งานหนักฆ่าคนได้! สำรวจอาชีพคนส่งของเกาหลีใต้ในยุคโควิด-19

Spoil

  • คนส่งของเกาหลีต้องเตรียมพัสดุก่อนส่งเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง ทุกวัน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
  • บริษัทขนส่งแห่งหนึ่งโฆษณาว่า ถ้าสั่งสินค้าก่อนเที่ยงคืนจะได้รับของก่อน 7 โมงเช้าในวันรุ่งขึ้น
  • กวาโรซา (과로사) หมายถึง ความตายที่เกิดจากการทำงานหนัก

เมื่อพูดถึงเดลิเวอรี่ ชาว Dek-D หลายคนคงนึกถึงประเทศเกาหลีกันเลยใช่ไหมคะ ขนส่งประเทศนี้เรียกได้ว่าไวเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แต่เบื้องหลังของเดลิเวอรี่รวดเร็วทันใจนี้ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด มาดูกันว่าการสั่งสินค้าปุ๊บได้ปั๊บนี้ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

คนส่งของในเกาหลีใต้

            อาชีพคนส่งของในเกาหลีถือเป็นงานหนัก ในทุกวันต้องคัดแยกพัสดุ จัดเรียงตามที่อยู่ เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมงก่อนเริ่มเดินทางส่งสินค้า โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนค่ะ รายได้จะเริ่มนับเมื่อพัสดุถึงที่หมายแล้ว เงินที่ได้เฉลี่ยประมาณ 20 บาทต่อชิ้นเท่านั้นเอง

            กฎหมายแรงงานเกาหลีใต้กำหนดระยะเวลาการทำงานไว้ที่ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ข้อบังคับนี้ก็ใช้ไม่ได้กับคนส่งของในเกาหลีใต้ได้  เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้จำนวนพัสดุที่ต้องจัดส่งเพิ่มมากขึ้น นาย Kwon Doo-seon คนส่งของอายุงานกว่า 10 ปีเล่าว่า ปกติเขาทำงานโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน จำนวนพัสดุที่ต้องส่งประมาณ 400 ชิ้น แต่พอมีโรคโควิด-19 ระบาด ชั่วโมงการทำงานเพิ่มเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน และต้องส่งของมากถึง 500-600 ชิ้นทุกวัน

ขนส่งเร็วทันใจ

            เทรนด์การสั่งของออนไลน์กลายเป็นเรื่องจำเป็นขึ้นมาในยุคโควิด-19 ข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้เผยว่าปริมาณการขนส่งสินค้าเดลิเวอรี่มีจำนวนมากถึง 3.37 ล้านชิ้นในปี ค.ศ. 2020 โดยเพิ่มขึ้นถึง 21% จากปีที่แล้วค่ะ  

ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสทองของธุรกิจขนส่งในเกาหลี บริษัทขนส่งแต่ละรายเร่งทำเวลาส่งสินค้าให้เร็วที่สุด เพื่อแย่งชิงปริมาณลูกค้ากันอย่างดุเดือด อย่างเช่น บริษัท Coupang อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่ได้ทำการโฆษณาว่า ถ้าสั่งสินค้าก่อนเที่ยงคืนจะได้รับของที่สั่ง 7 โมงเช้าในวันรุ่งขึ้นเลย

แต่บริการนี้ก็เกิดปัญหา หลังพบว่ามีคนส่งของต้องทำงานหนักจนเสียชีวิตหลายราย จึงเกิดกระแสต่อต้านบริการขนส่งแบบเร็วทันใจนี้ ชาวเกาหลีบางคนแสดงความเข้าใจและไม่ต่อว่าคนส่งของ เมื่อเกิดความล่าช้าในการขนส่ง หรือเตรียมเครื่องดื่มไว้ให้คนส่งของเลยก็มี

วัฒนธรรม ‘กวาโรซา (과로사)’ 

   กวาโรซา หรือในชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า คาโรชิ หมายถึง ความตายที่เกิดจากการทำงานหนัก โดยจากสถิติพบว่า คนส่งของเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจาก 1-4 คน/ปี ในปี ค.ศ. 2015-2019 เป็น 9 คนในครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 2020

            หากจะอธิบายกวาโรซาให้เห็นภาพ ก็ต้องขอยกตัวอย่าง นาย Jang Duek-jun อายุ 27 ปี อาชีพคนส่งสินค้า นายจางเสียชีวิตลงหลังกลับจากทำงานกะดึก ที่โกงดังสินค้าบริษัท Coupang แต่เดิมนายจางเป็นคนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ แม้บริษัทจะปฏิเสธว่าเป็นการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก แต่หน่วยงานรัฐยืนยันว่าการตายของเขามาจากการทำงานเกินกำลัง

            ข่าวคนส่งสินค้าเสียชีวิตจากการทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสวัสดิภาพของคนส่งสินค้า และกระทรวงแรงงานเกาหลีก็กระตุ้นให้บริษัทโลจิสติกส์รับสมัครคนส่งของเพิ่ม เพื่อให้มีคนมากพอกับปริมาณงาน แต่หัวหน้าสหภาพคนส่งสินค้าบอกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมากนัก คนส่งของยังไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรได้ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย อีกทั้งยังต้องทำงานหนักและมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดี

 

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือเกาหลีใต้ อาชีพใดๆ อาจต้องทำงานหนักมากขึ้นหรือเผชิญความเปลี่ยนแปลงในการทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19  เพราะฉะนั้นอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์กันด้วยนะคะ เพื่อนๆ ชาว Dek-D คนไหนเจอความยากลำบากในการเรียนหรือทำงานออนไลน์กันบ้าง แล้วมีวิธีการดูแลสุขภาพตัวเองยังไงกันบ้าง มาแชร์กันค่ะ 

 

ที่มาhttps://www.channelnewsasia.com/asia/south-korea-gwarosa-overwork-delivery-workers-deaths-316646https://www.theweek.co.uk/97569/gwarosa-why-koreans-are-working-themselves-to-death
พี่โบว์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด