วัยเรียนมาเช็กกัน! นี่เรากำลังหักโหมเกินไปหรือเปล่า?

Spoil 

  • สภาพสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง และทำให้เราต้องพยายามหนักขึ้นจนบางครั้งกลายมาเป็นการหักโหมตัวเองมากเกินไป (Overwork)
  • การที่เราหักโหมมากเกินไปส่งผลเสียต่อตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • เมื่อรู้ว่าเรากำลังหักโหมมากเกินไปลองหันมาให้ความสำคัญกับการกินให้ถูกหลัก การพักผ่อนให้มากขึ้น และปรับวิธีการเรียน-อ่านหนังสือ เช่น เขียน To do list

น้องๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Karohi (คาโรชิ) หรือการทำงานหนักจนตายในประเทศญี่ปุ่น (Death from overwork) มาบ้างใช่ไหมคะ? แต่ปัจจุบัน Karoshi ไม่ได้มีแค่ที่ญี่ปุ่นแล้วและยังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกเลย รู้ไหมคะว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่วัยทำงานเท่านั้น! วัยเรียนอย่างเราก็สามารถเกิดสภาวะหักโหมมากเกินไปได้ 

เคยไหมคะ...เพียงแค่จับหนังสือหรือเห็นหน้าปก ก็รู้สึกเหนื่อย ปวดหัว พะอีดพะอม? พี่ออมอยากชวนน้องๆ มาคิดกันเล่นๆ ใน 1 วันเรานั่งเรียนปกติก็กินเวลาไปประมาณ 8 ชั่วโมงแล้วถูกไหมคะ ยังไม่นับการเรียนพิเศษหรือการทำการบ้าน-อ่านหนังสืออีก  บางคนรวมๆ แล้วอาจจะยาวไปถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเท่ากับครึ่งนึงของชีวิตเราใน 1 วันเลยค่ะ!

แล้วการหักโหมทำบางสิ่งมากจนเกินไปจะทำให้เราเป็นอะไรล่ะ? มันก็ดีไม่ใช่หรอ? 

อาจจะดีในด้านของงานที่มันสำเร็จลุล่วง ทว่า! ปัญหาสุขภาพกำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างที่เราไม่ได้ตั้งตัวเลยละค่ะ ยกตัวอย่างเช่น นั่งอ่านทั้งสือทั้งวันทั้งคืนไม่พักเลย น้องๆ ลองคิดตามพี่ออมว่าร่างกายเราจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ถ้าเรานั่งอิริยาบถเดิม ไม่ค่อยมีการขยับร่างกาย บางครั้งเราก็เกร็งไหล่ แขน หรือใช้สมองนานๆ ผลที่ตามมาก็คือปวดหัว ปวดคอ ปวดหลัง และอาจทำให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้จากการที่เราไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย มากไปกว่านั้นหากเราจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือทำงานมากจนเกินไป ย่อมทำให้เกิดความเครียด แรงกดดัน และนำมาสู่ปัญหาทางจิตใจได้อีกด้วยค่ะ เห็นไหมคะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันส่งผลถึงกันหมดเลย เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง!

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

สภาพสังคมปัจจุบัน กดดันว่า  “ยังพยายามไม่มากพอ”

ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง การทำงานหนักจึงจะถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา มิหนำซ้ำสังคมในปัจจุบันยังให้คุณค่ากับคนที่ทำงานหนัก (Work hard)  ว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง และค่านิยมเชิดชูคนที่ผลงานหรือความสำเร็จและโทษคนอื่นที่ล้มเหลวว่า  “ยังพยายามไม่มากพอ” ทั้งๆ ที่ความจริงหากเรามองลึกลงไปเราจะพบว่าคนเรานั้นไม่เหมือนกันในหลากหลายด้าน ดังนั้นเราไม่สามารถนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ทุกเรื่อง

ต้องยอมรับเลยว่าตลอดเวลาสองปีนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดขึ้น ต่างส่งผลให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไป การเรียนออนไลน์ทำให้เวลาพักกับเวลาทำงานแทบจะแยกกันไม่ออก ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการเรียนแทบจะเป็นอย่างเดียวกันเลย

สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราต้อง active มากกว่านี้ ทำให้ดีกว่านี้  อ่ะ! แต่พี่ออมไม่ได้จะบอกความขยันเป็นเรื่องไม่ดีนะคะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิดละ...จริงๆ แล้ว การมีแพสชัน, มีแรงผลักดันให้ขยันเป็นเรื่องที่ดีแต่มันต้องมีลิมิตนะ หลายครั้งที่เรากดดันตัวเองมากเกินไปก็จะพัฒนามาเป็นการหักโหม, ทำงานหนักเกินตัว  (Overwork) โดยที่เราไม่รู้ตัวเองได้ค่ะ 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

สัญญาณเตือนว่าเรากำลังหักโหมเกินไปหรือเปล่า?

  • เหนื่อย อ่อนเพลีย รู้สึกหมดแรง
  • มีอาการปวดหัว การปวดหัวจากความเครียดมีหลายอาการ ตั้งแต่ลักษณะปวดบีบๆ เหมือนมีอะไรมารัดที่ศีรษะ หรืออาจเจ็บแปล๊บๆ บางคนปวดข้างเดียวคล้ายไมเกรน การปวดหัวของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนปวดหัวบ่อยๆ, บางคนนานๆ ปวดทีแต่ปวดนานเป็นชั่วโมง แต่ถ้าปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน อาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วยนะคะ
  • นอนไม่หลับ ยิ่งเรามีความเครียดจากการเรียนหรือการทำงานก็ยิ่งทำให้มีปัญหาการนอนมากขึ้นได้ค่ะ
  • ยอมไม่นอนเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ งานไม่เสร็จ บทนี้ไม่จบ เราไม่นอน! แม้ว่าจะง่วงแค่ไหนก็ตาม ข้อนี้ใครเป็นบ่อยๆ บ้าง? น้องๆ บางคนช่วงใกล้สอบได้นอนกันเพียง 3-6 ชั่วโมงเท่านั้น (หลายคนไม่ได้นอนไปสอบกันก็มี)
  • รู้สึกไม่มีสมาธิ  ซึ่งเกิดจากการที่เรามีสิ่งที่ต้องทำเยอะเกินไป จนทำให้เราไม่รู้ว่าจะโฟกัสตรงไหนก่อนค่ะ
  • ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง  ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ ยิ่งส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเราลดลงได้ค่ะ  เตรียมตัวมาอย่างดี มาป่วยวันสอบก็ไม่โอเคน้า
  • อารมณ์เสียบ่อยๆ  ซึ่งอาจเกิดจากความวิตกกังวลหรือความกดดันจากการทำงานค่ะ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง บางคนเรียนหรือทำงานหนักติดต่อกันจนไม่มีเวลากินข้าว หรือบางทีก็สั่งอาหาร Junk food เพราะสะดวกรวดเร็ว และทานง่าย โดยไม่คำนึงถึงสารอาหารที่เราจะขาดหรือได้รับมันมากเกินไปค่ะ

สัญญาณเหล่านี้ สามารถนำไปสู่โรคต่างๆ ได้มากมายเลยค่ะ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคเครียด ปวดหลัง ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงก็เสี่ยงติดเชื้อ-ป่วยได้ง่ายขึ้น ไม่ทานข้าวหรือทานข้าวไม่ตรงเวลาก็ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะ แม้กระทั่งทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การได้รับแต่สารอาหารบางเกินไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือขาดสารอาหารได้นะคะ 

น้องๆ เคยได้ยินคำว่าภาวะหมดไฟ หรือ Burn out ไหมคะ?  โดยจะมีอาการหดหู่ รู้สึกซึมเศร้าเมื่อต้องทำสิ่งๆ นั้น อารมณ์แปรปรวน ไม่พอใจในการทำงาน  ภาวะหมดไฟมีหลายระยะ หากเป็นระยะที่หนักมากๆ จะถึงขั้นรู้สึกตัวเองสิ้นหวัง ล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจและสามารถพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้เลยค่ะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย! 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

ก่อนที่จะสายเกินไป....เราจะแก้ไขอย่างไรดี ?  

  • ความต่อเนื่องดีกว่าการหักโหมตัวเองนะคะ บางคนบอกว่าตัวเองจะสามารถอ่านหนังสือได้ดีก็ต่อเมื่อเวลาใกล้เข้ามา การวางแผนให้ทันเวลาจะดีกว่ามาเร่งตอนท้ายนะคะ เมื่อถึงเวลาใกล้สอบหรือใกล้ส่งงานหากเราทำไม่เสร็จ สิ่งที่จะแถมมากับแพสชันคือความเครียดค่ะ พอเครียดแล้วก็จะลนลาน หลุดโฟกัส ความจำก็จะยิ่งแย่ด้วย
  • การพูดคุยกับคนรอบข้างช่วยได้ค่ะ! ยกตัวอย่างเช่น ชวนคุยเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน, งานอดิเรก, เพลงที่ชอบฟัง, เทรนด์ที่กำลังมาในตอนนี้ เป็นต้น แต่แน่นอนในปัจจุบันที่เราเรียนออนไลน์กันเราจะไปหาเพื่อนจากไหนล่ะ? ไม่ยากเลย ลองยกโทรศัพท์กดโทรหาเพื่อนเม้าท์มอยเรื่องสัพเพเหระดูค่ะ การที่เราได้พูดคุย หัวเราะ ได้โต้ตอบบ้าง มันให้เราผ่อนคลายได้มากเลยนะ
  • ก่อนนอนลองทำสมาธิหรือถ้าใครอยากท้าทายชีวิตหน่อยลองเล่นโยคะดูก็ได้นะคะ จริงๆ แล้วการเล่นโยคะก็เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งนั่นแหละค่ะ ทำให้หลับสบายขึ้นด้วยนะ
  • หากรู้สึกว่ามีงานมากมายที่ต้องทำแล้วเราจัดการไม่ได้ การเขียนสิ่งที่ต้องทำ หรือ To do list เป็นสิ่งที่ช่วยเราได้มากทีเดียวคะ บางคนคิดว่ามีงานที่ต้องทำอยู่แค่ 3-4 อย่าง จะเขียนทำไม? เชื่อพี่ออม ลองเขียนดูนะคะ แล้วทำไปตามแพลนที่เราตั้งไว้ พอทำเสร็จก็เช็กไปทีละข้อ แบบนี้จะทำให้เรารู้สึกมีระบบมากขึ้น แล้วก็จะรู้ว่าต่อไปต้องทำอะไร ดีกว่าเราต้องมานั่งนึกนะ!
  • ให้เวลาพักกับตัวเองบ้าง อย่างใน To do list ของเราควรเขียนเวลาพักไว้ด้วย เช่น พักกลางวัน พักเบรก เป็นเหมือนการกำหนดตารางเวลาให้กับตัวเอง หลังเรียนเสร็จลองหันมาการออกกำลังกายตามความสะดวกของแต่ละคน อย่ามองข้ามประโยชน์ของการออกกำลังกายนะคะ ทำให้ร่างกายหลั่งสารช่วยลดความเครียด ทำให้เรานอนหลับสบายขึ้น แล้วก็เป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเราด้วย ลองเริ่มจากการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น การเดิน ก่อนก็ได้ค่ะ
  • เตรียมผลไม้มาไว้บนโต๊ะหรือข้างๆ ตัวระหว่างเรียน หากรู้สึกหิวก็หยิบมากินได้เลย ดีต่อสุขภาพด้วยค่ะ สมมติเย็นนี้เรียนเสร็จแล้วลองคิดเมนูอาหารดีๆ เผื่อไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ด้วยยิ่งดีเลย จะช่วยลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ลงได้ค่ะ
  • ระหว่างการนั่งเรียนหรือทำงาน ลองลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนท่าทางระหว่างวันกันบ้าง ทำให้กล้ามเนื้อได้รับการยืดเหยียด ลดความเมื่อย เลือดไหลเวียนสะดวกมากขึ้น สมองจะปลอดโปร่ง ความจำดีกว่าเดิมอีกด้วยค่ะ (แนะนำ คลิปนี้ทำตามง่ายและสนุกด้วย โกโก!)

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าเราทำมันไปเพื่ออะไรแล้วเป้าหมายของเราคืออะไร ขยันอย่างต่อเนื่องย่อมดีกว่าหักโหมทำในตอนใกล้ๆ อย่าลืมมีเวลาให้ร่างกายพักผ่อน เติมพลังให้ตัวเองก่อนแล้วค่อยสู้ต่อนะ ที่สำคัญอย่าลืมเห็น “คุณค่าในตัวเอง”  สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเรียน/ทำงาน ด้วยความแฮปปี้และสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้นค่ะ :)  

 

ข้อมูลจากhttps://observatory.tec.mxhttps://clockify.mehttps://www.bangkokhospital.comhttps://www.rajavithi.go.thhttps://www.dmh.go.thhttps://www.youtube.com
พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด