รู้หรือไม่ คนเรามีเพื่อนได้ไม่เกิน 150 คน

เคยไหม เวลาที่ต้องการจะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคน แต่ต้องแตะเบรคดังเอี๊ยดกับคำว่า “เป็นเพื่อนกันก็ดีอยู่แล้ว” จนเกิดความรู้สึกลึก ๆ ในใจ ที่อยากสวนกลับไปว่า “เรามีเพื่อนมากพอแล้วนะ!” เสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

แต่ประโยคดังกล่าวก็ไม่ใช่แค่ข้ออ้างให้รู้สึกสบายใจเพียงอย่างเดียว เพราะมนุษย์เรามีขีดจำกัดของจำนวนเพื่อนที่มีได้จริง และไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงระดับ 5,000 คนเหมือนในเฟซบุ๊ก เพราะจากทฤษฎีของคุณ โรบิน ดันบาร์ นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ พบว่าคนเราสามารถมีเพื่อนได้แค่ 150 คนเท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าวมีที่มาได้อย่างไร ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน

ทำไมถึงมีเพื่อนได้แค่นี้?

ย้อนกลับไปในปี 1992 ดันบาร์ ได้ลองศึกษาสมองของสัตว์จำพวกไพรเมทชนิดต่าง ๆ และได้พบความเชื่อมโยงระหว่างขนาดของสมองส่วนนีโอคอร์เทกซ์ เมื่อเทียบกับขนาดของร่างกาย ที่มีต่อจำนวนของสัตว์ในสังคมของพวกมัน 

สมองส่วนนีโอคอร์เทกซ์นั้น เป็นส่วนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับล่าสุด ซึ่งรับผิดชอบกับความรู้สึกนึกคิด ภาษา ประมวลข้อมูลและตรรกะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ โดยในมนุษย์เรา นีโอคอร์เทกซ์คือสมองชั้นนอกสุด อยู่เหนือส่วนของลิมบิกเบรนและโอลด์เบรน

เมื่อพบความเชื่อมโยงจากการศึกษาชุดข้อมูลดังกล่าว ดันบาร์ ก็ได้ลองเทียบขนาดของนีโอคอร์เทกซ์ กับขนาดของร่างกายมนุษย์ และได้เป็นตัวเลข 148 คนออกมา ก่อนที่จะถูกปัดขึ้นให้เป็น 150 คน อย่างที่ถูกส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ถูกยกขึ้นจากการหาความเชื่อมโยงของสมองเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น การตั้งเผ่าในอดีต มาจนถึงการแบ่งกลุ่มในกองทัพ ที่ทำงาน หรือรายชื่อคนที่เราส่งคำอวยพรปีใหม่ไปให้ในปัจจุบันอีกด้วย

การที่จำนวนเพื่อนถูกจำกัดไว้ที่ 150 คนแบบนี้ ก็เพราะมนุษย์เรามีขีดจำกัดในการรักษาความสัมพันธ์ได้ในระดับหนึ่ง คือหากมีจำนวนเพื่อนเกินกว่านี้ อาจทำให้ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างครบถ้วน กับทุกคนในลิสต์ที่เรียกว่าเพื่อนได้ ซึ่งก็เป็นผลกระทบโดยตรง จากข้อจำกัดในการประมวลผลของนีโอคอร์เทกซ์นั่นเอง

แบบไหนถึงเรียกว่าเพื่อน

เพราะชีวิตคนเรา ต่างได้พบเจอกับผู้คนมากมายที่ผ่านเข้ามาอยู่แล้ว และจะแบ่งแต่ละคนให้เข้าข่ายกับระดับความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรกัน?

ดันบาร์ จึงให้คำนิยามเพื่อนในลิสต์ 150 คนเหล่านี้ไว้ว่า “คนที่เราไม่รู้สึกเขินอาย หากถูกชวนไปนั่งดื่มด้วย เมื่อเผอิญมาเจอกันในบาร์โดยมิได้นัดหมาย… และจะรู้สึกผิดเสียยิ่งหว่า ถ้าไม่ได้ตอบตกลงไป”

และจากใน 150 คนที่นับเป็นเพื่อนได้นี้ ดันบาร์ ยังได้จำแนกแยกย่อยลงไปอีก โดยหากมองแผนภูมิความสัมพันธ์เป็นวงกลมที่ทับซ้อนกัน วงกลมชั้นในสุดนั้นจะประกอบไปด้วยเพื่อนสนิทประมาณ 5 คน ถอยออกมาก็จะเป็นเพื่อนที่ค่อนข้างใกล้ชิดอีกราว 15 คน ที่อาจไม่ได้สนิทถึงขั้นที่ต้องพูดคุยกันเมื่อมีโอกาส แต่การขาดหายไปของพวกเขา ก็พร้อมทำให้เรารู้สึกโหว่งอยู่ภายในใจได้

ที่วงกลมชั้นนอกสุด คือกลุ่มเพื่อนราว 50 คน ที่เรามีปฏิสัมพันธ์ได้บ่อยขึ้นมาหน่อย ก่อนจะถึงตัวเลขของกลุ่มสังคม 150 คน ที่เราสามารถเรียกเขาว่าเป็นเพื่อนได้อย่างเต็มปาก

หากยังมองไม่เห็นภาพ ให้นึกว่าวงกลมดังกล่าว เหมือนกับกลุ่มไลน์ในโทรศัพท์ ที่มีทั้งกลุ่มในระดับชั้น กลุ่มห้อง กลุ่มของก๊วนเพื่อน และกลุ่มของเพื่อนสนิท ซึ่งจะเห็นความแตกต่างทั้งจากจำนวนสมาชิกร่วมกลุ่ม ที่แปรผกผันกับความถี่ของบทสนทนาในกลุ่มนั้น ๆ นั่นเอง

นอกจากในระดับเพื่อนแล้ว ดันบาร์ ยังได้พบว่าคนเราสามารถมีคนรู้จักได้ราว 500 คน ที่อาจเคยมีบทสนทนากัน หรือพบเจอจากงานต่าง ๆ และพูดคุยเป็นครั้งคราได้ โดยที่วงกลมชั้นนอกสุดนั้น คือ 1,500 คนที่เราสามารถจดจำได้ ไม่ว่าจะผ่านชื่อหรือหน้าตาก็ตาม

ชีวิตจริงเป็นแบบนี้ไหม?

แน่นอนว่าตัวเลขชุดดังกล่าว ได้ถูกตั้งคำถามถึงความแม่นยำ และมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้เสนอข้อโต้แย้งขึ้นมา เช่นทฤษฎีของ เบอร์นาร์ด-คิลเวิร์ท ที่ระบุว่าเราสามารถมีเพื่อนได้มากถึง 231 คน ด้วยกัน

ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยหลายอย่างของมนุษย์ ที่บางคนอาจมีความเป็น Introvert และให้ความสำคัญกับวงกลมชั้นในของความสัมพันธ์ จนอาจมีตัวเลขจำนวนของเพื่อนที่น้อยกว่าบรรดา Extrovert ที่สามารถมีเพื่อนได้อย่างกว้างขวาง และด้วยอุปนิสัยกับอัธยาศัยของบุคคลนั้น ๆ ก็อาจมาเป็นปัจจัยที่เพิ่มจำนวนของเพื่อนให้มากกว่าค่าของ ดันบาร์ ก็เป็นได้

ด้วยบริบทของสังคมในปัจจุบัน โอกาสในการรู้จักและพูดคุยกับผู้คนหน้าใหม่นั้น กลายเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเดิม ทั้งจากความช่วยเหลือของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ที่อาจมาเป็นส่วนต่อขยาย ให้สมองเราสามารถจดจำ และดูแลความสัมพันธ์ในระดับเพื่อน ได้เกินกว่า 150 คนก็เป็นได้

ดังนั้น ใครที่สามารถมีเพื่อนได้มากกว่า 150 คน มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็ควรค่าแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาผู้นั้นนอกจากมีทักษะในการเข้ากับคนอื่นได้แล้ว ก็ยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ได้เก่งอีกด้วย

ส่วนใครที่มีน้อย มีไม่ถึง ก็ไม่ต้องเสียใจหรือคิดมากไป เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อนก็ยังคงเป็นเพื่อนของเราอยู่ดีนะ

สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ประสบปัญหาอย่างตอนต้นของบทความ และยังไม่ต้องการเพื่อนเพิ่มอีกหนึ่งคน ก็ขอให้อย่าเพิ่งหมดหวังไปนะ สักวันเราต้องได้เจอใครสักคน ที่กระโดดเข้ามาสู่วงกลมชั้นในสุดของความสัมพันธ์ได้เลยแหละ :)

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด