Spoil

  • มกราคม มักถูกมองว่าเป็นเดือนที่ "ยาวนาน" กว่าปกติ
  • เดือนมกราคมเป็นเดือนที่คนไม่ค่อยมีความสุข เนื่องจากมีวันหยุดที่น้อย
  • การไม่มีความสุข มีผลทำให้เรารับรู้ว่าเวลาเดินช้าลง

ทุกคนเคยมีความรู้สึกอะไรบางอย่างกันมั้ย ในช่วงเดือนมกราคม ทำไมมันถึงได้ “นานนนนนนน” กว่าเดือนอื่นๆ" กัน ทั้งที่ทุกเดือนมันก็มีประมาณ 30-31 วัน แต่มกราคมแบบกว่าจะจบเดือน เหมือนมี 70 วันอะไรแบบนั้นแหละ

แล้วเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเนี่ย เหมือนคนละเรื่องเลย ธันวานี่แปปเดียวก็หมด แต่มกราคือนานมาก

“ มกราาาาาาาาาาาาาาาาาาา กุมภา มีนา เมษา พฤษภา … “

ซึ่งอันที่จริง ในทางวิทยาศาสตร์มีอธิบายไว้เหมือนกันนะ เรื่องของความรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้าหรือเร็วเนี่ย ว่าแต่จะมีปัจจัยอะไรบ้างนั้น วันนี้เดี๋ยวพี่แทนนี่จะพาไปหาคำตอบกัน!

ความสุข ทำให้เวลาผ่านไปไว?

เขาว่ากันว่า “เวลาแห่งความสุข มักจะผ่านไปไวเสมอ” 

ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนลองคิดดูว่า "เวลาเราดูซีรีส์หรือทำสิ่งที่ชอบ กับเวลานั่งเรียนออนไลน์หรือทรมานกับสิ่งที่ไม่ชอบ" เวลาตอนไหนมันผ่านไปช้ากว่ากัน ..   

หลายคนน่าจะมีคำตอบในใจ แต่อันที่จริงเวลามันควรจะเท่ากัน แต่ทำไมมันสามารถทำให้เรารู้สึกว่าไม่เท่ากัน ?

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

ในทางวิทยาศาสตร์ได้มีสมมติฐานเรื่อง “นาฬิกาความสุข” (Dopamine Clock Hypothesis) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยสารแห่งความสุขอย่าง “โดปามีน” (Dopamine) โดยเป็นสมมติฐานที่บอกว่า “การมีโดปามีนในร่างกายในปริมาณมาก ทำให้เวลาภายในร่างกายของเราผ่านไปไว” ซึ่งมีผลให้เรารับรู้ หรือรู้สึกว่าเวลาผ่านไปไวด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมมันถึงทำให้เวลาในเดือนมกราคมผ่านไปช้าล่ะ

ก็แสดงว่ามันเป็น เดือนที่ไม่มีความสุข งั้นเหรอ?

เป็นเดือนที่ไม่ค่อยมีวันหยุดพิเศษ

หากลองมาสังเกตลักษณะของเดือนมกราคมกันดีๆ แล้วเนี่ย มีจุดที่น่าสนใจอย่างนึงคือ เป็นเดือนที่ไม่ค่อยมีวันหยุดเพิ่มเท่าไหร่นัก  

แล้วพอไม่มีวันหยุด ก็ไม่มี "แรงจูงใจ"

“ไม่รู้จะใช้ชีวิตเพื่ออะไร

ไม่เหมือนเดือนธันวา ที่ทำงานทั้งเดือนเพื่อรอวันคริสต์มาสหรือหยุดยาวสิ้นปี”

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

คนเรามักมีพฤติกรรม โดยมีเหตุผลจากความต้องการภายใน โดยมีแรงกระตุ้นบางอย่างเป็นแรงขับเคลื่อน แรงกระตุ้นนั้นแหละคือ "แรงจูงใจ" (Motivation) ซึ่งแรงตรงนี้สามารถเชื่อมโยงกับความรู้สึกดีได้ เพราะเราจะมีพลังบางอย่างในการทำสิ่งที่ชอบมากกว่าสิ่งอื่นๆ

ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าอย่างธันวาคม ทุกคนจะเห็นได้ว่ามีวันหยุดเยอะมาก นอกจากช่วงปีใหม่ ยังจะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์เพิ่มเติมอีก ซึ่งแน่นอนว่าพอวันหยุดสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับเราได้ ผู้คนก็มักจะมีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อไปให้ถึงเป้า โดยขับเคลื่อนผ่าน ความสุขและแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) 

เมื่อสารโดปามีนหลั่งไหลเพิ่มมากขึ้นในร่างกาย ก็จะกระตุ้นและทำให้เกิดความพึงพอใจ ซึ่งมีผลต่อสมองทำให้เรารับรู้เวลาเร็วกว่าเดิมได้ ซึ่งก็จะอธิบายได้อีกว่า “ทำไมวันหยุดต่างๆ ถึงได้ผ่านไปไว” ก็เพราะว่ามันทำให้เรามีความสุขได้นั่นเอง เหมือนเป็นสิ่งที่เรารอคอยมาตลอด และเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ

แต่เดือนมกราคม มันไม่ได้มีวันหยุดเยอะขนาดนั้น ก็เลยให้ผลตรงข้ามกัน

หลังปีใหม่ มัน “น่าเบื่อ”

มีทรรศนะหนึ่งที่น่าสนใจจาก Dr Zhenguang Cai จาก University College of London ได้ให้เหตุผลสำหรับเดือนมกราคมที่ยาวนานกว่าปกติไว้ว่า ..

“เพราะหลังจากผ่านช่วงปีใหม่มา เราจะรู้สึกเบื่อกับการต้องมาวนลูปชีวิตใหม่อีกปีในเดือนนี้” 

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

ซึ่งความรู้สึกเบื่อหรือซึมลงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการหลั่งโดปามีนของร่างกายที่น้อยลงได้ด้วย เชื่อมโยงกับสมมติฐานนาฬิกาความสุขก็จะสรุปได้ว่า "ความเบื่อ ทำให้รับรู้เวลาว่าผ่านไปช้าลง" นั่นเอง

----

ส่วนตัวพี่เองทุกปีก็คิดเหมือนกันเลยว่า "มกราเนี่ยกว่าจะหมดเดือนคือนานมาก" ไม่เชื่อคอยดูปีนี้เลย!

แล้วทุกคนล่ะ คิดว่า "เดือนนี้มันนาน" เหมือนพี่กันรึเปล่า คิดเห็นยังไงกันมาบอกได้นะ 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://buzz-caribbean.com/life/just-be-done-already-scientists-explain-why-january-feels-like-the-longest-month/https://doi.org/10.1163/22134468-00002035
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น