Spoil

  • ปัญหาการ "เก็บกด" ในวัยรุ่น เกิดจากการไม่มีพื้นที่ให้ได้ระบายควานในใจออกมา
  • การเก็บกดเรื่องราวด้านลบไว้นานๆ ทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสม และสภาวะอารมณ์ด้านลบ
  • การเมตตาต่อตนเอง เป็นดั่งการ "ปฐมพยาบาล" เบื้องต้นที่ช่วยให้อาการดีขึ้นได้

เคยมั้ย? เวลามีปัญหาไม่ชอบบอกใคร เก็บไว้เองคนเดียว..

วัยรุ่นเองเนี่ย นับเป็นช่วงวัยที่เจอเรื่องมากมายจากโลกภายนอกและคนรอบตัว ประหนึ่งว่า “โลกช่างใจร้าย” ส่งแต่เรื่องแย่ๆ เข้ามาในชีวิตไม่เว้นวัน ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้เคยรึเปล่า ที่ส่วนตัวก็อยากจะบอกเล่าปัญหาให้คนอื่นได้รับฟัง พยายามมองหาการช่วยเหลือจากคนรอบข้างแล้ว แต่สุดท้ายเราก็กลับเลือกที่จะ “ไม่บอกใคร” 

จนปัญหานั้นเริ่มกองท่วมเอ่อล้นใจ และเริ่มทำให้เราใช้ชีวิตลำบากขึ้น

ถ้าสัญญาณเริ่มออกว่าเราทำอะไรไม่ได้ดีเท่าเมื่อก่อน เริ่มเครียด ระแวง รู้สึกได้ถึงพลังลบจากภายในตัวเอง หลังจากการเจอเรื่องสะเทือนใจมากมายละก็.. นี่อาจเป็นสัญญาณว่า “น้องๆ กำลังเก็บกด” จนเริ่มเข้าขีดอันตราย!

แล้ว “เก็บกด” คำที่เรามักเคยได้ยินจากคนรอบตัวนี้มันคืออะไร มันหมายความแค่ว่า ไม่พูดไม่จา หรือไม่แสดงออกเฉยๆ รึเปล่า วันนี้พี่แทนนี่จะมาอธิบายให้ฟัง และมาดูกันว่าจะทำอย่างไร ให้เราผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ ไปดูพร้อมกันเลย …

เก็บกด คืออะไรแน่?

การเก็บกด (repression) นั้นจัดอยู่ในกลไกป้องกันทางจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อคนเราเกิดความไม่สบายใจ หรือความเครียด หรือเวลามีเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เข้ามาทำร้ายจิตใจ คนเรามีโอกาสจะ “เก็บ” มันไว้ข้างใน ไม่พยายามนึกถึงมัน จนบางทีเราอาจจะ “หลงลืม” มันไปได้เลย

แต่ถึงแม้ว่าเราอาจจะหลงลืมเรื่องร้ายๆ บางเรื่องที่เคยเกิด แต่นี่กลับไม่ใช่วิธีที่ดี ตามที่นักจิตวิทยาหลายคนลงความเห็น

แล้วทำไมคนเราต้อง “เก็บ” เรื่องไม่ดีไว้ในใจ

เพราะ “บอกไป ก็ไม่มีใครฟัง”

วัยรุ่นหลายคนประสบกับความเครียดสะสม จากการพบเจอกับเรื่องราวร้ายๆ ที่เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งโดยปกตินั้น จะไม่เกิดผลเสียมากมายขนาดนี้ได้เลย หากเราได้มีการระบายเรื่องราวออกไปบ้าง ผ่านการบอกเล่าให้คนรอบข้าง หรือไปพบแพทย์ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น

บางคนเลือก "เก็บ" เรื่องไม่ดีไว้ในใจมากมาย เพราะมองว่า “เล่าไปคนก็ไม่สนใจ”

ซ้ำยังอาจถูกมองว่า “อ่อนแอ จัดการปัญหาไม่ได้” ทั้งที่เราเองก็ทำทุกทางเพื่อตัวเองแล้ว

 

ปฏิเสธไม่ได้บุคคลที่มีผลอย่างมากกับการแสดงออกของเรา และมีบทบาทในการรับฟังอยู่ใกล้ชิดคนๆ นึงมากที่สุดก็คือ “ผู้ปกครอง” ที่บ้านนี่แหละครับ ถ้ามีการรับฟัง และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะสื่อออกไป เราก็มีโอกาสบอกพ่อแม่มากขึ้น เพราะเรารู้ว่าพ่อแม่ก็จะรับฟังเรา กลับกัน หากเรารู้ว่าบอกไปพ่อแม่ก็ไม่สนใจ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือมีการลงโทษ หรือดุด่าออกมาอีก ทีนี้เราเองก็จะเลือก “เก็บ” ไว้ภายในใจดีกว่า

นอกจากพ่อแม่แล้วนั้น บุคคลอื่นทั่วไปเองก็ทำนองเดียวกัน หากสื่อสารรับฟังได้ไม่ดี พยายามกีดกันออกไป นี่จะเป็นอีกเหตุผลให้ที่ทำให้คนๆ นึงเลือกจะเก็บเรื่องราวแย่ๆ เหล่านั้นไว้ในใจคนเดียวได้

ระเบิดเวลา รอวันจะระเบิดออกมา

การเก็บเรื่องไม่ดีไว้กับเรานานเข้า ก็เหมือนมี "ระเบิดเวลา" กำลังนับถอยหลัง

แม้จะดูเป็นกลไกของร่างกายที่ช่วยให้เราสบายใจจากเรื่องร้ายๆ ที่เข้ามาในชีวิต แต่หากเวลาผ่านไป ความเครียดจากเรื่องต่างๆ ที่สะสม กองสุมในใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น..

  • รู้สึกกระวนกระวาย
  • รู้สึกผิดต่อตนเอง
  • ปวดหัว วิงเวียน ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการเริ่มนอนหลับ

ซึ่งด้วยเรื่องราวแย่ๆ มากมายที่ไม่ได้ระบายออกมา ทำให้เราไม่สามารถจะสลัดมันออกไปจากความคิด หรือมีมุมมองที่เปลี่ยนไปได้ เกิดเป็นความรู้สึกทางลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดที่เกินรับไหว ร่างกายจะแสดงอาการทางกายดังที่กล่าวไป หรือจิตใจจะเข้าสู่ภาวะไม่มั่นคง ที่นับเป็นการเตือนในทราบถึงภัยนี้นั่นเอง

ทำอย่างไร? เมื่อรู้สึกถึงความ “อึดอัด” ภายในใจ

มองหาคนที่ไว้ใจที่สุด หรือ พบแพทย์

นี่นับเป็นวิธีหลักสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง ให้มองปัญยหาเหมือนน้ำที่ท่วม ทางแก้ไขก็คือการระบายน้ำออกมา เรื่องของปัญหาภายในใจก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักรอบตัว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เราต้องมองหาพื้นที่ให้ได้ระบายเรื่องราวลบๆ ออกไปบ้าง และที่สำคัญคืออีกฝ่ายที่รับฟังก็ต้องใช้ความตั้งใจ และไม่พยายามตัดสินอีกฝ่าย เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีและความเชื่อใจร่วมกัน

พยายาม “เผชิญหน้า” กับปัญหาในใจ

การพยายามกดปัญหาไว้ในส่วนลึกก้นบึ้งภายในใจ ไม่ได้เป็นการทำให้ปัญหาหายไป สิ่งนั้นจะคงอยู่ในตัวเรา และพร้อมจะแสดงผลร้ายต่อตัวเราได้ตลอดเวลาเมื่อถึงขีดจำกัดที่รับไหว ทางที่ดีคือควรทำความเข้าใจเพื่อให้ตนเองรู้ถึงสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้อง 

อย่าลืม “ใจดีกับตัวเอง”

การให้อภัยตนเอง (self-compassion) นั้นสามารถช่วยปลดล็อกความรู้สึกผิดในใจได้ และทำให้เรามีความกล้าจะเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น การยอมรับข้อดีข้อเสียของตนเอง การรู้จักให้โอกาสตัวเองเมื่อทำผิดพลาด ฯลฯ

ปัญหาที่มีภายในใจ  จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีพื้นที่รองรับ  เป็นพื้นที่แห่งความเชื่อใจและเปิดกว้างต่อกัน สิ่งนี้จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ระหว่าง "ผู้ประสบปัญหา" ที่ต้องระบายมันออกมาให้คนที่ไว้ใจหรือแพทย์  ในฐานะของ "ผู้รับฟัง" ที่ต้องเข้าใจและเปิดกว้างต่อกัน เคารพในความเป็นมนุษย์ เพื่อให้คนกล้าที่จะเล่าปัญหาที่ค้างเติ่งนั้นออกมานั่นเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.verywellmind.com/repression-as-a-defense-mechanism-4586642https://positivepsychology.com/repress-emotionshttps://www.healthline.com/health/repressed-emotions#releasing-them
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

พิทักพงษ์ ไชยสงค์ 24 ม.ค. 67 15:37 น. 1

มุมมองง่ายจะให้เพื่อนๆทุกคนรุ้จักวิธีสังเกตุวิเคาะสิ่งสิ่งนี้ถูกหรือผิดความรุ้เล็กๆน้อยจากบังคนชั๋วที่จะมอบความจากประสบการของผมแต่ไม่รุ้นะว่าถูกหรือผิดคำตอบ"ถ้ามันดีเขาทำไม่ทำบนอุปกรเข้าทำไมต้องพญายามทำบนอุปกรเรา"แค่นี้พอจะนึกได้รึยังครับว่าคำตอบคืออะไร

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด