สวัสดีค่ะน้องๆ TCAS64 ที่ผ่านมามีการปรับหลักสูตรการสอนในกลุ่มสาระวิทย์-คณิต เลยทำให้มีการปรับเนื้อหาข้อสอบตามไปด้วย สำหรับปีนี้ TCAS65 ก็ยังเป็น สสวท. ที่ออกข้อสอบในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เช่นเคย จึงคาดเดาได้ว่าข้อสอบส่วนกลางน่าจะไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก  

รวมข้อควรระวังของข้อสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ
รวมข้อควรระวังของข้อสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ

วันนี้พี่เมก้าเลยไปส่องรีวิวข้อสอบของรุ่นพี่ Dek64 เพื่อเก็บข้อมูลมาให้ Dek65 ว่าพี่ๆ ได้ไกด์ไลน์อะไรไว้ให้น้องๆ บ้าง ข้อสอบแต่ละส่วนมีจุดไหนที่ต้องระวังบ้าง จะได้รีบไปเตรียมตัวกันค่ะ มา! อย่ารอช้า เลื่อนลงไปอ่านเลย    

ข้อควรระวังของข้อสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ

GAT เชื่อมโยง

เป็นข้อสอบที่ใครๆ ก็บอกว่าควรทำให้ได้คะแนนเต็ม แต่ก็มีคนที่พลาดเยอะเช่นกัน พลาดเพราะคิดว่าข้อสอบมันกำกวม มันมีตัวหลอกทำให้ตีความผิด พลาดเพราะลังเลว่าคำตอบมันดูเยอะแปลกๆ ทำให้สับสนแล้วก็ไปแก้คำตอบ หรือบางคนก็พลาดด้วยเรื่องง่ายๆ อย่างการจำรหัสอักษร (A, D, F, 99H) สลับกัน วิธีแก้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการทำความรู้จักรหัสอักษรแต่ละตัวก่อนว่ามีหลักการใช้ยังไง ลองเชื่อมโยงจุดที่คิดว่าสัมพันธ์กันคร่าวๆ เมื่อทำเสร็จให้ทวนจุดที่สัมพันธ์กันอีกครั้งค่ะ ถ้าข้อนั้นๆ เชื่อมกันแล้วมีคำตอบเกิน 4 ข้อแปลว่าผิดแล้วต้องอ่านใหม่ ท่องไว้เสมอว่าเชื่อมโยงตามเนื้อหา ไม่ใช่เชื่อมตามใจเรานะคะ  

ถ้าได้ฝึกทำข้อสอบบ่อยๆ น้องจะรู้และเข้าใจด้วยตัวเองว่าจะรับมือกับข้อสอบเชื่อมโยงยังไง แนะนำว่าควรฝึกจากข้อสอบเก่า มีเฉลยพร้อม ถ้าเลือกซื้อหนังสือก็ควรดูจากผู้แต่งที่มีความเชี่ยวชาญในการออกข้อสอบจริงๆ เพราะแบบฝึกหัด GAT เชื่อมโยงบางเล่ม ยังมีจุดที่เฉลยผิดอยู่และจะทำให้งงกว่าเดิมค่ะ    

GAT ภาษาอังกฤษ

ปี 64 รุ่นพี่บอกว่าข้อสอบยังคงกระจายความยากคละกันไปในทุกพาร์ทค่ะ Expressions ยังเป็นส่วนที่เก็บคะแนนได้ง่าย พาร์ท Vocabulary รุ่นพี่บอกว่าจะไม่ยาก ถ้ารู้ศัพท์เยอะ คนที่พลาดคะแนนส่วนนี้ มักมาจากการเตรียมศัพท์ไม่มากพอ Structure and Writing ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิดค่ะ ให้เตรียมเรื่องหลักๆ ที่ออกสอบทุกปี พวกหน้าที่ของคำ โครงสร้างประโยคมาให้ดี ส่วน Reading Comprehension มักเป็นบทความยาวและอ่านกันจนตาแฉะขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบเรื่องไหนมาออก ควรฝึกหลัก skim & scan ให้คล่อง และฝึกอ่านบทความประเภทเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เทคโนโลยีมาเยอะๆ หลายคนเสียดายเพราะทำข้อสอบได้นะคะ โจทย์ถามเรื่องเดิมๆ พวก main idea, summary, tone, purpose แค่อ่านไม่ทัน การคุมเวลาจึงสำคัญมากในวิชานี้ค่ะ    

PAT 1 คณิตศาสตร์

สำหรับปี 64 เป็นรุ่นที่ข้อสอบเปลี่ยนแนวจากที่ฝึกให้คิดเลขถึกๆ เพื่อถอดคำตอบ มาเน้นวิเคราะห์ ตีความ ประยุกต์โจทย์ปัญหามากขึ้น (กระซิบว่าโจทย์ปัญหายาวมาก ต้องอ่านอย่างละเอียดรอบคอบ) รุ่นพี่พูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าเสียดายที่ฝึกโจทย์หลังบทในหนังสือเรียนของ สสวท. มาไม่มากพอ อยากฝากให้น้องๆ จำพวกนิยามและหลักการใช้สูตรที่ชอบออกบ่อยจะช่วยได้มาก ปี 64 ยังมีโจทย์ที่ฝึกจากข้อสอบเก่าได้ พวกแคลคูลัสประยุกต์ ความน่าจะเป็น สถิติ ตรรกศาสตร์ ตรีโกณ แต่ก็อย่าลืมเตรียมเรื่องใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เช่น ค่างวด ดอกเบี้ยต่างๆ ในอนุกรม เพราะออกค่อนข้างเยอะ สรุปเวลาที่เหลือแนะนำให้น้องๆ รีบไปหาข้อสอบปี 64 มาแกะดูว่าเป็นยังไง และอย่าลืมฝึกโจทย์แนวเดียวกับ สสวท. ระวังพลาดเรื่องที่ไม่ควรพลาด เช่น คิดเลขผิด ใช้สูตรสลับ      

PAT 2 วิทยาศาสตร์

เป็นอีกวิชาที่ข้อสอบเปลี่ยนแนว เริ่มใช้โจทย์แนวทดลองมากขึ้น โดยโจทย์จะให้การทดลอง กราฟ หรือตารางมา เราก็มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการทดลองต่างๆ โจทย์ค่อนข้างยาวมาก และบางทีก็สุ่มข้อมูลที่เราเคยเห็นแต่ไม่ค่อยได้ใช้สอดแทรกมาด้วย เช่น เคมีบางข้อมีให้สารที่เป็นสูตรโครงสร้างยากๆ ต้องเก็บข้อมูลมาแม่นและทำความเข้าใจมาพอสมควร การฝึกข้อสอบเก่า ฝึกโจทย์ที่หลากหลายก็จะช่วยได้ อีกเรื่องที่แนะนำให้ทำคือการฝึกวิเคราะห์โจทย์แนวทดลองตามหนังสือเรียน สสวท. รุ่นพี่บอกว่าคล้ายกันมาก บางข้อเหมือนถอดรูปออกมาจากในหนังสือเรียนเลย หลายคนเสียดายมากที่ไม่ได้อ่านมา อย่างน้อยดูให้ผ่านตาสักรอบก็ยังดี    

PAT 3 วิศวกรรมศาสตร์

ขึ้นชื่อเรื่อง speed test สำหรับ PAT 3 รุ่นพี่แนะนำว่าให้แบ่งเวลาทำแต่ละพาร์ทให้ดี ควรเริ่มจากพาร์ทที่ถนัดก่อน พาร์ทฟิสิกส์ควรใช้เวลาเตรียมตัวให้มากเพราะออกข้อสอบเยอะมาก โดยเฉพาะโจทย์แนววิเคราะห์ เคมีเป็นพาร์ทที่เก็บคะแนนค่อนข้างง่าย ออกเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ พันธะเคมีเยอะ ถ้าจำคอนเซปต์พื้นฐานได้ก็ทำได้ ไม่ได้ซับซ้อน ส่วนเลขให้เตรียมแคลคูลัสกับ expo & log ไปเยอะๆ รุ่นพี่หลายคนไปทุ่มกับตรีโกณเพราะปีก่อนๆ ออกบ่อย แต่ปีล่าสุดจะเน้น 2 เรื่องนี้ สำหรับพาร์ทเขียนแบบเหมือนเดิม ฝึกจากข้อสอบเก่าได้เลย ควรเตรียมความรู้รอบตัวคู่กับความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมไปเยอะๆ พวกความถนัดช่าง เครื่องมือช่าง ตรรกะเชิงช่าง หลักความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาทางวิศวะฯ ฯลฯ หลายคนเจ็บใจเพราะไม่ได้อ่านไปกับสับสนในหลักการ ถ้าเตรียมไปดีๆ ค่อนข้างเก็บคะแนนง่าย  

PAT 4 สถาปัตยกรรมศาสตร์  

PAT 4 ปี 64 ออกไม่ต่างจากปีก่อนๆ สามารถเตรียมตัวแบบเดิมได้เลย พาร์ทมิติสัมพันธ์รูปภาพยังมีอยู่ องค์ประกอบของสถาปัตย์ยังมีอยู่ สิ่งที่เก็บคะแนนง่ายคือพวกลูกบาศก์ ทาสี เจาะกระดาษ การจับคู่ไอโซ หาข้อสอบเก่ามาฝึกทำจะโกยคะแนนส่วนนี้ได้ไม่ยาก ฟิสิกส์อย่าลืมเตรียมเรื่องคาน รอก กลไกจุดหมุน ความเร็ว รุ่นพี่บางคนบอกว่าไม่คิดว่าจะได้เจอ ส่วนพาร์ทอัตนัยแนะนำว่าน้องจะผิดพลาดน้อยลง ถ้าเพิ่มความละเอียด เช่น ถ้าโจทย์ให้ถมเทา-ดำก็ต้องระบายให้แยกขาดจากกันชัดเจน โจทย์ทัศนียภาพวาดสิ่งที่โจทย์กำหนดให้ครบ จัดตำแหน่งภาพโดยไม่ลืมองค์ประกอบศิลป์ ระวังอย่าให้งานดูเลอะ เก็บงานให้เนี้ยบที่สุด หายางลบสะอาดๆ มาใช้ สุดท้ายสำคัญมาก อ่านโจทย์บนกระดาษคำตอบให้ดี ห้ามทำสลับใบสลับข้อ มีรุ่นพี่ได้ 0 คะแนนมาแล้ว

PAT 5 วิชาชีพครู

วิชาชีพครูเป็นข้อสอบที่รุ่นพี่เห็นตรงกันว่าการทำข้อสอบเก่าช่วยได้เยอะมาก น้องควรจะเห็นแนวข้อสอบมาก่อน และฝึกตามนั้นได้เลย เพราะพาร์ทคณิตศาสตร์ไม่ได้ซับซ้อน อนุกรมรูปภาพ ตรรกะออกแนวเดิมๆ ใครฝึกจนคล่องก็ได้เปรียบ พาร์ทภาษาไทยเน้นอ่านจับใจความ เรียงประโยค ต้องงัดสกิลการอ่านออกมาและจับประเด็นให้ไว พาร์ทความรู้ทั่วไปก็ไม่ยากไม่ง่าย ส่วนใหญ่เป็นข่าวดัง ข่าวใกล้ตัวที่เกี่ยวกับแวดวงการศึกษาและจริยธรรมครู สรุป PAT 5 ถ้าพลาดก็จะพลาดจากที่เราฝึกข้อสอบเก่าหรือตามข่าวรอบตัวมาไม่มากพอทำให้ไปเสียเวลาในห้องสอบและจะปวดหัวมาก      

 PAT 6 ศิลปกรรม

ศิลปกรรมการเตรียมตัวก็จะคล้ายๆ กับ PAT 5 คือควรไปหาข้อสอบเก่ามาเป็นแนวทาง รุ่นพี่บอกว่าการตามข่าวในวงการศิลปะและการหาความรู้รอบตัวช่วยได้มาก ควรตามให้รอบด้านและตามให้ลึกทั้งทัศนศิลป์ ดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฎศิลป์ และศิลปะการแสดง เพราะข้อสอบวัดความรู้โดยรวมทางศิลปกรรม โจทย์มีถาม-ตอบเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษด้วย อย่าลืมเตรียมพวก Art vocabulary ไว้เยอะๆ เจอหลายข้อ บางข้อต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ เช่น โจทย์แนวพับกระดาษ ตัดกระดาษ สำหรับพาร์ทเชื่อมความสัมพันธ์แนะนำให้อ่านคำถามดีๆ ว่ามีกี่คำตอบ เพราะบางข้อมี 2 คำตอบ ถ้าตอบไม่ครบก็ชวดคะแนนไปเลย  

PAT 7 ภาษา

พี่เมก้าขอคัดมาเฉพาะส่วนที่รุ่นพี่แนะนำให้ระวังนะคะ แต่ละภาษาก็จะมีจุดเน้นต่างกันค่ะ  

PAT ฝรั่งเศส ควรให้ความสำคัญกับคำศัพท์ในระดับ A1-B2 โดยเฉพาะศัพท์ที่ความหมายเหมือนกันแต่ใช้ต่างกัน ส่วนไวยากรณ์ควรเตรียมมาแน่นๆ เพราะค่อนข้างถามละเอียดกว่า GATอังกฤษ แต่ไม่ได้ยากเกินไปค่ะ ก่อนสอบควรสรุปหลักแกรมมาร์ที่สำคัญและใช้สอบบ่อยๆ ไว้ทบทวน เพราะออกรูปแบบซ้ำเดิม  

PAT เยอรมัน แนวข้อสอบและรีวิวน้อยมาก รุ่นพี่เลยแนะนำให้หาข่าวตามสำนักข่าวดังๆ ของเยอรมันอ่านบ่อยๆ โดยรวมคลังคำศัพท์จะอยู่ในระดับ A2 นอกจากนี้พาร์ทแกรมมาร์จะมีส่วนที่ออกสอบทุกปี เช่น Passiv, Konjunktiv II ถ้าจำโครงสร้างมาแม่นยำก็จะทำคะแนนได้ง่าย  

PAT ญี่ปุ่น ไวยากรณ์ละเอียดยิบย่อยขึ้นมาก เจอคันจิแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็น และปี 64 มีเปลี่ยนรูปแบบการออกข้อสอบจากพาร์ทเรียงประโยคที่เก็บคะแนนงาย กลายเป็นพาร์ทเติมประโยคให้สมบูรณ์ ทำให้คนที่ไม่ได้เตรียมส่วนนี้มา ช็อคไปตามๆ กัน พาร์ทบทสนทนาและพาร์ทไวยากรณ์หลายข้อค่อนข้างกำกวมและสับสน ต้องอ่านอย่างระวังและรอบคอบมากๆ ส่วนพาร์ทอ่านเจอทั้งบทความที่ยาวและวิเคราะห์ ควรจะฝึกอ่านจับใจความให้เร็ว เพราะหลายคนทำไม่ทัน  

PAT จีน เน้นท่องศัพท์รัวๆ ขอบเขตคำศัพท์เทียบเท่า hsk5 แนะนำให้ดูรายการ/ซีรีส์ซับภาษาจีน เพราะเป็นวิธีทวนคำศัพท์ที่ดี ศัพท์ปี 64 เริ่มซับซ้อนน้อยกว่าปีก่อนๆ แต่ก็ควรจะเตรียมตัวไปให้ดี เพราะบางคนบอกว่า พาร์ท Vocabulary ของจีนเสียคะแนนได้ง่ายที่สุด แต่ก็เก็บคะแนนได้ง่ายที่สุดเช่นกัน  

PAT อาหรับ หารีวิวอ่านยากมาก และข้อสอบปี 64 ดูเหมือนจะยากกว่าทุกปีที่ผ่านมา คำศัพท์ยากขึ้น ไวยากรณ์บางอย่างก็ไม่คุ้น แต่ข้อสอบถามเรื่องหลักไวยากรณ์และหลักการอ่านค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเตรียมมาไม่มากพอก็จะตกม้าตายได้ง่ายๆ เรื่องคำความหมายตรงข้ามกับคำที่ความหมายเหมือนกัน นำมาใช้ได้หลายข้อ ทั้งพาร์ทศัพท์ การอ่าน และความรู้ทั่วไป

PAT บาลี เป็นข้อสอบที่คนมักเข้าใจผิดว่าใกล้เคียงกับภาษาไทย เพราะถามเป็นภาษาไทย มั่วได้ ไม่ต้องอ่านมากก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วบาลีต้องอ่านและท่องจำหลักไวยากรณ์ไม่ต่างจากภาษาอื่นๆ รุ่นพี่แอบกระซิบว่าไวยากรณ์ค่อนข้างซับซ้อนและยาก มีจุดหลอกที่ต้องระวังเหมือนกัน เรื่องที่โกยคะแนนและทำความเข้าใจได้ง่ายสุดของ PAT บาลี คืออักขระกับการผัน เตรียมตัวมาให้ดี ไม่ควรพลาด

PAT เกาหลี ปี 64 มีปรับแนวข้อสอบใหม่ คล้ายๆ โทปิค พาร์ทคำศัพท์จะเน้นการเติมคำศัพท์ลงช่องว่าง ทั้งศัพท์ที่มีความหมายเหมือนหรือตรงข้ามกัน ศัพท์ที่แปลได้หลายความหมาย ถ้าไม่ได้ท่องจำศัพท์เป็นกลุ่มจะพลาดคะแนนได้ ส่วนไวยากรณ์อย่าท่องจำแค่ให้ผ่านสายตา ควรท่องมาอย่างแม่นยำและดูหลักการใช้จนเข้าใจ พาร์ทสนทนามีบางข้อที่สับสน ต้องอ่านโจทย์ให้ดี พาร์ทอ่านยาวมากระวังทำไม่ทัน และพาร์ทวัฒนธรรมถามกว้าง ถามรายละเอียดเกี่ยวกับวันสำคัญ ฤดูกาล เทศกาล มารยาทและวิธีปฏิบัติของเกาหลี

วิชาสามัญ ภาษาไทย

ข้อสอบแนวเดิมๆ แต่หลักภาษายากขึ้น การถามเจตนา น้ำเสียง อารมณ์ของผู้เขียนก็จะมีจุดหลอก มีคำตอบที่คล้ายกันอยู่ ให้ตั้งสติดีๆ รอบคอบ ตอนอ่านโจทย์ควรถอดคำตอบในหัวไปพร้อมกันก่อนอ่านช้อยส์ จะได้ไม่สับสน ข้ออ่านจับใจความเยอะมากและยาว ส่วนใหญ่ทำไม่ทัน ควรฝึกข้อสอบเก่าให้ชำนาญและต้องจับเวลาด้วย  

วิชาสามัญ สังคมศึกษา

ข้อสอบที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้าย เตรียมใจไว้เลยว่าคาดเดาอะไรคนออกข้อสอบไม่ได้ เนื้อหาออกรอบโลกมาก แต่ละปีไม่เคยซ้ำกันเลย รุ่นพี่ได้แต่บอกว่าขอให้อ่านไปให้เยอะที่สุด แล้วก็สวดมนต์ภาวนาขอให้ตรงกับที่อ่านมา ปี 64 “ศาสนา” ออกหลักธรรม พิธีกรรม “หน้าที่พลเมือง” ออกรูปแบบการปกครอง การให้เหตุผลทางกฎหมาย กฎหมายอาญา “เศรษฐศาสตร์” ออกกฎอุปสงค์-อุปทาน นโยบายการเงินการคลัง มีวิเคราะห์กราฟด้วย “ประวัติศาสตร์” ออกแนวประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ เทียบศักราช เทียบว่ากษัตริย์ไทยยุค A ตรงกับราชวงศ์ไหนของจีน “ภูมิศาสตร์” ออกเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ภัยธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น  

วิชาสามัญ ภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษวิชาสามัญรุ่นพี่บอกว่าง่ายขึ้นและง่ายกว่า GAT ศัพท์กับไวยากรณ์ระดับกลางๆ ไม่ค่อยยาก แต่จะพลาดตรงพาร์ทการอ่านที่ควรจะเน้นเป็นหลัก เพราะบทความยาวและให้วิเคราะห์เยอะจนอ่านไปอ่านมาตาลาย ส่วนใหญ่ทำไม่ทัน ควรฝึกจับประเด็นบทความ/ข่าวภาษาอังกฤษให้คล่อง และหาข้อสอบเก่ามาฝึกทำโจทย์จับเวลา

วิชาสามัญ คณิตศาสตร์ 1 / คณิตศาสตร์ 2

ข้อสอบเปลี่ยนแนว ส่วนใหญ่รุ่นพี่บอกว่าง่ายขึ้น แต่ให้ระวังโดนหลอกในพาร์ทอัตนัย มีจุดหลอกเยอะพอสมควร ถ้าผิด 1 ข้อ หายไปเลย 5 คะแนน และปี 64 มีเพิ่มเรื่องที่ข้อสอบไม่เคยออกคือเรื่องดอกเบี้ย และฟังก์ชันที่มาโผล่ในข้อเขียน ทำให้หลายคนที่ไม่ได้เตรียมเนื้อหาส่วนนี้มา พลาดคะแนนไป ระวังเรื่องการแทนค่าตัวแปรใน expo & log ระวังลืมกลับเครื่องหมายถ้าฟังก์ชันลด ระวังเรื่องจำนวนคำตอบกับรากที่เป็นคอนจูเกตในสมการพหุนามเชิงซ้อน ถ้ามีเวลาควรเช็กคำตอบอีกครั้ง ส่วนคณิตศาสตร์ 2 ค่อนข้างง่ายมาก เพราะเป็นเลขพื้นฐาน ข้อสอบจะเน้นความรอบคอบและแม่นยำมากกว่าความยาก ถ้าจำสูตรได้ ใช้งานเป็น ก็สามารถทำให้เต็ม 100 ได้  

วิชาสามัญ ฟิสิกส์  

ปี 64 เพิ่มข้อเขียนมา 5 ข้อ ข้อละ 5 คะแนน ไม่ค่อยมีโจทย์แนวทดลอง ลักษณะโจทย์คล้ายๆ ในหนังสือเรียน สสวท. แต่ปรับความยากขึ้นนิดหนึ่ง คือเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลและคิดเลขมากขึ้น ไม่ค่อยมีตัวแปรแล้ว ถ้าใครไม่ถนัดคำนวณก็จะเหนื่อยหน่อย ให้ระวังคำนวณผิดด้วย เช่น โจทย์กำหนดค่า g=9.8 แต่เราไปแทน g=10 ก็จะพังไปเลย

วิชาสามัญ เคมี

ปี 64 เคมีง่ายขึ้น ข้อสอบค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่มายากตรงข้อเขียนทั้งคิดเลขเยอะและวิเคราะห์เยอะ ข้อเขียนจะเน้นวัดความแม่นยำในการคำนวณ มีจุดหลอก มีสูตรโครงสร้าง และสารหน้าตาแปลกๆ ถ้าทำไม่ได้ก็ควรข้ามเลย อย่าเสียเวลา เอาเวลาไปทำข้อช้อยส์ดีกว่า เพราะเก็บคะแนนง่ายกว่า ไม่งั้นจะพลาดทำไม่ทัน ถ้าเป็นไปได้เริ่มทำพาร์ทอ่านก่อนแล้วค่อยทำพาร์ทคำนวณ ระวังพลาดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลืมเปลี่ยนหน่วย ลืมดุลสมการเคมี  

วิชาสามัญ ชีววิทยา

ชีววิทยาไม่ค่อยถามความจำแบบถามตรงตอบตรงแล้ว จะเน้นกำหนดข้อมูล ตาราง จำลองสถานการณ์ การทดลอง แล้วให้เราวิเคราะห์ผลมากขึ้น ต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างเป็นระบบเลย ใครไม่ชอบอ่านข้อมูลยาวๆ เยอะๆ หรือสะเพร่าก็จะพลาดได้ง่าย  

วิชาสามัญ วิทยาศาสตร์ทั่วไป  

วิทย์ทั่วไปรูปแบบข้อสอบเปลี่ยนไปตามหลักสูตร เน้นวิเคราะห์เยอะขึ้น ใครไม่ถนัดวิเคราะห์ก็จะรู้สึกว่ายาก ต้องอ่านและฝึกวิเคราะห์โจทย์ในหนังสือเรียน สสวท. เยอะๆ "วิทยาศาสตร์ชีวภาพ" จะเน้นการลำเลียงสารเข้าและออกจากเซลล์ กลไกการทำงานในร่างกายมนุษย์ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ “วิทยาศาสตร์กายภาพ” เน้นสมบัติของธาตุ สารประกอบไอโอนิก พอลิเมอร์ ปฏิกิริยาเคมี คลื่นกล คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เสียง “วิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ” เน้นการแปรสัณฐานของแผ่นธรณี ระบบสุริยะ โครงสร้างโลก ธรณีพิบัติภัย  

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อควรระวังของข้อสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ ที่พี่เมก้ารวบรวมมาฝากน้องๆ นะคะ ส่วนใหญ่พี่ๆ จะเป็นห่วงเรื่องสติและการคุมเวลาในห้องสอบมากเลย  เวลาจะผ่านไปเร็วมาก เมื่อถึงสนามจริงอยากให้น้องๆ โยนความกดดัน ความกังวลต่างๆ ทิ้งไป แล้วจดจ่อกับข้อสอบเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีสมาธิและลุยข้อสอบได้อย่างเต็มที่ พี่เมก้าขออวยพรให้น้องๆ โชคดี เปิดข้อสอบปุ๊บ ตรงกับที่อ่านมาปั๊บ ได้คะแนนสูงๆ กันทุกคนเลยนะคะ

ขอบคุณรูปภาพจาก Banner vector created by storysetwww.freepik.com

 

พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น