เพื่อนเป็นซึมเศร้าจะพูดกับเพื่อนยังไงดี บทความนี้มีคำตอบ!

spoil

  • อาการของโรคซึมเศร้า เช่น เศร้า หมดแรง นอนหลับยาก การกินผิดปกติ  ฯ
  • วิธีการพูดกับเพื่อน เช่น คำพูดที่แสดงถึงการพร้อม support เสมอ  เราอยู่ตรงนี้นะ
  • สิ่งที่ไม่ควรพูด เช่น  เดี๋ยวมันก็ผ่านไป Let it go
  • สัญญาณของการจบชีวิตตัวเอง เช่น พูดเกี่ยวกับการจบชีวิต สั่งเสีย บอกลา

Trigger warning: บทความนี้มีเนื้อหาอ่อนไหว มีพูดถึงการทำร้ายตัวเอง, การเป็นโรคซึมเศร้า

สวัสดีเพื่อนพ้องน้องพี่ชาว Dek-D.com ทุกคนค่ะ หลายคนอาจกำลังมีข้อสงสัยว่าถ้าเพื่อนเป็นโรคซึมเศร้าเราควรจะต้องพูดหรือแสดงออกกับเพื่อนว่ายังไง บทความวันนี้พี่ณัชชาจะมาแชร์เรื่องนี้ให้ฟัง พร้อมกับความรู้ด้านอื่น ๆ ของโรคซึมเศร้าด้วย มาดูกันเลย!

โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)

   โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เป็นกลุ่มอาการที่มีความสำคัญทางคลินิก (หมายความว่าถ้าป่วยแล้วต้องได้รับการรักษา) เกิดจากการที่บุคคลหนึ่งมีกระบวนการคิด การควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการทำงานที่ผิดปกติในด้านชีววิทยา จิตใจ และพัฒนาการ โดยการที่จะบอกว่าเป็นโรคทางจิตเวชได้ อาการที่เป็นจะต้องส่งผลทำให้คนสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตสังคม อาชีพ และการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง (อ้างอิงจาก DHM-5; ระบบการวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน)

(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

สาเหตุของโรค

  • การทำงานของสารสื่อประสาท 3 ชนิดในสมองทำงานผิดปกติ (ลดลง) ได้แก่ Noradrenaline (สมาธิ การตื่นตัว), Serotonin (ความจำ การนอน แรงขับในการใช้ชีวิต) และ Dopamine (แรงขับ ความพอใจ รางวัล)
  • ฮอร์โมนแปรปรวนในเพศหญิงช่วงมีประจำเดือนหรือช่วงหลังคลอดที่อาจทำให้มีอาการ Postpartum Depression
  • สิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ถ้าคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้า อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าด้วย หรือการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนโตก็มีส่วนเช่นกัน
  • เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด เช่น สูญเสียสมาชิกในครอบครัว ตกงาน

Noted: ความแตกต่างระหว่างโรคซึมเศร้า กับ อารมณ์เศร้า

  1.  ความเศร้า (Sadness) เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน โดยมีสาเหตุ เช่น เสียคนรัก มีปัญหาเรื่องเงิน สอบตก ไม่มีงานทำ whatever อะไรก็ได้ที่เข้ามาทำให้รู้สึกเศร้า ซึ่งวิธีทำให้หายก็มีหลายวิธีตามความต้องการของแต่ละคน เช่น ร้องไห้ คุยปรึกษากับเพื่อน เมื่อเวลาผ่านไปอารมณ์เศร้าก็จะหาย
  2. โรคซึมเศร้า ต้องมีอาการเศร้า ทำอะไรก็ไม่สนุกเหมือนเดิม นอนหลับยาก การกินผิดปกติ เหนื่อยเนือยหมดแรง ไม่มีสมาธิ รู้สึกไม่มีค่า รู้สึกอยากจบชีวิตตัวเอง (ซึ่งอาการเศร้าเป็นส่วนหนึ่งในอาการเหล่านั้น) มีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ และอาการส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

อาการของโรค

คนที่เป็นต้องมีอาการมากกว่าหรือเท่ากับ 5 อาการ ในระยะเวลา 2 สัปดาห์หรือมากกว่า (อ้างอิงตามหลัก DHM-5) มีอาการเป็นช่วง ๆ (บางคนอาจมีอาการช่วงเดียวในชีวิต หรือมีซ้ำหลายช่วงก็ได้) และอาการที่เป็นต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงจะถือว่าเป็นโรค เช่น ทำงานไม่ได้ เรียนไม่ได้ มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแย่ลง ไม่ดูแลตัวเอง

  1. มีอารมณ์เศร้าอยู่แทบตลอดทั้งวัน เกือบทุกวัน
  2. หมดความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่มีความสุข รู้สึกเบื่อหน่ายกับทุกอย่าง ไม่ค่อยรู้สึกพิเศษ
  3. มีปัญหาการนอน นอนหลับยาก นอนตื่นระหว่างคืนบ่อยๆ นอนผวา
  4. น้ำหนักลด กินอาหารได้น้อยลง หรือกินเยอะขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น
  5. ไม่สามารถโฟกัสหรือมีสมาธิได้
  6. มีความปั่นปวนทางใจ (เช่น กระสับกระส่าย เครียดอยู่ในใจ) หรือการพูด การคิด การเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง
  7. อ่อนแรง หมดพลังงาน บางครั้งก็อยากนอนอยู่เฉยๆ ไม่อยากทำอะไร  รู้สึกหมดแรงอยู่ตลอดเวลา
  8. รู้สึกไม่มีค่า รู้สึกผิด
  9. มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง, อยากฆ่าตัวตาย หรือวางแผนไว้

เพื่อนเป็นซึมเศร้าควรทำยังไง

1. เริ่มคุย บอกให้เพื่อนรู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้กับเธอนะ แต่จำไว้ว่าเพื่อนอาจจะอยากบอกว่าเขากำลังรู้สึกอะไร แต่อาจจะไม่ได้อยากได้คำแนะนำ (แค่ต้องการคนรับฟัง) ถามคำถามปลายเปิด ถ้าอยู่คนละที่กันก็อาจจะวิดีโอคอลคุยกัน (ควรสบตาตอนที่พูดคุยกับเพื่อนด้วย) และเวลาคุยให้ขึ้นต้นประโยคด้วยคำสรรพนามแทนตัวเรา เช่น เรา ฉัน กู

  • ฉันแอบเห็นว่าไปเที่ยวด้วยกันคราวก่อน แกเหมือนดาวน์ ๆ เกิดอะไรขึ้น บอกฉันได้นะ
  • ฉันกังวล ฉันเห็นแกเศร้า ๆ ตอนนี้แกกำลังรู้สึกอะไร แกเล่าให้ฉันฟังได้ตลอดนะ
  • ฉันเป็นห่วงนะ
  • ฉันอยู่กับแกตรงนี้นะ  ฉันเข้าใจแกนะว่ามันเหนื่อย มันแย่
  • แสดงออกทางร่างกายว่าเรากำลังแคร์ เราใส่ใจ เราสนใจเรื่องที่เพื่อนพูด เราฟังอยู่นะ ทำไปเรื่อย ๆ ให้เพื่อนรับรู้ว่าเราจะอยู่ตรงนี้ หันมาเธอจะเจอฉัน

2. ถามว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยได้บ้าง เพื่อนอาจจะรู้สึกว่าจะเป็นภาระ ดังนั้นแสดงออกให้เพื่อนเห็นว่า แกไม่ใช่ภาระ ฉันเต็มใจช่วย

  • มีอะไรที่ฉันพอจะช่วยได้บ้างมั้ย
  • แกอยากได้คนไปส่งในวันที่นัดเจอหมอมั้ย
  • แกอยากได้คนอยู่เป็นเพื่อนมั้ย ฉันจะอยู่กับแก
  • อยากไปหาแกจัง ให้ฉันไปหาได้ไหม?
  • เห็นตู้เย็นเพื่อนว่าง ก็อาจจะพูดว่า เราไปซื้อของเข้าตู้เย็นกันมั้ย วันนี้ทำอาหารเย็นกินกัน

สิ่งที่ไม่ควรพูด!

  • คิดถึงความสุขเข้าไว้สิ ฉันไม่เข้าใจเลยว่าแกจะเศร้ากับเรื่องแค่นี้ทำไม
  • ทุกอย่างจะดีขึ้น เดี๋ยวแกก็ดีขึ้น เชื่อฉัน
  • ฉันลองกินน้ำตาลแล้วมันทำให้ดีขึ้นเวลาเศร้านะ แกลองดูสิ
  • แกก็แค่ต้องผ่านมันไปให้ได้ พยายามมากกว่านี้หน่อยสิ
  • มีคนอีกเยอะที่แย่กว่าแก เราทุกคนเคยเจอกับปัญหาเหมือนกันหมด
  • ฉันก็เคยเป็นคล้าย ๆ แก ฉันจะเล่าให้ฟัง
  • แต่แกดูไม่เหมือนคนเศร้าเลยนะ แกคิดไปเองเปล่า
  • ปล่อยมันไปแก let it go เดี๋ยวมันก็ผ่านไปนะ สู้ๆ

3. ไม่ควรพยายามที่จะทำตัวสนุกสนานเกินเหตุเพราะอยากให้เพื่อนหายเศร้า แสดงออกทางอารมณ์แบบเป็นธรรมชาติก็พอ

4. พยายามที่จะไม่พูดหรือเล่าเรื่องอะไรอื่น ๆ เพื่อหันเหความสนใจของเพื่อน

5. อย่ากดดันให้เพื่อนต้องเล่า บางทีเพื่อนอาจจะกำลังคิดหรือใช้เวลาตกตระกอนอยู่กับตัวเองอยู่ หรือเพื่อนอาจจะไม่อยากพูดอะไรออกมาเลยก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้ เราก็ควรพยายามทำให้เพื่อนรู้สึกสบายใจในความเงียบที่เกิดขึ้นนั้น เช่น อาจจะนั่งอยู่ข้าง ๆ กอดเพื่อนไว้

  • มันไม่เป็นไรเลยนะ การที่แกรู้สึกเศร้า มันไม่เป็นไรเลย
  • แกอยากร้องไห้ แกร้องออกมาเลย ไม่เป็นไรเลยนะ
  • ฉันจะอยู่กับแกตรงนี้ แกเล่าให้ฟังได้นะ หรือถ้าแกไม่อยากเล่าอะไรก็ไม่เป็นไรเลย ยังไงฉันก็จะยังอยู่กับแก
(ภาพจาก pixabay.com)
(ภาพจาก pixabay.com)

6. ชวนเพื่อนไปหาหมอ บอกเพื่อนว่าการไปหาหมอไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่เรื่องที่แย่ หรือช่วยเพื่อนนัดหมอ ช่วยเพื่อนหาจิตแพทย์ ให้กำลังใจ อยู่ข้าง ๆ และช่วยเพื่อนให้ไปหาหมอตามนัด

7.  พาเพื่อนออกไปเปิดหูเปิดตาข้างนอก  คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักชอบเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว การที่เราพาเพื่อนออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ พาไปเที่ยวเปิดหูเปิดตา ก็เป็นอีกอย่างที่ช่วยคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้  ทางที่ดีพาเพื่อนออกกำลังกายด้วยกันจะดีมากๆ เลยค่ะ 

8. บอกเพื่อนว่าเธอสำคัญนะ แกสำคัญกับฉันนะ ฉันรักแก (อาจจะพูดไปต่อด้วยก็ได้ว่าเพื่อนสำคัญกับเรายังไง)

9. บอกว่าเราเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจจริง ๆ ไม่ใช่พูดไปเฉย ๆ

  • ฉันอาจจะไม่เข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันเป็นแบบไหน แต่ฉันอยากจะเข้าใจนะ  แกเก่งมากๆ เลยที่ต่อสู้กับมันมาได้ ถ้าเป็นไปได้ให้ฉันอยู่กับแกด้วยคนนะ

10. รักเพื่อนได้ แต่ต้องรักตัวเองด้วย ถ้าเพื่อนมีพฤติกรรมรุนแรง เราก็ต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย

11. อย่าเปรียบเทียบ เพราะเพื่อนอาจจะรู้สึกว่าเรากำลังทำให้เรื่องของเขามันไร้สาระ

สัญญาณการจบชีวิตตัวเอง

  1. พูดว่าอยากตาย พูดว่าตัวเองเป็นภาระ พูดเกี่ยวกับเรื่องแนว ๆ ว่าไม่มีเหตุผลเลยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ
  2. มีพฤติกรรมพยายามหาทางจบชีวิตตัวเอง เช่น ค้นหาวิธีการฆ่าตัวตายบนอินเทอร์เน็ต
  3. แยกตัวออกมาจากครอบครัว เพื่อน แยกตัวออกจากกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
  4. มีการสั่งเสีย โทรหาเพื่อนเพื่อบอกลา มีการทำพินัยกรรมเตรียมไว้
  5. เคยมีการพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

 

 หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย น้อง ๆ คนไหนอยากแชร์วิธีการพูดกับเพื่อนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็สามารถคอมเมนต์มาได้เลยนะคะ มาแบ่งปันกัน แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ : )

 

ข้อมูลจากhttps://www.verywellmind.com/common-causes-of-depression-1066772https://www.verywellmind.com/depression-4157261https://www.verywellmind.com/top-depression-symptoms-1066910https://www.medicalnewstoday.com/articles/314418#treatment-of-depressionhttps://www.webmd.com/depression/features/what-to-say-someone-whos-depressedhttps://www.healthline.com/health/what-to-say-to-someone-with-depression#what-to-sayhttps://health.clevelandclinic.org/6-dos-and-donts-for-supporting-someone-who-has-depression/https://www.verywellmind.com/worst-things-to-say-to-someone-who-is-depressed-1066982 
พี่ณัชชา
พี่ณัชชา - Columnist นักเขียนฝึกหัดใกล้จะเรียนจบที่ชอบอ่านงานแฟนตาซีเป็นชีวิตจิตใจ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น