spoil

  • ออกแบบสไลด์ให้ไปในทางเดียวกัน ใส่ตัวอักษรน้อย ๆ เอาแค่ที่สำคัญ
  • บุคลิกมั่นใจ ยิ้ม ไม่ยืนตัวแข็ง น้ำเสียงมีชีวิตชีวา สบตาเพื่อนร่วมชั้น
  • ใส่ความขำขัน เปิดให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม ฯ

สวัสดีค่ะทุกคน น้อง ๆ คนไหนกำลังมองหาวิธีการนำเสนองานให้ปัง อยากได้คะแนน Present เต็ม บทความนี้อาจช่วยได้ วันนี้พี่จะมาแชร์เรื่องการเตรียมตัวก่อนการนำเสนอ ท่าทางการพูดช่วงนำเสนอไปจนถึงการพูดจบ จะมีวิธีการแบบไหนบ้าง มาดูกันค่ะ!

ก่อนวันนำเสนอผลงาน

1. ฝึกซ้อมก่อนให้คุ้นชิน

 ให้ปากเราชินกับเนื้อหา ให้รู้ว่าเวลาที่ใช้ในการพรีเซนต์มันยืดเยื้อมากเกินไปหรือไม่ ให้รู้จังหวะการเปลี่ยนสไลด์ (ที่มีส่วนช่วยทำให้การพรีเซนต์ดูดีขึ้น) โดยเราอาจจะฝึกพูดหน้ากระจกเพื่อให้ชินกับสายตาคนมากขึ้น (ลองดูก่อนว่าท่าทาง สีหน้าของเราตอนพูดเป็นยังไง ถ้ารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ก็ปรับให้มันดีขึ้น) โดยเราอาจจะซ้อมกับเพื่อนก่อนสักสองรอบ ให้เพื่อนช่วยดูก็ได้ว่ามีตรงไหนที่ควรปรับบ้าง

2. ทำความรู้จักผู้ฟังและเนื้อหา

 ดูว่าคนฟังคือใคร (เพื่อน/คุณครู) เราจะได้เลือกใช้ภาษาได้สุภาพและเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ การรู้จักคนฟังจะช่วยให้เราหาเรื่องมาเล่าเพื่อเชื่อมโยงคนฟังเข้ากับเนื้อหาได้ง่ายขึ้นด้วย (การหาเรื่องมาเล่า เป็นวิธีการหนึ่งในการทำให้คนฟังรู้สึกใกล้ชิดกับเรื่องที่จะนำเสนอ อาจมีส่วนให้เขาสนใจฟังเรามากขึ้น)

ส่วนเนื้อหา มันก็คือการที่เราตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (ทำให้งานมีความน่าเชื่อถือ) ทำความเข้าใจข้อมูลให้กระจ่างถ่องแท้ก่อนที่จะนำเสนอ จะช่วยทำให้เรามั่นใจมากขึ้นตอนพรีเซนต์ (ช่วยให้เรากังกลกับช่วงถาม-ตอบน้อยลงด้วยนะ ฮ่า ๆ)

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

การทำสไลด์

  • เนื้อหาในสไลด์ไม่ควรมีตัวอักษรเยอะเกินไป ใส่แค่สิ่งที่สำคัญ
  • ใช้เสียง ภาพ หรือวิดีโอเข้ามาช่วยด้วยก็ได้ เพิ่มความสนุกและให้ผู้ฟังได้พักตาจากตัวอักษรเยอะ ๆ
  • ไม่ควรใช้สีมากเกินไป ใช้แค่ 2-3 สี แล้วไล่เฉดสีก็เพียงพอ
  • ตัวอักษรในสไลด์ควรเป็นฟอนต์เดียวกันทั้งหมด ควรเป็นตัวที่อ่านง่าย ปรับขนาดตัวอักษรได้ตามสมควร ถ้าเป็นหัวข้อใช้ขนาดใหญ่ รายละเอียดใช้ตัวอักษรขนาดเล็กกว่า
  • ออกแบบสไลด์ให้เป็นไปในทางเดียวกัน และควรมีสไลด์สรุปเนื้อหาแต่ละหัวข้อเพื่อช่วยให้ผู้ฟังย่อยข้อมูลทั้งหมดได้ง่ายขึ้น
  • อาจจะหาคำพูดของคนสำคัญ/มีชื่อเสียงมาประกอบสไลด์เพื่อเพิ่มความน่าสนใจด้วยก็ได้ (แต่ต้องเลือกให้เข้ากันกับเนื้อหาที่นำเสนอด้วยนะ) สมมติ พูดเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงแล้วเราอธิบายให้เพื่อนเห็นภาพ เราอาจจะเอาคำพูดของไอน์สไตน์มาใส่ ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’
  • ตัวอย่างโปรแกรมทำสไลด์ เช่น  PowerPoint Keynote Canva
(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

บุคลิกของคนที่นำเสนอควรเป็นแบบไหน

1. แต่งกายเหมาะสม

น้อง ๆ นักเรียนก็คงจะใส่ชุดนักเรียนอยู่แล้ว แต่วันนำเสนอก็ทำให้มันเรียบร้อยขึ้นสักหน่อย เสื้อทับในกางเกง/กระโปรงเรียบร้อย ไม่หลุดลุ่ย ทำผมให้ดีไม่ปล่อยให้กระเซอะกระเซิง รองเท้าเรียบร้อยถูกระเบียบ ถุงเท้าไม่ควรขาดจนเป็นรู

2. ยิ้ม

ยิ้มไปก่อนเลยตอนเดินออกไปหน้าห้อง หรือแม้แต่ตอนนำเสนออยู่ก็ควรจะมีรอยยิ้มน้อย ๆ หรือมีใบหน้าที่ดูยิ้มแย้มเข้าไว้ให้เราดูเข้าถึงง่าย ให้ดูเป็นคนที่ไม่เข้าใจตรงไหนเพื่อนกล้าที่จะถาม งานวิจัยบอกว่า เวลาที่เรายิ้ม มันจะเป็นเรื่องยากมากที่คนอื่นจะไม่ยิ้มตาม หมายความว่า ถ้าเราอยากให้การนำเสนอในครั้งนี้มีมูดที่ดี ก็ให้ยิ้ม (ถ้าเราประหม่าแล้วพยายามฝืนยิ้ม มันอาจจะทำให้เราอยากยิ้มขึ้นมาจริง ๆ ก็ได้นะ ใครจะรู้!)

3. ท่าทางมั่นใจ ไม่มัวแต่ก้มหน้าอ่านโพย

ความมั่นใจบอกถึงความน่าเชื่อถือของตัวเราและบอกถึงการเตรียมตัวก่อนนำเสนอด้วย (เตรียมตัวมาดี เนื้อหาถูกต้องครบถ้วน ก็ลุยเลย ไม่มีอะไรต้องกลัว) นึกภาพตอนเราเจอคนพูดที่ก้มหน้าอ่านโพย พูดอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ดูสิ มันน่าเบื่อมากเลยใช่มั้ยล่ะ เราถึงไม่ควรเป็นแบบนั้น! (ท่าทางมั่นใจ เช่น พูดเต็มเสียง สบตาผู้ฟัง ทำตัวเป็นธรรมชาติไม่แข็งทื่อหรืออ่อนเหลวเกินไป ไม่ยืนก้มหน้าหลังค่อม)

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

4. สบตาเพื่อนร่วมชั้น

สบตาคนฟังเพื่อให้เขายังสนใจในสิ่งที่เรากำลังพูด ทำให้เกิดความกระตือรืนร้นในการนำเสนอ ถ้าพรีเซนต์ในกลุ่มเล็กไม่กี่คน เราก็ควรที่จะสบตาให้ครบทุกคน แต่ถ้าห้องใหญ่คนเยอะ ให้ใช้วิธีการกวาดสายตาไปให้ทั่วแทน ถ้าเขินที่จะต้องมองหน้า ก็อาจจะสบตาแค่แปปเดียวแล้วมองไปทางคนอื่น หรือมองไปที่ระหว่างคิ้วของคนฟังก็ได้ (ไม่ควรยืนก้มหน้า มองหน้ากระดาน หรือดูแต่โพยที่ถืออยู่ในมือนะ)

5. น้ำเสียงพูดมีเสียงสูงเสียงต่ำ

พูดมีจังหวะจะโคน มีเสียงสูงต่ำ มีชีวิตชีวา จะช่วยทำให้การนำเสนองานดูสนุก ทำให้คนสนใจฟังมากขึ้น ลองนึกภาพเวลาเราฟังใครพูดเสียงนิ่ง มีเสียงเดียว เรายังรู้สึกง่วงเลย ถ้าไม่อยากเจอเหตุการณ์เพื่อนหลับตอนนำเสนอ น้อง ๆ ลองเอาไปใช้ตามดูนะคะ 

(ระวัง! ถ้าห้องที่พูดขนาดกว้างมาก อาจจะต้องพูดเสียงให้ดังขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ไกลเราที่สุดได้ยิน)

6. ใช้มือประกอบการพูด

ขยับมือไม้ท่าทาง อาจใช้มือช่วยบอกเน้นเนื้อหาที่มันสำคัญก็ได้ ที่สำคัญคือไม่ควรยืนตัวแข็ง

7. เดินกลับที่นั่งด้วยท่าทางมั่นใจ

 (หลังจากพรีเซนต์งานเสร็จ) คิดกับตัวเองในใจว่าเราเพิ่งพรีเซนต์ด้วยความปังมา ไม่ต้องผิดหวังถ้าไม่ได้รับเสียงปรบมือ ยิ้มและแสดงท่าทางสง่างาม อกผาย ไหล่ผึ่ง เราทำเต็มที่แล้ว XD

https://www.freepik.com/popular-photos
https://www.freepik.com/popular-photos

เริ่ม Present ได้!

ตัวอย่างประโยคพูดเปิด (เปิดก่อนด้วยการแนะนำตัว)

  • สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ ผม/หนู/ดิฉันชื่อ เป็นตัวแทนของกลุ่ม A วันนี้พวกเราจะมานำเสนอหัวข้อเรื่อง mmm
  • อาจจะพูดแนะนำตัวแล้วต่อด้วยประโยคว่า อย่างที่ทุกคนคงเห็นบนหน้าจอแล้ว วันนี้พวกเราจะมานำเสนอเรื่อง mmm จากนั้นก็พูดตามเนื้อหาที่เราวางแผนไว้

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา เกริ่นที่มาและความสำคัญของเรื่องก่อน ทำไมเราถึงศึกษาเรื่องนี้

ต่อมา ให้เล่าว่าเนื้อหาที่เราจะพูดถึงในวันนี้มีเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นก็เข้าสู่เนื้อหาได้เลย!

 4 เทคนิคช่วยในการพรีเซนต์

  1. ใส่ความขำขัน: ช่วยลดระยะห่างระหว่างคนพูดกับคนฟัง เป็นเหมือนช่วงเบรกให้คนฟังได้พัก ช่วยทำให้ข้อมูลหรือตัวเราเป็นที่จดจำมากขึ้น เช่น อาจจะเพิ่มมุกตลกเข้าไป (แต่ต้องหลีกเลี่ยงมุกที่จะทำให้บรรยากาศเสียนะ เช่น มุกล้อเลียน มุกเสียดสี)
  2. หาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมาเล่า: จะทำให้คนฟังเข้าใจหัวข้อที่เราเล่าได้มากขึ้น เช่น สมมตินำเสนอหัวข้อการบูลลี่ในโรงเรียน (แล้วช่วงนั้นมีข่าวดาราดังบูลลี่คนเหมือนกัน) ในห้องเรียนเราอาจจะยกเรื่องนี้มาเป็นเคสตัวอย่างให้คนสนใจมากขึ้น ให้คนรู้สึกเชื่อมต่อกับเรื่อง!
  3. เปิดโอกาสให้คนฟังมีส่วนร่วม: นำเสนออยู่ก็อาจจะถามคำถามคนฟังด้วยก็ได้ เช่น นำเสนอเรื่องของหวาน เราก็อาจจะถามว่าในทีนี้มีใครชอบกินมัจฉะหรือช็อกโกแลตบ้างไหมครับ/คะ
  4. เปิดช่วงให้ถามคำถาม: ตอนเพื่อนฟังเรานำเสนออาจมีจุดที่ไม่เข้าใจ เราอาจจะพูดว่า ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาในหัวข้อถัดไป มีใครสงสัยหรือมีคำถามในหัวข้อนี้ไหมครับ/คะ ถามได้เลยนะ (ยิ้ม)
(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

จบการ Present

1. สรุปเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง 

เพื่อช่วยคนฟังย่อยข้อมูล พูดแค่ส่วนสำคัญ point ของเรื่องก็เพียงพอ (ควรทำก่อนที่จะพูดจบการนำเสนอ) เช่น ก่อนที่จะเปิดเข้าสู่ช่วงถามตอบ ผม/หนู/ดิฉัน ขอสรุปเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้งนะครับ/นะคะ โดย...(เนื้อหาสรุป)...

2. มีช่วงถาม-ตอบ

       เปิดโอกาสให้คุณครูหรือเพื่อนถามคำถามที่ยังไม่เข้าใจ โดยเราอาจจะพูดว่า มีใครสงสัยหรือมีคำถามตรงไหนไหมครับ/คะ ถามได้เลยนะครับ/คะ (ยิ้ม) พี่ว่าการถามตอบมีข้อดีนะ คือ มันทำให้เรารู้ตัวเองว่าเราอาจจะทำเนื้อหามาไม่มากพอที่จะตอบข้อสงสัยของคนฟัง ตอนเราทำงานต่อไปก็จะได้มีจุดนี้ที่เราเอาไปพัฒนาตัวเองต่อได้ แล้วมันก็ยังทำให้ความรู้ของเรากว้างขึ้นด้วยจากการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน!

3. พูดปิดท้าย

ทิ้งทายด้วยการสร้างอารมณ์ให้กับคนฟัง: บางครั้งเขาอาจจะจำเนื้อหาที่เราพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่เขาจะจำความรู้สึกร่วมที่มีกับเราได้ เราอาจจะปิดท้ายด้วยเพลงหรือบางส่วนของวิดีโอ คำคมกินใจ หรือประโยคที่มีความหมายลึกซึ้ง (เลือกให้เกี่ยวกับหัวข้อที่พรีเซนต์และอยู่ในความสนใจของคนฟังด้วยจะดีมาก)   

เว้นจังหวะ ใช้ความเงียบให้เป็นประโยชน์: บางครั้ง เราอาจจะเอา key concept ของเรื่องไปพูดตอนท้ายสุดและอยากให้คนฟังจดจำสิ่งนั้นได้ เราอาจจะใช้วิธีการพูดช้า ๆ ชัด ๆ จากนั้นจบท้ายด้วยการเว้นวรรคให้ความเงียบทำงานสักเล็กน้อย จะช่วยทำให้คนฟังรู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดมันมีความหมายบางอย่างนะ!

จบการนำเสนอด้วยคำถาม: ให้คนฟังกลับไปคิดต่อก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างประโยคพูดจบ

  • ขอบคุณที่รับฟังกันมาจนถึงตอนนี้นะครับ/คะ เราขอจบการนำเสนอเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ/ค่ะ
  • ก่อนที่จะจากกันวันนี้ ผมขอฝากประโยคที่ว่า...(ประโยคคำถามชวนคิดต่อ/คำคม/วลีที่กินใจ)

 

       หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ ขอให้วันพรีเซนต์เป็นวันที่ราบรื่นและผ่านไปได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้ก็ควรจะต้องมีการฝึกซ้อมก่อนสักเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความปังด้วยนะ ‘Practice Makes Perfect!’ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ : )

 

ข้อมูลจากhttps://biteable.com/blog/how-to-make-good-presentation/https://www.wikihow.com/Make-a-Presentation-Funhttps://www.wikihow.com/Do-a-Presentation-in-Classhttps://canicollege.com/wp-content/uploads/2018/02/USEFULhttps://visme.co/blog/how-to-make-a-presentation/ 
พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น