Spoil

  • ความรู้สึกว่าต้องทำงานให้หนัก รู้สึกผิดกับการพักผ่อน กำลังเป็นปัญหาของวัยรุ่นและวัยทำงานในปัจจุบัน
  • สังคม เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้คนเกิด Toxic Productivity
  • การใช้ชีวิตที่บ้าน มีโอกาสทำให้ภาวะนี้เกิดได้มากยิ่งขึ้น

เคยรู้สึกไม่ชอบตัวเองเวลาขี้เกียจรึเปล่า?

ความรู้สึกเวลาที่เราอยากจะใช้เวลาให้กับตัวเอง ทั้งในการดูหนัง ไปเที่ยว หรืออื่นๆ ทำไมเรากลับมีอีกฟากของความคิดที่รู้สึกผิดตลอดเวลา เหมือนเราไม่มีสิทธิจะหยุดขยันได้เลย อะไรแบบนี้มันเคยเกิดขึ้นจริงในเพื่อนพี่คนนึงที่มาเล่าปัญหาให้ฟัง เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่ประถม และเรียนในแต่ละวันหนักมาก เลิกจากโรงเรียนแล้วยังต้องไปเรียนพิเศษต่ออีก เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกไม่ค่อยมีเวลา พยายามแล้วแต่ก็ยังรู้สึกไม่ดีกับตัวเองหากจะหาวันพักผ่อนสักวันนึง 

ซึ่งเรื่องราวนี้ทำให้พี่ยิ่งสัมผัสความน่ากลัวของภาวะนี้ได้มากขึ้นไปอีก และอยากมาเล่าให้เพื่อนๆ ชาว Dek-D ทุกคนได้ฟัง ยิ่งช่วงนี้หลายคนน่าจะกำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบกันอยู่แน่ๆ พี่แทนนี่เลยอยากให้พักมาอ่านบทความนี้สักแปปนึง และมาเช็คตัวเองไปพร้อมกันครับ

เมื่อความขยัน กลายเป็น “พิษ”

Productivity หรือผลผลิตนั้น สื่อถึงการที่เราทำอะไรสักอย่างเพื่อผลลัพธ์บางอย่าง ตัวอย่างชัดเจนที่ถูกเอาคำนี้มาใช้ก็คือการทำงาน ที่มีผลลัพธ์คือการไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่ได้รับมาระหว่างทำงานหรือการบรรลุเป้าหมายสำเร็จ นั่นคือความหมายของ Productivity นั่นเอง

ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดีใช่มั้ยล่ะ? ยิ่งเราขยันงานก็ยิ่งดี ทำงานเข้า เรียนเข้าไปก็มีแต่ทำให้เราเก่งขึ้น แต่แน่นอนมันมีอีกฟากนึงของมัน ที่ความขยันก็สามารถสร้างภัยร้ายให้กับร่างกายเราได้

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

“Toxic Productivity” หรือภาวะเป็นพิษจากการทำงาน กล่าวถึงการที่เราโหมทำอะไรบางอย่างมากเกินไปจนเกิดผลเสียกับร่างกายและจิตใจ หรือมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตที่แย่ลงไป ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้เรามีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ลดลง แม้จะขยันหรือทำงานหนักมากขึ้นเพียงใดก็ตาม เหมือนกับมีพิษอยู่ในตัวของเรานั่นเอง

แล้วยิ่งช่วงนี้ที่ผู้คนต่างต้องกลับมาอยู่บ้านเรียนออนไลน์ ทำงานที่บ้านกันอีกครั้ง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ภัยร้ายนี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นอีก Dr. Joanne Barron นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ให้ประเด็นถึงการที่ Toxic Productivity กำลังเป็นปัญหาของคนยุคใหม่ในช่วยโรคระบาดไว้ว่า "การอยู่แบบออนไลน์เปลี่ยนสไตล์การทำงานจากเดิมที่มีเวลาชัดเจน พออยู่บ้านก็เหมือนได้ทำตลอดเวลา  ทำให้เราผูกติดการกระทำทุกอย่างไว้กับงานมากเกินไป" รวมถึงค่านิยมที่ถูกปลูกฝังว่า 

คุณค่าของเราขึ้นอยู่กับ "งานที่เราทำออกไป"

แทนที่จะเป็นตัวตนของเราเองในฐานะมนุษย์

ทำให้เรายิ่งต้องทำงาน เรียนให้หนัก เพื่อความพอใจของสังคม

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

มาดู 4 สัญญาณบ่งบอกว่า “ความขยันทำกำลังทำร้ายเรา”

บางทีก็รู้สึกผิดเวลาขี้เกียจ

แทนที่จะเป็นสุขในวันหยุด มีเวลาพักหลังเลิกเรียนปกติ แต่เราเริ่มกังวลว่าหากเราพักผ่อนมากเกินไป จะทำให้เสียงานหรือตามคนอื่นไม่ทัน แม้ว่าที่จริงก็ทำไปเยอะมากแล้วก็ตาม

เหนื่อยแบบไม่มีเหตุผล

“แค่ตื่นมาก็เหนื่อยแล้ว” ทั้งที่ควรจะสดชื่น นี่อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ เพราะเป็นอาการที่แสดงถึงการขาดแรงจูงใจ หรือภาวะเหนื่อยสะสม

ขยันแค่ไหนก็รู้สึกว่า “ยังไม่พอ”

ทั้งที่ก็หลายชั่วโมงแล้วที่ทุ่มอ่านหนังสือ หักโหมเกินไปแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้ ต้องไปอีก เอาอีก ถ้าหยุดตอนนี้จะไม่ดีกับตัวเองแน่ๆ 

เริ่มไม่มีเวลาให้ตัวเอง จนรบกวนชีวิต

การขยันนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่เราเริ่มแยกการทำงานจากเวลาส่วนตัวไม่ได้ จนทำให้เสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ นี่เป็นจุดที่ควรตระหนักได้แล้วว่า ความขยันของเรากำลังบั่นทอนชีวิตของเราไปทีละนิดได้จริง

“สังคมและค่านิยม” เบื้องหลังของภัยเงียบ

ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน รวมถึงการถูกกดดันจากผู้คน ทำให้เราเองในฐานะวัยรุ่นถูกผลักให้เข้าสู่ระบบการแข่งขันโดยที่บางคนอาจไม่เต็มใจนัก ซ้ำร้ายกว่านั้นคือภาวะ Toxic Productivity ที่พาช่วงติดมา หลังจากที่อยู่ในวงจรนี้มาสักพักหนึ่ง

การเริ่มรู้สึกว่าต้อง push ผลักดันตัวเองขึ้นไปตลอด ต้องเก่งขึ้นด้วยการอ่านหนังสือเกือบทั้งวัน ไม่มีความสุขเวลาออกไปเที่ยวหรือพักผ่อน จนเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดไฟในภายหลัง นี่แหละคือสิ่งที่นิยามภัยเงียบนี้ได้ดีที่สุด เพราะมันคือภาวะที่ทำให้เรา “รู้สึกว่าตัวเองยังพยายามไม่มากพอ” เสียทีนั่นเอง มันเลยผลักให้เราต้องทำเรื่อยๆ ไม่รู้สิ้นสุดตรงไหน

"สังคมคอยบังคับให้เราต้องขยันตลอด อยากเก่งแบบใครก็ต้องพยายามให้หนักขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งที่จริงเราเองก็เป็นมนุษย์ ที่มีขีดจำกัดและความเก่งในฉบับของตัวเอง"

เพราะเราเอง ก็ต้องมีชีวิตของตัวเอง

เมื่อไหร่ที่เกิดบางสิ่งที่ไม่โอเคกับร่างกายของเรา เราอย่าลืมที่จะต้องหันกลับมาดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น ความพยายามนั้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการดูแลตัวเองเช่นกัน การหาเวลาพักผ่อนหรือขอคำปรึกษาจากคนที่ไว้ใจ เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเลยนะ ที่จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้มากขึ้น

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

การออกไปทำสิ่งต่างๆ ภายนอกโลกเดิมที่เคยอยู่ ค้นหาสิ่งใหม่ๆ รอบตัวนั้นก็สามารถเยียวยา และทำให้เราห่างไกลจาก Toxic Productivity ได้เหมือนกัน เราต้องยอมตัดใจจากงานบ้าง และเริ่มให้ความสำคัญกับตัวเอง ต้องใช้เวลาของวัยรุ่นให้คุ้มนะ พี่แนะนำเลย เพราะส่วนตัวก็มีแอบเสียดายเวลาช่วยมัธยมเหมือนกันที่ไม่ค่อยได้ออกไปทำอะไรเหมือนเพื่อนเท่าไหร่

แบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักบ้าง แล้วกลับมาอ่านหนังสือสัก 2-3 ชั่วโมง

"แค่นี้ก็ดีมากๆ แล้ว"

—-

เป็นยังไงกันบ้างทุกคน กับเรื่องที่พี่แทนนี่เอามาเล่าใน Teen Coach EP.49 สัปดาห์นี้ ตรงกับที่น้องๆ ทุกคนกำลังเจอรึเปล่า มาเล่าให้พี่ฟังได้นะ พี่พร้อมให้คำแนะนำเสมอเลย ไว้เจอกันใหม่กับ “Teen Coach ปัญหาวัยรุ่นแก้ได้” ในสัปดาห์หน้าครับ :)

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.wrike.com/blog/ways-to-combat-toxic-productivity/https://www.huffpost.com/entry/toxic-productivity-work_l_606655e7c5b6aa24bc60a566https://voi.id/en/lifestyle/84687/toxic-productivity-recognize-the-following-5-signshttps://greyjournal.net/hustle/grow/discussing-the-harms-of-toxic-productivity-with-an-expert-psychologist/

 

พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น