spoil

  • เราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่ทันตั้งตัว ทำให้เรากลัวและอึดอัด
  • รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คุยกับคนที่เจอเหมือนกัน มองหาข้อดี  เตรียมตัวเองให้พร้อม ฯ

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา เช่น เดินอยู่ดี ๆ เผลอเหยียบของบนพื้นรองเท้าเปื้อน หรือไปทำงานเหมือนทุกวัน หัวหน้างานมีข่าวดีจะขึ้นเงินเดือนให้ surprise! การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บางครั้งมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ บางครั้งเราควบคุมไม่ได้ ทำได้เพียงแค่ต้องปรับตัวเข้ากับมัน บทความนี้จะแชร์วิธีการปรับตัวนั้น มาดูกันเลย!

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

ทำไมคนถึงไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

       Ellen Jackson นักจิตวิทยาบอกเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงไว้ 3 ข้อ

1. ทำให้รู้สึก shock มันเป็นสิ่งเราไม่พร้อม

 เวลามีเรื่องใหญ่ ๆ เกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คาดฝัน reaction ของเราตอนแรกเลยคือความรู้สึก shock ตามมาด้วยความรู้สึกปฏิเสธ (denial) เหมือนเรากำลังหลอกตัวเองว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก หรือบอกตัวเองว่าฉันไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนไปนั้น แต่ลึก ๆ แล้วเรารู้นะว่ามันจะเกิดหรือมีโอกาสที่จะเกิดเข้าสักวัน

2. ทำให้เราอึดอัด

มนุษย์อย่างเรา ๆ จะมีความสุขและจะรู้สึกปลอดภัยถ้าอยู่ใน safe zone (พื้นที่ปลอดภัย) ถ้าเราเริ่มแตะ ๆ ขอบโซนนั้น หรือออกไปจากพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ความกังวลจะเกิดขึ้น เราต้องต่อสู้กับสิ่งใหม่ เราจะโกรธ หงุดหงิด ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้นะ

3. ทำให้เราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เป็นความกลัว

การเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนเส้นทางของอารมณ์ เราต้องเดินทางไปที่ถนนเส้นนั้นเพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน เราเป็นใคร และเราอยากจะเป็นอะไร เวลาบางสิ่งมันเปลี่ยนแปลงไป ก็เปรียบเสมือนถนนที่คดเคี้ยว ชัน น่ากลัว ไม่รู้ว่าปลายทางอยู่ที่ไหน ซึ่งเราไม่ชอบมัน

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ยังไง

1. ทำความเข้าใจความรู้สึกตัวเอง

 เวลารู้สึกต่อต้านกับการเปลี่ยนแปลง การทำความเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องจำเป็น อย่าพยายามหลบเลี่ยง ให้พยายามฟัง เมื่อเราเข้าใจอารมณ์แล้ว เรายอมรับมัน แล้วเราจะอนุญาตตัวเองให้แก้ไขมันได้ เช่น สมมติว่ากังวล บอกตัวเองเลยว่ามันโอเค มันกังวลได้นะ ไม่เป็นไร

2. เตรียมตัวเองให้พร้อม

 ไม่ว่าเราจะเจอกับอะไร เตรียมตัวเองให้พร้อมไว้ก่อน (Proactive) คิดเอาไว้ว่าเหตุการณ์ใหม่ที่เข้ามามันจะไปทางไหน และเรียนรู้ว่าเราจะจัดการกับมันยังไงได้บ้าง เช่น ถ้าแพลนว่าจะย้ายบ้าน หาข้อมูลเยอะ ๆ ว่าสถานที่นั้นมันเป็นยังไง มันมีอะไร ร้านอาหารมีไหมตรงไหนบ้าง เดินทางสะดวกง่ายไหม ความปลอดภัยเป็นยังไง (ทำให้เรารู้สึกสบายใจว่าเรารู้จักสิ่งนั้นแล้วนะ)

ทำแบบนี้ดีกว่าจะมารอให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยแก้ (Reactive) สู้เตรียมตัวไปก่อนล่วงหน้าเลยดีกว่า!

(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

3. มองหาข้อดี/โอกาส/เรื่องขำขันในการเปลี่ยนแปลงนั้น

มองหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ขำขันในเหตุการณ์นั้น คิดว่าเราจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้จากมุมมองใหม่ ๆ และยังทำให้เรารู้สึกดีขึ้นด้วย เช่น เราเพิ่งเลิกกับแฟน ก็พยายามมองหาว่าสิ่งดี ๆ ที่เราจะได้จากเรื่องนี้คืออะไร เราจะมีเวลาว่างมากขึ้นมั้ย เราจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นมั้ย เราจะได้ใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้นมั้ย หรืออาจจะให้รางวัลตัวเองหลังจากเพิ่งเจอหน้ากับปัญหามาก็ได้ เช่น ซื้อไอศกรีมให้ตัวเองหลังจากทำกายภาพบำบัดเนื่องจากการบาดเจ็บ

งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอารมณ์ขันบอกว่า อารมณ์ขันร่วมหรือการล้อเล่นแบบขำ ๆ ทำให้อารมณ์และการเข้าสังคมดีขึ้น แค่ต้องแน่ใจว่ามันเหมาะสมกับกาลเทศะตอนพูดล้อเล่นเรื่องนั้น

4. มองไปที่คุณค่าของตัวเองแทนที่จะสนใจความกลัว

 นึกถึงไว้เสมอว่าอะไรสำคัญ อะไรเป็นคุณค่าในตัวเอง เช่น ครอบครัว เพื่อน เพลงที่ชอบ ความสามารถที่มี เป้าหมายที่อยากเป็น ฯ จะช่วยให้เราต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการบอกตัวเองว่าสิ่งที่เข้ามาท้าทายจะไม่สามารถทำลายตัวตนของเราได้ ฉันยังมีดีอยู่ มาสิ มาเลย

(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

5. คุยกับคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน

คุยกับคนที่เคยเจอเหตุการณ์เดียวกันจะทำให้เราสบายใจมากขึ้น เพราะรู้ว่าเธอคนนั้นยังสบายดี เธอผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้เราก็อาจจะทำได้เหมือนกัน โดยการคุยนั้นเราอาจจะมีขอคำแนะนำว่าต้องทำยังไงถึงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีที่สุด นอกจากนี้การคุยกับเพื่อน/ครอบครัว ปรึกษาทางออกของปัญหากับคนที่เราไว้ใจก็จะช่วยเราได้เหมือนกัน!

6. ผ่อนคลาย ผ่อนใจ

 การผ่อนคลายช่วยลดความเครียด เช่น การทำสิ่งที่ชอบ (สมมติว่าชอบวาดรูป ก็ไปเรียนเพิ่ม ไปนั่งวาดรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป) หรือการนั่งสมาธิ การสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เหยียดแขนเหยียดขา สมมติ เดินเหยียบของเน่าบนพื้น เริ่มเกิดความหงุดหงิด โอเครับรู้ว่าหงุดหงิด จากนั้นสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ (ผ่อนคลาย) ไม่เป็นไร มันทำความสะอาดได้

(ภาพจาก www.freepik.com)
(ภาพจาก www.freepik.com)

7. ใช้เวลา (Take your time)

เวลามีการเปลี่ยนแปลงเราอาจรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ดังนั้นลองเดินไปช้า ๆ ก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ คิดว่าจะจัดการปัญหายังไง บอกกับตัวเองว่า เราได้รับอนุญาตที่จะทำอะไรโดยไม่ต้องสนใจความคาดหวังของสังคมก็ได้ (ที่ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายหรือเดือดร้อนคนอื่น) เช่น สูญเสียคนรักหรือสัตว์เลี้ยงตัวโปรด ยอมรับกับตัวเองเลยว่าฉันเสียใจ ไม่เป็นไร ร้องไห้ได้เต็มที่ จากนั้นค่อย ๆ คิดว่าจะไปทางไหนต่อ มีแค่ตัวเราที่เป็นคนตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องเต็มที่ 100% ทุกเวลา

8. บอกตัวเองว่า ‘ช่างมัน’ และเดินหน้าต่อ

ถึงแม้ว่าเราจะต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลง เราก็ยังสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะอยู่กับมันแบบไหน จะจมอยู่กับอดีต หรือจะเดินหน้าต่อไป แน่นอนว่าเรายังใช้เวลาได้เต็มที่ในการรับมือกับมัน อย่างกรณีของชายที่ชื่อ  Victor Frank

Victor Frank รับรู้ว่าตัวเองเสียครอบครัวไปทั้งหมดหลังจากกลับมาจากค่ายของนาซี (การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น) เขาจมอยู่กับความเสียใจและคิดขึ้นมาได้ว่า แม้เขาจะไม่สามารถกลับไปมีชีวิตเหมือนตอนที่ครอบครัวยังอยู่ได้แล้ว แต่เขายังมีโอกาสที่จะได้เจอเพื่อนใหม่ คนรักใหม่ มีโอกาสที่จะได้เป็นพ่ออีกครั้งหนึ่ง ยังคงได้ฟังเพลงที่ชอบ อ่านหนังสือที่ชอบได้เหมือนเดิม ดังนั้น อย่าเพิ่งหมดกำลังใจนะ!

      

       การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกเวลาอย่างที่พี่บอก ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือร้าย เราแค่ต้องปรับตัวรับมือกับมันให้ได้เท่านั้น น้อง ๆ คนไหนมีวิธีการอื่นที่อยากแบ่งปัน สามารถคอมเมนต์มาได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ : )

 

ข้อมูลจากhttps://www.potential.com.au/blog/3-reasons-why-humans-hate-changehttps://hbr.org/2016/09/how-to-get-better-at-dealing-with-changehttps://www.psychologytoday.com/us/blog/here-there-and-everywhere\https://www.wikihow.com/Deal-with-Change
พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด