Spoil

  • ช่วงเทคกาลสิ้นปี หลายคนมีภาวะเครียดจากการถูกกดดันจากครอบครัว
  • การขัดสนเรื่องเงิน  รวมถึงความเครรียดจากการทำงาน เสริมให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น
  • ผู้หญิง มีโอกาสเจอภาวะนี้ได้มากกว่าเพศอื่นๆ

ช่วงสิ้นปีมาถึงแบบนี้ สิ่งที่เป็นเหมือนภาพจำของพวกเราเลยก็คือ ช่วงเวลาแห่งการรวมตัวของครอบครัวและเครือญาติมิตร ท่ามกลางการเฉลิมฉลอง งานเลี้ยง และการจัดทริปไปเที่ยวนั้นเอง เกิดเป็นความรู้สึกอบอุ่นและความสุขที่อิ่มเอมหัวใจ แต่ในบางคน ช่วงเวลาวันหยุดที่ต้องมารวมญาติกันเนี่ย เป็นเหมือนนรกเลยแหละ เพราะมันสร้าง ความเครียดกังวลมหาศาล รวมถึงการมีความรู้สึกว่า “เป็นวันหยุดที่ไม่ได้หยุด” เพราะสุดท้ายก็ต้องมาเจอครอบครัวแทนที่จะได้พักผ่อนอย่างจริงจัง แถมยังต้องเจอคำถามต่างๆ นานาที่ไม่ถูกใจอีกต่างหาก ทางจิตวิทยาก็มีคำอธิบายไว้เหมือนกัน เราเรียกว่า “Holiday Stress”

เพราะวันหยุด “วุ่นวาย” เหมือนไม่ได้หยุด

ต้นตอนิยามคำว่า “Stress” หรือความเครียด คือความรู้สึกถูกกดดันจากอะไรบางอย่าง ซึ่งในกรณีของ Holiday Stress จะมาในคราบของการถูกครอบครัวกดดันว่าจะต้องกลับมาพบครอบครัว หรือเป็นสถานการณ์ที่ต้องมาทำกิจกรรมกับที่บ้านในช่วงเทศกาลวันหยุด ที่เราเรียกว่า “งานรวมญาติ” (Family Gathering) ทั้งที่ตนเองอาจไม่ได้อยากไป อยากจะนอนพักหรือไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง ฯลฯ

ความกดดันว่าต้องมาใช้เวลาร่วมกับครอบครัวนี้เอง สามารถก่อให้เกิด ความเครียด ประเภทนี้

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

เครียดจากงาน ลามมาถึงที่บ้าน

หากจะกล่าวถึงสาเหตุหลักของ Holiday Stress จะมีความเกี่ยวโยงกับการทำงานค่อนข้างมากทีเดียว กล่าวคือรู้สึกกดดันว่า วันหยุดจะมารบกวนการทำงานของแต่ละคน เพราะบางคนต้องมีภาระรับผิดชอบกับครอบครัวในช่วงเทศกาลต่างๆ ทำให้เกิดความเครียดตามมา

ยิ่งไม่มีเงิน ยิ่งเครียดหนัก

ปัจจัยหนึ่งเลยที่เลี่ยงไม่ได้ที่เอามาคิดกัน ก็คือเรื่อง “เงิน” นี่แหละ ถ้าไม่มีเงิน ใครๆ ก็น่าจะเครียดกัน โดยเฉพาะหากเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว แล้วต้องเดินทางกลับบ้าน หรือต้องมีรวมญาติครอบครัวเนี่ย ถ้าเราไม่มีเงินเลยเนี่ย อย่างน้อยก็ต้องเครียดกับการกระทำสักอย่างในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือการจัดงานต่างๆ นี่แหละ

ในครอบครัวฐานะ “ปานกลางค่อนต่ำ” (Lower-middle) 

พบว่าเสี่ยงมากสุดที่คนในครอบครัวจะมีภาวะ Holiday Stress

มางานรวมญาติ เหมือนมาโดน “รุมทึ้ง”

Family Gathering นั้นเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวก็จริง ที่มักจัดขึ้นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลที่ทุกคนพร้อมหน้ากัน 

แต่เชื่อเถอะว่าหลายคนที่ไม่ชอบวันหยุด น่าจะมีสาเหตุมาจากการชอบถูก “คนในครอบครัว” ที่ส่วนมากจะเป็นญาติต่างบ้าน มาไถ่ถามเรื่องชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิปาถะทั่วไป หรือเป็นการถามกดดัน หรือเชิงดูถูกอื่นๆ ที่สร้างเป็นความรู้สึกโกรธหรือด้อยค่าในตนเองตามมาทีหลัง ทำให้แทนที่จะเป็นความสุข กลับเป็นความรู้สึกเครียด จนไปถึง “เกลียด” ช่วงเทศกาลนี้ไปเลย

“ไม่เจอนาน อ้วนขึ้นรึเปล่าเนี่ย”

“โตป่านนี้แล้ว มีงานทำรึยัง ลูกป้าเนี่ยส่งเงินให้ป้าแล้วนะ”

จากสถิติ ในผู้หญิง มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย

ด้วยขนบธรรมเนียมของสังคมที่มักกำหนดเรื่องของงานบ้านงานเรือนไว้กับผู้หญิง ทำให้ในทุกเทศกาลวันหยุดที่ครอบครัวจะมีการนัดรวมตัวกันนั้น จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2006 พบว่า ผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังจากครอบครัวให้กลับมาร่วมงานหรือจัดแจงงานเลี้ยงของครอบครัวมากกว่าเพศชาย 

ซึ่งในสหรัฐฯ เองที่เป็นวัฒนธรรมตะวันตกนั้นไม่ได้เด่นชัดเรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เท่ากับคนตะวันออกที่มีเทศกาลมากมายให้รวมตัวกัน วัฒนธรรมตะวันออกอย่างบ้านเรานั้นอาจจะเอื้อกว่าด้วยซ้ำในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ผลของ Holiday stress เด่นชัดตามไปด้วย

และในสมัยนี้ อาจไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีโอกาสถูกกดดัน 

ทุกเพศก็มีโอกาสเช่นกัน หากครอบครัวมีการบังคับให้มาร่วมงานเทศกาลครอบครัว 

โดยเจ้าตัวไม่เต็มใจ

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

วิธีลดความเครียด ขึ้นอยู่กับวิธีแต่ละคน

วิธีดูแลสุขภาพจิตนั้นมีหลากหลายเป็นร้อยวิธี แต่วิธีที่จะได้ผลจริงๆ นั้น ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์หรือแนวทางการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่ต้องลองทำค้นหาวิธีกันไป ไม่ว่าจะเป็นเล่นดนตรี ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือไปเที่ยวคนเดียว ฯลฯ ซึ่งการใช้วิธีเหล่านี้จะใช้อันไหนก็ได้ แต่หลักสำคัญคือ “ไม่ควรปล่อยความเครียดให้อยู่กับเรานาน” เพราะสิ่งนี้สามารถมากระทบกับชีวิตเราในภายหลังได้ ทำให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตอื่นตามมา

แนะนำทุกคนว่า รู้สึกอย่างไรให้ระบายออกผ่านบุคคลที่ไว้ใจ หรือทำในสิ่งที่เราชอบเรารัก

มีโอกาสช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้แน่นอน

พี่ๆ Dek-D ทุกคนเอาใจช่วยเสมอนะ มีอะไรอยากสอบถาม หรือคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ มาคอมเมนต์ให้พี่อ่านกันได้นะ สุดท้ายนี้ขอ.. สวัสดีปีใหม่ 2022 ล่วงหน้าครับ :)

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.apa.org/news/press/releases/2006/12/holiday-stresshttps://www.apa.org/news/press/releases/2006/12/holiday-stress.pdfhttps://www.verywellmind.com/understanding-and-managing-holiday-stress-3145230https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/mhw.33052
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น