รู้ทัน “มัลแวร์” แฮกเกอร์ตัวร้ายที่มักแฝงมากับแอปพลิเคชั่น!

Spoil

  • มัลแวร์ (Malware) ย่อมาจาก  Malicious Software ซอฟต์แวร์ตัวอันตราย มักใช้ในจุดประสงค์บางอย่างในเชิงลบ
  • มัลแวร์มักแฝงมากับโปรแกรม, เว็บไซต์รวมไปถึงแอปพลิเคชั่นที่เราเล่นหรือดาวน์โหลด
  • หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการในเครื่องอยู่เสมอ จะทำให้การตรวจจับมัลแวร์ประเภทใหม่ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และอ่านรายละเอียดก่อนคลิกตกลง (OK) หรือยอมรับ (Submit)  เวลาใช้งานโปรแกรมใดๆ ก็ตาม

จริงอยู่ที่ว่าโลกไซเบอร์ในปัจจุบันทำให้เราติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกสบาย ทว่าในปัจจุบันมักมีการออกมาเตือนอย่างต่อเนื่องว่า “ก่อนที่เราจะเล่นเกมหรือดาวน์โหลดอะไรลงไปในเครื่องนั้น ระวังพวกแอปพลิเคชั่นเหล่านั้นจะดูดข้อมูลส่วนตัวของเรา” ฟังดูน่าตกใจใช่ไหมคะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเรื่องนี้กันให้มากขึ้นค่ะ! 

ตัวอย่างเช่น ตาม Social media เรามักจะเลื่อนไปเจอเกมที่มักจะชอบเล่นกันสนุกๆ แต่หลายคนก็เตือนว่าการที่เราเล่นเกมเหล่านั้นเพียงแค่เรา คลิก เริ่มเกม นั่นก็อาจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำให้ระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในแอคเคาท์ (account) ของเราได้  สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า “มัลแวร์” ค่ะ

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

รู้จัก มัลแวร์  ซอฟต์แวร์ตัวร้าย เข้าแฮกคอมพิวเตอร์

น้องๆ เคยได้ยินคำว่า “มัลแวร์ (Malware)” กันไหมคะ มันเป็นเจ้าตัวร้ายของเรื่องนี้เลยค่ะ! มัลแวร์มาจากคำว่า Malicious Software เป็นอีกหนึ่งซอฟต์แวร์ตัวอันตรายต่อคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ของเรา เปรียบเสมือนแฮกเกอร์ที่สามารถเจาะถึงข้อมูลละเอียดอ่อน (ข้อมูลส่วนบุคคล) ของเราได้, ทำให้แอคเคาท์เราปรากฏลิงก์แปลกๆ รวมไปถึงทำให้มีโฆษณาแปลกๆ เด้งขึ้นมาในเครื่องคอมฯ หรือโทรศัพท์ของเรา 

มัลแวร์มักจะแฝงมากับโปรแกรม, เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นที่เราเล่นหรือดาวน์โหลด ซึ่งเมื่อเจ้ามัลแวร์ถูกติดตั้งลงไปในเครื่องแล้วจะสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างที่ได้กล่าวไป นอกจากนี้ยังสามารถติดตามรายละเอียดของผู้ใช้งานได้ด้วย 

มัลแวร์ตัวร้ายตัวนี้มีหลายรูปแบบและมีแนวโน้มจะกลายร่างออกมาเป็นหน้าตาใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไวรัส (Virus), เวิร์ม (Worms), โทรจัน (Trojan) จนอาจขยายระดับไปถึงมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ที่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันสามารถเข้ารหัสข้อมูลของเราหรือเจาะเข้าข้อมูลสำคัญตามองค์กรใหญ่ๆ เพื่อเข้าไปลบข้อมูล ผู้ดูแลมัลแวร์เมื่อสามารถแฮกข้อมูลของเหยื่อได้แล้วก็จะประเมินศักยภาพของเหยื่อว่าสามารถเรียกเงินค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกข้อมูลของเหยื่อได้เท่าใด ตลอดจนนำข้อมูลส่วนตัวที่แฮกได้ไปใช้ในจุดประสงค์ที่ไม่ดีนั่นเองค่ะ 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com 

วิธีการป้องกันจากเจ้ามัลแวร์ตัวร้าย!

  • ติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัสในคอมพิวเตอร์ ก่อนติดตั้ง ดูดีๆ นะคะหากเราเผลอไปติดตั้งโปรแกรมปลอมเจ้าม้าโทรจัน (Trojan) ก็จะเข้าเล่นงานเครื่องเราได้ค่ะ
  • ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย หรือ ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ซึ่งในบางมหาลัยมีบริการให้นักศึกษาดาวน์โหลดได้ฟรีและถูกลิขสิทธิ์ ขอยกตัวอย่าง โปรแกรม Windows ที่มักจะมีโปรแกรมเถื่อนอยู่เยอะมากๆ เนี่ย ถ้าเราอยากมั่นใจเอาชัวร์เลยว่า เราลงโปรแกรมของแท้แน่นอน เขาจะมีเป็นแบบกล่องขายตามร้าน IT ชั้นนำทั่วไป หรือที่เรียกกันว่า Full Package Product (FPP) ค่ะ นอกจากนี้ยังมีแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งราคาจะถูกลงกว่าแบบ FPP ค่ะ อีกแบบจะเป็น  Volume License ที่คอมพิวเตอร์ตามบริษัทใช้กันค่่ะ ทางบริษัทเขาจะติดต่อเองโดยตรง ไม่มีขายทั่วไปค่ะ (ข้อมูลจาก droidsans) ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายนอกจากจะป้องกันมัลแวร์ที่แฝงตัวมากับโปรแกรมปลอมแล้ว ยังทำให้ระบบเสถียรและง่ายต่อการอัปเดตโปรแกรมอีกด้วยค่ะ  
  • ติดตั้งซอฟต์แวร์จากแหล่งที่รู้จัก ย้ำอีกรอบนะ!! ก่อนจะดาวน์โหลดอะไรก็ตามดูให้ดีๆนะคะ และถ้าหากเจอคำสั่งแปลกๆ เด้งขึ้นมาอย่าเพิ่งรีบกดตกลง/ยอมรับ (submit) ง่ายๆ หล่ะ!
  • หมั่นอัปเดตระบบปฏิบัติการในเครื่องอยู่เสมอ จะทำให้การตรวจจับมัลแวร์ใหม่ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

น้องๆ คนไหนมีประสบการณ์โดนแฮกข้อมูลหรือเคยโดนเจ้ามัลแวร์นี้เล่นงานมาแล้ว เล่าให้พี่ออมและชาว Dek-D.com ฟังหน่อยนะคะ จะได้ระมัดระวังกันมากขึ้น โลกออนไลน์ให้ประโยชน์กับเราแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีสติอ่านกันสักนิดก่อนกดดาวน์โหลดหรือคลิกลิงก์ไหนกันด้วยนะคะ!

 

ข้อมูลจากhttps://www.cisco.comhttps://www.14again.nethttps://www.1belief.comhttps://www.bitdefender.co.th/post/malware
พี่ออม
พี่ออม - Columnist สาวตาหยี ผู้คลั่งไคล้ในน้องหมา เฮฮา รักธรรมชาติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น