มาทำความรู้จัก "มหาวิทยาลัยเปิด - ตลาดวิชา" ทางเลือกของคนอยากเรียนปริญญาตรีใบที่ 2

สวัสดีค่ะ ถ้าพูดถึงการเรียนเพิ่มเติมในสาขาที่สนใจ การเลือกเรียนปริญญาตรีใบที่ 2 ก็เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ แต่ด้วยระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยไทยที่ต้องเข้าเรียนเต็มเวลา จึงเป็นเรื่องยากที่จะเรียน 2 แห่งพร้อมกันได้ 

แต่สำหรับใครที่อยากเรียนไปพร้อมๆ กัน เพื่อคว้าปริญญาตรี 2 ใบ ก็ยังมีหนทางที่ทำให้เกิดขึ้นได้ค่ะ ในวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปดูทำความรู้จักพร้อมเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างกันของ มหาวิทยาลัยเปิดอย่าง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยตลาดวิชาอย่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าแต่ทั้งสองที่จะเป็นยังไง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูกันเลย!!!

ม.เปิด - ม.ตลาดวิชา ทางเลือกของคนอยากเรียน ป.ตรี ใบที่ 2
ม.เปิด - ม.ตลาดวิชา ทางเลือกของคนอยากเรียน ป.ตรี ใบที่ 2

ทางเลือก ‘เรียนปริญญาตรีใบที่สอง’ ที่ ม.รามคำแหง & ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

สำหรับการเรียนปริญญาตรีเพิ่มอีกใบในมหาวิทยาลัยเปิดหรือตลาดวิชา ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่เพื่อนๆ  ทราบไหมคะ จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเปิดอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เราเรียกกันว่าตลาดวิชา โดยทั้งสองมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้ค่ะ 

  • มหาวิทยาลัยเปิด เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบทางไกลที่ไม่มีชั้นเรียน โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เรียน และเรียนได้ทุกเพศทุกวัย แม้จะทำงานแล้วก็ตาม ซึ่งผู้เรียนจะเรียนด้วยตนเอง จากสื่อการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ เช่น เอกสารการสอนเป็นชุดวิชาที่ส่งให้ผ่านทางไปรษณีย์ รายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • ตลาดวิชา เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดรับสมัครเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก (ยกเว้นบางคณะ) แต่จะมีการเรียนการสอนโดยมีชั้นเรียนที่เป็นห้องเรียนตามปกติ ซึ่งผู้เรียนอาจเรียนด้วยตนเองได้ เช่น ซื้อหนังสืออ่านเอง หรือเรียนย้อนหลังผ่านวิดีโอ เป็นต้น

ซึ่งวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยทั้งสองคือ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น โดยผู้เรียนสามารถศึกษาจากหนังสือเรียนและสื่อต่างๆ ได้เอง แม้จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ดังนั้น จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการเรียนหลักสูตรปริญญาตรีควบคู่ไปกับการเรียนในมหาวิทยาลัยปิด เพราะทั้ง 2 แห่งนี้สามารถเรียนรู้และไปสอบด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในบางสาขาของ ม.รามคำแหง ก็จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียนเช่นกันค่ะ ก็จะต้องจัดสรรเวลาให้ดี

การเรียนที่เปิดโอกาสให้เราได้อ่านหนังสือเอง
การเรียนที่เปิดโอกาสให้เราได้อ่านหนังสือเอง

เรียนอะไรได้บ้างที่ ม.รามคำแหง & ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

     หลักสูตรที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดสอน ได้แก่

  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะบริหารธุรกิจ
  • คณะมนุษยศาสตร์
  • คณะศึกษาศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์
  • คณะรัฐศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์
  • คณะสื่อสารมวลชน
  • คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์
  • คณะทัศนมาตรศาสตร์
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์
ขอบคุณภาพจาก http://eduservice.ru.ac.th/
ขอบคุณภาพจาก http://eduservice.ru.ac.th/

นอกจากนั้นที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีหลักสูตร พรีดีกรี (หลักสูตร  Pre-degree) ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่เรียนจบระดับชั้น ม.3 สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตในระดับปริญญาตรีเพื่อเทียบโอน ซึ่งระบบนี้จะทำให้เมื่อเราจบชั้น ม.6 แล้ว สามารถเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เร็วยิ่งขึ้น เหมาะมากๆ เลยค่ะสำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากจะคว้าปริญญาตรีเร็วๆ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก 

หลักสูตรที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดสอน ได้แก่ 

  • สาขาวิชาศิลปศาสตร์
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
  • สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
  • สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการจัดการ
  • สาขาวิชารัฐศาสตร์
  • สาขาวิชานิติศาสตร์
  • สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

*ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีเปิดสอนหลักสูตร ระดับประกาศนียบัตร อีกด้วย ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ขึ้นอยู่กับหลักสูตรนั้นๆ ค่ะ ดูเพิ่มเติม คลิก 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.stou.ac.th/seminar/C_Withayathat.html
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.stou.ac.th/seminar/C_Withayathat.html

วิธีสมัครเข้าเรียน 

สำหรับการรับสมัครเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะมีความคล้าย ๆ กัน  3 วิธี ดังต่อไปนี้ค่ะ 

  • สมัครผ่านอินเทอร์เน็ต
  • สมัครด้วยตนเอง
  • สมัครผ่านไปรษณีย์

รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คลิก 

รายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คลิก 

การได้เรียนปริญญาตรีอีกใบ ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เป็นทางเลือกสำเร็จได้!!
การได้เรียนปริญญาตรีอีกใบ ทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เป็นทางเลือกสำเร็จได้!!

ประโยชน์!! ของการเรียนปริญญาตรีพร้อมกัน 2 ใบ

1. ได้ความรู้เพิ่มเติมจากสาขาที่เรียน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่เราเรียนอีกหนึ่งสาขาวิชาเพิ่มเติม จะทำให้เราได้ความรู้เพิ่มเติมจากการเรียนหรืออ่านหนังสือ ซึ่งบางอย่างเราอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้

2. ได้ฝึกความรับผิดชอบมากขึ้น

เนื่องจากการที่ต้องเรียนพร้อมกัน 2 ที่ ทำให้เราต้องแบ่งเวลาในการรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้น จึงทำให้เราได้ฝึกความรับผิดชอบมากขึ้นค่ะ 

3. ได้มิตรภาพดีๆ กลับมา

หลายคนตอนไปสมัครเรียน อาจจะได้เพื่อนเพิ่ม ซึ่งบางครั้งเพื่อนๆ ที่เราเจอนี่แหละ เป็นอีกหนึ่งมิตรภาพดีๆ ที่คอยแบ่งปันและคอยช่วยเหลือในด้านการเรียนของกันและกัน

4. ได้ทำตามทางเลือกของตัวเอง

สำหรับสาขาที่เรียนปริญญาตรีเพิ่มอีกใบ อาจเป็นสาขาที่เราเองก็อยากเรียนอยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุปัจจัยอื่นอาจทำให้เราไม่ได้เลือกเรียนสาขานี้ แต่การมาเรียนปริญญาตรีเพิ่มอีกหนึ่งใบ เป็นโอกาสที่ดีที่เราได้ทำตามทางเลือกของตัวเองมากขึ้นค่ะ

ข้อพึงระวัง!! ของการเรียนปริญญาตรีพร้อมกัน 2 ใบ

1.  ต้องจัดการเวลาการเรียนให้ดี หากไม่วางแผนเวลาอาจทำให้เกิดผลกระทบในแง่ลบได้

สำหรับการที่เราต้องรับผิดชอบการเรียนหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน อาจทำให้เราสามารถที่จะบริหารเวลาในการใช้ชีวิตผิดพลาดได้ค่ะ ซึ่งถ้าหากเราไม่มีการจัดการเวลาที่ดี อาจส่งผลเสียต่อชีวิตของเราได้ เช่น อ่านหนังสือสอบไม่ทัน พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

2. พลาดข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ถ้าหากติดตามไม่ดี 

สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นการเรียนที่อิสระมากๆ เลยค่ะ ซึ่งถ้าหากเราพลาดข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลสำคัญ ส่งผลให้เราพลาดโอกาสที่สำคัญไปเลยนะคะ ดังนั้นเราจึงต้องติดตามข่าวสารให้ทัน 

3. เนื้อหาบางวิชา อ่านเองอาจไม่เข้าใจ

สำหรับการเรียนที่เราสามารถอ่านหนังสือเองได้ ก็ถือเป็นการเรียนที่อิสระและเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียของมันเช่นกันนะคะ เพราะเนื้อหาบางวิชา เราอาจจะอ่านเองไม่เข้าใจ ทำให้เราเกิดความกังวลใจได้ ดังนั้นเพื่อนๆ ต้องพยายามเรียนรู้เพิ่มเติมในเนื้อหาที่ไม่เข้าใจกันด้วยนะคะ 

 

สำหรับเพื่อนๆ คนไหนสนใจเรียนปริญญาตรีใบที่สองพร้อมกับใบแรก อย่าลืมไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกันนะคะ เดี๋ยวเราจะพลาดกันโดยไม่รู้ตัวได้นะคะ เป็นกำลังใจให้ในทุกๆ ความสำเร็จค่ะ  >< 


ขอบคุณข้อมูลจาก 
https://www.stou.ac.th/main/https://www.ru.ac.th/th/https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=38&chap=3&page=t38-3-infodetail08.htmlขอบคุณภาพจาก http://eduservice.ru.ac.th/https://www.stou.ac.th/seminar/C_Withayathat.html
พี่นุกนิก
พี่นุกนิก - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น