spoil

  • ลงโทษนักเรียนทำได้ 4 ข้อ (ตามกระทรวงศึกษา) คือ  กล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ จัดให้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • อยากมีเพื่อน อยากเข้ากับเพื่อนที่มีกลุ่มอยู่แล้ว ต้องเป็นมิตร และหาสิ่งที่ชอบเหมือนกัน
  • สำรวจทั้งในโรงเรียนและรอบโรงเรียนเพื่อดูทางหนีทีไล่ เพื่อหาความสะดวกสบายให้ตัวเอง
  • เข้าชมรมเพื่อสร้างโอกาส!

สวัสดีค่ะทุกคน การย้ายโรงเรียนอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนโลกมันกำลังเปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมใหม่ โรงเรียนใหม่ กังวลไปหมดว่าจะปรับตัวได้ไหม จะมีเพื่อนไหม ใครกำลังหาวิธีการรับมือต้องอ่านบทความเรื่องนี้เลยนะ!

11 วิธีการรับมือกับการย้ายโรงเรียน

1. ทำความรู้จักโรงเรียนใหม่

 เมื่อเราย้ายโรงเรียน เริ่มต้นเลยจากการทำความรู้จักโรงเรียนใหม่ให้ดีก่อน ลองดูสิว่าอะไรอยู่ตรงไหน ห้องน้ำ โรงอาหาร อาคารเรียน ห้องเรียน สระว่ายน้ำ ห้องชมรมต่าง ๆ ทางเข้าทางออก ห้องพยาบาล (เข้าทำนองรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

นอกจากนี้ ก็ควรที่จะสำรวจบริเวณรอบนอกโรงเรียนด้วย ร้านอาหารมีแถวไหน ขายอะไร โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เส้นทางการเดินรถ (BTS รถตู้ รถไฟ) สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีอะไรบ้าง (เวลามีเรื่องต้องขอความช่วยเหลือ เราจะได้รู้จักทางหนีทีไล่ต่าง ๆ)

เปิดเรียนวันแรก ถ้ายังไม่รู้ว่าห้องเรียนไปทางไหน ก็ถามทางเลยไม่ต้องอาย (ถามเพื่อน ถามคุณครู) การถามทางอาจทำให้เราได้รู้จักคนเพิ่มขึ้น มีเพื่อนเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างมิตรภาพดี ๆ ด้วย! โดยน้อง ๆ อาจเริ่มต้นพูดว่า “ขอโทษนะครับ ผมขอถามทางหน่อยครับ ถ้าอยากไปห้องเรียน A ผมต้องไปทางไหนเหรอครับ” พอถามทางแล้วก็อย่าลืมที่จะพูด “ขอบคุณ” ด้วยนะ

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

2. พยายามเป็นมิตรกับทุกคน

 เป็นมิตรกับทุกคน คุณครู เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง และเป็นตัวของตัวเอง เข้าไปชวนคุยหรือถ้าเพื่อนเข้ามาหาก็มั่นใจเข้าไว้ ไม่ต้องประหม่า สบตาตอนคุยกัน ยิ้ม ทำให้บรรยากาศมันสนุก โดยเราอาจจะแนะนำตัวเองชื่ออะไร ถามชื่อเพื่อน หาเรื่องคุย ตอนเช้ามายังไง กินอะไรมายัง เธอสนใจเรื่องอะไร เธอชอบเรื่องนี้มั้ย (เป็นผู้ฟังด้วยนะ ไม่ควรพูดแต่เรื่องของตัวเองฝ่ายเดียว)

ถ้าเป็นคนขี้อาย เริ่มจากแสดงออกทางภาษากายง่าย ๆ ว่าเราไม่ใช่คนปิดกั้นตัวเองนะ เช่น ยิ้มให้เพื่อนที่บังเอิญหันมาสบตาเราพอดี หรือยิ้มให้เพื่อนที่นั่งข้าง ๆ และอาจจะต่อด้วย สวัสดี เราชื่อมุกนะ เธอชื่ออะไรเหรอ ไม่ควรหน้าบึ้งหรือนั่งกอดอก

3. ถ้าอยากมีเพื่อนกินข้าวกลางวันด้วย

อาหารกลางวันมื้อแรก ถ้าเราไม่อยากโดดเดี่ยวลองชวนเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ไปกินข้าวกลางวันดู เพื่อนอาจจะเป็นฝ่ายชวนเราก่อนหรือเราจะชวนเพื่อนก่อนก็ได้ เช่น 

  • อาจพูดว่าด้วยรอยยิ้มว่า คิตตี้ (เรียกชื่อเพื่อนจะดีที่สุด เป็นการแสดงออกว่าเราให้ความสำคัญกับเขา) คิตตี้ เราไปกินข้าวกลางวันกันมั้ย หรือ คิตตี้เราไปกินอาหารกลางวันด้วยได้มั้ย 
  • ระหว่างทางที่เดินไป เราก็อาจจะถามด้วยว่า อาหารกลางวันที่นี่อะไรอร่อยเหรอ มีแนะนำมั้ย หรือเธอชอบกินอะไร
  • ถ้าไม่อยากพูดไปตรง ๆ (ว่าขอกินข้าวด้วย) เราอาจจะอ้อมโลกไปก่อน ชวนคุยเรื่องอื่นไปก่อน แล้วก็ตบท้ายด้วยประโยคว่า เราอยากรู้เรื่องนี้เพิ่ม จะเป็นไรมั้ยถ้าเราจะไปนั่งกินข้าวกลางวันด้วย
(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

4. ถ้าอยากเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่มีกลุ่มอยู่แล้ว

พยายามเป็นมิตรกับทุกคน พยายามเริ่มบทสนทนาที่จะทำให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น เราอาจจะได้ค้นพบเรื่องบางอย่างที่ชอบเหมือนกันก็ได้ โดยอาจจะเริ่มถามว่าชอบดูซีรีส์มั้ย หรือเล่นฟุตบอลเปล่า พอมีเรื่องที่ชอบเหมือนกัน บทสนทนามันก็จะไปต่อได้เรื่อย ๆ

เช่น สมมติว่าเพื่อนชอบดูซีรีส์เกาหลีแล้วเราก็ชอบดูซีรีส์เหมือนกัน ก็อาจจะต่อบทสนทนาไปว่า แล้วมุก (เรียกชื่อเพื่อน) มุกดูซีรีส์เรื่องนี้มั้ย พระเอกหล่อมาก เราชอบมาก จากนั้นก็คุยเล่นกันต่อ หรือถ้าเพื่อนชอบเล่นฟุตบอล เราก็อาจถามต่อว่า เชียร์ทีมไหนล่ะ

5. การพัฒนาความสัมพันธ์ต่อเมื่อเริ่มมีเพื่อน

พอเริ่มมีเพื่อนแล้ว เราอาจจะถามข้อมูลติดต่อของเพื่อน เช่น เบอร์โทรศัพท์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม และถ้าอยากสนิทสนมกันมากขึ้น หลังเลิกเรียน/วันหยุดเสาร์อาทิตย์ ก็อาจจะชวนเพื่อนไปเที่ยวด้วยกันต่อ ไปกินข้าว ถ่ายรูป เล่นเกม ร้องคาราโอเกะ shopping ดูหนัง เตะบอล โยนโบว์ลิ่ง เล่นบาสเก็ตบอล ว่ายน้ำ เล่นดนตรี ทำกิจกรรมกระชับมิตรพัฒนาความสัมพันธ์!

(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

6. ลองเข้าร่วมชมรมที่สนใจ สร้างโอกาส

การเข้าชมรม นอกจากเราจะได้เพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกันและคุยถูกคอแล้ว เรายังมีคนไว้คอยสนับสนุน ช่วยฝึกฝนทักษะ และเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเองได้พัฒนาหรือโชว์ฝีมือด้วย เช่น เข้าชมรมดนตรี เราจะได้เจอรุ่นพี่และเพื่อนในชมรมที่พูดเรื่องเดียวกันรู้เรื่อง เขาอาจจะแชร์เคล็ดลับการเล่นให้ฟัง (ได้ความรู้ใหม่) สอนเล่นในสิ่งที่เรายังไม่เก่ง มีโอกาสได้เล่นเครื่องดนตรีที่เราไม่เคยเล่น มีโอกาสได้สร้างทีมเล่นดนตรีที่อาจจะพัฒนาไปถึงการสร้างทีมประกวด ได้เงินรางวัล ไปจนถึงการสร้างอาชีพในอนาคต มีแต่ข้อดีทั้งนั้น!

7. ตั้งใจเรียนให้ดี ไม่เข้าใจให้ถาม

ถึงจะย้ายโรงเรียนใหม่ สิ่งหนึ่งที่เรายังต้องทำอยู่ก็คือการเรียน ทีนี้ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นว่าเราตามเนื้อหาไม่ทัน (กรณีย้ายโรงเรียนกลางเทอม) หรือเปิดเทอมใหม่นี่แหละ แต่ตามเนื้อหาไม่ทัน เพราะโรงเรียนเก่ากับโรงเรียนใหม่สอนไม่เหมือนกัน คุณครูมีสไตล์การสอนต่างกัน

 เวลาเรียนไม่เข้าใจ อาจถามเพื่อนที่นั่งเรียนข้าง ๆ ตอนคุณครูสอนจบ หรือถามคุณครูช่วงที่เปิดช่องว่างให้ถาม ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอายที่จะถามในสิ่งที่เราเรียนไม่เข้าใจ พูดไปเลย คุณครูครับ/คะ ผม/หนูไม่เข้าใจตรงนี้ ช่วยอธิบายอีกครั้งได้มั้ยคะ หรือ หนูเข้าใจตรงนี้ถูกแล้วใช่มั้ยคะ (แล้วก็อธิบายสิ่งที่เราเข้าใจให้ครูฟัง) การถามจะเป็นผลดีกับตัวเราในการเรียนเรื่องที่ยากกว่าต่อไปในอนาคต (ถามเสร็จแล้วอย่าลืมขอบคุณด้วยนะ)

ถ้าพื้นฐานแน่น การต่อยอดเรื่องซับซ้อนก็จะง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นไม่เข้าใจก็ถามเลย  

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

8. ถ้าเจอเพื่อนที่ไม่ดี ถ้ามีปัญหากับเพื่อน

 สมมติว่าวันแรกของโรงเรียนใหม่ เราบังเอิญเจอเพื่อนไม่ดี (ต้องแน่ใจก่อนว่าเขาคนนั้นเป็นคนไม่ดี เราไม่ควรตัดสินใครจากคำพูดของคนอื่น) พี่แนะนำว่าให้ถอยห่างจากคน ๆ นั้น ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง ต่างคนต่างอยู่ไป หรือ ถ้าหากเราต้องพูดคุยกัน ก็ใช้คำพูดกับเขาดี ๆ พูดปกติ ไม่ต้องไปแสดงท่าทางไม่ดีใส่

ถ้าเห็นว่าเพื่อนโดนทำร้าย หรือเป็นเราเองที่โดนคนไม่ดีรังแก พี่แนะนำว่าอย่าเก็บไว้คนเดียว ให้บอกผู้ปกครอง/คุณครูที่ไว้ใจได้ให้จัดการ!

9. ถ้าโดนครูทำร้ายร่างกาย

 ถ้าโดนครูทำร้ายร่างกาย ให้บอกคุณพ่อคุณแม่ บอกคุณครูคนอื่นที่เราดูแล้วว่าไว้ใจได้แทน!

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 บอกไว้ว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด ทำได้ 4 ข้อ (ไล่จากโทษน้อยไปมาก) ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ จัดให้ทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (บังคับใช้ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน)

การทำร้ายร่างกาย เช่น การตบหน้า ตบหัว หยิก ใช้ไม้ตีขา ตีน่อง ตีก้นจนทำให้เกิดรอยช้ำ รอยบวม หรือการลงโทษให้วิ่งรอบสนามกลางแดดจนเป็นลมหมดสติ ผู้ปกครองสามารถดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายได้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 398 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทารุณต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ซึ่งต้องพึ่งผู้นั้นในการดำรงชีพหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

10. ไม่ควรทำท่าเหมือนจะจีบ (flirt) เวลาคุยกับเพศตรงข้าม

 เวลาย้ายโรงเรียน เชื่อว่าเราอยากจะมีเพื่อนแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม ทีนี้การจะคุยกับเพื่อนต่างเพศ เราก็ควรที่จะแสดงออกไปให้ชัดเจนว่าเราอยากเป็นเพื่อน ไม่ควรไปทำท่าทางเหมือนจะจีบ เหมือนจะอยากสานสัมพันธ์แบบคนรัก เพราะเรายังไม่รู้จักเขาดี เรายังไม่รู้ว่าเขามีแฟนอยู่แล้วหรือไม่ (ถ้าอยากคุยกับเขาแบบอยากได้เป็นแฟน ก็ต้องดูให้ดีก่อนอยู่ดี)

หากเราเข้าไปทำท่าทางเหมือนจะจีบ เจ้าชู้หน่อย ๆ แล้วเขาหรือเธอคนนั้นเริ่มไม่ชอบเรา ข่าวมันจะไปไวมาก (gossip มาแน่) กลุ่มเพื่อนของเขาอาจจะไม่ชอบเราไปด้วย ชื่อเสียงเราอาจจะเริ่มไม่ดี การหาเพื่อนใหม่อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากนะ!

11. อย่าคิดไปเองก่อน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการย้ายโรงเรียนอาจทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นหรือกังวลไปหมด เราจะมีเพื่อนมั้ยนะ โรงเรียนจะดีมั้ย คุณครูจะดีมั้ย จะเรียนที่นี่ได้มั้ย ถ้าเพื่อนไม่ชอบล่ะ ถ้าเรียนไม่ได้ล่ะ คือคิดไปเองก่อนแล้วว่าเพื่อนหรือโรงเรียนจะเข้ากับเราไม่ได้ 

พี่อยากบอกน้อง ๆ ว่า อย่าเพิ่งคิดไปเอง โลกความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราไม่รู้หรอกว่า อนาคตพรุ่งนี้กับโรงเรียนใหม่จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นก็ให้มันเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือเตรียมตัวไปให้ดี พยายามคิดแต่เรื่องบวก ๆ และพกความมั่นใจไปให้เต็มกระเป๋า เธอทำได้!

 

       เป็นเรื่องที่ดีที่จะมีข้อมูลของโรงเรียนใหม่ที่ย้ายไป เพราะจะทำให้เราสบายใจและใช้ชีวิตง่ายขึ้น นอกจากนี้การมีเพื่อนก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยเราควรคบเพื่อนที่ดี เพื่อนที่กล้าจะตักเตือนตอนเราทำผิด (ไม่ใช่ปล่อยไปตามน้ำ ทำผิดไปด้วยกัน) หากพบการทำร้ายร่างกายก็ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว บอกผู้ปกครองหรือคุณครูที่ไว้ใจได้ให้จัดการ ป.ล. การเข้าชมรมก็เป็นสิ่งที่เราควรพิจารณาด้วยนะ พี่แนะนำ ๆ

       หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ ไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วพบกันใหม่ : )

 

ข้อมูลจากhttp://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A493/%A493-2g-2548-a0004.pdfhttps://www.rmutsb.ac.th/university_council/resolution/category_student/student06.pdfhttps://www.wikihow.com/Fit-in-at-a-New-Schoolhttps://kidshelpline.com.au/teens/issues/making-friendshttps://kidshelpline.com.au/teens/issues/starting-new-school
พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น