จดเทคนิคฝึก Speaking อย่างมั่นใจ เรียนภาษาให้ได้เหมือนเล่นเกม!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D อย่างที่รู้กันว่านักเรียนไทยหลายคนเก่งแกรมมาร์มากกก บางคนสกิลการอ่านคือปัง แต่พอพูดบางทีกลับสะดุดและไม่มีความมั่นใจซะงั้น (ใครเป็นบ้างงง T^T) สำหรับใครที่อยากแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป พี่ปลื้มมีเทคนิคดีๆ จาก TEDx Talks ในหัวข้อ Learning a language? Speak it like you’re playing a video game โดยคุณ Marianna Pascal มาฝากค่ะ บอกเลยว่าหลังจากอ่านจบแล้ว ต่อให้ไม่เป๊ะภาษามาจากไหนก็สามารถเพิ่มความมั่นใจได้แน่นอน ถ้าพร้อมอัปสกิลตัวเองแล้วเราไปฟังพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ >_<

Marianna Pascal
Marianna Pascal
Photo Credit: youtube/TEDxPenangRoad

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคุณ Marianna (มาเรียนนา)  เธอเป็นอดีตนักแสดงชาวแคนาดาที่ผันตัวมาเป็นคุณครูด้านการฝึกทักษะการสื่อสาร  และได้เป็นวิทยากรใน TEDx หลายครั้งเลยค่ะ (แอบกระซิบว่าเป็นหนึ่งใน 80 TEDx ที่มีคนดูมากที่สุดทั่วโลกด้วยนะ) ซึ่งหลังจากมีประสบการณ์สอนนักเรียนในประเทศมาเลเซียและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอก็สังเกตว่านักเรียนบางคนสามารถสื่อสารได้ดีมาก ทั้งที่มีสกิลภาษาอังกฤษแย่สุดๆ เช่น “ไฟเซิล (Faizal)” หนึ่งในลูกศิษย์ที่แม้สกิลจะน้อยนิดแต่เขาสามารถนั่งฟังและสื่อสารภาษาได้เป็นอย่างดี!

ต่อมาคุณมาเรียนนาได้เปรียบเทียบทัศนคติของคนที่ไม่ชอบพูดภาษาอังกฤษกับพฤติกรรมการเรียนเปียโนของลูกสาวเธอเองที่เกลียดการเล่นเปียโนม๊ากกกก (ถึงขนาดห้อยหัวลงจากเก้าอี้เลยค่ะ55555) ซึ่งคนทั้ง 2 ประเภทนี้มีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน ได้แก่

  1. คิดว่าตัวเองจะถูกจับผิดว่ามีจุดผิดพลาดตรงไหน
  2. ติดการมองภาพลักษณ์ว่าคนแบบไหนถึงจะเรียกว่าเก่ง เช่น คนที่พูดภาษาเก่งต้องมีสำเนียงแบบนี้เท่านั้น และนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง
ลูกสาวของคุณ Marianna
ลูกสาวของคุณ Marianna
Photo Credit: youtube/TEDxPenangRoad

แต่หลังจากนั้นคุณมาเรียนนาก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่มีสกิลภาษาต่ำแบบไฟเซิลถึงสามารถสื่อสารออกมาได้ดีขนาดนั้นจนเธอได้เข้าไปพบคำตอบในร้านเกม 

“ฉันเห็นเด็กคนนึงเล่นเกมอยู่โดยมีเพื่อนอีก 3 คนล้อมอยู่ข้างหลัง แต่เด็กคนนั้นไม่อายหรือกลัวเลย เพราะสิ่งที่เขาต้องทำคือยิงคู่ต่อสู้ในเกมให้ตายเท่านั้น ฉันเลยคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ไฟเซิลคิดเช่นเดียวกับเด็กคนนี้ เพราะเวลาไฟเซิลต้องพูดภาษาอังกฤษเขาไม่รู้สึกว่าจะถูกจับผิด ไฟเซิลแค่โฟกัสอยู่กับคนที่กำลังคุยอยู่ด้วยและโฟกัสว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร”

Photo Credit: unsplash.com/Florian Olivo
Photo Credit: unsplash.com/Florian Olivo

คุณมาเรียนนาได้ยกตัวอย่างสถาการณ์ที่เธอเคยเจอมาตอนต้องไปซื้อยาโอเมก้า (Omega) ที่ร้านขายยา ในตอนที่เธอไม่รู้ว่าต้องซื้อ DHA หรือ EPA เธอก็ได้เจอคนขายคนนึงที่แต่งตัวดี แต่พอเข้าไปถามว่าควรซื้อยาตัวไหน ผู้หญิงคนนั้นก็ตกใจและเริ่มอธิบายเกี่ยวกับ DHA, EPA มาเยอะมากกก เร็วมากกก แต่ใจความคือไม่ได้อะไรเลยค่ะ5555 (ประมาณว่าพูดไม่ตรงจุดที่ถามเลยสักอย่าง)

คุณมาเรียนาเลยเปลี่ยนไปถามอีกคนแทน ซึ่งเธอเห็นว่าสกิลภาษาไม่ได้สูงอะไรเลย แต่น้องๆ รู้ไหมคะว่าผู้หญิงคนนี้พูดออกมาแค่ 2 ประโยคเท่านั้นกลับมีความชัดเจนและสื่อสารได้ดีกว่ามาก

“EPA for heart, DHA for brain” EPA บำรุงหัวใจ DHA บำรุงสมอง

“Your heart ok or not? Your brain ok or not?” หัวใจคุณปกติดีไหม แล้วสมองคุณล่ะปกติหรือเปล่า?

2 ประโยคนี้เท่านั้นแต่สามารถสื่อสารเข้าใจ แถมคุณมาเรียนนายังได้ยากลับบ้านด้วย! ทุกคนเห็นความต่างของคน 2 ประเภทนี้ไหมคะ คนแรกมีสกิลด้านภาษาสูงแต่พอต้องพูดกลับเกิดอาการวิตกกังวล อีกคนไม่มีอะไรเป๊ะแต่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน  ซึ่งคนที่วิตกกังวลนั้นอาจไม่รู้ว่าปัญหาความกลัวนี้เป็นปัญหาที่แต่ละคนสะสมมาตั้งแต่ในโรงเรียนแล้วค่ะ

Photo Credit: Freepik
Photo Credit: Freepik 

 “แต่เราก็ต้องยอมรับว่าหลายโรงเรียนไม่ได้สอนให้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้สนุก แต่ยังคงสอนเป็นภาษาสำหรับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และเด็กนักเรียนยังคงถูกตัดสินจากหลักที่ถูกต้อง มากกว่าการสื่อสารที่ชัดเจน

“ในตอนที่เรียน คุณได้ข้อสอบทำพาร์ตการอ่านและต้องตอบคำถามเพื่อดูว่าคุณเข้าใจในสิ่งที่อ่านจริงๆ หรือเปล่า ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าใจบทความนั้นแค่ไหน แต่ก็ยังได้กากบาทตัวใหญ่มาเพราะเขียนผิดแกรมมาร์”

“แน่นอนว่าเด็กๆ หลายคนได้เก็บความกลัวนี้ไปยังตอนทำงานด้วย และฉันสังเกตได้ว่าเมื่อตกอยู่ในอาการวิตก สมองคุณจะไม่ทำงานและสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นแบบนี้”

  1. ทักษะการฟังหายไป: มีคนมาคุยด้วยแต่เรายังคิดอยู่ว่าควรตอบอย่างไรให้ถูกต้อง สิ่งที่คนอื่นพูดเพิ่มมาก็จะไม่ได้ยินแล้ว (ประมาณว่าเข้าหูซ้ายทะลุออกขวาไปเลยค่ะ)
  2. คำศัพท์ในคลังสมองหายไป: อันนี้ทุกคนเคยเป็นแน่ๆ ค่ะ ตื่นเต้นจนลืมคำศัพท์ทั้งหมดที่เคยเรียนมา
  3. ความมั่นใจหายไป: หลังจากไม่สามารถพูดได้แบบที่ใจคิดแล้ว ความมั่นใจก็จะลดลง ซึ่งข้อนี้แย่ที่สุดค่ะ เพราะมันจะส่งผลต่อบุคลิกและการทำงานโดยตรง

หลังจากพูดถึงปัญหาจบผู้ฟังหลายคนต่างก็พยักหน้าเห็นด้วยกันทั้งนั้น คุณมาเรียนนาจึงแนะนำวิธีแก้ปัญหาสั้นๆ ก่อนจบการบรรยายว่า “ดังนั้นถ้าคุณต้องการพูดภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจแบบไฟเซิล สิ่งที่คุณต้องทำคือเวลาพูดคือ อย่าโฟกัสที่ตัวเอง ไปโฟกัสคนที่คุณคุยด้วยและผลลัพธ์ที่ต้องการเท่านั้นก็พอ

 

Let’s remember that English today is not an art to be mastered,

จำไว้ว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่จะเรียนเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญ

It’s just a tool to use to get a result. 

แต่มันคือเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อได้ผลลัพธ์

And that tool belongs to you.

และเครื่องมือนั้นมันคู่ควรกับคุณด้วย

 

เป็นยังไงกันบ้างคะกับ TEDx เรื่องนี้ ตอนพี่ฟังจบพี่นี่อยากลุกขึ้นปรบมือเลย เพราะส่วนตัวก็เคยเจอปัญหาตามที่คุณมาเรียนนาพูดเหมือนกันและเชื่อว่าน้องๆ ก็ด้วย 5555  แต่ปัญหาเหล่านี้เราสามารถแก้ได้แน่นอนด้วยการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง และอย่ากังวลกับเรื่องถูกผิดมากเกินไป ลองปรับไปเรื่อยๆ ทำตามที่คุณมาเรียนนาบอกพี่คิดว่าทุกคนสามารถทำได้แน่นอนค่ะ Keep fighting!! 

 

References:https://unsplash.com/ https://pixabay.com/ https://www.amazon.com/Marianna-Pascal/e/B001JS3QDA%3Fref=dbs_a_mng_rwt_scns_share 

 

พี่ปลื้ม
พี่ปลื้ม - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด