ฟังจากปากศิษย์เก่า! เพราะอะไร? ค่าย JSTP จึงควรได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ไปต่อ

เมื่อเร็วๆ นี้ทางแฟนเพจ Dek-D.com ได้นำเสนอข่าวเรื่องการชะลอเปิดรับสมัครผู้ร่วม "โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน" หรือ Junior Science Talent Project หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า JSTP เนื่องจากประสบปัญหาด้านงบประมาณ โดยมีชาวเน็ตจำนวนมากร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลดทอนงบประมาณด้านการศึกษาว่า เป็นการเสียโอกาสในการส่งเสริมศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชน

วันนี้เว็บไซต์ Dek-D.com ได้รับเกียรติจากศิษย์เก่า JSTP ได้แก่ ดร.ประวีณ สิริธนศักดิ์ (JSTP รุ่น 4), นายพชรพล แสนแก้ว (JSTP รุ่น 20), นายสรวิช เตือนตรานนท์ (JSTP รุ่น 21), นางสาวชาติญา อาจชน (JSTP รุ่น 21) และ นายปิตุภูมิ ชัยเจริญวรรณ (JSTP รุ่น 22) มาร่วมพูดคุยกันถึงโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชนว่ามีความสำคัญอย่างไร เพราะอะไรพวกเขาจึงต้องการให้ค่าย JSTP มีโอกาสได้ไปต่อ

JSTP ไม่ใช่ค่ายสำหรับเด็กเก่งวิทยาศาสตร์ !

“เราเลือกเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ไม่ใช่เด็กที่เก่งวิทยาศาสตร์ที่สุด แต่จะดูความมีแววทางความคิดว่าเขามีความคิดวิเคราะห์และมีความกล้าที่จะนำความคิดนั้นออกมาทำเป็น Product ไหม”  (ดร.ประวีณ สิริธนศักดิ์ JSTP รุ่นที่ 4)

ดร.ประวีณ สิริธนศักดิ์  (JSTP รุ่น 4) ปัจจุบันเป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ดร.ประวีณ สิริธนศักดิ์  (JSTP รุ่น 4) ปัจจุบันเป็นนักวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  

แม้จะเป็นเด็กค่าย JSTP รุ่นแรกๆ แต่ปัจจุบัน ดร.ประวีณ สิริธนศักดิ์ ก็ยังคงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่าย JSTP มาโดยตลอด พร้อมกับดำรงตำแหน่ง นักวิจัยที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้วย โดย ดร.ประวีณ เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า 

“ความสำคัญของ JSTP คือสิ่งที่เด็กได้รับจากการบ่มเพาะความรู้ในตลอดระยะเวลาค่าย รู้จักคิดนอกกรอบ รู้จักการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ให้มองเห็นว่าทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สูตรสมการ ไม่ใช่การผสมสารเคมี แต่ทุกๆ อย่างในชีวิตประจำวันเป็นวิทยาศาสตร์ แม้กระทั่งศิลปะ วัฒนธรรม เราก็สามารถบูรณาการความคิดแบบวิทยาศาสตร์ นำมาแตกยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับมากที่สุด”

กิจกรรมในค่าย JSTP พยายามทำให้เด็กออกจากกรอบความรู้ปกติที่เคยคิดมามากที่สุด อย่างเช่นค่ายล่าสุดที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ทำเป็นค่ายออนไลน์แทนโดยนำมายคราฟต์มาทำการทดลอง สร้างโลกในมายคราฟต์ขึ้นมาให้เด็กเล่นสนุก พร้อมกิจกรรม Coding ผ่านโปรแกรมว่า ‘ถ้ามีไวรัสคล้ายโควิดจะมาครอบครองโลก เด็กๆ จะออกแบบวัควีนยังไงให้กำจัดไวรัสนี้ได้ มีเงื่อนไขยังไงบ้าง’ หรืออย่างค่ายที่เชียงใหม่เป็นธีม form and function ให้เด็กๆ ศึกษารูปแบบของสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วดูว่ามันเอาไปใช้ทำงานอะไรได้บ้าง แล้วจากนั้นจึงให้นำความรู้ทั้งหมดมาตกผลึก พร้อมกับคิดว่าจะทำโครงงานอะไรดี โดยตัวโครงงานนี้มีชื่อว่า ‘เจ๋งสุดทีน’ ซึ่งจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแลแนะนำ

ค่าย JSTP เมื่อ 20 ปีที่แล้ว! 

“ผมเคยไปทัศนศึกษาที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เราไปก่อนเหตุการณ์ที่เด็กติดถ้ำนานมาก เพราะสมัยนั้นผมยังเด็กๆ อยู่เลย โปรเจ็กต์ที่อาจารย์ให้ทำระหว่างค่ายตอนนั้นที่ผมทำคือ เราจะอยู่รอดในถ้ำนั้นได้ยังไง? สมมุติเรามีทรัพยากรจำกัด เราเอาของไปแค่นี้แล้วเราจะทำยังไง?

สมัยที่ผมเข้าค่ายผมก็ชอบวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่การไปเข้าค่ายมันทำให้เรามีความ ‘ว้าว’ เพิ่มขึ้นมา อย่างเช่นเรื่อง ‘RT-PCR’ ตอนนี้ดูเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยดีใช่ไหมครับ แต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วมันยังไม่แพร่หลาย แต่ผมได้รู้จักการทำ PCR ในค่าย ผมได้นำเชื้อ E.coli มาตัดต่อ GMO และทำให้มันเรืองแสง มันทำให้ผมได้เปิดโลก ตอนนั้นเราก็เรียนแค่ตามในหนังสือทั่วไป แต่เราไม่รู้ว่าคนที่ทำวิจัย คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ เป็นยังไง ทำให้ผมได้มีประสบการณ์ มันเกิดความว้าวขึ้นมา”  ดร.ประวีณ เล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนาน

ความเจ๋งของค่าย ความว้าวของกิจกรรม ที่ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อได้พูดคุยกับน้องๆ ค่าย JSTP รุ่นใหม่ๆ เรายังพบว่า กิจกรรมค่ายมีความว้าวที่ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นไม่พอ ตัวโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งทุกคนในค่ายจะได้รับมอบหมายเป็น ‘งานเดี่ยว’ ที่เรียกว่าโปรเจ็กต์ ‘เจ๋งสุดทีน’ นั้น ยังไม่ธรรมดาอีกด้วย มาดูกันว่าพวกเขาได้ทำอะไรบ้าง

นายพชรพล แสนแก้ว (มีน) JSTP รุ่น 20 ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และนางสาวชาติญา อาจชน (แทน) JSTP รุ่น  21 ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นายพชรพล แสนแก้ว (มีน) JSTP รุ่น 20 ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และนางสาวชาติญา อาจชน (แทน) JSTP รุ่น  21 ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มีน : JSTP ไม่เหมือนค่ายอื่นๆ ครับ มันค่อนข้างแหวก เขาให้เรานำมะม่วงมาวัดขนาด รูปร่าง จดบันทึก ผ่าแล้วชิม ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม จากนั้นก็อธิบายเรื่องเอไอว่ามันเป็นข้อมูล ทุกอย่างที่บันทึกคือสิ่งที่จะนำไปใช้เรียนเอไอ ให้พวกเราแข่งกันทำเอไอวัดว่ามะม่วงจะหวานหรือไม่หวาน แล้วตัวผมนี่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง ผมไม่ตั้งใจเรียนเลย แต่มันเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าคณิตศาสตร์มันเจ๋งเหมือนกันนะ ไม่เหมือนที่เราเคยคิดมาก่อน

ไบร์ท : กิจกรรมที่ว้าวที่สุดคือของพี่มีนครับ (พี่มีนเป็นพี่เลี้ยงค่ายไบร์ท) คือเค้าให้เราเอาบอร์ดมาติดตามร่างกายให้เราเป็นกึ่งๆ ไซบอร์ก กลุ่มผมนี่คิดเหมือน metaverse เลย เอา Gyroscope มาไว้ที่หัว แล้วก็เอา Accelerometer มาติดไว้ตรงตัว แล้วเอาไปเล่นเกมไดโนเสาร์ใน Google Chrome สมมุติไดโนเสาร์วิ่งไป ผมกระโดด แล้ว Accelerometer มันจับความเร่งได้ ตัวโดโนเสาร์ใน Chrome มันก็กระโดดครับ ผมงอหัวลง ไดโนเสาร์มันก็งอหัวลงด้วย สนุกมากเลยครับ ส่วนโปรเจ็กต์นี่ระหว่างค่ายจะมีให้พรีเซนต์ความคืบหน้า พอผมเห็นงานคนอื่นนี่แบบว้าวมาก ส่วนของเราดูกระจอกงอกง่อยมาก มันก็ทำให้เรารู้ว่าเราต้องอัปสเกลงานขึ้นเพื่อให้สู้กับคนอื่นได้ครับ

แทน : ตอนนั้นหนูคิดใหญ่มากคือถามอาจารย์เคมีว่า ถ้าเรารู้สูตรเคมี เราสามารถผลิตก๊าซออกมาได้มั้ย หนูก็คิดว่าหนูจะผลิตก๊าซที่ไปจับกับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ แล้วก็ตกลงมาเป็นฝนได้ คาร์บอนไดออกไซด์จะได้หายไป จนสุดท้ายแม้หนูไม่ได้ทำเกี่ยวกับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ได้ทำเกี่ยวกับ "แบคทีเรียที่ผลิตพลาสติกย่อยสลายได้"  คือเรามีความคิดอันยิ่งใหญ่ได้ แล้ว JSTP ก็จะนำมาตบรวมกับวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง ให้ออกมาเป็นผลงานของเรา

มีน : ของผมทำ blockchain ผมมีชาเลนจ์ของผมว่าผมจะทำ block chain ที่เร็วที่สุดในโลก ซึ่งผมก็ทำได้แล้ว แต่ตอนพรีเซนต์โปรเจ็กต์ อาจารย์เค้าก็จะมีการถาม บางคำถามมันยาก แต่มันชาเลนจ์ดีครับว่าเรากับอาจารย์ใครจะเตรียมตัวมามากกว่ากัน มีอาจารย์คนนึงถามว่า ‘ทำไม blockchain มันต้องเร็ว’ ผมก็ช็อกไปเลยว่า เออทำไมมันต้องเร็ว เราทำให้มันเร็วไปทำไม หรือที่เราทำให้มันเร็วได้ เพราะคนอื่นเขาไม่ตั้งใจทำให้มันเร็วขนาดนี้ พี่นึกออกไหมว่า โปรเจ็กต์ที่เราตั้งใจปั้นมา โอ๊ยมันเจ๋งมาก ความจริงคนอื่นเค้าก็ทำได้ แต่เค้าไม่ทำกัน มันก็ค่อนข้างช็อก

นโม : ของผมทำกิจกรรมแนวหุ่นยนต์ครับ คือให้หุ่นยนต์ไปทำภารกิจ ดูว่าหุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปถูกทางไหม ส่วนโครงงาน ตอนนั้นผมอยากทำมุ้งติดหน้าต่างที่สามารถฟอกอากาศได้ แบบพอลมผ่านแล้วฟอกอากาศได้เลย ตอนนั้นเป็นไอเดียลมๆ แล้งๆ ครับ พอถูกถามเรื่องเทคนิคผมก็ตอบไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำได้ครับ ถึงจะไม่เจ๋งเท่าที่คิดตอนแรก แต่ก็ฟอกอากาศได้ครับ

เป็น JSTP ครั้งหนึ่ง จะเป็นไปตลอดชีวิต

นี่เป็นคำกล่าวของ “มีน” อย่างตัวมีนเองเป็นเด็กค่ายรุ่นที่ 20 หลังจบค่าย รุ่นพี่ก็ชักชวนให้ร่วมกันทำค่ายรุ่นที่ 21 กันต่อ JSTP จึงเป็นมากกว่าค่าย แต่เป็นเครือข่ายที่ศิษย์เก่ากว่า 20 รุ่นนี้ไม่เคยจากไปไหนเลย พวกเขายังติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และช่วยเหลือกันมาโดยตลอด

 “ค่าย JSTP ทำให้รู้ว่ามีคนอีกมากมายที่เรารู้สึกว่าเค้าเจ๋งมาก จากวันนั้นผมก็ยังติดต่อกับพวก mentor ทำกิจกรรมต่างๆ รวมกัน ทำงาน คิดอะไรใหม่ๆ คือถ้าผมไม่ได้ไปค่าย วันนี้ผมคงเป็นนักศึกษาธรรมดาๆ ครับ” มีนกล่าว

เช่นเดียวกับมุมมองของศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายอย่าง ดร.ประวีณ “ในมุมมองผมเองส่วนหนึ่งคือผมเคยเข้าค่ายนี้มาก่อน ผมรู้ว่ามันดียังไง กับอีกอย่างคือผมรู้สึกสนุกและรู้สึกดีกับการที่ได้เห็นเด็กสักคนเติบโตขึ้นไป การที่ได้มาคอยดูว่าเด็กที่เราเคยดูแลเติบโตไปยังไงมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากกว่าสำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาทุกคน มันมีค่ามากกว่าตัวเงินอีกครับ” ดร.ประวีณ กล่าวสมทบ

ความคิดที่เปลี่ยนไปหลังจบค่าย JSTP

แม้ว่าก่อนเข้าค่าย หลายคนจะรู้สึกว่ามันคงเป็นค่ายที่น่าเบื่อ มีการบรรยาย และสอนเชิงทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์จ๋า แต่เมื่อจบค่าย ความคิดก็ไม่เหมือนเดิม...

มีน : ค่ายเข้ามาเป็นชีวิตประจำวันผมเวอร์ชั่นใหม่ ชีวิตประจำวันที่เราเรียนหนังสือเฉยๆ มันไม่มีอีกแล้วครับ อย่างเราเรียนที่โรงเรียน เรามีคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีวิทยา พวกนี้ในโรงเรียนเราเรียนแยกกันหมด เราจะรู้สึกว่าคนที่ชอบฟิสิกส์จะไม่ชอบชีวะ แต่ในค่ายเราจะเจอคนที่ชอบฟิสิกส์และชีวะ JSTP ไม่มีทางช่วยให้เราเรียนในห้องได้ดีขึ้น แต่มันช่วยให้เราสร้างอะไรใหม่ๆ ได้ดีขึ้น โลกไม่ได้เปลี่ยนเพราะเราเรียนในห้อง โลกมันเปลี่ยนเพราะเราเอาความรู้ทุกอย่างในห้องมารวมกัน สมมุติว่าผมไม่ได้ไป JSTP ผมก็ไม่มีทักษะนี้หรอก ผมรู้แต่ว่าผมเรียนแต่ละวิชาแล้วแยกกัน สอบ จบไป

แทน : ใช่ค่ะ พอมันมี connection เราจะเริ่มร่วมกันสร้างอะไรใหม่ๆ เยอะขึ้น JSTP มันไม่ได้ช่วยให้เราเรียนในห้องเรียนได้ดีขึ้น แต่มันจะทิ้งแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ไว้

มีน : ผมว่า JSTP เค้าเลือกเด็กที่มี potential มากองไว้ด้วยกัน เหมือนเขามองเห็นอนาคต พวกรุ่นพี่ พวก Mentor เค้าจะเอาพลังทั้งหมดมาใส่พวกเรา แล้วเด็ก JSTP ก็จะมาเป็นคนที่มีส่วนผลักดันสังคม กระจายต่อไปยังเพื่อนเรา สังคมของเรา ค่ายมันไม่ได้สร้างแค่พวกเรา แต่สร้างคนที่พร้อมจะให้คนอื่นด้วยครับ

ไบร์ท : อย่างพี่มีนบอกครับ บางทีผมไปค่าย กลับมาผมก็เริ่มมองว่าจะพัฒนาอะไรได้อีกบ้าง บางทีก็คิดแล้วเขียนออกมาเพื่อดูว่ามันเป็นเรื่องเพ้อๆ หรือมันเป็นจริงได้ อย่างในค่ายเราได้รู้ว่าเรื่องที่เราคิดว่ามันเพ้อๆ แต่พอเราไปบอกกับ Mentor บางครั้งมันก็กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้

นโม : ตอนเข้าค่ายได้คิดอะไรใหม่ๆ แล้วก็กล้าทำสิ่งใหม่ๆ ตอนทำโปรเจ็กต์ไม่ได้กำหนดเลยว่าต้องทำสำเร็จแน่นอน คือทำอะไรก็ได้เลย ถึงแม้ว่าตอนสุดท้ายโปรเจ็กต์นั้นจะเฟล แต่ก็ได้เรียนรู้ คือ สอนให้สน process มากกว่า result ครับ

นายสรวิช เตือนตรานนท์ (ไบร์ท) JSTP รุ่น 21 ปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และนายปิตุภูมิ ชัยเจริญวรรณ (นโม) JSTP รุ่น 22 ปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย
นายสรวิช เตือนตรานนท์ (ไบร์ท) JSTP รุ่น 21 ปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และนายปิตุภูมิ ชัยเจริญวรรณ (นโม) JSTP รุ่น 22 ปัจจุบันเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

จากเด็กค่าย ม.ต้น สู่อนาคตการเรียนและการทำงาน

ค่าย JSTP ไม่ได้สร้างแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่ยังสร้างทรัพยากรมนุษย์ในอีกหลากหลายสาขาอาชีพ แม้แต่พวกเขาเหล่านี้ที่ตอนนั้นเป็นเด็ก ม.ต้น แต่การเรียนรู้ทุกอย่างในค่าย ก็ทำให้พวกเขาเห็นเส้นทางอนาคตชัดเจนมากขึ้น

มีน : ผมอยากเป็นวิศวกรตั้งแต่เด็กๆ ผมรู้แต่ว่าเราเรียนให้จบไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียนวิศวะ เรียนจบ ทำงานเป็นวิศวกร แต่พอมา JSTP มันไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบบนั้น มันไม่ใช่การเรียนจบมีใบ กว. ก็ได้เป็นวิศวกร คือ JSTP สอนให้เราคิดถึงแนวคิดในการสร้างมากกว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยและโลกเหมือนพยายามยัดเยียดให้วิศวกรเป็นศาสตร์ของเครื่องกล ทั้งที่จริงมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ผมว่าการเข้าค่าย JSTP มันทำให้เราเปิดกรอบการศึกษาครับ แล้วยังเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ด้วย คือเรามีรุ่นพี่เจ๋งๆ อยู่มากมาย เป็นคนที่เราไปถามไปปรึกษาได้

แทน : อาจจะด้วยสังคมหล่อหลอมนะ ก่อนเข้า JSTP แทนอยากเป็นหมอ แต่พอมาเข้าค่ายได้รู้ว่าการทำงานสายวิจัยมันจับต้องได้มากกว่าที่คิด อาชีพนักวิจัยเป็นทางเลือกนึงแล้วก็ขุนเรามาเรื่อยๆ แล้วก็เบนมาวิศวกรรมหุ่นยนต์เลย คือแทนรู้สึกว่าเราจะชอบชีวะ แต่พออยู่ในค่ายเรากลับสนใจเรื่องคอมฯ แทนก็สังเกตว่าจริงๆ เราอาจจะชอบด้านวิศวกรรม แต่เรายัดเยียดตัวเองว่าเราชอบชีวะ

ไบร์ท : ตอนแรกผมก็อยากเป็นวิศวกรมาตลอด พอเข้า JSTP ผมก็รู้ว่าการเรียนจบออกไปมันไม่ใช่แค่ทำงานบริษัท Tech ดีๆ ให้เค้าใช้เราเหมือนแรงงานสมอง แต่เรามี Potential ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรารู้ว่าผมอาจจะเรียนวิศวะเหมือนเดิมนี่แหละ แต่พอจบแล้วผมมีเป้าหมายที่เปลี่ยนไป ผมอาจจะลองเอาสิ่งที่ผมมีมาทำในเชิง business มากขึ้น คือเหมือนเราอยากทำธุรกิจเราเองเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา มากกว่าที่จะไปทำสิ่งเก่าๆ ที่มันมีอยู่แล้วในบริษัทอื่นๆ

นโม : ตอนแรกผมไม่รู้ว่าผมชอบอะไร หลังจากนั้นก็ลองสังเกตตัวเองมา ก็รู้ว่าชอบศึกษาเรื่องร่างกาย เรื่อง system แบบชีวะ แต่ก็ชอบเทคโนโลยีมาก แต่ที่เราคิดก็คือมันคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ คือถ้าไม่เป็นหมอก็คงเป็นวิศวะใช่ไหมครับ แต่จากที่ไป JSTP ก็เริ่มเปลี่ยน mindset ว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดียวก็ได้ เราเป็นทั้งหมอทั้งวิศวะก็ได้ ตอนนี้ก็มีมหาวิทยาลัยอย่างรามาฯ มช.ที่เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นหลักสูตรร่วมแพทย์+วิศวะ ก็ทำให้ผมสนใจว่าจะเข้าคณะนี้ครับ

ลงทุน JSTP มา 25 ปี แต่เพิ่งเริ่มเห็นดอกผล

“ถ้าค่ายนี้จะไม่ได้ทำต่อ สำหรับผมรู้สึกเสียดาย โครงการ JSTP พยายามจะช่วยเหลือเด็กในเรื่องการศึกษาทุกอย่าง เนื่องจากการศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาว แม้ว่าตอนนี้ลงทุน JSTP มา 25 ปีแล้ว แต่จริงๆ เราเพิ่งเริ่มจะได้เห็นดอกผลของมันมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ เพราะเป็นการลงทุนกับเด็ก ม.ต้น กว่าจะจบ ป.ตรี กว่าจะได้ไปศึกษาต่อ กว่าจะได้กลับมาทำงาน อย่างต่ำประมาณ 10 ปี สมมุติเราเลิกตอนนี้ เราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบหรอก แต่ในอีกสัก 10 ปีข้างหน้า เด็กที่จะได้กลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศก็จะหายไป เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าการที่งบประมาณสำหรับการศึกษาอะไรก็ตามถ้าถูกตัดไป จะทำให้เสียดายโอกาสที่จะเราจะพัฒนาทรัพยากรบุคคลดีๆ มาพัฒนาประเทศชาติในอนาคตมากกว่าครับ” ดร.ประวีณ กล่าว

“ผมไม่มีทางรู้เลยว่าหากโครงการชะลอไป 1 ปี ซึ่งใน 1 ปีนั้นอาจมีเด็กที่อัจฉริยะมากโดดเด่นขึ้นมา แล้วเขาสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่าที่เราลงทุนไปเยอะมากๆ ทำให้เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ไป คือภาพรวมประเทศมันมีเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจริง แต่ผมก็รู้สึกเสียดายงบประมาณด้านการศึกษาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประเทศชาติในอนาคต” 

 

ดร.ประวีณ กล่าวทิ้งท้าย

อยากให้คนไทยคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์

"ถ้าเราเก็บเงินค่าเข้าค่าย จะมีเด็กหลายกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กชายขอบที่ตกหล่นไปเพราะขาดโอกาส" ดร.ประวีณ กล่าวถึงข้อดีของการที่ค่าย JSTP เป็นค่ายฟรี!  แม้ตอนนี้งบประมาณอาจไม่เพียงพอ แต่การเก็บเงินเด็กก็ไม่ใช่ทางเลือก 

นอกจากนี้แล้ว JSTP ยังมี Publish Paper ที่เกี่ยวกับโครงการทั้งหมดว่าค่ายนี้ทำอย่างไร สอนเด็กอย่างไร โดยเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นค่ายต้นแบบที่คนอื่นสามารถนำไปทำต่อได้ นอกจากนี้ ยังพยายามทำเป็นเครือข่ายศิษย์เก่า ซึ่งมีหลากหลายสาขาอาชีพ เนื่องจากค่ายไม่ได้ต้องการสร้างนักวิทยาศาสตร์ แต่มุ่งหวังให้เรียนรู้วิธีการคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ แล้วนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป

"ในมุมมองผม อยากให้คนไทยได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันอยู่ในชีวิตประจำมันได้มากกว่านี้ อย่างข่าวเรื่องแปลกหรือของแปลกๆ ถ้าเรานำเอาความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปอธิบายมันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย นี่คือสิ่งที่สังคมควรจะเป็นไป อยากให้ทุกคนมีการคิดวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ เช่น เจอน้ำผุดจากดิน ก็ตั้งข้อสงสัยก่อนว่าท่อแตกหรือเปล่า ไม่ใช่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากที่ไหน คือเมื่อเจออะไรแปลกๆ เราควรเริ่มตั้งคำถามก่อน แล้วหาความรู้ที่สมเหตุสมผล"  ดร.ประวีณ กล่าว

ด้านของศิษย์เก่ารุ่นเล็กอย่าง มีน, แทน, ไบร์ท และนะโม  ต่างก็ฝากถึงน้องๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักค่าย JSTP มาก่อนว่า 

"ถ้ามาค่ายนี้  จะได้พบกับความว้าว เจออะไรที่ไม่เคยเจอ เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้เจอเพื่อนใหม่จากทั่วประเทศ และรุ่นพี่ที่เจ๋งๆ มากมาย  โอกาสที่ไม่จำกัด สิ่งธรรมดาที่เราอาจมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน อาจถูกนำมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เราอาจนึกไม่ถึง และที่สำคัญคือค่ายนี้ แซ่บมาก!" 

สุดท้ายนี้ ทิศทางของค่ายจะเป็นอย่างไรต่อคงต้องติดตาม หากใครอยากรู้จัก "โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน" หรือ "Junior Science Talent Project - JSTP" ใ่ห้มากขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แฟนเพจ  Junior Science Talent Project

 โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP)

  • เป็นโครงการที่ต้องการเฟ้นหาเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย
  • แบ่งเป็น Science Camps หรือค่ายระยะสั้น เป็นรูปแบบค่ายเสริมประสบการณ์ ปีละ 3-4 ครั้ง
  • โดยในค่ายระยะสั้นจะมี Science Projects หรือการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นการฝึกทำวิจัยในห้องปฎิบัตการตามหัวข้อที่สนใจ
  • ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง (Mentor) ที่เป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่างๆ คอยดูแลให้คำปรึกษาตลอดโครงการ
  • ตลอดทั้งปีในระยะเวลาค่าย จะมีการเฟ้นหาผู้มีแววอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีละประมาณ 10 คน เพื่อเข้าสู่โครงการระยะยาว
  • โดยจะได้รับทุนการศึกษาและการวิจัยจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเข้าสู่อาชีพ นักวิชาการและนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ก่อนหน้านี้ค่าย JSTP (ม.ต้น) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวทช. มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันรุ่นที่  25 ได้มีการชะลอการรับสมัครค่ายระยะสั้น  เพื่อค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมรับทุน JSTP (ระยะยาว) ในปีการศึกษา 2566  เนื่องจากสถานการณ์งบประมาณ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พี่จูน
พี่จูน - Columnist บ.ก.บันเทิง/ไลฟ์สไตล์ ใจดีกว่าหน้าตา รักสัตว์ รักเด็ก อยากเป็นนางเอกและนางงาม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น