เรื่องนี้ต้องรู้...ทำยังไงดี?! เมื่อเจออุบัติเหตุทางน้ำ

Spoil 

  • การไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำตก แม่น้ำ ทะเล  ไม่ควรลงไปเล่นคนเดียว, ให้สังเกตคลื่น-กระแสน้ำก่อนลงเล่นและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ดูแลเคร่งครัด
  • หากตกน้ำและว่ายน้ำไม่เป็น ให้พยายามนอนหงายสูดหายใจลึกๆ  เงยหน้า ยืดอกไว้ กางแขนกางขา ค่อยๆ เตะขาเบาๆ จะทำให้ตัวเราลอย
  • พบเห็นคนตกน้ำหรือเหตุด่วนเหตุร้ายให้โทรแจ้ง 191 หรือ 1669

สวัสดีค่ะน้องๆ พี่ออมคนดีคนเดิมมาอีกแล้ว จากบทความที่ผ่านมาของพี่ออมในเรื่อง “ทำความรู้จักอาชีพดำน้ำกู้ภัย…ความเสี่ยงภัยที่มาพร้อมกับใจที่อยากช่วยเหลือ” ที่พี่ออมได้ไปสัมภาษณ์พี่อาสาดำน้ำกู้ภัยได้ความรู้มาเต็มเปี่ยมเลย และช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนกันแล้ว เมื่อกล่าวถึงฤดูร้อน น้องๆ หลายคนก็จะนึกถึงข่าวเด็กจมน้ำขึ้นมาใช่ไหมคะ เพราะจากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการเสียชีวิตของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี อันดับ 1 ก็คือการจมน้ำ วันนี้พี่ออมเลยหยิบประเด็น  “คำแนะนำและวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ” มาให้น้องๆ ชาว Dek-D.com ได้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น รับรองว่าเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแน่นอน อ่านแล้วลองนึกภาพตามกันนะคะ!

การทำกิจกรรมทางน้ำทุกอย่างมี  ‘กฎ’ ที่ต้องปฏิบัติตาม

การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุ ใช่ไหมคะ? เช่นกันการลงเล่นน้ำหรือกิจกรรมทางน้ำใดๆ ก็ตามล้วนแต่มีข้อปฏิบัติอยู่ พี่ออมเลยรวบรวมสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักเมื่อลงเล่นน้ำมาให้ดูกันค่ะ!

  • เมื่อไปเล่นตามแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ควรลงเล่นน้ำคนเดียว เพราะตามแม่น้ำ น้ำตก หรือทะเล ไม่เหมือนการลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำนะคะ สระว่ายน้ำเราสามารถเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำชัดเจนและเป็นลักษณะน้ำนิ่ง ทว่าเมื่อเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ใต้น้ำอาจมีคลื่น สิ่งอันตราย น้ำดูด น้ำวนเกิดขึ้นได้เสมอเลยค่ะ ข้อนี้ต้องพึงระวังมากๆ
  • สังเกตป้ายเตือน-ธงเตือนสีแดงก่อนลงเล่นน้ำทุกครั้ง เพราะสัญลักษณ์ธงสีแดงนี้จะบอกเราว่า “ห้ามเล่นน้ำ” จะพบเห็นบ่อยในช่วงฤดูฝน หน้ามรสุมในทะเลหรือบริเวณที่มีโอกาสเกิดน้ำป่าไหลหลากได้ เช่น ตามภูเขาหรือน้ำตกค่ะทางเจ้าหน้าที่จะติดสัญลักษณ์ป้าย/ธงเตือนไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วสีของป้ายก็บ่งบอกไว้ดังนี้ค่ะ สีเขียว-ปลอดภัย สามารถเล่นน้ำได้, สีเหลือง เล่นด้วยความระมัดระวัง, สีแดง ห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด ราต้องปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดนะคะ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นไม่คุ้มกันแน่นอน!
ภาพจาก Police Radio Fm.104.00 MHz
ภาพจาก Police Radio Fm.104.00 MHz 
ภาพจาก Koratdaily.com
ภาพจาก Koratdaily.com
  • ไม่ลงเล่นน้ำขณะ-หลังดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ขาดสติ หากเกิดอะไรขึ้นจะช่วยเหลือตนเองไม่ได้นะ
  • ลงเรือต้องใส่ชูชีพทุกครั้ง แต่หากเป็นเรือที่มีหลังคาปิดยังไม่จำเป็นต้องใส่ทันทีค่ะ  แนะนำว่าเมื่อลงเรือแล้วให้เรามองก่อนเลยว่าเสื้อชูชีพอยู่ทางไหน ดูลักษณะเรือเป็นยังไง มีทางเข้า-ออกตรงไหนบ้าง 
  • เด็กเวลาลงเล่นน้ำควรมีผู้ใหญ่หรือเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทางที่ดีควรสวมเสื้อชูชีพด้วยนะคะ แม้ตัวเด็กจะมีห่วงยางพยุงตัวอยู่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุทำให้หลุดออกจากห่วงยาง ก็อาจจมน้ำได้ค่ะถ้าไม่ใส่เสื้อชูชีพ
  • ใส่เสื้อชูชีพที่มีขนาดเหมาะสม พอดีกับตัวเรา
  • สังเกตลักษณะคลื่น, กระแสน้ำก่อนลงเล่น พี่ออมจะยกตัวอย่างคลื่นทะเลดูด (Rip Current) ที่เกิดบริเวณใกล้ชายหาดและสามารถพัดเราออกไปในทะเลได้ เหตุการณ์คลื่นดูดนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในบางชายหาดของประเทศไทยนำมาซึ่งความสูญเสียในหลายครั้งเพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย มาดูลักษณะคลื่นทะเลดูดนี้กัน สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่านะ
ภาพจาก oceantoday.noaa.gov
ภาพจาก oceantoday.noaa.gov 

Rip Current หรือคลื่นทะเลดูด เป็นคลื่นคล้ายรูปเห็ด ลักษณะเป็นร่องน้ำและน้ำทะเลแถวบริเวณนั้นจะเป็นสีที่ต่างออกไป จริงๆ แล้วคลื่นนี้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะเราสามารถเอาตัวรอดได้ แต่ส่วนใหญ่คนที่ถูกคลื่นนี้พัดออกจากชายหาดไปจะตกใจและพยายามว่ายสวนเกลียวคลื่นกลับมา ส่งผลให้ต้านแรงน้ำไม่ไหว ทำให้หมดแรงและจมน้ำได้ค่ะ

ภาพจาก National Oceanic and Atmospheric Administration
ภาพจาก National Oceanic and Atmospheric Administration

วิธีการเอาตัวรอดเมื่อเราเจอ Rip Current คือ แทนที่เราจะว่ายต้านกระแสน้ำนี้เข้าหาฝั่ง เราควรว่ายออกด้านข้างเพื่อหนีออกจากกระแสน้ำดูดนี้ดังรูป ถ้าหากน้องๆ คนไหนว่ายน้ำไม่แข็ง สิ่งแรกคือสติค่ะ พยายามตั้งสติ หากเราขาดสติจะทำให้โอกาสที่เราจะช่วยเหลือตัวเองในสถานการณ์คับขันแบบนี้ลดไปลงไปเกือบครึ่งเลย วิธีการคือให้ถนอมแรงและพยุงตัวลอยคอเอาไว้ ยกมือให้คนอื่นสังเกตเห็นเราเพื่อให้เข้าช่วยเหลือ สำหรับเทคนิคการลอยตัวในน้ำพี่ออมจะเขียนบอกในหัวข้อถัดไปนะคะ! 

 

ภาพจาก Pixabay.com
ภาพจาก Pixabay.com 

การช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ

  • ตั้งสติ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทุกสถานการณ์ทั้งผู้ที่ตกน้ำและผู้ที่เข้าไปช่วยค่ะ
  • ตะโกนขอความช่วยเหลือและโบกมือไปมาเพื่อทำให้เป็นจุดสังเกตมากที่สุด
  • ว่ายเข้าหาฝั่งที่ใกล้ที่สุด หากเป็นกระแสน้ำที่เชี่ยวพยายามหาอะไรที่มั่นคงเกาะไว้เพื่อไม่ให้ตัวเองจมและถูกกระแสน้ำพัดไปค่ะ
  • ฝึกการลอยตัว เมื่อเราตกน้ำและว่ายน้ำไม่เป็นพยายามนอนหงายขึ้น สูดหายใจลึกๆ  เงยหน้า ยืดอกไว้ กางแขนกางขา ค่อยๆ เตะขาเบาๆ จะทำให้ตัวเราลอยค่ะ  น้องๆ สามารถดูหลักการลอยตัวได้จากคลิปเหล่านี้นะคะ พี่ออมดูมาแล้วในคลิปมีการสาธิตท่าทางให้ดูด้วย เข้าใจขึ้นมากๆ  เลยค่ะ

เมื่อเราพบเห็นคนตกน้ำต้องทำอย่างไร? 

  • เมื่อเจอคนตกน้ำหรือเมื่อเจอเหตุด่วนเหตุร้าย ท่องไว้ให้ขึ้นใจโทร 191 หรือ 1669 ค่ะ หากมีคนเข้าไปช่วยแล้วเราก็อย่าลืมถามคนแถวนั้นว่า “มีใครโทร 191 กับ 1669 หรือยัง” หรือหากเราเป็นฝ่ายเข้าไปช่วย ก็ให้คนใกล้ๆ โทรให้ค่ะ
  • ยังคงเน้นย้ำเหมือนเดิมนะคะ  สำหรับหลักการ “ตะโกน โยน ยื่น”  ตะโกน ให้รู้ว่ามีคนตกน้ำ โยน ห่วงยางหรืออุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้ผู้ที่ตกน้ำใช้เกาะพยุง ยื่น ของยาวที่อยู่ใกล้ตัวให้ผู้ที่ตกน้ำจับ พี่ออมขอยกคำพูดของพี่เติ้ล กิตติพจน์  ครูสอนดำน้ำกู้ภัย จากบทความเรื่อง ทำความรู้จักอาชีพดำน้ำกู้ภัย เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักการนี้ค่ะ

“การตะโกนเป็นการเรียกสติของคนจมน้ำและตะโกนบอกคนรอบข้างว่ามีคนตกน้ำ เพื่อขอความช่วยเหลือ ถ้าเราเห็นคนตกน้ำแล้วไปช่วยแต่ไม่ยอมตะโกนคนอื่นก็อาจจะไม่เห็นและไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ และการตะโกนเมื่อเห็นคนตกน้ำก็ยังเป็นการป้องกันตัวเองได้ด้วยว่า เราเป็นคนมาช่วย ไม่ได้เป็นคนผลักหรือทำให้เขาจมน้ำแต่อย่างใด ถ้าเรามีอุปกรณ์เราก็โยน หรือ ยื่น ให้เขาระหว่างที่เข้าไปช่วยเขา เราก็ตะโกนไปด้วยว่า ‘โทร 191 หรือ 1669 ให้หน่อย โทรหน่อย’  แบบนี้ก็ได้ครับ ” 

  • หากเจอคนตกน้ำและเข้าไปช่วยไม่ทัน หลังจากโทรแจ้งเหตุแล้วผู้ที่แจ้งเหตุจะต้องอยู่ที่เกิดเหตุเพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ กับอาสากู้ภัยที่ไปถึงให้ชัดเจนว่า สูญหายไปบริเวณไหน ระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งระยะเวลาที่แจ้งก็สำคัญมาก หากแจ้งไวจะค้นหาได้เร็วขึ้น อัตราการรอดชีวิตย่อมมีมากกว่านะคะ

ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวในทีวีหรือตาม Social media เรามักจะเห็นคลิปอุทาหรณ์ที่บันทึกอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้ ในบางครั้งเราจะเห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ประสบเหตุตลอดจนผู้ที่เข้าไปช่วย หลายเหตุการณ์เรียกว่าเป็นนาทีชีวิตจริงๆ ค่ะ  หวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้กับน้องๆ ทุกคนที่เข้ามาอ่านนะคะ ใครมีเหตุการณ์ฉุกเฉินรวมถึงวิธีการช่วยเหลือเมื่อเราตกน้ำหรือเมื่อเจอคนตกน้ำอยากแชร์ คอมเมนต์มาได้เลยนะ :) 

 

ข้อมูลจากhttps://www.chaophya.comhttps://www.fisheries.go.thhttps://multimedia.anamai.moph.go.th

 

พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น