แฮมเบอเกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ แต่มีประโยชน์กว่าแบบมีเนื้อ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากว่าเราสามารถแทนที่เนื้อสัตว์ในมื้ออาหาร ด้วยเนื้อจากพืช ที่ไม่มีส่วนใดทำมาจากสัตว์เลย และไม่ทำให้เมนูดังกล่าว ต้องสูญเสียรสชาติไปจากเดิมได้ และไม่ใช่อาหารเจ

อาจฟังดูเป็นเรื่องที่หลุดออกมาจากแนวคิดในหนังไซ-ไฟ หรือยากที่จะจินตนาการให้เห็นภาพได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบัน เมนูอาหารดังกล่าว ได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรากันแล้ว และนี่อาจเป็นก้าวที่สำคัญ ในการช่วยกันดูแลโลกของเราให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย

มาทำความรู้จักกับเนื้อจากพืช หรือ Plant-based meat เทรนด์ของอาหารเนื้อที่ไม่มีเนื้อ ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สามารถส่งผลดีต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้อย่างไร

Hamburger from plant-based meat
Hamburger from plant-based meat

ต่างจากอาหารเจอย่างไร

เมื่อพูดถึงชื่อของ Plant-based meat ก็ทำให้พอทำความเข้าใจได้ว่า เนื้อในรูปแบบดังกล่าวนั้น ถูกผลิตขึ้นจากผลผลิตของพืช โดยไม่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่หากนึกถึงเนื้อจำลองที่ทำจากพืชแล้ว อาหารเจ ก็ถือว่าอยู่ในประเภทเดียวกันด้วยไม่ใช่หรือ แล้ว Plant-based meat นั้นมีความแตกต่างจากอาหารเจในส่วนไหนบ้าง?

Plant-based meat นั้นมีองค์ประกอบหลักจาก ธัญพืช, มะพร้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี, และฮีม โดยที่สามารถใช้เครื่องเทศและสมุนไพร เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติให้กับอาหารได้

ในขณะที่อาหารเจโดยส่วนมากนั้น จะใช้หมี่กึงกับโปรตีนเกษตร ที่มีส่วนประกอบจากแป้งเป็นหลัก เพื่อใช้ในการทดแทนเนื้อสัตว์ในส่วนประกอบของอาหารนั้น ๆ

นอกจากส่วนประกอบที่แตกต่างกันแล้ว สิ่งที่ทำให้ Plant-based meat กลายเป็นที่นิยมและติดตลาดอยู่ในปัจจุบัน คือความสามารถในการคงรสชาติของเนื้อสัตว์เอาไว้ จนยากที่จะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง ระหว่างเนื้อสัตว์ทั่วไป กับเนื้อจากพืชเลย

ส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อจากพืช ยังคงรสชาติและกลิ่นที่ใกล้เคียงกับเนื้อทั่วไป คือ “ฮีม” (Heme) อันเป็นโมเลกุลที่พบได้มากภายในเนื้อสัตว์ แต่สำหรับเนื้อ Plant-based meat แบบนี้ ก็ได้มีการค้นคว้าและดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อนำฮีมในรากของต้นถั่วเหลือง มาผลิตใช้งานได้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นเบื้องหลังของรสชาติและผิวสัมผัสที่คล้ายเนื้อสัตว์แบบนี้ได้

แต่นอกจากการคงรสชาติของเนื้อเอาไว้ได้แล้ว Plant-based meat ยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของผู้บริโภค เช่นเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย

ประโยชน์ที่มากกว่าแค่อร่อย

เริ่มแรกนั้น เมื่อเนื้อเหล่านี้ไม่ได้แตะต้องเนื้อสัตว์เลย จึงทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า ร่างกายของเราจะไม่ได้รับสารปฏิชีวนะ หรือสารเร่งโตที่อาจตกค้างอยู่ภายในเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่ออุสาหกรรมการผลิตเหล่านี้ได้ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก จากความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคติดเชื้อดื้อยา จากการเลี้ยงในรูปแบบนี้

และด้วยเหตุผลที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้การรับประทานเนื้อไร้เนื้อเหล่านี้ ไม่เพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอลภายในร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน แถมการเพิ่มฮีมเข้าไปเป็นส่วนประกอบ ยังช่วยในด้านการลำเลียงออกซิเจน เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ควบคู่ไปกับการคงรสชาติของเนื้อดังกล่าว ให้น่าทางอยู่ดั่งเคย

ทีนี้ นอกจากผลดีที่มีต่อร่างกายของเราแล้ว การรับประทานเนื้อจากพืช ยังสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรบนโลกของเรา เพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และใช้ระหว่างการแปรรูปเนื้อของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ให้กลายมาเป็นมื้ออร่อยบนโต๊ะอาหาร

นั่นเพราะการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่งการบริโภค ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปแล้ว ซึ่งนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อใช้ในการตั้งโรงงาน หรือเพื่อเพาะปลูกอาหารสัตว์ ที่ต้องใช้ปริมาณของพืชมากถึง 25 กิโลกรัม และน้ำสะอาดมากกว่า 15,000 ลิตร เพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อวัว 1 กิโลกรัม ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวกำลังร่อยหรอลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน 

โดยสิ่งเดียวที่เพิ่มขึ้นมา คือปริมาณของก๊าซเรือนกระจกกว่า 14.5% ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศของโลกนั้น มีต้นกำเนิดมาจากการปศุสัตว์เพื่อป้อนเข้าสู่อุสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก กับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ส่วนในด้านของเนื้อจากพืช มีงานวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจาก Plant-based meat เทียบกับเนื้อสัตว์ทั่วไป พบว่าในกระบวนการผลิต มีการใช้น้ำน้อยลงถึง 99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 90% และใช้พลังงานในทุกขั้นตอนลดลงไปถึง 46% ด้วยกัน

เนื้อจากพืชกำลังเริ่มเป็นที่ได้รับความสนใจในนานาประเทศ รวมถึงในไทยด้วยเช่นกัน ที่เริ่มพบเห็นเมนูที่ทำมาจาก Plant-based meat ได้ตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือตามร้านอาหารชื่อดังหลายแห่ง ด้วยราคาที่ยังคงเข้าถึงได้ และไม่แพงไปจากเนื้อสัตว์ทั่วไปมากนัก

เมื่ออาหารการกิน เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน จากการรับประทานอาหารเพื่อความอยู่รอด สู่ยุคที่เราได้ดื่มด่ำกับสุนทรีย์ในมื้ออาหาร และเลือกกินเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น จึงทำให้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เข้ามาเพื่อพัฒนาหลักโภชนาการของเรา เช่นเดียวกับที่ Plant-based meat เริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้นั่นเอง

พี่กร

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น