Spoil

  • คนเรามีโอกาสใช้จ่ายเงินมากขึ้น เมื่อรู้สึกเครียดหรือมีภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง
  • วิจัยรองรับว่า การใช้จ่ายสินค้านั้นสามารถช่วยให้ผู้คนมีความสุขได้จริง
  • Oniomania คือภาวะที่ผู้คนไม่สามารถควบคุมความต้องการซื้อของตนเองได้

เวลาเจอกับสภาพความเครียดถาโถมเข้ามาในชีวิต เคยสังเกตมั้ยว่า “รู้สึกว่าเงินจะหายไปไวกว่าปกติ” เหมือนกระเป๋าตังค์รั่วเลย.. 

เรื่องของ “การใช้เงินซื้อความสุข” หลายคนน่าจะเคยได้ยินวลีนี้ผ่านหูมาบ้าง เวลารู้สึกไม่ดีกับเรื่องรอบตัว อกหัก ท้อใจ หรือรู้สึกแย่จากความเฮงซวยของโลกใบนี้ ก็รู้สึกว่าอยากจะซื้อโน่นซื้อนี่มาเป็นรางวัลให้ตนเอง อยากใช้เงินเพื่อทำให้ตัวเองคลายความเครียดมากมายพวกนั้นลงไปบ้าง ซึ่งต้องบอกตรงนี้เลยว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และวันนี้ “พี่แทนนี่” จะพามาทำความเข้าใจปรากฎการณ์นี้ไปด้วยกัน ว่ามันคืออะไรแน่ ไปดูกันเลย! 

“Retail Therapy” ยิ่งช้อป ยิ่งสุข

การช้อปปิ้ง หาซื้อสินค้าต่างๆ ตามห้างหรือช่องทางออนไลน์นั้น เป็นกิจวัตรทั่วไปที่เรามักทำเพื่อสร้างความสุขให้กับตนเอง ผ่านการเติมเต็มและสนองความต้องการส่วนบุคคล เป็นการให้รางวัลตนเองประเภทหนึ่ง

คำว่า “Retail Therapy” หรือแปลเป็นไทยตรงตัวว่า “การบำบัดด้วยการซื้อขาย” จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายถึงพลังของการใช้เงิน ว่าสามารถช่วยทำให้ผู้คนมีความสุข มีอารมณ์ที่ดีขึ้นมาได้

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

การใช้เงิน ช่วยต้านความเศร้าได้จริง

เพราะการใช้จ่าย เป็นหนึ่งในวิธีคลายเครียดชั้นดี

ขึ้นชื่อว่าเป็น “การบำบัด” แล้วนั้น ย่อมหมายถึงการช่วยเหลือเยียวยาทางใจที่เกิดขึ้นตามมา เหมือนเวลาเราไปรับการนวดคลายปวดกล้ามเนื้อ หรือการบำบัดทางจิตใจเพื่อช่วยให้หายเศร้า โดยได้มีการวิจัยตีพิมพ์บนวารสารจิตวิทยาผู้บริโภค (Journal of Consumer Psychology) กล่าวไว้ว่า

“การใช้จ่ายเงินไม่ได้ทำให้ผู้คนมีความสุขเพียงเท่านั้น

แต่ยังเป็นการช่วยจัดการอารมณ์เศร้าได้อีกด้วย”

รู้สึกถึงความเป็น “อิสระ”

ความรู้สึกเป็นอิสระ (Autonomy) นับเป็นจุดสำคัญที่ช่วยให้เราฟื้นฟูจากความเศร้าได้เป็นอย่างดี อธิบายก็เหมือนกับการได้ “ตามใจ” ตัวเองบ้าง ไม่เอาตัวเองไปขึ้นอยู่กับใครหรือสิ่งใด ซึ่งเวลาเราออกไปใช้จ่ายซื้อของนั้น ก็เป็นการตามใจตนเองประเภทหนึ่งและนี่เป็นเหตุว่า "ทำไมเราถึงได้รู้สึกดีจากการใช้เงิน"

เมื่อใดมีความสุข ก็ย่อมมีการ “เสพติด”

เมื่อใดที่เรามีความสุขกับการกระทำสักอย่างนึง สมองก็จะหลั่ง “โดปามีน” ที่เป็นสารแห่งความสุขออกมไหลเวียนทั่วร่างกาย ทำให้เรามีภาวะอารมณ์ที่ดี รู้สึกสบายใจขึ้นมาได้ ซึ่งในขณะเดียวกัน โดปามีนที่หลั่งออกมาบ่อยครั้งเท่าใด ร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะ “เสพติด” มากขึ้นเท่านั้น

การเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Oniomania คือภาวะที่เราไม่สามารถควบคุมการซื้อของตนเองได้ ซึ่งภาวะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นมาทุกๆ ปี ท่ามกลางเทคโนโลยีการซื้อของออนไลน์ที่เอื้อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

เมื่อเราค้นพบว่าการซื้อของคือความสุข นั้นหมายความว่า “ทุกครั้งที่คุณเศร้า คุณก็มีแนวโน้มจะซื้อของ” ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตนเองคงสภาวะความสุขเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในกระเป๋าตังค์อย่างแน่นอน และอาจทำให้เกิดเป็นความทุกข์มากกว่าเดิมได้

"ใช้เงินเพลินไปหน่อย พอเงินหมดเท่านั้นแหละ

กลับมาเครียดเหมือนเดิม" TT

ช้อปปิ้งไม่ได้ผิด แค่ต้อง “รู้ให้ทัน”

แม้ “การช้อปปิ้ง” จะเป็นวิธีการที่ช่วยลดทอนความรู้สึกแย่ๆ ออกไปได้

แต่สิ่งนี้ก็เปรียบเหมือน “ดาบสองคม” ที่เราต้องรู้เท่าทันการใช้จ่ายของตัวเอง

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

คำแนะนำจากพี่ก็คือ “ควรใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง” พยายามมองหาของที่อยากได้ในจำนวนที่พอประมาณ และอย่าลืมมองหาวิธีอื่นที่ช่วยเติมเต็มความสุขให้ตัวเองด้วยนะ ไม่ได้ห้ามซื้อของอะไร เพียงแต่ต้องเข้าใจและรู้เท่าทันตนเองเท่านั้นเอง!

“บางทีอาจจะเป็นคนใกล้ตัว หรือสิ่งของที่มีอยู่เดิมแล้ว

สิ่งเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายในชีวิตไปได้เหมือนกันนะ”

----

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.cnbc.com/select/how-to-avoid-stress-spending/#:~:text=When%20you're%20stressed%2C%20spending,mood%20and%20 gives%20you%20comfort.&text=The%20mental%20reason%20to%20why,reached%20some%20sort%20of%20resolution.https://health.clevelandclinic.org/retail-therapy-shopping-compulsion/https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1057740813001149
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น