ทำความรู้จัก ‘แล็บกริ๊ง’ การสอบสุดโหดของคณะสายวิทย์สุขภาพ! พร้อมแชร์ 8 เทคนิคเอาตัวรอดตอบทัน+ตอบถูก

‘กริ๊งงงงงงงง’ มีใครเกลียดเสียง ‘กริ๊งง’ แบบนี้ไหมคะ พี่หลิงแล้วคนนึงล่ะ ได้ยินทีไรพาลจะรู้สึกง่วง ขอนอนต่ออีกสักห้านาทีทุกที คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงเสียงนาฬิกาปลุกตอนเช้าเหมือนพี่หลิงนี่แหละ แต่สำหรับเหล่านิสิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ จะว่าสิ่งนี้เป็นฝันร้ายก็คงไม่ผิดนัก เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับมันทุกครั้งเวลาสอบ ‘แล็บกริ๊ง’ การสอบสุดโหดประจำคณะสายวิทย์สุขภาพนั่นเอง!

แต่เอ...แล็บกริ๊งมันคืออะไรนะ? ต่างจากการสอบทั่วไปตรงไหน ทำไมถึงได้โหดขนาดนั้น? เราจะเตรียมตัวยังไงให้รอดดี? ถ้าอยากรู้แล้วล่ะก็ เรามาหาคำตอบในบทความนี้กันเลยดีกว่าค่ะ 

ทำความรู้จัก ‘แล็บกริ๊ง’ การสอบสุดโหดในเวลาอันกระชั้นชิด ที่คณะสายวิทย์สุขภาพต้องเจอ!
ทำความรู้จัก ‘แล็บกริ๊ง’ การสอบสุดโหดในเวลาอันกระชั้นชิด ที่คณะสายวิทย์สุขภาพต้องเจอ!

แล็บกริ๊งคืออะไร?

‘แล็บกริ๊ง’ คือการสอบประเภทหนึ่งที่มีเวลาจำกัดในการทำโจทย์แต่ละข้อ ไม่เหมือนการสอบทั่วไปที่เราจะบริหารเวลาอย่างไรก็ได้ ข้อไหนง่ายก็ตอบได้ทันที ส่วนข้อยากก็ใช้เวลาทำนานหน่อย พูดง่ายๆ คือ สำหรับแล็บกริ๊ง จะข้อไหนก็มีเวลาให้เท่ากันหมด และเมื่อเสียง ‘กริ๊งงงง’ ดังขึ้น ก็เป็นสัญญาณว่าเราหมดเวลาทำโจทย์ข้อนี้แล้ว ต้องเตรียมตัวทำข้อต่อไปทันที ทางเดียวที่จะย้อนกลับมาทำได้คือต้องจำโจทย์ข้อเก่าไว้เท่านั้น เพราะพอเริ่มทำข้อใหม่ โจทย์เดิมก็จะหายไปทันทีค่ะ

แล็บกริ๊งจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ อย่างแรกคือแบบนั่งสอบกับที่ อาจารย์จะขึ้นโจทย์บนจอใหญ่ๆ ให้ดู คล้ายกับ PowerPoint แล้วจับเวลาในการตอบ พอหมดเวลา ก็ขึ้นโจทย์ข้อใหม่แทน

อีกรูปแบบหนึ่งคือการสอบแบบ ‘เวียนฐาน’ นักศึกษาแต่ละคนจะประจำอยู่ที่ฐานของตัวเองตอนเริ่มสอบ โดยโจทย์จะแปะอยู่ที่โต๊ะ นั่นแปลว่า ‘ข้อแรก’ ที่แต่ละคนได้ทำจะไม่เหมือนกัน เมื่อเสียงกริ๊งดัง ทุกคนต้องหยุดทำข้อนั้นๆ ออกจากฐานของตน แล้วเวียนไปฐานใหม่ในทิศทางเดียวกัน เวียนไปเรื่อยๆ จนทำครบทุกข้อ เป็นอันเสร็จสิ้นการสอบ

เสียง 'กริ๊งงงง' คือสัญญาณหมดเวลา อย่าลืมบริหารเวลาให้ดีด้วยนะ
เสียง 'กริ๊งงงง' คือสัญญาณหมดเวลา อย่าลืมบริหารเวลาให้ดีด้วยนะ

คณะไหนเจอบ้าง? ทำไมต้องสอบแล็บกริ๊ง?

คณะที่ต้องเจอแล็บกริ๊งแน่ๆ คือคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างแพทยศาสตร์, ทันตแพทยศาสตร์, สัตวแพทยศาสตร์, เภสัชศาสตร์ ส่วนคณะสายวิทย์อื่นๆ ก็มีโอกาสได้เจอแล็บกริ๊งเหมือนกันนะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาควิชาและมหาวิทยาลัยที่เราเรียนด้วยค่ะ 

ที่กลุ่มคณะนี้ต้องสอบแล็บกริ๊ง เพราะว่าในชีวิตการทำงานจริง อาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตัดสินใจได้ฉับไว และรับมือกับสถานการณ์กดดันให้ได้ อย่างแพทย์ก็ต้องรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินแข่งกับเวลา หรือเภสัชกรก็ต้องจ่ายยาให้คนไข้ได้อย่างรวดเร็ว และด้วยความกระชั้นชิดของแล็บกริ๊ง นักศึกษาจึงต้องทบทวนบทเรียนบ่อยๆ จนจำได้ขึ้นใจแบบถามปุ๊ปตอบปั๊บ เพราะถ้าจำได้ไม่แม่น ต้องใช้เวลานึกนาน ก็จะพาลทำข้อสอบไม่ทันเอาได้ กล่าวคือ การเตรียมสอบแล็บกริ๊งเป็นไฟต์บังคับที่ช่วยปูพื้นฐานเราให้แน่น เอื้อต่อการต่อยอดความรู้ในชั้นปีที่สูงขึ้นนั่นเองค่ะ

การสอบแล็บกริ๊งจะช่วยให้เรามีทักษะ 'ถามปุ๊บตอบปั๊บ' หรือจำได้ขึ้นใจนั่นเอง
การสอบแล็บกริ๊งจะช่วยให้เรามีทักษะ 'ถามปุ๊บตอบปั๊บ' หรือจำได้ขึ้นใจนั่นเอง

การสอบแล็บกริ๊งในแต่ละคณะ ต่างกันแค่ไหน?

ฮั่นแน่ สงสัยแล้วใช่ไหมล่ะว่าแต่ละคณะเขาสอบแล็บกริ๊งกันยังไงบ้าง ถึงโดยรวมจะจับเวลาเหมือนกัน มีเวียนฐานเหมือนกัน ทำเราเลิ่กลั่กเหมือนกัน (แซววว ><) แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างไปอยู่ค่ะ พี่หลิงเอาตัวอย่างบางส่วนจากรุ่นพี่มาให้แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น รายละเอียดปลีกย่อยอาจต่างกันไปในแต่ละมหาลัยฯ หรือหลักสูตรนะคะ แต่ถ้าอยากรู้เป็นแนวทางคร่าวๆ ไว้ก่อน ก็เลื่อนอ่านกันได้เลยจ้า

แพทยศาสตร์

ขึ้นชื่อว่าหมอ การสอบย่อมต้องเข้มข้นเป็นธรรมดา แบบนี้จะพลาดแล็บกริ๊งได้ไง! นักศึกษาแพทย์จะได้เจอแล็บกริ๊งตั้งแต่ปี 1 เลยค่ะ โดยช่วงแรกจะสอบแบบอยู่กับที่ ดูภาพต่างๆ บนจอแล้วตอบ พอปีสูงขึ้นก็จะเริ่มเจอการสอบแบบเวียนสถานี คราวนี้แหละมาครบทั้งคำนวณโจทย์ ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเนื้อเยื่อ ดูภาพถ่าย ดูร่างอาจารย์ใหญ่ ฐานทำการทดลองแล้วตอบผลก็มา! สรุปคือช่วงพรีคลินิกนี่กริ๊งกันรัวๆ ใครอยากเรียนแพทย์ เตรียมตัวรับมือแล็บกริ๊งไว้ได้เลย

ทันตแพทยศาสตร์

เรียนเป็นหมอฟัน ก็ไม่ได้แปลว่าเรียนแค่ฟันนะคะ ขอบอกว่าแล็บกริ๊งของทันตะนี่เอาเรื่องไม่แพ้ฝั่งแพทย์เลยทีเดียว ปีหนึ่งอาจยังเบาะๆ เป็น ม.ปลายอัปเกรดอยู่ ประมาณว่าดูรูปแล้วตอบ แต่พอขึ้นปีสองเราจะเจอแล็บกริ๊งเยอะมากกก มีทั้งสอบส่องกล้องจุลทรรศน์ ทั้งสอบกับอาจารย์ใหญ่ (แต่สอบเฉพาะร่างกายส่วนบนนะ) แรกๆ จะคล้ายกับแพทย์ แต่สักพักเราจะได้เจอวิชา Oral Histology ที่มีสอบแล็บกริ๊งเจาะลึกเรื่องฟันเฉพาะ สอบทั้งดูรูป ส่องกล้องดูฟัน แต่ไม่มีสอบอาจารย์ใหญ่แล้วนั่นเองค่ะ

สัตวแพทยศาสตร์

เด็กคณะนี้จะเจอแล็บกริ๊งเยอะพอสมควรในช่วง ปี 1-3 โดยรูปแบบการสอบหลักๆ ก็จะคล้ายกับฝั่งแพทย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นส่องกล้องจุลทรรศน์แบบห้ามขยับกล้อง ส่องกล้องหาความผิดปกติของเซลล์ แต่ที่เป็นจุดเด่นของคณะ เห็นจะเป็นอาจารย์ใหญ่ที่เป็นสัตว์! นักศึกษาสัตวแพทย์จะได้สอบแล็บกริ๊งกับร่างสุนัขอาจารย์ใหญ่จริงๆ โดยมีหมุดหรือเชือกชี้ไปที่อวัยวะต่างๆ แล้วข้อสอบจะถามอะไรเกี่ยวกับอวัยวะนั้นก็ได้ โหดไม่ต่างจากร่างมนุษย์อาจารย์ใหญ่ที่ฝั่งแพทย์และทันตะฯ ต้องเรียนเลยค่ะ

ถ้าเป็นแล็บกริ๊ง ส่วนใหญ่จะขาดฐานส่องกล้องเป็นสิ่งไปไม่ได้เลยทีเดียว
ถ้าเป็นแล็บกริ๊ง ส่วนใหญ่จะขาดฐานส่องกล้องเป็นสิ่งไปไม่ได้เลยทีเดียว

เภสัชศาสตร์

ช่วงปี 1-2 เภสัชจะได้เรียนและสอบพื้นฐาน Anatomy เหมือนคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ แต่พอขึ้นปี 3-4 ก็จะเริ่มสอบแล็บกริ๊งวิชาคณะตัวเอง เช่นวิชา Botany ที่เรียนเกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆ เวลาสอบแล็บกริ๊งก็จะมีพาร์ทที่ให้ดูพืช ดูกิ่งต่างๆ ด้วยนะ ส่วนไฮไลต์แล็บกริ๊งประจำคณะ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการสอบซักประวัติและค้นหาปัญหาด้านยาของผู้ป่วย! บอกเลยว่ากดดันมากก เพราะเราต้องถามทุกอย่างที่จำเป็นกับผู้ป่วยในเวลาจำกัด ถ้าลนลาน ก็อาจทำให้ลืมถามสิ่งสำคัญไปได้ จะขาดสติไม่ได้เด็ดขาด

เกษตรศาสตร์

มาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมาซะเยอะ ขอปิดท้ายด้วยเกษตรศาสตร์แล้วกัน รู้ไหมว่าคณะนี้ก็มีสอบแล็บกริ๊งด้วยนะ! มีทั้งวิชาวิทย์พื้นฐานและวิชาคณะเลยค่ะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสอบแล็บกริ๊งแบบนั่งอยู่กับที่ เวียนฐานจะมีไม่เยอะเท่าไร ส่วนวิชาน่าสนใจประจำคณะที่มีแล็บกริ๊งก็มี Botany หรือพฤกษศาสตร์ และกีฏวิทยาเบื้องต้น หรือวิชาที่เรียนเกี่ยวกับแมลง เราต้องจำให้ได้ว่านี่คือตัวอะไร สปีชีส์ไหน ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร เพราะอาจารย์ถามได้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน อย่าลืมท่องมาให้แม่นๆ นะ!

ถ้าอ่านหนังสือมาดี เห็นคำถามแล้วคำตอบจะปิ๊งขึ้นในหัวเราเอง อย่าลืมทวนมาเยอะๆ นะ
ถ้าอ่านหนังสือมาดี เห็นคำถามแล้วคำตอบจะปิ๊งขึ้นในหัวเราเอง อย่าลืมทวนมาเยอะๆ นะ

เคล็ดไม่ลับ รับมือแล็บกริ๊ง

จากที่ได้คุยกับรุ่นพี่หลายๆ คนมา ต้องยอมรับเลยค่ะว่าการสอบแล็บกริ๊งมันยากและท้าทายกว่าการสอบปกติที่เราคุ้นชินกันจริงๆ อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวมาดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งแน่นอน พี่หลิงเลยเอาเทคนิคที่อยากบอกต่อจากรุ่นพี่มาฝากกันด้วยค่ะ

  1. มีสติ จดจ่อกับข้อตรงหน้า อย่าลนลาน ทำใจให้สงบเข้าไว้
  2. ถ้าทำพลาดไปแล้ว ต้องมูฟออนให้ได้ คิดซะว่าช่างมัน ไว้แก้ตัวใหม่ข้อต่อไป
  3. ถ้าคิดไม่ทันจริงๆ อารมณ์ว่าอีกนิดจะนึกออก สามารถทดคำถามของข้อนั้นไว้ได้ แล้วพอถึงรอบที่เราวนไปสถานีพัก ค่อยใช้เวลาตรงนั้นคิดต่อ หรือจะทวนคำตอบทั้งหมดอีกทีก็ได้
  4. เขียนคำตอบให้เร็ว ถ้าเขียนผิด อย่าใช้ปากกาลบคำผิด มันเสียเวลา! ให้ขีดฆ่าไปเลย
  5. จำไว้เสมอว่าข้อแรกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ข้อไหนทำไม่ได้ให้เขียนอะไรลงไปก็ได้ อย่าเว้นว่างไว้ ไม่งั้นอาจเผลอตอบรันข้อได้
  6. จำตัวสะกดมาให้ดี เพราะบางเราอาจต้องตอบชื่อยากๆ อย่างชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อส่วนประกอบของอวัยวะต่างๆ ขืนเขียนผิดขึ้นมาสักตัว ระวังจะเสียคะแนนไปล่ะ
  7. ถ้าสังเกตว่าจุดมาร์กบนร่างอาจารย์ใหญ่เลื่อน หรือแผ่นสไลด์บนกล้องจุลทรรศน์เลื่อน อย่าปล่อยผ่าน ให้เรียกอาจารย์เลย เอาชัวร์เพื่อคะแนนดีกว่า
  8. อ่านสอบมาให้แม่น ถ้าอ่านบ่อยๆ เราจะจำได้ขึ้นใจแบบถามปุ๊บตอบปั๊บเอง นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาคิดแล้ว ยังช่วยลดความกดดันด้วยนะ
อ่านทวนไปไม่เสียหาย  เพราะวิธีรับมือแล็บกริ๊งที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมมาแต่เนิ่นๆ
อ่านทวนไปไม่เสียหาย  เพราะวิธีรับมือแล็บกริ๊งที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวให้พร้อมมาแต่เนิ่นๆ 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยตอบข้อสงสัยเรื่องแล็บกริ๊งได้บ้างนะคะ สำหรับใครที่กำลังจะเจอการสอบแบบนี้ พี่หลิงก็ขอให้อ่านหนังสือมาให้เยอะๆ มีสติ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไปนะ ถ้าน้องๆ ไม่ประมาท เตรียมตัวมาดีซะอย่าง แล็บกริ๊งก็ไม่ยากเกินความสามารถเราแน่นอน สู้ๆ ค่ะ ^^

พี่หลิง
พี่หลิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น