุณ  K  นั้นเริ่มมาจากการที่คุณ K  กล่าวทักทายเธอที่โบสถ์และหลังจากนั้นเธอก็วาดฝันถึงการได้รักและใช้ชีวิตร่วมกับคุณ K มาโดยตลอด จนทำให้เธอตัดสินใจดรอปเรียน นอกจากนี้เธอยังรู้สึกโกรธมากๆ และเกิดความอิจฉาถ้าเจอผู้หญิงคนอื่นกำลังพูดคุยกับคุณ K ทว่าเธอก็ไม่กล้าไปเผชิญหน้าเขาเพราะกลัวว่าคุณ K  จะไม่อยากแต่งงานกับเธอ 

 

พฤติกรรมของเธอได้คุกคามคุณ K มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่เขียนจดหมายส่งไปหาคุณ K ถี่ขึ้น โดยเนื้อความในจดหมายก็คุกคามคุณ K มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้คุณ K ต้องบอกเธอตรงๆ ว่าให้หยุดการกระทำนี้แต่เธอกลับคิดว่านั่นเป็นเพราะ K เขินอายเธอ เธอก็ยังไม่หยุดแค่นั้น เธอเริ่มไปหาเขาที่โรงเรียนที่คุณ K ทำงานอยู่ หนักที่สุดคือถึงขั้นแอบไปที่บ้านของคุณ K และทำอาหารเพื่อรอเขากลับบ้านเหมือนหน้าที่ของภรรยา S ยังลาออกจากงานประจำโดยเหตุผลว่าเตรียมตัวเพื่อไปแต่งงานและสร้างครอบครัว ทั้งยังจองสถานที่ต่างๆ  ที่ใช้ในงานแต่งที่เธอคิดขึ้นมาอีกด้วย 

 

ภูมิหลังทางครอบครัวพบว่า S เธอเติบโตมาใน สภาพครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนและเคร่งครัดในประเพณี มีความอนุรักษ์นิยมสูง แม้ประวัติของญาติ/คนในครอบครัวเธอไม่มีใครป่วยทางจิต  คนรอบข้างบอกว่าเธอเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบและเคร่งในศาสนา 

เรามักจะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้จากการบอกเล่าของดาราหรือศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังบ่อยๆ ใช่ไหมคะว่าเขามักถูกแฟนคลับบางคนเข้ามาคุกคามความเป็นส่วนตัวของเขา เช่น ตามมาหาถึงที่บ้าน  แอบเข้ามาในห้องพัก โทรมาเบอร์ส่วนตัวหรือไปถึงขั้นคู่ฆ่าคนรอบข้างที่มีความสัมพันธ์กับดาราคนดังกล่าวเป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สร้างความหวาดระแวงให้กับตัวผู้ที่พบเจอเป็นอย่างมาก 

สังเกตอาการของผู้ป่วยโรคหลงผิดประเภท   Erotomania

น้องๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะ การที่เรามีดาราหรือไอดอลในดวงใจที่ชื่นชอบนั้นเป็นเรื่องปกติมากๆ เลยค่ะ แต่ถ้าความชื่นชอบนั้นมีมากจนเกินไปกลายเป็นความคลั่งไคล้จนเกินขอบเขตทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้ค่ะ : 

  • คลั่งไคล้ในตัวคนๆ หนึ่งมากจนเริ่มไม่สนใจชีวิตของตัวเอง ยอมทุ่มเทให้กับคนๆ นั้นอย่างสุดตัว แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่เคยเจอหน้ากันก็ตาม
  • มีความคิดว่าที่ทำแบบนั้นไป เพราะคนๆ นั้นเขามารักมาชอบตน มีความเสน่หาให้กับตน จนตนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติหรือไปกระทบการเรียนหรือหน้าที่การงานที่ทำอยู่
  • มีพฤติกรรมคุกคามชีวิตส่วนตัวของบุคคลๆ นั้น เช่น ตามไปหาถึงที่บ้าน  แอบเข้าไปในห้องพัก แอบไปดักเจอในสถานที่ส่วนตัว โทรไปหาเบอร์ส่วนตัวของเขาหรือถึงขั้นคู่ฆ่าคนรอบข้างที่มีความสัมพันธ์กับคนๆ นั้น เป็นต้น
ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

การรักษา

หากพบบุคคลรอบข้างที่มีอาการเข้าขั้นโรคหลงผิดแล้วอย่าเมินเฉยต่อพวกเขานะคะ ให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อให้คุณหมอประเมินอาการและแนะนำแนวทางการรักษา ซึ่งส่วนมากแนวทางการรักษาโรคชนิดนี้จะแบ่งเป็นสองแบบใหญ่ๆ 

  1. การจิตบำบัด  ซึ่งการทำจิตบำบัดจะมีหลายแบบ เช่น จิตบำบัดโดยจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ , จิตบำบัดแบบครอบครัว, การเข้าร่วมกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเดียวกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์  เป็นต้น
  2. การรักษาด้วยยา ต้องให้จิตแพทย์เป็นคนประเมินอาการและจ่ายยาให้

 

หากน้องๆ มีคนรอบข้างที่มีอาการหลงผิดประเภทดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาหรือพาไปพบจิตแพทย์ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการจะรุนแรงขึ้นนะคะ หรือถ้าใครเคยมีประสบการณ์คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคหลงผิดหรือพบเจอเหตุการณ์ที่พี่ออมเขียนมาในบทความนี้ มาแชร์ให้ฟังพร้อมบอกวิธีรับมือกันหน่อยนะคะ :) 

 

ข้อมูลจากhttp://www.e-mjm.orghttps://www.medicalnewstoday.comhttps://www.pobpad.com/delusional-disorderhttps://www.rama.mahidol.ac.thhttps://www.dmh.go.th/
พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น