spoil

  • แก้ปัญหาความกดดัน ไม่อยากทำตามเพื่อน เช่น  พูดปฏิเสธ say NO!, หาวิธีปลีกตัวแบบเนียน ๆ
  • คิดถึงผลที่ตามมาในทางลบ, เปลี่ยนเรื่องคุยดีกว่า
  • สัญญาณ 6 ข้อ ที่บอกว่าเราเริ่มมี Peer Pressure 

สวัสดีน้อง ๆ ทุกคนค่ะ เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอประโยคที่ว่า “เอาหน่า ลองสักแก้วดิ คนอื่นเขาก็กินกันหมดเลยนะ” หรือ “อย่าไปคุยกับนาย A นะ เราไม่ชอบ” และอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เพื่อนต้องการให้เราทำอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากทำ แต่เราต้องทำเพราะกลัวไม่ได้รับการยอมรับ บทความวันนี้พี่ณัชชาจะมาแชร์วิธีการแก้ไขปัญหานี้กัน ลองดูเลย! 

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

ทำความรู้จัก Peer Pressure 

      เราทุกคนมีเพื่อน (ซึ่งเพื่อนมีหลายแบบ) โดย Peers (เพื่อน) จะแปลในแนวที่ว่า เป็นคนที่อายุใกล้เคียงกัน หรือมีความชอบความสนใจคล้ายกัน หรือคนที่ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันกับเรา หรือคนที่เป็นส่วนหนึ่งในคอมมิวนิตี้เดียวกันกับเรา เช่น เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนชมรมดนตรีเดียวกัน (Peers ไม่จำเป็นต้องเป็น friend )

       Peers มีอิทธิพลกับตัวเรามากในช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการแต่งตัว การกระทำ สิ่งของ (#ของมันต้องมี) ความคิด หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่าง ๆ ส่งผลให้บางครั้ง เราต้องทำตามเพื่อนเหล่านั้นเพราะอยากได้รับการยอมรับ ไม่อยากโดดเดี่ยวถูกตราหน้าว่าไม่มีเพื่อนคบ แม้ว่าใจลึก ๆ เราจะไม่อยากทำก็ตาม ซึ่งนี่แหละคือความกดดันที่เกิดจากเพื่อน 

ตัวอย่างสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่อยากทำ แต่เพื่อนชอบชวน เช่น  ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ โดดเรียน ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ทำร้ายร่างกายคนอื่น ลอกโกงข้อสอบ บังคับให้คนอื่นทำการบ้านให้ ต้องแต่งตัวแบบนี้สิ ต้องมีโทรศัพท์รุ่นนี้สิ ห้ามเป็นเพื่อนกับคนนู้นนะ บลา ๆๆ ซึ่งบางครั้งคำชวนมันไม่ได้มาเป็นประโยคพูดหรอก แต่เราจะรู้สึกได้เองว่าต้องทำตาม มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ทำแล้วมันจะรู้สึกดาวน์ กังวล แปลกแยก กลัวเพื่อนไม่คบ

 Positive Peer Pressure

แรงกดดันไม่ได้มีแค่ด้านลบ มันยังมีด้านบวกด้วย เป็นความกดดันที่ทำให้คนทำบางอย่างเพื่อพัฒนาให้ตัวเองดีขึ้น เช่น

 

  • มีเพื่อนที่เรียนหรือเล่นกีฬาเก่ง ทำให้เรามีเป้าหมายว่าสักวันเราจะต้องเดินในทางของตัวเองให้ดีได้บ้าง
  • มีเพื่อนเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ทำให้เราคิดว่าเราอยากทำให้ตัวเองมีคุณค่า เป็นคนมีคุณภาพแบบเพื่อน
  • เพื่อนอาจทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคม เจอเพื่อนของเพื่อน เรียนรู้ผู้คนที่มีความหลากหลาย
  • ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ในด้านที่ไม่ส่งผลเสียต่อชีวิต/ทรัพย์สิน เช่น ลองกินซูชิครั้งแรก
(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

How to รับมือกับความกดดัน

1. พูดปฏิเสธไปเลย ‘ไม่ทำ NO!’

พูดว่าเราไม่อยากทำเป็นวิธีการพื้นฐานที่ง่ายมากในการปฏิเสธ มันจะช่วยทำให้เราไม่ต้องเข้าไปพัวพันกับปัญหา ไม่ต้องเครียดว่าจะต้องทำสิ่งผิดหรือสิ่งที่ไม่ชอบ ตอนพูดปฏิเสธก็พูดไปด้วยความมั่นใจ สบตาตอนพูดด้วยจะดีมาก (เป็นการแสดงออกว่าเราจะไม่ยอมอ่อนข้อให้!) และระวังอย่าให้ตัวเองโดนหลอกให้ทำจากคำพูดว่า ไก่ว่ะ แค่นี้ก็ไม่กล้า (เจอแบบนี้ก็ปล่อยไป ไม่ต้องสนใจ มันก็แค่ยั่วเราเท่านั้น)

  • เราไม่อยากทำอะ ไม่เอาด้วยนะ
  • เราขอผ่านนะ เราไม่ทำดีกว่า ขอบคุณมากที่มาชวน

2. เนียน ๆ เปลี่ยนหัวข้อที่กำลังคุย

บางทีการหลีกเลี่ยงคำถามชวนทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เราอึดอัด มันอาจจะตีความได้ว่าเราสนใจนะ แค่ยังไม่อยากทำตอนนี้ สุดท้ายคนชวนเขาก็จะชวนเราใหม่ในอนาคตอยู่ดี การเปลี่ยนหัวข้อคุย อย่างน้อยก็จะช่วยถ่วงเวลาจนกว่าเราจะพร้อมตอบรับหรือปฏิเสธคำชวนนั้น ลองทำดูแบบเนียน ๆ นะ

  • สมมติเพื่อนชวนกินเหล้า แล้วเราไม่อยากกิน ลองเปลี่ยนเรื่องว่า นายคิดยังไงกับดีเจบนเวที เขาเล่นเพลงดีเนอะว่ามั้ย 
  • เพื่อนยื่นบุหรี่มาให้ แล้วเราไม่อยากสูบก็อาจจะพูดว่า ไม่เป็นไร ขอบคุณมาก วันนี้เราเล่าให้แกฟังหรือยังว่าตอนเช้าไปเจออะไรมา
(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

3. ขอตัวก่อนนะแก หนีดีกว่า

ไม่สบายใจแล้วจะทนอยู่ไปทำไม ขอตัวออกมาเถอะ แต่พูดด้วยประโยคดี ๆ นะ ไม่ควรใช้คำหยาบ พูดทำนองขอโทษนะต้องไปก่อนแล้ว เช่น ลืมเลย เย็นนี้ต้องไปซื้อผักให้แม่ทำกับข้าว ขอผ่านนะวันนี้ ไปแล้วนะ เจอกัน (อย่าโป๊ะเด็ดขาด เช่น ตัวเราไม่มีน้องสาว แต่บอกเพื่อนว่าเดี๋ยวต้องไปรับน้องสาว ไม่ make sense!)

ถ้าเพื่อนยังคะยั้นคะยอจะให้เราไปด้วยท่าเดียว ลองขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคนอื่นหรือพ่อแม่ เช่น ส่งข้อความไปหาเลย บอกให้โทรหาเราหน่อย (เราจะได้มีข้ออ้างว่าแม่โทรตามแล้ว ต้องรีบไปก่อนนะ) อ้างพ่อแม่ไว้ก่อน ส่วนในกรณีเพื่อน ก็ลองบอกให้มันมาช่วยเราออกไปจากตรงนี้ เช่น เพื่อนที่มาช่วยอาจจะพูดว่า พวกเรามีนัดกับ A อะ จะไปหาคุณครูด้วยกัน เดี๋ยวไปก่อนนะ  

4. เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง

ทำในสิ่งที่เรามีความสุข และตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้ามีคนมาชวนทำอะไรบางอย่างที่มันออกจาก comfort zone ก็ให้คิดถึงผลในทางลบที่จะตามมาเข้าไว้ โดยก่อนตัดสินใจทำอะไร เราอาจจะถามตัวเองก่อนว่า สิ่งนี้เป็นผลดีกับตัวเรามั้ย? ฉันอยากทำมันจริงมั้ย? ฉันอยากจะเป็นคนแบบไหน? ฉันไม่อยากเป็นคนแบบไหน? (ไม่ควรตัดสินใจตามสิ่งที่คนอื่นอยากให้ทำ)

(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

5. เลือกคบเพื่อนที่เข้ากับเราได้ดี

คบเพื่อนที่จะไม่กดดันให้เราทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อนควรจะยอมรับได้ในสิ่งที่เราเป็น (ไม่ใช่พยายามบังคับเราให้เป็นในสิ่งที่เขาต้องการ) เข้าทำนองวลี คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล พิจารณาให้ดีกว่าสิ่งที่เราได้รับจากความกดดันนั้นมันคุ้มมั้ยถ้าเรายังคบเพื่อนกลุ่มนี้ต่อไป ตัวเราสมควรที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้เหรอ

น้อง ๆ ไม่ควรเลือกคบใครแค่เพราะเขาดังหรือมีคนรู้จักเยอะ และควรมองหาเพื่อนที่ชอบอะไรคล้ายกัน เช่น เห็นคนกำลังเล่นบาสอยู่ (เราเป็นคนชอบเล่นบาสมาก) ลองเข้าไปทักทาย เริ่มบทสนทนาพูดคุย ชีวิตอาจจะดีขึ้น! (การทำสิ่งที่ชอบก็เป็นการหลีกเลี่ยงอีกวิธีหนึ่งได้นะ ทำตัวยุ่ง ๆ เข้าไว้ เช่น วันนี้เราต้องไปซ้อมว่ายน้ำอะ) นอกจากจะได้เพื่อนใหม่ที่ชอบว่ายน้ำแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่กดดันเราด้วย

6. เปิดใจคุยกับเพื่อน

ถ้าการพูดปฏิเสธมันไม่มีความหมาย ก็บอกเพื่อนไปเลยตรง ๆ ว่าเราไม่ชอบที่ทำแบบนี้ เช่น เราบอกแกไปแล้วว่าเราไม่อยากทำ เราไม่ชอบนะที่แกมาบังคับเราทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ นอกจากนี้ เราอาจจะมีการเปิดใจคุยกันต่อว่าการกระทำแบบไหนที่เราคิดว่ามันไม่ควรทำ หรือเพื่อนมีเหตุการณ์ไหนมั้ยที่ไม่อยากให้เราทำ ปรับตัวเข้าหากันจะได้สนิทกันมากขึ้นนะ!

สัญญาณที่บอกว่าเรากำลังได้รับแรงกดดัน

 

  • ไม่อยากไปโรงเรียน หรือไม่อยากไปงานสังคม ไม่อยากทำกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ
  • กังวลว่าคนอื่นจะประทับใจในตัวเรามั้ย
  • แสดงออกว่ารู้สึกเข้ากับเพื่อนไม่ได้
  • เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
  • มีปัญหาการนอน
  • พยายามทำสีผมใหม่ เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว

 

       ใครที่กำลังเจอเหตุการณ์นี้ก็ลองเอาวิธีการไปปรับใช้กันได้นะคะ บางทีสภาพสังคมมันบีบให้เราต้องมีเพื่อนเนอะถ้าไม่อยากถูกคนมองว่าโดดเดี่ยว เลิกคบกันไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะหลีกเลี่ยง หรือหาเพื่อนคนอื่นที่มีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกันได้นะ หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ แล้วพบกันใหม่ค่ะ : )

 

ข้อมูลจากhttps://www.verywellfamily.com/negative-and-positive-peer-pressure-differences-2606643https://www.collinsdictionary.com/dictionary/english/image-conscioushttps://kidshealth.org/en/teens/peer-pressure.html

 

พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น