ชวนดู! 4 ประเด็นทางสังคมน่าสนใจที่ไม่ควรพลาดใน “Dare to love ให้รักพิพากษา”

Spoil:

  • การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ!
  • คนที่มีอาการโฟเบียแปลกๆ ไม่ใช่เรื่องตลก
  • สังคมปิตาธิปไตยในการทำงานกดทับผู้หญิง

มีใครช่วงนี้ติดละครจนนอนดึกบ้างยกมือขึ้น! ช่วงนี้บอกเลยว่าละครไทยแนวน่ารัก ฟีลกู๊ดที่มาแรงแซงทางโค้งคงหนีไม่พ้น “Dare to love ให้รักพิพากษา” ที่นำแสดงโดย เบลล่า ราณีและกองทัพ พีค ว่าด้วยเรื่องราวของ "ทนายทิชากร" ทนายสาวที่ทั้งสวยทั้งเก่งผู้มีเป้าหมายหวังจะเป็นพาร์ตเนอร์หญิงคนแรกของบริษัททนายชื่อดัง และ "คิว" เด็กฝึกตั๋วทนายรุ่นน้องที่แอบหลงรักทิชากรมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ตามมาทำงานที่เดียวกับทิชากร

แต่นอกจาก Dare to love ให้รักพิพากษา จะเป็นละครแนวฟีลกู๊ดอารมณ์ดี ในความฟีลกู๊ดคลายเครียดนั้นในให้รักพิพากษานี้ก็ยังแฝงไปด้วยประเด็นทางสังคมมากมายที่น่าสนใจด้วย จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลย!

ระวัง! บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของละคร Dare to love ให้รักพิพากษา

 

Empowering  Women ผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง

ภาพจาก Instagram  @cholumpi_production
ภาพจาก Instagram  @cholumpi_production

เราจะเห็นกันตั้งแต่เปิดเรื่องมาเลยว่าทิชากรหรือว่าทิชานั้นเป็นทนายสาวที่มีความเก่งกาจ แถมนอกจากเก่งแล้วยังสวย ครบเครื่องทุกอย่างเลยก็ว่าได้ และเธอก็เป็นทนายหญิงที่มีฝีมือดีติดอันดับต้นๆ ของบริษัท แต่ถึงอย่างนั้นความเป็นผู้หญิงของเธอกลับทำให้โดนดูถูกจากทนายรุ่นพี่และแฟนเก่าอยู่เสมอไม่ว่าเธอจะเก่งและทำผลงานออกมาได้ดีแค่ไหน เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงภาพของผู้หญิงในสังคมการทำงานที่ต้องโดนกดทับจากสังคมปิตาธิปไตย (สังคมชายเป็นใหญ่) แต่ตัวทิชาเองไม่เคยยอมแพ้กับคำดูถูก  ทิชาเป็นตัวละครที่ถ่ายทอดผู้หญิงที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง ไม่ได้เป็นผู้หญิงที่รอคอยแต่การช่วยเหลือ แต่กล้าที่จะลงไปช่วยเหลือผู้อื่น และทำทุกอย่างด้วยความมั่นใจ แสดงภาพของผู้หญิงยุคใหม่ออกมาได้อย่างเด่นชัด!

อาการโฟเบีย ไม่ใช่เรื่องตลก!

ภาพจาก Instagram  @bellacampen
ภาพจาก Instagram  @bellacampen

มีเพื่อนๆ ชาว Dek-D คนไหนกลัวอะไรเป็นพิเศษแบบฝังจิตฝังใจจนเรียกว่าเป็นอาการโฟเบีย (โรคกลัว) ไหมคะ อาการโฟเบียเมื่อเกิดขึ้นแล้วบางทีอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ใจสั่นหรือบางทีอาจถึงกับหมดสติได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องตลกหรือว่าเกินจริงเลย อย่างตัวละครทิชาเองในเรื่องเธอก็มีอาการโฟเบียคือโรคกลัวสุนัขอย่างรุนแรง เช่นในฉากที่เจอสุนัขวิ่งไล่ ทิชามีอาการตัวแข็งทื่อและกลัวจนไม่สามารถคุมสติได้ 

หรือแม้แต่อาการกลัวขนเงาะของทิชาที่ฟังดูแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องขำขัน แต่อันที่จริงแล้วสำหรับคนที่มีอาการโฟเบียนั้นเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องตลกที่ควรเอามาทำเป็นเรื่องขบขัน ซึ่งตัวละคร คิว นั้นที่รู้ว่าทิชากลัวอะไรก็พยายามเข้าใจและไม่เคยมองเป็นเรื่องตลกเลย เช่น เมื่อรู้ว่าทิชากลัวขนเงาะ คิวก็ไม่ได้เอาเงาะมาแกล้งทิชาแต่กลับนั่งตัดขนเงาะเพื่อให้ทิชาสามารถกินเงาะที่ตัวเองชอบได้นั่นเอง

การพบจิตแพทย์ ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะ

ภาพจากละครเรื่อง Dare to love ให้รักพิพากษา
ภาพจากละครเรื่อง Dare to love ให้รักพิพากษา

ภาพจำของละครยุคเก่าอาจทำให้การไปพบจิตแพทย์นั้นดูเป็นเรื่องใหญ่มาก ดูเป็นสิ่งที่ผิดปกติและในบางครั้งทำให้การไปพบจิตแพทย์ดูเป็นเรื่องขบขัน แต่ในละครให้รักพิพากษานี้ได้มีการให้มุมมองการไปพบจิตแพทย์ในรูปแบบใหม่นั่นก็คือการทำให้การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องปกติ ในเรื่องให้รักพิพากษามีตัวละครถึงสองตัวที่มาพบจิตแพทย์ คนแรกก็คือ พี่เป้ สามีของเพื่อนสนิทของทิชา และคนที่สองคือทนายคามีเลีย คู่แข่งของทิชาซึ่งไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกของตัวเองที่สะสมมานานได้ 

ในตอนแรกพี่เป้ก็มีการปกปิดเรื่องการจิตแพทย์กับภรรยาของตัวเองเช่นกัน เพราะในบางครั้งแม้ว่าตัวเราเองจะไม่ได้มองว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องผิดปกติ แต่คนรอบตัวอาจไม่คิดเช่นนั้นด้วยก็ได้ บางครั้งคนรอบตัวอาจคิดว่าเราก็ไม่ได้เป็นอะไรมากนี่ เรื่องแค่นี้เองไม่เห็นต้องไปหาจิตแพทย์เลย ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเลย หากตัวเรารู้สึกว่าสภาพจิตใจของเราไม่ไหวแล้ว การไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้นะคะ

พฤติกรรมคุกคามทางเพศ จะชายหรือหญิงก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น

ภาพจากละครเรื่อง Dare to love ให้รักพิพากษา
ภาพจากละครเรื่อง Dare to love ให้รักพิพากษา

“ทำไมทีงี้ผู้หญิงทำได้ แต่ผู้ชายทำแล้วโดนว่า”

พฤติกรรมคุกคามทางเพศหรือ sexual harassment นั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงเป็นผู้กระทำ  ซึ่งการไม่คุกคามในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงการสัมผัสร่างกายของผู้อื่นโดยที่ฝ่ายนั้นไม่ยินยอม แต่ยังรวมไปถึงการพูดจาที่สื่อไปในทางเรื่องเพศที่ทำให้อีกฝ่ายอึดอัดใจและการคุกคามอื่นๆ อีก ในละครให้รักพิพากษานั้นก็มีสอดแทรกเกร็ดความรู้ในเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน 

ในฉากที่เพื่อนๆ ของทิชาจับได้ว่าคิวกับทิชาอยู่ในห้องเดียวกัน เพื่อนทั้งสองได้มีการพูดจาแทะโลมและสัมผัสร่างกายของคิวโดยที่คิวไม่เต็มใจ ซึ่งตัวละครคิวก็ได้แสดงออกด้วยการขัดขืนและพูดถึงกฎหมายลวนลามทางเพศ เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าการลวนลามทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องตลกและไม่ว่าจะเพศชายหรือหญิงก็ไม่สมควรมีใครโดนคุกคามทางเพศทั้งนั้น

 

และนี่ก็คือ 4 ประเด็นทางสังคมน่าสนใจที่ละครเรื่อง Dare to love ให้รักพิพากษาหยิบยกมาพูดไว้ในเรื่องนั่นเองค่ะ สำหรับเพื่อนๆ ชาว Dek-D คนไหนที่อ่านแล้วชักจะเริ่มสนใจอยากตามไปดูละครเรื่องนี้ขึ้นมาก็สามารถรับชมได้ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.30 ทางช่อง 3HD ใครดูแล้วชอบอะไรในเรื่องบ้างลองมาคอมเมนต์บอกเรากันได้นะคะ!

พี่หมิง
พี่หมิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น