เทคนิคต่อยอดไอเดียคนอื่นแบบสร้างสรรค์ 
ทำยังไง มาดูกัน!

 

เปิดชื่อบทความมาได้ชวนดราม่ามากแม่ แต่ขอบอกไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า ไม่ได้เขียนเทคนิคนี้ให้ไปลอกนิยายใครนะคะ ใจเย็นๆ แล้วลองอ่านกันก่อน เพราะเคล็ดลับดีๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้มีที่มาจากการที่พี่แนนนี่เพนสัมภาษณ์นักเขียน แล้วเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า จริงๆ แล้ว แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเกิดขึ้นง่ายกว่าที่คิด แถมยังอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ อีกด้วย วันนี้พี่ก็เลยอยากจะเอาวิธีต่อยอดไอเดียจากคนอื่นมาฝาก แล้ว “คนอื่น” ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ มาค่ะ ตามมาดูกันเลย!

1. ต่อยอดไอเดียจากคนที่คุณรู้จัก

เชื่อว่าชาวเด็กดีหลายคนน่าจะเคยเห็นสัมภาษณ์ของ น้องฟลอ ผู้เขียนนิยายเรื่อง ย้อนเวลามาขายไก่ย่าง กันบ้างแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่านสัมภาษณ์นี้ พี่ขอเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า น้องฟลอได้แรงบันดาลใจในการแต่งนิยายมาจากญาติๆ ที่ขายไก่ปิ้งจนประสบความสำเร็จ และน้องฟลอเองก็อยากปังๆ แบบญาติๆ บ้าง แต่คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับการขายไก่ปิ้ง น้องฟลอเลยเอาเรื่องราวการขายไก่ปิ้งของญาติมาเป็นไอเดียแต่งนิยายจนติดท็อป แถมยังมีรายได้ราวกับขายไก่ปิ้งจริงๆ อีกด้วย

“เรามีญาติขายไก่ปิ้งแดงอยู่ แล้วแม่ก็พูดเรื่องนี้ให้ฟังบ่อยมากว่า พี่เขาขายไก่ปิ้งนะ ขายดีมาก มีลูกค้าเข้าคิวยาวเลย พอเราไปบ้านยาย แล้วเราได้ไปเห็นว่าเขาไม่ได้ขายไก่ปิ้งคนเดียวนะ มีญาติเห็นว่าขายไก่ปิ้งดี เขาก็ชวนกันไปขายไก่ปิ้ง ก็แยกกันไปขายคนละที่ แล้วแต่ละที่ก็คือขายดีเหมือนกัน” 
 

“เราก็ เอ๊ะ ชีวิตจริงนี่ก็เหมือนในนิยายเลยนะ เหมือนในนิยายจีนเลยค่ะ ที่เขาทำธุรกิจเอง พอเขาทำได้ดีก็ชวนเพื่อนพี่น้องมาทำ แล้วมันก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาเองค่ะ วินาทีนั้นเราได้ชื่อเรื่องเลยค่ะ ก็เลยเป็น ‘ย้อนเวลามาขายไก่ย่าง’

 

น้องฟลอ จากบทสัมภาษณ์ จับอาชีพขายไก่ปิ้งมาแต่งนิยาย 
มีรายได้ปังเหมือนเปิดร้านขายเอง : หนูตุ้มจิ๋ว

จากเรื่องราวของน้องฟลอ ทำให้เราเห็นวิธีการต่อยอดไอเดียที่น่าสนใจมากๆ เพราะเราสามารถเอาเรื่องราวรอบๆ ตัวที่เราสนใจ ทั้งจากญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท และครอบครัว มาเป็นส่วนหนึ่งในการแต่งนิยายของเราได้จริงๆ 

ดังนั้น เทคนิคที่อยากแนะนำในข้อแรกนี้ จึงอยากให้เราสังเกตคนที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราเอาไว้ ถ้าเป็นคนที่เรารู้จัก หรือรู้เรื่องราวของเขาดี ก็จะช่วยให้เรามองเห็นไอเดียจากเขาได้ง่ายขึ้น จากนั้น เราแค่จดบันทึกสิ่งที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ชีวิตประจำวัน หรือลักษณะนิสัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยต่อยอดเวลาคิดพล็อต รวมถึงการสร้างตัวละครที่สมจริงได้ค่ะ

อ่านสัมภาษณ์เพิ่ม

2. ต่อยอดไอเดียจากเรื่องราวที่คุณรู้จัก

ถ้าหากเราไม่ใช่คนที่ชอบสังเกต หรือสนใจเรื่องราวในชีวิตของคนอื่นมาก เราอาจจะต้องเบนสายไปหาเรื่องราวที่มีอยู่แล้วและเรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้าน นิทานปรัมปรา หรือยุคสมัยจากประวัติศาสตร์ เราสามารถหยิบองค์ประกอบที่เราสนใจจากเรื่องราวเหล่านี้มาใช้ในการแต่งนิยายได้ เช่น วิถีชีวิต ยุคสมัยที่แตกต่าง การดำเนินเรื่อง หรือตำนานความเชื่อที่คุ้นเคย มาปรับให้เป็นสไตล์ที่เราอยากนำเสนอได้ 

ตัวอย่างการต่อยอดไอเดียที่ทุกคนน่าจะมองเห็นภาพกันได้ง่ายขึ้น พี่ยกมาจากสัมภาษณ์ของ น้องฟิว เจ้าของนิยายเรื่อง ย้อนเวลามาเป็นราชาโลกใต้ดิน ในสมัยอยุธยา ที่นำความชอบในเรื่องราวสมัยก่อน มาเล่าในแบบที่ตัวเองชอบจนปัง 

“เราใช้ช่วงเวลาในอดีตเป็นแบ็กกราวด์ เป็นองค์ประกอบเฉยๆ ครับ ส่วนการดำเนินเรื่องผมก็ใส่ความเป็นผมเข้าไปอีกที เราแค่เอาเสน่ห์ของมันมาเฉยๆ เสน่ห์ของความเป็นสมัยก่อนที่ทุกคนรู้ ทุกคนเคยศึกษามาอยู่แล้ว ส่วนการดำเนินเรื่องเป็นยังไง วิถีชีวิตที่นิยายดำเนินไปเป็นยังไง ตรงนั้นคือสิ่งที่ผมคิดและทำออกมาเองครับ”

 

น้องฟิว จากบทสัมภาษณ์ เด็ก 17 แหวกมาแต่งย้อนอดีตไทย 
นักอ่านรอสนับสนุนเพียบ : อ.อนันต์

นอกจากนี้ ตัวอย่างนิยายบนเว็บเด็กดี ที่มีให้เห็นกันบ่อยๆ ก็เช่น นิยายแนวทะลุมิติ ที่มักจะสร้างตัวละครให้ย้อนเวลาไปยังยุคสมัยที่แตกต่าง หรือทะลุมิติเข้าไปอยู่ในหนังสือ จากนั้นก็เริ่มใช้ชีวิตและเปลี่ยนแปลงเรื่องราวไปตามเป้าหมายของแต่ละตัวละครนั่นเองค่ะ ดูๆ แล้วเป็นพล็อตคลิเช่ที่พบเห็นได้ทั่วไปใช่ไหมคะ แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นค่ะ การต่อยอดไอเดีย คือการเอาเรื่องราวมาคิดต่อว่าเราจะเขียนออกมายังไงให้แตกต่างและน่าสนใจ เป็นสไตล์ที่ใช่เรา และนักอ่านยังไม่เคยอ่านมาก่อน 

อ่านสัมภาษณ์เพิ่ม

3. ต่อยอดไอเดียจากตัวคุณเอง

ต่อยอดไอเดียจากคนอื่นมาเยอะแล้ว ลองมาดูจากคนที่เรารู้จักดีที่สุดซึ่งก็คือตัวเรากันค่ะ การเขียนเรื่องราวจากตัวเรานั้นง่ายและยากพอๆ กันเลย ความยากคือ เราอาจไม่รู้ว่าความชอบหรือสิ่งที่เราสนใจคืออะไร แต่ถ้าเราค้นหาสิ่งที่เราสนใจเจอ การเอามาต่อยอดก็ง่ายมากๆ เลยค่ะ ดังนั้น เพื่อให้เราหาตัวเองเจอเร็วๆ เราควรอ่านให้เยอะๆ และจดบันทึกความชอบของเราเก็บไว้เสมอ นอกจากนี้แล้ว เรายังสามารถต่อยอดไอเดียจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริงของเราได้อีกด้วยนะคะ

ตัวอย่างเช่น น้องพิม เจ้าของนิยายสุดฮิตเรื่อง ข้าหิว ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ต่อยอดไอเดียมาจากเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่านิยายติดท็อปเรื่องนี้ น้องพิมแต่งขึ้นมาเพราะความเครียดจากการลดน้ำหนัก!

“นิยายเรื่อง ข้าหิว เริ่มต้นมาจากความเครียดค่ะ เป็นความเครียดจากการลดน้ำหนัก ก่อนหน้าจะลดน้ำหนักเราอดใจไม่ไหวออกไปกินดึกๆ บ่อยมากเลยนะ ทีนี้เราก็ต้องลดน้ำหนักจริงจังแล้วไง เรากินไม่ได้ เราอัดอั้นมาก เราก็เลยคิดว่าถ้างั้นก็เขียนนิยายเถอะ แล้วนิยายเรื่องนี้ เราจะเป็นแบบไหนดีนะ เราก็นั่งคิด ถ้าเราหิวมากเราก็เขียนข้าหิวไปเลยสิ แล้วเราก็มาแบ่งปันให้นักอ่าน… แล้วนักอ่านทุกคนก็คือหิวโหยไปด้วยกัน แสดงว่าเราทำสำเร็จใช่ไหมคะ”

 

น้องพิม จากบทสัมภาษณ์ จบวิศวะมาเขียนนิยาย สู้จนที่บ้านยอมรับ 
เพราะมีเงินเดือนหลักแสน! : ธาราพราย

เห็นไหมว่า แค่หิวก็เอามาเขียนนิยายได้แล้ว ดังนั้นเทคนิคที่อยากจะบอกส่งท้ายในข้อนี้คือ เขียนตามความต้องการของตัวเองค่ะ ไม่ว่าจะมาจากความรู้สึกเครียด หรือขัดใจจากการอ่านนิยาย แล้วอยากให้ตัวละครเป็นแบบนั้นแบบนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่มาจากความต้องการของเราจริงๆ แล้วเราสามารถเอาความคิดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไปต่อยอดเป็นไอเดียสำหรับนิยายของเราได้ค่ะ 

อ่านสัมภาษณ์เพิ่ม

 

ในบทความนี้ พี่แนนนี่เพนก็ต่อยอดไอเดียมาจากคนอื่นเหมือนกันค่ะ คนอื่นของพี่ก็คือ นักเขียนที่ได้พบปะพูดคุยกันมาจนเกิดแรงบันดาลใจ และอยากส่งต่อไอเดียในการแต่งนิยายนั่นเอง 

หวังว่าเคล็ดลับดีๆ ในวันนี้จะช่วยให้น้องๆ ต่อยอดไอเดียเจ๋งๆ จากเรื่องราวรอบๆ ตัวได้ง่ายขึ้นนะคะ ใครเคยทำแล้วได้ผลก็มาแชร์เพื่อนๆ นักเขียนในคอมเมนต์ด้านล่างนี้ได้เลย ส่วนใครที่อยากเอาเทคนิคในวันนี้ไปแต่งนิยายต่อ ก็ลุยโลดเลยค่ะ 

และถ้าหากใครอ่านเคล็ดลับดีๆ ในบทความนี้แล้วยังไม่จุใจ คลิกไปกดติดตามคัมภีร์นักเขียน by ทีมงานเด็กดี ด้านล่างนี้ได้เลยยย มีเทคนิคดีๆ ให้เอาไปใช้เพียบ!

คัมภีร์นักเขียนเด็กดี

พี่แนนนี่เพน

 

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น