ดูให้ดี! เราเป็นคนขี้งกหรือกำลังมีอาการ Chrometophobia กันแน่?!

spoil

  • หลีกเลี่ยงจะจ่ายเงินให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
  • วินิจฉัยอาการของโรค Phobia 7 ข้อ
  • รักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด ใช้แอปช่วยจัดการเรื่องเงิน และวิธีการอื่น!

สวัสดีเพื่อนพ้องน้องพี่ชาว Dek-D.com ทุกคนค่ะ เรื่องราวในวันนี้ พี่ณัชชาอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘Chrometophobia’ หรือ โรคกลัวเงิน (Fear of Money) รายละเอียดและวิธีการจัดการกับอาการกลัวนี้จะเป็นยังไง ลองมาดูกันค่ะ!

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

รู้จักกับ Chrometophobia พร้อมสาเหตุ

Chrometophobia เป็นอาการกลัวแบบไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน เป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งใน specific phobia ที่จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorder) โดยความกลัวนี้อาจจะรวมไปถึงของมีค่าอื่น ๆ อย่างทอง เพชร รถยนต์คันหรู สิ่งของและเครื่องประดับราคาแพงด้วยก็ได้

 เรายังไม่รู้ต้นตอของอาการที่แน่ชัด แต่ยังไงก็ตาม 3 สิ่งนี้อาจจะเป็นสาเหตุของ Chrometophobia (คุณหมอบอกว่าถึงไม่รู้สาเหตุก็สามารถรักษาได้)

  1. พันธุกรรม: ใครที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ก็จะมีโอกาสเป็นโรค Phobia มากกว่าคนอื่น
  2. เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ: เวลามีอะไรมากระทบจิตใจมาก ๆ คนก็จะมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น คนที่เคยประสบปัญหาทางการเงินหนัก ๆ ในอดีตก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคกลัวเงิน เพราะกลัว ไม่อยากให้ความทุกข์แบบในอดีตเกิดขึ้นอีกครั้ง
  3. OCD (โรคย้ำคิดย้ำทำ): คนที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลอย่าง OCD มีโอกาสเป็นโรคกลัวเงินได้ ถ้าเขาคิดหมกมุ่น/หลงใหลมากเกินไปในเรื่องเกี่ยวกับเงิน (สมองจะหยุดคิดถึงเรื่องเงินได้ยาก)

 Noted:

         ระดับความหนักหน่วงของเหตุการณ์ที่เจอของแต่ละคน เราจะรู้สึกกับเหตุการณ์ไม่เท่ากัน (คนหนึ่งอาจผ่านเรื่องนี้ไปได้แบบสบาย ๆ คนหนึ่งอาจจะผ่านมันไปได้ยากมาก) ดังนั้นจึงไม่มีตัวอย่างของเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่แน่นอนที่เป็นสาเหตุให้คนป่วยเป็น Chrometophobia

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

อาการของ Chrometophobia

 นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะวินิจฉัยอาการ Chrometophobia ได้จากการพูดคุยสัมภาษณ์กับคนไข้ โดย Aimee Daramus นักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับใบอนุญาต บอกอาการของโรคกลัวเงินเอาไว้ว่า

  1. กลัวมากที่จะต้องจ่ายเงินออกไป จนส่งผลกระทบกับชีวิต
  2. มีอาการวิตกกังวลหรือแพนิค (Panic) เวลาที่จะต้องจ่ายเงินหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  3. หลีกเลี่ยงที่จะจ่ายเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาการของโรคนี้แสดงออกได้หลากหลายมากขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนอาจจะนั่งนับเงินของตัวเองอยู่ซ้ำ ๆ เพื่อความมั่นใจว่ามันยังอยู่ บางคนอาจจะกลัวที่จะต้องจับ จัดการ หรือแม้แต่กลัวที่จะพูด/คิดถึงเรื่องเงิน

ผลกระทบจาก Chrometophobia

  • อาจมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากหันไปทานอาหารขยะ (junk food) เพราะราคาถูก
  • อาจจะไม่มีสังคมหรือคนรัก เพราะมันต้องใช้เงิน
  • อาจทำสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ยอมจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ
  • อาจมีสภาพความเป็นอยู่แย่ลง เนื่องจากไม่ยอมเสียเงินจ่ายค่าบำรุงซ่อมแซมบ้าน
  • อาจจะไม่ยอมไปเที่ยว ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งที่อยากได้ (แม้ว่าเงินที่เสียไปจะอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้แล้ว)
  • อาจจะไม่ยอมซื้อสิ่งของจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

เกร็ดความรู้: Panic Attack

 

 Panic Attack คือ ความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นทันทีและรุนแรง มีอาการแพนิคอย่างน้อย 4 อาการ ภายในเวลา 10 นาที

อาการแพนิกมีดังนี้: ใจสั่น รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกที่คอ เวียนหัวหรือเป็นลม เหงื่อแตกตัวสั่น เจ็บหรือแน่หน้าอก ชาหรือรู้สึกเป็นเหน็บ กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หายใจไม่ออก คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ กลัวว่าตัวเองจะตาย รับรู้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหรือรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัว; Phobia (ที่ไม่ใช่ความกลัว; Fear)

ความกลัวพบได้ทั่วไป แต่การกลัวจนกลายเป็น Phobia (โรคกลัว) ได้ แปลว่าอาการนั้นต้องส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โรคกลัวเป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่ง โดย DHM-5 (ระบบการวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน) บอกอาการไว้ 7 ข้อ ดังนี้

  1. เป็นความกลัวที่มากเกินไปหรือไม่มีเหตุผลที่เกิดขึ้นกับวัตถุหรือสถาการณ์ที่เฉพาะเจาะจง (เช่น แมงมุม ความสูง)
  2. เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวัตถุหรือสถาการณ์ที่เฉพาะเจาะจงนั้น มักมีอาการกังวลหรือมีอาการ Panic attack ร่วมด้วย (ในเด็ก: อาการกังวลมักจะแสดงออกมาในรูปแบบของการร้องไห้/เกาะติด)
  3. ตระหนักรู้ดีว่าปฏิกิริยาตอบสนองต่อความกลัวนั้นมันมากเกินไป แต่ไม่สามารถจัดการกับมันได้เลย
  4. มีการพยายามหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้กลัวให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ หรืออดทนเผชิญหน้ากับมันด้วยความทุกข์และความกังวลมาก
  5. ความกลัว ความวิตกกังวล ความทุกข์ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่เกิดขึ้นนั้น เข้ามารบกวนความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันมาก ส่งผลกระทบต่องาน การเรียน ความสัมพันธ์ และอื่น ๆ
  6. ความกลัวที่เกิดขึ้นต้องเป็นมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน
  7. อาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นต้องไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวชชนิดอื่น
(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

วิธีการรับมือและการรักษา

นอกจากรักษาด้วยการวิธีการทางจิตวิทยา (Psychotherapy) เช่น การทำจิตบำบัด CBT, Exposure Theory (การเผชิญหน้ากับความกลัวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย) หรือ การจัดการกับความเครียดอย่างการนั่งสมาธิแล้ว นักจิตวิทยา Aimee Daramus แนะนำวิธีการรับมือกับโรคกลัวเงินไว้ว่า

  • ให้คิดไว้เสมอว่า การปฏิเสธที่จะใช้เงินอาจจะทำให้เราต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น ค่าซ่อมบ้าน ค่ารักษา (ยิ่งปล่อยให้มันเสียนาน ๆ มันยิ่งต้องใช้เงินซ่อมเยอะ) มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะดูแลตัวเองและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีนะ
  • ใช้แอปพลิเคชันช่วยจัดการกับค่าใช้จ่าย เราจะได้ไม่มีปัญหาจ่ายเงินเกินงบที่ตั้งไว้
  • ตั้งค่าการตัดเงินในบัญชีออกไปแบบอัตโนมัติในเรื่องสำคัญ เช่น การจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ หรือบิลอื่น ๆ ที่ทำให้เรามีอาการกังวล
  • ให้เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวช่วย

Chrometophobia เป็นโรคที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เมื่อเป็นแล้วควรเข้ารับการรักษา การประหยัดอดออมเป็นเรื่องที่ดี แต่การประหยัดมากเกินไปจนไม่จ่ายอะไรเลยอาจเป็นปัญหาได้นะ เช่น มีสุขภาพ ความสัมพันธ์ หรือสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ลง แล้วพบกันใหม่บทความหน้านะคะ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีค่ะ : )

 

ข้อมูลจากhttps://www.verywellmind.com/chrometophobia-symptoms-causes-and-treatment-5219782https://www.medicinenet.com/fear_of_money/definition.htmhttps://psychtimes.com/chrometophobia-fear-of-money/https://www.med.upenn.edu/ctsa/phobias_symptoms.html

 

พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น