Spoil

  • นอนน้อยเป็นนิสัย ทำให้หิวบ่อยขึ้น เพราะฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
  • คนเรามีโอกาส "กินของหวาน" มากขึ้นเมื่ออดนอน
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ สามารถทำให้น้ำหนักขึ้นได้ในระยะยาว

ประสบการณ์การนอนน้อยของแต่ละคน น้อยสุดนี่กี่ชั่วโมงกันเหรอ?

สมัยโน้น.. ที่พี่ยังเรียนอยู่มหาลัย เคยนอนน้อยสุด 3 ชั่วโมงเลย เพราะตอนนั้นต้องอ่านหนังสือให้ทันสอบ และเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมาก มันมึนหัวจนจะแย่อยู่แล้ว แถมแม้เป็นคืนที่ไม่มีสอบ ร่างกายก็ไม่รู้สึกง่วงในเวลาที่ควรอีกต่อไป กลายเป็นนอนเช้าทุกวันจนกลายเป็นนิสัยเสีย เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่นอนน้อย และร่างกายโทรมที่สุดของชีวิตของพี่แล้วแหละ 

วัยอย่างเราเนี่ย ควรนอนอย่างน้อย 8-10 ชม. ต่อคืน

(อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุข สหรัฐฯ)

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

อย่างที่น้องๆ น่าจะทราบดีว่า “การนอนน้อย” เนี่ยมันมีผลเสียหลายอย่างมาก ไหนจะเรื่องการตัดสินใจช้าลง หน้ามืด ตาเบลอ เรียนไม่รู้เรื่อง และอีกนานาสารพัด และจริงๆ รู้หรือไม่ว่า มันยังมีอีกข้อหนึ่งที่อันตรายมาก

น้องๆ วันไหนที่นอนน้อย เคยสังเกตตัวเองมั้ยว่า “ตัวเองจะหิวบ่อยว่าปกติ” ถ้าตอบมาว่าใช่ นั่นแหละคือสัญญาณอันตรายที่พี่หมายถึง และวันนี้พี่แทนนี่จะมาอธิบายให้ฟังว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง

นอนน้อย = หิวบ่อย?

ร่างกายที่อดนอนจะเหนื่อยล้าได้ง่าย

จึงต้องการอาหารและน้ำตาลมากขึ้นเป็นพิเศษ

“การพักผ่อนไม่เพียงพอ” นอกจากจะทำให้เรากินของหวานมากขึ้น โดยรวมนั้นยังทำให้เรา “หิวบ่อย” กว่าปกติได้อีกด้วย เนื่องจากร่างกายนั้นต้องการพลังงาน สมองจึงสั่งเบ๊บ๋อยอย่าง “ฮอร์โมน Ghrelin” ให้หลั่งมากขึ้น เพื่อให้เราหิวตลอดทั้งวัน ให้ออกไปหากินเอาพลังงานมาถวายให้สมองนั่นเอง

วิจัยเผย! นอนน้อยทำให้กิน “ของหวาน” เยอะขึ้น

เวลาทุกคนนอนน้อย เคยสังเกตตัวเองกันบ้างมั้ยว่าตัวเองเริ่มกิน “ของหวาน” เยอะขึ้น เรื่องนี้มีงานวิจัยรับรองอย่างจริงจัง โดยมีการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 93 คน ให้นอน 9 ชม. ครึ่งติดกันเป็นเวลา 5 คืน และนอน 6 ชม. ครึ่งแยกกันอีกเป็นเวลา 5 คืน และสั่งให้จดว่ากินอะไรไปบ้างในแต่ละวัน

ผลการทดลองพบว่า ตอนวันที่นอน 6 ชม. ครึ่งนั้น แนวโน้มของกลุ่มตัวอย่างมีการกินของหวานและเครื่องดื่มรสหวานมากขึ้นจริง เมื่อเทียบกับวันที่นอน 9 ชม. ครึ่ง

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

เมื่อคนเราเหนื่อยจากการอดนอน สมองเหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายจะต้องการสารอาหารที่เร่งด่วนที่สุด เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการใช้ชีวิต ซึ่งในอาหารอื่นๆ ปกตินั้นก็จะต้องใช้เวลาในการย่อยสักพักกว่าจะแยกองค์ประกอบให้เล็ก จนร่างกายสามารถนำไปใช้งานได้ แต่สารให้ความหวานอย่าง “น้ำตาล” ไม่ใช่แบบนั้น

สมองนั้นต้องการสารอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงการทำงานในทุกๆ วัน เหมือนรถยนต์

ขับไปนานๆ ไม่ได้พัก น้ำมันก็เริ่มหมด เราก็ต้องหาเติม

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

น้ำตาลเป็น “คาร์โบไฮเดรต” ที่สามารถย่อยสลายได้ไว นำไปใช้ได้รวดเร็ว โดยที่ย่อยได้ไวที่สุดก็จะเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) เพราะร่างกายไม่ต้องผ่านกระบวนการเยอะ เอาสารอาหารไปใช้ให้พลังงานกับร่างกายได้เลย เหมือนกับน้ำมันที่ใช้งานได้ไว แต่น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวพวกนี้มักจะอยู่ในของหวานและอาหารขยะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสร้างผลเสียอย่างมากในระยะยาว

นอนน้อยจึงเป็นปัจจัย “เสี่ยงน้ำหนักขึ้น” ตัวแม่!

ของหวาน” มันกินแล้วอร่อย มีความสุข

"พอมีความสุข ก็อยากกินอีก”

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

พอเรารับประทานของหวานมากขึ้น ด้วยความที่น้ำตาลก็เป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่ง (เหมือนข้าว แป้ง) เมื่อเรารับประทานเข้าไปมากๆ ย่อมทำให้ร่างกายมีแคลอรี่สะสมเยอะขึ้นตามไปด้วย บวกกับระบบเผาผลาญพลังงานร่างกายอย่าง ‘Metabolism’ ที่ทำงานได้ไม่เต็มที่จากร่างกายที่พักผ่อนน้อย ก็ยิ่งเสริมให้น้ำหนักเราเพิ่มขึ้นได้ จากการนอนน้อยจนเป็นนิสัย

กินเท่าไหร่ ก็ไม่อิ่มสักที

นอกจากอาหารหวานที่คนนอนน้อยต้องการเพิ่มขึ้นแล้วเนี่ย หลากหลายการศึกษาก็พบว่ามันลามไปถึงการอยากกินอาหารจานด่วน (Fast Food) และอาหารประเภทอื่นที่มีแคลอรี่เยอะๆ ด้วย เนื่องจากตอนร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอนั้น “ฮอร์โมน Leptin" จะหลั่งน้อยลง ทำให้เราไม่รู้สึกอิ่มเสียที กินอาหารแคลอรี่หนักๆ ได้แบบสบายมาก ซึ่งนั่นแหละทำให้แคลอรี่สะสมในร่างกายเกินจำนวน สะสมเป็นน้ำหนักและชั้นไขมันในร่างกาย

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

----

ถ้าให้พี่สรุปจะเห็นได้ว่า หาก “อดนอนเป็นนิสัย” จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ซึ่งสมองก็จะกระตุ้นให้ “กินๆๆๆๆ” เข้าไปเพื่อเติมพลังงาน โดยจะมี "ฮอร์โมน" ที่สั่งให้เราไปหาของกินเยอะๆ และทำให้ร่างกายรู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สมองยังทำงานต่อไปได้ หลังจากนั้นเมื่อเรากินเยอะเข้า แคลอรี่ที่เกินจำนวนต่อวันก็จะกลายเป็นไขมัน สะสมตามร่างกายจนเป็น “น้ำหนัก” ที่เพิ่มขึ้นมานั่นเองฮะ

จบไปแล้วกับคาบวิทยาศาสตร์ เอ้ย!! บทความในวันนี้ที่พี่เอามาฝากทุกคนนะครับ อยากให้นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่พยายามอดนอนหากไม่จำเป็นนะ พี่เองเอาตัวอย่างมาเล่าให้ฟังแล้ว อย่าอดนอนบ่อยแบบพี่เลย มันไม่ดีจริงๆ  TT

----

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.psychologytoday.com/intl/blog/advancing-psychiatry/202201/craving-sweets-you-might-need-more-sleephttps://www.everlywell.com/blog/sleep-and-stress/why-am-i-craving-sugar/#:~:text=Sleep%20and%20sugar%20cravings&text=It%20also%20decreases%20levels%20of,after%20a%20long%2C%20tiring%20day.https://academic.oup.com/sleep/advance-article-abstract/doi/10.1093/sleep/zsab269/6469001?redirectedFrom=fulltexthttp://www.spsc.chula.ac.th/backupnew/web_older/main2007/journal/journal/13-1/1.pdfhttps://www.science.org/content/article/here-s-how-skimping-sleep-can-change-your-appetitehttps://www.cdc.gov/sleep/about_sleep/how_much_sleep.html
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น