Spoil

  • การชอบดู IG Story ของตัวเองบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหลายคนก็เป็นกัน และมีคำอธิบายทางจิตวิทยาด้วย
  • "ทฤษฏีกระจกส่องตน" บอกว่า เราดู Story ตัวเองบ่อยๆ เพราะต้องการเช็กให้แน่ใจว่าคนอื่นมองเห็นเราแบบไหน และมันตรงกับตัวตนของเราหรือไม่
  • "ทฤษฏีการแสดง" บอกว่า Story ที่ลงไปนั้นเรียบได้ดั่ง presentation ของเราในโลกเสมือนจริง เราจึงดูแล้วดูอีกเพราะอยากไตร่ตรองมันอีกหลายๆ รอบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฟังก์ชั่น Story ของ Instagram นั้นเป็นอะไรที่ปังมากๆ เพราะเปรียบเสมือนไดอารี่รูปภาพ+วิดีโอของแต่ละคนที่ไม่ต้องพิถีพิถันในการโพสต์ ทำให้ได้เห็นกิจวัตรประจำวันชิลๆ ตัวตน และความเรียลของชาว Instagram จนการส่องดู Story ของแต่ละคนนั้นกลายเป็นเรื่องสนุกๆ เรื่องหนึ่งในการเล่น Instagram ไปเลย

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกแหละ ว่าสำหรับหลายๆ คน Story ที่กดดูบ่อยมากก ไม่ใช่ Story ของเพื่อนสนิท ดาราคนโปรด หรือคนที่แอบชอบแต่อย่างใด แต่กลับเป็น Story ของตัวเอง! เรียกว่าลงเองแท้ๆ แต่ก็กดดูอยู่นั่น ไม่รู้จะทำอะไรก็กลับมาดูเล่นๆ อีก แถมบางคนยังมีการกลับไปดู archive เก่าๆ ที่เคยลงไว้ในอดีตด้วย พฤติกรรมแบบนี้หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองแปลกรึเปล่า แต่จริงๆ แล้วไม่แปลกเลยค่ะ  และจิตวิทยาก็มีคำตอบให้เรื่องนี้ด้วย

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

The Looking Glass Theory : ทฤษฎีกระจกส่องตน

ด็อกเตอร์ Allison Forti ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาแห่ง Wake Forest University ได้กล่าวว่าการที่คนๆ หนึ่งชอบดู Story ตัวเองซ้ำๆ นั้นอาจเกิดจากกระบวนการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “The Looking Glass Factor” หรือ “กระจกส่องตน” ซึ่งว่าด้วยพื้นฐานของการรับรู้เกี่ยวกับตนเองของมนุษย์เรา มักจะมีที่มาจากการรับรู้ว่าคนอื่นมองเราอย่างไร ซึ่ง IG Story ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการทำให้เราได้รับรู้ว่าคนอื่นมองเห็นเราอย่างไรบ้างนั่นเอง

ด็อกเตอร์ Forte กล่าวว่า “การที่คนๆ หนึ่งชอบดู IG Story ตัวเองซ้ำๆ อาจเป็นเพราะ พวกเขาต้องการดูให้แน่ใจว่าตนเองในสายตาคนอื่นเป็นอย่างไร หรือ Story ที่ลงไปนั้นบ่งบอกตัวตนของพวกเขาหรือไม่ พูดให้ง่ายขึ้นคือ หาก IG Story ที่ลงไปเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดูดี ดูตลก หรือดูฉลาด สามารถคาดหวังฟีดแบ็กในทางบวกจากคนดูได้ พวกเขาก็จะยิ่งกดดูมันซ้ำๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นที่ได้เห็นมุมดีๆ ของตนเองที่คนอื่นให้การยอมรับ”

ภาพจาก  unsplash.com
ภาพจาก  unsplash.com

The Performance Theory : ทฤษฎีการแสดง

ด็อกเตอร์ Kent Bausman ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาแห่ง Maryville University ยังมีอีกทฤษฎีที่เขาคิดว่าเกี่ยวข้องกัน นั่นก็คือ “ทฤษฎีการแสดง” หรือ “The Performance Theory” เป็นแนวคิดที่ว่าพฤติกรรมของคนแต่ละคนก็เปรียบได้ดั่งการแสดงของนักแสดงบนเวที (Dramaturgy) การที่เราออกไปยังที่สาธารณะ หรือพบเจอผู้คน เราจะแสดงตัวตนในแบบฉบับที่ต้องการให้ทุกคนได้เห็นโดยอัตโนมัติ เปรียบได้กับ การแสดงหน้าเวที (front stage performance) แต่เมื่อไหร่ที่เรากลับมาถึงบ้าน อยู่คนเดียวในพื้นที่ที่มีแต่ตนเอง เวลานั้นก็คือ หลังเวที (backstage) ในชีวิตเรา

ทฤษฎีนี้ของด็อกเตอร์ Bausman ทำให้เข้าใจได้ว่า การเกิดขึ้นของ Social Media ทำให้กำแพงระหว่างหน้าเวทีและหลังเวทีของมนุษย์เราแคบลง เห็นได้ชัดจาก IG Story ที่ทำให้หลายๆ คนได้แสดงตัวตนอีกด้านหนึ่งที่เรียล และเป็น หลังเวที มากขึ้น จึงอธิบายได้ว่า การที่คนเราหมั่นดู IG Story ตนเองบ่อยๆ นั้นคือการ ไตร่ตรอง (reflect) ด้วย โดยด็อกเตอร์ Bausman กล่าวว่า “IG Story เปรียบเสมือนการนำเสนอ (presentation) ตัวตนของเราในโลกเสมือนจริง (virtual world) การกลับไปดูมันบ่อยๆ จึงเป็นการไตร่ตรองดูอีกครั้งนั่นเอง”

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

เอาล่ะ รู้แบบนี้แล้วหลายคนอาจสบายใจขึ้นมานิดๆ ว่าเราไม่ได้ผิดปกติ หรือเป็นคนหลงตัวเองแต่อย่างใด ที่ชอบกดดู Story ของตัวเองวันละหลายๆ รอบ แต่ถึงจะรู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จิตวิทยาอธิบายได้ เราก็ต้องระมัดระวังการใช้ Social Media ของตัวเองอยู่ดีนะคะ เพราะหากเราใช้เวลาหมกมุ่นกับมันมากเกินไป จนกระทบกับชีวิตประจำวันคงไม่ดีแน่ๆ เอาเป็นว่าเล่นในเวลาว่างเพื่อให้สมองได้ผ่อนคลาย และวางโทรศัพท์แล้วออกไปขยับตัวใช้ชีวิตบ้าง ก็จะดีต่อทั้งสุขภาพกายแล้วสุขภาพจิตของเราเลยค่ะ

น้องๆ ชาว Dek-D ชอบโพสต์อะไรลงใน IG Story บ้าง มาบอกกันได้นะ (ส่วนพี่กวางชอบโพสต์รูปของกินที่สุดเลย 555)

 

แหล่งอ้างอิงhttps://thetab.com/ 
พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด