เด็กอยู่บ้าน ไม่ได้แปลว่าเขาจะว่างตลอดเวลา

ในช่วงที่การเรียนออนไลน์ ได้กลายมาเป็นกิจวัตรประจำวันของเด็ก นั่นหมายถึงพวกเขาจะต้องเปลี่ยนตารางชีวิตตนเอง จากการได้ออกไปพบปะเพื่อน ๆ และผู้คน ให้ปรับมาอยู่บ้านเป็นหลักแทน

แต่การอยู่บ้านของเด็ก ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีเวลาว่างล้นเหลือเสมอไป เพราะแม้ผู้ใหญ่จะคุ้นชินว่าเด็กอยู่บ้าน คือพวกเขากลับจากการเรียนแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต่างออกไป ความเข้าใจเดิม ๆ ที่มีอยู่ ก็คงไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป

เป็นเด็กก็มีภาระงาน

วัยเด็ก อาจถูกฉายภาพทางความคิด ว่าคือช่วงเวลาที่ไม่มีเรื่องใดให้ต้องคิดหนักใจ หรือต้องแบกรับภาระงานที่หนักอึ้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอยู่ไม่น้อยเสียเลย

จากข้อมูลของ UNESCO พบว่าเด็กไทยช่วงวัย 9-13 ปี ที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าเด็กเหล่านี้มีชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี หรือเทียบเป็น 1 ใน 7 ของเวลาชีวิตในแต่ละปีเลยทีเดียว

ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงช่วงเวลาในการทำการบ้าน โครงงาน อ่านหนังสือ หรือการต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม ที่ต่างได้กินเวลาชีวิตของเด็ก ๆ ไปอย่างมาก เพื่อให้พวกเขาสามารถตามเพื่อนและหลักสูตรได้อย่างทันท่วงที ซึ่งลำพังการบริหารเวลาดังกล่าวในช่วงสถานการณ์ปกติ ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายแล้ว แต่ทุกอย่างก็ได้ถูกระดับขึ้นไปอีกขั้น ระหว่างที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่อย่างในปัจจุบัน

เพราะแต่ก่อน เด็กยังพอมีเส้นแบ่งระหว่างการเรียนและพักผ่อน กล่าวคือการออกนอกบ้าน เปรียบได้ดั่งจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาเรียนรู้ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน และยังพอที่จะมีเวลาได้ใช้เป็นของตนเอง ก่อนเดินทางกลับบ้านมาเพื่อจัดการงานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องทำ แล้วค่อยใช้เวลากับครอบครัวหรือพักผ่อนในภายหลังได้

แต่เมื่อเส้นแบ่งดังกล่าวได้หายไป นอกจากที่เด็กจะต้องปรับตัวกับการเรียนรู้แบบออนไลน์ ซึ่งไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าในห้องเรียนแล้ว สภาพแวดล้อมของแต่ละบ้านก็ยังมีความแตกต่างกัน อันมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กได้พอสมควรเลย

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังตั้งใจทำอะไรบางอย่างอยู่ แล้วดันมีเสียงที่ดังมาก ๆ เข้ามารบกวน หรือถูกใช้ให้ไปช่วยงานบางอย่างขึ้น แน่นอนว่าสมาธิของคุณได้พังทลายลงไปแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้น คุณอาจโต้ตอบกลับไปด้วยความไม่สบอารมณ์ จนนำไปสู่ความขุ่นเคืองใจขนาดย่อม ระหว่างคนในครอบครัวได้เช่นกัน

โชคยังดีหน่อย ที่เด็กไทยกำลังจะได้กลับไปศึกษาในห้องเรียนอีกครั้ง เมื่อช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษานี้ แต่ยังไงแล้ว พวกเขาก็ยังต้องใช้เวลาบางส่วนที่บ้านอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นช่วงการทำงานโปรเจค การบ้าน หรือเตรียมอ่านหนังสือสอบ แล้วจะมีวิธีอย่างไรบ้าง ที่จะช่วยให้คนสองช่วงวัยสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันได้บ้าง?

เด็กไม่ใช่สนามอารมณ์

ผู้ใหญ่ไม่ผิดที่จะเหนื่อยจากงานของตนเอง เช่นเดียวกันกับเด็ก ที่ย่อมมีสิทธิ์ในเวลาว่างของตนเอง เพราะไม่ว่าจะช่วงวัยไหน ก็ต้องแตะเบรคเพื่อพักผ่อน และป้องกันไม่ให้เกิดอาการแตกร้าวทั้งทางกายหรือจิตใจขึ้น

แน่นอนว่าด้วยวุฒิภาวะและความรับผิดชอบที่มี ทำให้ภาระงานของผู้ใหญ่ ย่อมไม่อาจนำมาเทียบกับเด็กได้อยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น การนำความรู้สึกแง่ลบทั้งหลายมาลงที่ตัวของเด็ก ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำเช่นกัน

การให้เด็กช่วยทำงานที่บ้านนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อตัวของพวกเขา จากการได้เรียนรู้งานและลองฝึกฝนทักษะทั้งหลาย แต่หากเกิดขึ้นผิดช่วงเวลา เช่น ระหว่างกำลังติดเรียน หรือมีภาระงานอยู่ ก็อาจเป็นผลเสียในระดับต่างกัน ไล่ตั้งแต่เป็นรอยแผลเล็ก ๆ ในจิตใจ หรือหนักเข้าจนถึงขั้นเป็น Adverse Childhood Experiences (ACE) ที่เป็นปมติดตัวไปตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้

สุดท้ายแล้ว เด็กแต่ละคนก็เป็นดั่งผ้าขาว ที่ต่างต้องเติบโตไปแต่งแต้มสีสันในแบบที่ตนต้องการ ซึ่งบ้านนี่แหละ คือสถานที่เริ่มต้นเส้นทางฝันของใครหลายคน และสมาชิกในครอบครัวแทบทุกคน ต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้าง หรือทำลายอนาคตคนหนึ่ง

การเปิดใจพูดคุย รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ยอมรับในตัวตนของกันและกัน และรวมถึงการปล่อยให้เด็กสามารถเติบโตไปในแบบที่ตนเองต้องการ อาจยังไม่ได้แพร่หลายนักในครอบครัวของเด็กไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถเริ่มต้นกันได้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมในการใช้ชีวิต หรือเป็นเซฟโซนที่ทำให้เด็กพร้อมจะเปิดใจ และเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพได้

เพราะว่าเด็ก ก็คือมนุษย์ ก็คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเผชิญมาก่อน และหากความเครียด วิตกกังวล ได้เข้ามาครอบงำในตัวพวกเขาแล้ว ผลกระทบจากความเครียดเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับสมองของเด็กนั้น มีความรุนแรงเทียบเท่ากับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในด้านความคิด ความจำ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยไข้เจ็บเมื่อเติบใหญ่แบบระยะยาวเลยทีเดียว

ดังนั้นแล้ว อย่าทำให้การอยู่บ้านของเด็กเหล่านี้ มันเป็นการทนอยู่ไปวัน ๆ สำหรับพวกเขาเลย แม้มันอาจเป็นความหวังดีของผู้ใหญ่ แต่คุณก็กำลังพังทลายชีวิตของเด็กเหล่านี้ไปแบบไม่รู้ตัวอยู่ก็เป็นได้

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด