spoil

  • แฮกเกอร์, เอา username & password ของเพื่อนไปใช้
  • โพสต์ด่าคนอื่นบนอินเทอร์เน็ต, เผยแพร่สื่อลามกอนาจารบนออนไลน์
  • ส่งอีเมลหาคนอื่นโดยไม่มีแหล่งที่มา, ฝากร้านรัว ๆ ในโพสต์คนอื่น  ฯลฯ

ในยุคนี้ที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งเราอาจจะใช้งานมันในทางที่ผิด บทความวันนี้จะพาทุกคนมาดูกันค่ะว่า กิจกรรมบนโลกออนไลน์แบบไหนที่ทำแล้ว 'ผิดกฎหมาย' พร้อมแล้วก็มาดูกันเลย!

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คืออะไร

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันเป็น พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 เพิ่งจะประกาศใช้ไปเมื่อ พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา (ฉบับแรกเป็นของปี 2550) โดยคอมพิวเตอร์ในที่นี้ หมายถึง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมาร์ตโฟน และระบบต่าง ๆ ที่ถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์

15 การกระทำผิดกฎหมาย มาดูกันว่าผิดอย่างไรบ้าง

  1. แฮกเกอร์
  2. มี username & password ของเพื่อน แล้วก็เอาของเพื่อนมาใช้ตลอด
  3. รู้รหัสคอมพิวเตอร์ของคนอื่น แล้วเอาไปบอกต่อเพื่อทำเรื่องไม่ดี
  4. ดักฟังโทรศัพท์, สร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อดักข้อมูล
  5. เอาไวรัสไปใส่ในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นจนระบบเสียหาย
  6. ส่งอีเมลโฆษณาสินค้าไปรบกวนคนอื่นโดยที่ไม่มีที่ให้กดยกเลิก
  7. ฝากร้านในคอมเมนต์แบบรัว ๆ สร้างความรำคาญ
  8. เอารูปคนอื่นไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาคู่
  9. เผยแพร่ข้อมูลปลอมจนทำให้คนเกิดความตระหนก
  10. โพสต์เชิญชวนประกาศรวมตัวเพื่อล้มล้างรัฐบาล
  11. เผยแพร่ภาพลามก เปลือย อนาจาร ลงบนอินเทอร์เน็ต
  12. แอดมินเพจ/ผู้ดูแลเว็บไซต์ปล่อยให้ข้อมูลผิดกฎหมายยังเผยแพร่อยู่ในเพจ ไม่ยอมลบ
  13. เผยแพร่ภาพปลอมที่เกิดจากการตัดต่อซึ่งทำให้คนอื่นเสียหาย
  14. แชร์ภาพผู้เสียชีวิตและมีการดูหมิ่น
  15. โพสต์ด่าบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์ทำให้เขาเสียชื่อเสียง
(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

1. แฮกเกอร์, มี username และ password ของเพื่อน แล้วก็ใช้ของเพื่อนมาตลอด

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 5 

ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิไว้มีไว้สำหรับตน

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเหตุ: 

มาตรการป้องกัน เช่น รหัสผ่าน ลายนิ้วมือ ม่านตา เสียง สมาร์ทการ์ด Biometrics ฯ

2. รู้รหัสผ่านคอมพิวเตอร์ของคนอื่น แล้วเอาไปบอกต่อเพื่อทำเรื่องไม่ดี

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 6

ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ดักฟังโทรศัพท์, สร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อดักข้อมูล

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 8

 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. เอาไวรัสไปใส่ในคอมพิวเตอร์ของคนอื่นจนระบบเสียหาย

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 9

ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ส่งอีเมลโฆษณาสินค้าไปรบกวนคนอื่นโดยที่ไม่มีที่ให้กดยกเลิก

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 11

 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลมแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข

 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย

บทลงโทษ คือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

6. ฝากร้านในคอมเมนต์แบบรัว ๆ สร้างความรำคาญ

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 11

7. เอารูปคนอื่นไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาคู่

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (เป็นความผิดที่ยอมความได้)

ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 (1) โดยทุจริต หรือโดนหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่งคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) และ (4)   

ถ้ากระทำความผิดตามวรรค (1) 

เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าว มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

8. เผยแพร่ข้อมูลปลอมจนทำให้คนเกิดความตระหนก

 ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่งคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

9. แชร์/ส่งต่อข้อมูลปลอมนั้นให้คนอื่นเห็นทางระบบคอมพิวเตอร์

 ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (ถ้าเอามาดูเองไม่เป็นไร)

 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) และ (4)   

10. โพสต์เชิญชวนประกาศรวมตัวเพื่อล้มล้างรัฐบาล

 ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

11. เผยแพร่ภาพลามก เปลือย อนาจาร ลงบนอินเทอร์เน็ต

เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และมีความผิดทางอาญาด้วย คือ

เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287

ผู้ใด (1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไป หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือสิ่งอื่นใดอันลามก

(2) ประกอบการค้า หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจกหรือแสดงอวดแก่ประชาชน หรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น

(3) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือโฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุ หรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด

 บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 เกร็ดความรู้: อนาจาร

 

 อนาจาร หมายถึง ความประพฤติชั่ว ความประพฤติน่าอับอาย เป็นฐานความผิดอาญาที่ผู้กระทำกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น น่าบัดสี ทำให้เป็นที่อับอาย เป็นที่น่ารังเกียจแก่ผู้อื่นในความดีงาม (ราชบัณฑิตยสถาน 2554)

 

อนาจาร หมายถึง การกระทำอันไม่สมควรทางเพศ เพียงแต่กอด จูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควรก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4024/2534)

 

การที่จำเลยเข้าโอบไหล่ผู้เสียหายทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถือเป็นความผิดฐานอนาจาร (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694/2541)

12. แอดมินเพจ/ผู้ดูแลเว็บไซต์ปล่อยให้ข้อมูลผิดกฎหมายยังเผยแพร่อยู่ในเพจ ไม่ยอมลบ

 ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15

 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการควบคุมของตน ต้องระวังโทษเช่นเดียวกันกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

13. เผยแพร่ภาพปลอมที่เกิดจากการตัดต่อซึ่งทำให้คนอื่นเสียหาย

ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 

(ความผิดตามย่อหน้าที่ 1 และ 2 ในหัวข้อนี้ เป็นความผิดที่ยอมความได้)

ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง (ย่อหน้าก่อนหน้านี้) เป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง (ย่อหน้าแรกและย่อหน้าที่สองของหัวข้อนี้) เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้กระทำไม่มีความผิด

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองตายก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

14. แชร์ภาพผู้เสียชีวิตและมีการดูหมิ่น

ผิดประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะที่ 13 ความผิดเกี่ยวกับศพ มาตรา 366/4

มาตรา 366/1 ผู้ใดกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน โดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 366/2 ผู้ใดกระทำการอนาจารแก่ศพ มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 366/3 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมเสียหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่ง ศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 366/4 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 เกร็ดความรู้: การดูหมิ่น

 

ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า (คำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ไม่ถือเป็นการดูหมิ่น) 

 

การดูหมิ่น อาจจะทำด้วยการพูด ท่าทางการแสดงออก หรือการโฆษณาก็ได้ และจะผิดกฎหมาย ต้องเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นด้วยการโฆษณา 

 

ประมวลกฎหมายอาญา ม.393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ดูหมิ่นซึ่งหน้า คือ การดูหมิ่นให้คนอื่นรู้ในตอนที่มีการกระทำในทันทีทันใด เช่น ด่าคนอื่นต่อหน้าเลยว่า ไอ้เฮงซวย ไอ้หน้าโง่ ผู้หญิงชั่ว ตอแหล อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย อีดอก ไอ้ระยำ

15. โพสต์ด่าบุคคลอื่นบนโลกออนไลน์ทำให้เขาเสียชื่อเสียง

ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียงหรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น

บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

เกร็ดความรู้: ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326

 

ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท มีบทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

 

ผู้ใด หมายถึง คนธรรมดาหรือนิติบุคคล

 ใส่ความ หมายถึง การเล่าข้อมูลด้วยวิธีการใดก็ได้ แล้วทำให้คนอื่นเสียหาย เช่น พูด ภาพวาด

ต่อบุคคลที่สาม หมายถึง ต้องมีคนอื่นรับรู้และเข้าใจความหมายของข้อความที่หมิ่นประมาทด้วย

 ต่อไปนี้ เวลาจะทำอะไรบนโลกออนไลน์ก็เช็กให้ดีก่อนว่าการกระทำของเรามันเข้าข่ายผิดกฎหมายไหม รู้ว่าผิดก็อย่าทำ ชีวิตจะได้ราบรื่นและไม่มีประวัติติดตัวนะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ : )

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C771/%C771-20-2550-a0001.pdfhttps://ictlawcenter.etda.or.th/files/law/file/80/59100b296f08176ad3bd2c1615489253.pdfhttp://km.prd.go.thhttp://dspace.spu.ac.th/bitstreamhttps://lawman.in.th/7017https://lawman.in.th/7134https://dictionary.orst.go.th/http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/all/all68.pdfhttps://thaienglaw.com/2019/10/14https://justicechannel.org/fraud/profanehttps://www.hrdi.or.th/InternalRules/Detail/1468https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=443287&ext=pdf
พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น