ผู้ชาย vs. เฟมินิสต์: เปิดปมความเกลียดชังทางเพศที่ฝังรากในสังคมเกาหลีใต้

อันยองง สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D หลายคนน่าจะทราบดีกันอยู่แล้วว่าสังคมเกาหลีใต้นั้นมีอยู่ภายใต้อำนาจ ‘ปิตาธิปไตย’ หรือระบบสังคมที่ชายเป็นใหญ่ และในปัจจุบันผู้หญิงชาวเกาหลีที่ถูกกดทับมาเป็นเวลานานเริ่มออกมาต่อสู้ เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่พวกเธอสมควรจะได้รับ 

แต่ว่าที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของพวกเธอล้วนได้รับการต่อต้านจากชายชาวเกาหลีอยู่เสมอ จนลุกลามใหญ่โตและกลายเป็นความขัดแย้งทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะอะไรพวกเขาถึงต่อต้านและเกลียดชังการเคลื่อนไหวของฝ่ายหญิงขนาดนี้? ตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

Photo Credit: Unsplash by Daniel Bernard
Photo Credit: Unsplash by Daniel Bernard 

เมื่อสูญเสียอำนาจในมือ ฝ่ายขวาคือคำตอบ

โดยทั่วไปคนมักจะมองว่าเด็กรุ่นใหม่แทบทุกพื้นที่ทั่วโลกล้วนมีความคิดทางการเมืองฝ่ายซ้าย (เสรีนิยม) ที่เชื่อเรื่องของสิทธิ ความเท่าเทียม เสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ในทุกมิติ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นพวกหัวสมัยใหม่นิยม ในขณะที่คนรุ่นเก่าจะมีความคิดทางการเมืองฝ่ายขวา (อนุรักษ์นิยม) ทั้งเชื่อในค่านิยมตามระบบแบบดั้งเดิม และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเป็นที่สุดเลยล่ะค่ะ

ในหลายประเทศรวมทั้งไทยเองก็เป็นไปตามนั้น เยาวชนคนรุ่นใหม่พากันหันหน้าหาฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นทิศตรงข้ามกับวัยรุ่นส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ เพราะจากความเห็นในปัจจุบันพบว่าชายชาวเกาหลีรุ่นใหม่กลับเปลี่ยนขั้วและย้ายฝั่ง หันกลับไปซบอกพรรคการเมืองฝ่ายขวาซะงั้น  

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

ในปี 2017 หากใครยังจำกันได้เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนนับแสนออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ ‘พัคกึนฮเย’ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในขณะนั้น ด้วยเหตุผลเรื่องของการคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งพัคกึนฮเยก็มาจากพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั่นเองค่ะ 

และหัวหอกที่สำคัญของการประท้วงในครั้งนั้นคือคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า ‘Sewol Generation’ คนที่ได้รับผลกระทบและโกรธแค้นในการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลพัคกึนฮเยในเหตุโศกนาฏกรรมเรือเซวอลล่ม ที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจต่อคนทั้งประเทศ  (อ่านต่อ)

ไม่เอารัฐบาลที่เข้าข้างผู้หญิง

ในตอนสุดท้ายเมื่อรัฐสภาได้ลงความเห็นให้ถอดถอนพัคกึนฮเยออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และจัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ผลคือ ‘มุนแจอิน’ ที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายได้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี และหลังเข้ารับตำแหน่งในเดือนแรก Gallup Korea ได้เผยผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ ปรากฏว่าความพึงพอใจของวัยรุ่นพุ่งสูงถึง 90% มากกว่าค่าเฉลี่ยรวมทุกช่วงวัยที่อยู่ราวๆ 81% เสียอีกค่ะ

Photo Credit: Time
Photo Credit: Time

จากตัวเลขที่สูงปรี๊ดในตอนนั้น ใครจะคาดคิดว่าใน 4 ปีต่อมา ผลสำรวจประจำเดือนพฤษภาคมของ Gallup Korea จะแสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจของคนรุ่นใหม่ต่อรัฐบาลชุดเดิมลดฮวบลงเหลือแค่ 34% เท่านั้น โดย 37% ของผู้หญิงในช่วงอายุ 20 ปียังคงให้การสนับสนุนประธานาธิบดีมุนแจอิน ถึงแม้ว่าตัวเลขในส่วนนี้จะยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม แต่สิ่งที่น่าตกใจมีมากกว่านั้นค่ะ เพราะในจำนวนเพศชายช่วงอายุ 20 ปีที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้กลับลดลงไปอยู่ที่ 17% เท่านั้นเอง นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเมื่อแยกกลุ่มประชากรออกตามเพศและอายุ หรือกล่าวอีกนัยคือ ผู้ชายในช่วงอายุ 20 ปี สนับสนุนพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้สูงอายุวัย 60 ปี (24%) เสียอีกค่ะ

อะไรเป็นเหตุทำให้ผู้ชายย้ายฝั่ง?

เพราะมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อของ Feminist

จากการศึกษาพบว่า เหตุผลที่ผู้ชายรุ่นใหม่ชาวเกาหลีหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนตลาดเสรี ไม่ได้ต่อต้านรัฐสวัสดิการ หรือไม่แม้กระทั่งต่อต้านคำสั่งถอดถอนอดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเย แต่ประเด็นทางการเมืองเดียวที่ทำให้พวกเขาย้ายข้างคือ ‘จุดตัดในเรื่องของเพศและอำนาจ’

เกาหลีใต้เป็นสังคมที่ใช้คำสอนของขงจื๊อมาเป็นรากฐานและวิถีปฏิบัติของประชาชน ดังนั้นแนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่จึงฝังรากลึกอยู่คู่กับดินแดนแห่งนี้จนแยกออกจากกันไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่สังคมบีบคั้นและกีดกันผู้หญิงตลอดมา 

ในขณะที่ชายสูงอายุมองว่าตัวเองมีอำนาจนำเหนือผู้หญิง เป็นช้างเท้าหน้า มีสิทธิ์ขาดเต็มที่ที่จะบังคับจับจูงสมาชิกหญิงในครอบครัวอย่างไรก็ได้ แต่ผู้ชายรุ่นใหม่นั้นต่างกันออกไปค่ะ พวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเองนั้นมีนำอาจเหนือกว่า แต่กลับนิยามว่าผู้ชายต่างหากที่ตกเป็นเหยื่อของ Feminist 

Photo Credit: CNN
Photo Credit: CNN

นโยบายของมุนแจอินเป็นมิตรกับสตรีมากไป

ผู้ชายเกาหลีมองว่าการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงเป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา จึงส่งแรงต่อต้านและเกลียดชังอย่างมหาศาลต่อแนวคิดสตรีนิยมในหมู่มนุษย์เพศชาย จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 58.6% ของผู้ชายต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์ และ 25.9% ของจำนวนดังกล่าวบอกว่าพวกเขามีความเกลียดชังอยู่ที่ระดับ 12 (ระดับทั้งหมดคือ 0-12) 

ผู้ชาย 83.3% ไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลมุนแจอิน เพราะเห็นว่า ‘มีความเป็นมิตรกับสตรีมากเกินไป’ มีหลายนโยบายที่ดูเหมือนต้องการทลายเพดานแก้ว(=อุปสรรคที่มองไม่เห็น) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทมีการแต่งตั้งผู้หญิงขึ้นมาทำงาน การพยายามทำให้คณะรัฐมนตรีมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น หรือการประกาศขยายอายุคดีความทางเพศ เป็นต้น จากนโยบายเหล่านี้ทำให้ผู้ชายคิดว่าตัวเองสูญเสียโอกาสในการทำงานมากขึ้นอีกด้วยล่ะค่ะ

เปรียบเทียบชายเกาหลีแบ่งตามช่วงอายุที่แอนตี้เฟมินิสต์ มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ และเป็นเฟมินิสต์
เปรียบเทียบชายเกาหลีแบ่งตามช่วงอายุที่แอนตี้เฟมินิสต์ มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ และเป็นเฟมินิสต์
Photo Credit: CNN

ความเห็นชายเกาหลีที่ต่อต้านเฟมินิสต์

  • 100% เห็นด้วยว่า “ปัจจุบันการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชายรุนแรงกว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง”
  • 95.7% ไม่เห็นด้วยว่า “การเลือกปฏิบัติทางเพศคือสาเหตุที่ผู้หญิงเกาหลีมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย”
  • 78.3% เห็นด้วยว่า “ผู้หญิงมีรายได้น้อยเพราะความทุ่มเทในการทำงานลดน้อยลง”
  • 58.3% ไม่เห็นด้วยว่า “สังคมที่ยุติธรรมคือการที่ผู้ชายและผู้หญิงมีรายได้ใกล้เคียงกัน”

เนื่องจากการถอดถอนพัคกึนฮเยออกจากตำแหน่งในคราวนั้น ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสูญเสียคะแนนความนิยมมหาศาล พวกเขาแพ้การเลือกตั้งระดับชาติถึง 4 ครั้งติดต่อกัน ก่อนจะมาชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงโซล ดังนั้นพรรคฝ่ายขวาที่ต้องการกู้สถานการณ์และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาอีกครั้ง จึงหันมาเลือกใช้ 'นโยบายที่ต่อต้านผู้หญิง' เพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองค่ะ

ต้นเหตุแห่งความเกลียดชัง

#MeToo ฉันด้วยเหมือนกัน 

 

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

ในปี 2017 ที่นักแสดงหญิงและนางแบบชาวอเมริกันได้ออกมาเปิดเผยผ่านแฮชแท็ก #MeToo ว่าตนถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายในอุตสาหกรรมนี้อย่างไรบ้าง ปรากฏว่าแฮชแท็กดังกล่าวที่สื่อความหมายอย่างง่ายว่า 'ฉันเองก็โดนเหมือนกัน' นี้ ไม่ได้โด่งดังแค่ในสหรัฐฯ แต่แพร่สะพัดไปทั่วโลก และส่งแรงกระเพื่อมมาถึงเกาหลีใต้เช่นกันค่ะ 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้หญิงเกาหลีที่ไม่ต้องการตกอยู่ภายในเงามืดอีกต่อไป ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้กับสิ่งที่ต้องเผชิญ โดยผู้ปลุกกระแส Me Too ในเกาหลีคือ ‘ซอจีฮยอน’ เธอได้ให้สัมภาษณ์ผ่านการไลฟ์สดว่าถูก ‘อันแทกึน’ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีลวนลามในงานศพเมื่อปี 2010 

Photo Credit: CNN
Photo Credit: CNN

และยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อมีการเปิดเผยและตั้งข้อกล่าวหาทางเพศต่อ ‘อันจองฮี’ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี, ‘โกอัน’ นักประพันธ์ที่โด่งดัง และ ‘คิมกีด็อก’ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัล ก็ยิ่งเปรียบเสมือนการเติมน้ำมันลงในกองเพลิงที่ทำให้ผู้หญิงเกาหลีออกมาเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ ในปี 2018 สังคมในชีวิตจริงและโลกโซเชียลของเกาหลีเต็มไปด้วยการถกเถียงทั้งเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรแห่งนี้ อย่างเช่นประเด็นที่ว่าในตำแหน่งงานเดียวกันผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ชาย ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกเปิดเผยและพูดถึงไปทั่วไปประเทศ

สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงในดินแดนชายเป็นใหญ่นี้เริ่มขึ้นเมื่อมีคนลงถนนเพื่อประท้วงเป็นจำนวนมาก ณ พื้นที่ใจกลางกรุงโซล ผู้หญิงนับร้อยลุกมาหยิบไมค์เพื่อแบ่งปันและเล่าเรื่องราวการโดนล่วงละเมิดทางเพศที่ผ่านมาเป็นเวลา 2,018 นาทีโดยไม่มีหยุดพัก!

เธอประท้วง ฉันก็ประท้วง

Photo Credit: CNN
Photo Credit: CNN

และหลังการชุมนุมของผู้หญิง ในถนนสายเดียวกันนี้ก็มีกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายออกมารวมกลุ่มประท้วงเพื่อโต้กลับเฟมินิสต์เช่นเดียวกันค่ะ

“เราคือกลุ่มเพื่อความยุติธรรม ต่อต้านความเกลียดชัง และความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง” — มุนซองโฮ

 “เฟมินิสต์ไม่ใช่เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศอีกต่อไป แต่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่แสดงออกถึงความรุนแรงและความเกลียดชังต่างหาก” — มุนซองโฮ

“ผมไม่สนับสนุน #MeToo นะ ยอมรับแหละว่าผู้หญิงวัย 40-50 เจอความไม่เป็นธรรมทางเพศจริงๆ แต่ผมไม่เชื่อว่าผู้หญิงวัย 20-30 ปีก็ถูกกดขี่จากการเลือกปฏิบัติเหมือนกัน” — นายพัค นักศึกษาวัย 20

กระจกสะท้อนภาพชีวิตผู้หญิงเกาหลี

Photo Credit: NewYork Times
Photo Credit: NewYork Times

‘คิมจียองเกิดปี 82 (82년생 김지영)’ คือหนังสือเล่มบางๆ เพียงไม่กี่ร้อยหน้าจากปลายปากกาของ ‘โชนัมจู’ ภายใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชีวิตประจำวันอันแสนเรียบง่ายของตัวเอกที่ชื่อ 'คิมจียอง' กลับแฝงด้วยมวลความเจ็บปวด อึดอัด ขมขื่น และทุกข์ทรมานแสนสาหัสกับสิ่งที่ผู้หญิงเกาหลีทุกคนต้องเผชิญในแต่ละวัน

และความจริงที่โชนัมจูเสนอก็ทำให้หนังสือเล่มนี้โด่งดังและเป็นกระแสอย่างมากในฐานะหนังสือ ‘เฟมินิสต์’ เพราะช่วงก่อนหนังสือจะถูกวางจำหน่ายนั้น ได้เกิดคดีชายคนหนึ่งฆาตกรรมหญิงสาวในรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกังนัม โดยคนร้ายให้เหตุผลว่าตนลงมือ ‘เพราะถูกละเลยและดูถูกจากผู้หญิง’ จากคดีดังกล่าวบวกกับอิทธิพลของกระแส MeToo ที่เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวทางเพศของคนใหญ่คนโตและวงการบันเทิง ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจสูงสุด ไม่เพียงยอดตีพิมพ์กว่าล้านฉบับ แต่ยังถูกนำไปแปลอีกหลายภาษาและสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน

Jamie Chang ผู้แปล
Jamie Chang ผู้แปล
Photo Credit: BBC

“สำหรับผู้หญิงชาวเกาหลีแล้ว นี่เป็นหนังสือเล่มแรกที่ตีแผ่เรื่องราวและประสบการณ์ร่วมของพวกเธอ ดังนั้นคิมจียองไม่ใช่เพียงแค่ตัวแทนของใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่เธอเป็นดั่งภาพสะท้อนของผู้หญิงทุกคน” — Jamie Chang ผู้แปล ‘คิมจียองเกิดปี 82’ เป็นฉบับภาษาอังกฤษ

โชนัมจู ผู้เขียน
โชนัมจู ผู้เขียน
Photo Credit: The Guardian

“ฉันเพียงอยากให้หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนชั้นในร้านหนังสือหรือตามห้องสมุด เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้หญิงในยุคนี้ ใช้ชีวิต มีความคิด และต้องพยายามในแต่ละวันมากขนาดไหน ... หากพวกเธอล้วนผ่านประสบการณ์นั้นมาเหมือนกัน เราก็ควรนำสิ่งเหล่านี้มาพูดคุยกันในที่สาธารณะได้แล้วค่ะ” — โชนัมจู ผู้เขียน

ไม่ซาบซึ้งต่อสามีที่แสนดี

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

ในขณะที่ผู้หญิงมองเห็นความเจ็บปวดของตัวเองผ่านตัวละครคิมจียอง ผู้ชายเกาหลีกลับมองว่า หนังสือเล่มนี้นำเสนอมุมมองที่บิดเบี้ยวและใส่ร้ายผู้ชายอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขายังไม่ชอบใจตัวละครที่เกรี้ยวกราดใส่สามีผู้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง อีกทั้งไม่ซาบซึ้งต่อสามีที่แสนดีด้วย

ปฏิกิริยาของผู้ชายต่อหนังสือเล่มนี้รุนแรงถึงขั้นส่งเรื่องถึงทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อให้หยุดเผยแพร่ รวมถึงการรุมประณามด่าทอใครก็ตามที่อ่านหนังสือเล่มนี้เลยล่ะ หนึ่งในนั้นคือไอรีน สมาชิกวง Red Velvet ที่ถูกแฟนคลับชายกล่าวโจมตี ประกาศตัวเลิกสนับสนุน รวมถึงเผาการ์ดและกรีดรูปของเธอทิ้งทั้งหมดเพื่อระบายความโกรธแค้นที่มี เพียงเพราะเธอออกมาบอกว่าได้อ่านหนังสือเล่มนี้เท่านั้นเอง

คนดังหญิงกับการถูกโจมตีว่าเป็นเฟมินิสต์

นาอึน Apink 

Photo Credit: Soompi
Photo Credit: Soompi

เรื่องของเรื่องคือเธอได้โพสต์รูปถ่ายตัวเองลงใน Instagram โดยเคสมือถือในรูปมีข้อความว่า 'Girls can do anything' (ผู้หญิงสามารถทำอะไรก็ได้)  เท่านั้นล่ะค่ะเป็นเรื่องเลยทีเดียว เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่านาอึนเป็นเฟมินิสต์และต้องการเผยแพร่แนวคิดนี้ออกไป อีกทั้งยังถูกแฟนคลับชายจำนวนมากกล่าวโจมตีจนต้นสังกัดต้องออกมาแถลงว่าเคสมือถือนั้นเป็นเพียงของขวัญที่ได้จากการถ่ายทำเท่านั้น และในเวลาต่อมาเธอก็ได้ลบรูปดังกล่าวออกไป

ยูนา Brave Girls

Photo Credit: All K-pop
Photo Credit: All K-pop

ล่าสุด ยูนา Brave Girls เกิร์ลกรุปที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ก็โดนโจมตีเหมือนกันค่ะ เมื่อเธอพูดคำว่า ‘오조억’ (ห้าพันล้านวอน) ขณะเล่นวิดีโอเกมขณะไลฟ์สด ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าหมายถึงคำว่า ‘오조오억’ (ห้าล้านล้าน/ห้าพันล้านวอน) หมายถึงจำนวนมาก ซึ่งเป็นคำที่เฟมินิสต์เกาหลีชอบใช้เวลาที่ตกใจกับอะไรบางสิ่งที่มีจำนวนมาก คำพูดเช่น '오조오억' ก่อนหน้านี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกใช้เพื่อแสดงความเกลียดชังต่อผู้ชายอีกด้วยค่ะ 

นอกจากนี้ชาวเน็ตยังไปขุดภาพเก่าที่เธอใส่เสื้อซึ่งมีคำว่า ‘No power like girl power’ (ไม่มีพลังอำนาจใดเทียบเท่าพลังของผู้หญิง) ทำให้แฟนคลับผู้ชาย โจมตีว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ ถึงขั้นตามไป dm ด่าใน ig และไล่เธอไปโกนหัวด้วย

เชียร์ลีดเดอร์

Photo Credit: IG @Jiwon_ha22
Photo Credit: IG @Jiwon_ha22

ไม่ใช่แค่ไอดอลที่โดนโจมตีค่ะ ล่าสุดเชียร์ลีดเดอร์สาวจากทีมเบสบอล LG ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เหตุผลเพียงเพราะว่า ‘เธออยากตัดผมสั้น’ หลังจากนั้นก็โดนทัวร์ลงและด่าทอเสียๆ หายๆ พร้อมกล่าวหาว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ ซึ่งคอมเมนต์ส่วนใหญ่ก็หลงประเด็นไปมากกกก ทั้งล้อเลียนหน้าตาและกล่าวว่าในทางลบมากมาย    

เช่นแอคนามว่า ‘ชินอูจอง’ แสดงความเห็นว่า “เธอจำไอรีนกับซูจีไม่ได้เหรอ? ความอวดฉลาดของพวกเฟมินิสต์นี่เป็นสิ่งที่มีปัญหามากที่สุดจริงๆ แน่นอนว่าพวกเธออาจจะฉลาดแต่ก็มีแนวโน้มหน้าตาขี้เหร่ด้วย แล้วนี่พวกคนสวยก็ยังจะเป็นเฟมินิสต์อีกอะนะ” 

เยอึน Wonder Girls (HAT:FELT)

Photo Credit: W Korea
Photo Credit: W Korea

 

เยอึน Wonder Girls เล่าผ่านรายการ Radio Star ว่าเธอเคยอ่านหนังสือ ‘คิมจียองเกิดปี 82 (82년생 김지영)’ และรู้สึกชอบจึงได้แชร์ลง SNS ส่วนตัว แต่จู่ๆ กลับโดนโจมตีและด่าทออย่างหนักจากชายเกาหลีว่าเป็นเฟมินิสต์(อีกแล้ว) ด้วยเหตุนี้เองทำให้เยอึนไปศึกษาเพิ่มเติมถึงความหมายของที่แท้จริงว่ามันคืออะไร

“หลังจากไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็เลยรู้ว่ามันคือ หลักการที่ว่าด้วยความเท่าเทียมของผู้ชายและผู้หญิง ถ้าเป็นแบบนั้นฉันก็เลยคิดว่าตัวเองสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้นะ ก็เลยพูดออกไปแบบนั้นค่ะ”

จากนั้นเธอก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น และยิ่ง speak up มากเท่าไหร่ก็ยิ่งโดนจดจ้องมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็ตามมักจะโดนผู้ชายที่เกลียดชังเฟมินิสต์หยิบเอาการกระทำเหล่านั้นมาเป็นประเด็นและโจมตีอยู่เสมอ(กระทู้เยอะมากก) แต่เธอก็ไม่แคร์และเดินหน้าเพื่อความเท่าเทียมต่อไป จนล่าสุดกระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งให้เยอึนเป็นนักร้องคนแรกของเกาหลีที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ //ปังมากก สมมง Wonder Girls!

นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก

Photo Credit: Twitter @worldarchery
Photo Credit: Twitter @worldarchery

นักกีฬาที่ในสังคมเกาหลีถูกยกย่องว่าเป็นดั่งผู้ที่อยู่สูงสุดของยอดพีระมิดเองก็ไม่เว้นที่จะโดนกระแสต่อต้านเช่นเดียวกันค่ะ เมื่อ 'อันซาน' (안산)  นักกีฬาสาววัย 20 ปี เจ้าของ 3 เหรียญทอง จากกีฬายิงธนูประเภทคู่ผสม ประเภททีมหญิง และประเภทหญิงเดี่ยว เรียกว่ากวาดเหรียญทองหมดทุกประภทที่ลงแข่งในโอลิมปิกเกม ณ กรุงโตเกียวครั้งนี้ ยังไม่วายตกเป็นเป้าความโกรธแค้นอย่างหนักเพียงเพราะเธอผมสั้น ด้วยเหตุนี้ผู้ชายเกาหลีจึงได้กระหน่ำส่งเรื่องไปยังสมาคมยิงธนูแห่งเกาหลีใต้ว่า ‘อันซานสมควรที่จะขอโทษต่อสาธารณะรวมถึงส่งคืนเหรียญทองเพราะเหตุผลที่เธอตัดผมสั้นและเป็นเฟมินิสต์’ นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปคุกคามยัง DM ส่วนตัวจนเธอถึงขนาดต้องตั้งไบโอว่า ‘ต่อจากนี้จะไม่อ่าน DM แล้วค่ะ’ เลยล่ะค่ะ 

สัญลักษณ์เจ้าปัญหา 

อีกประเด็นนึงที่ดูจะ Trigger ความเป็นชายของเกาหลีมากคือเจ้าสัญลักษณ์นิ้วโป้งแตะกับนิ้วชี้ ถ้าพูดถึงที่มาก็ต้องย้อนไปเมื่อปี 2015 ที่ไวรัส MERS กำลังระบาด ในตอนนั้นมีผู้หญิงเกาหลี 2 คนที่ติดเชื้อขณะเดินทางจากกรุงโซลไปยังฮ่องกง แต่พอถึงที่หมายแล้วพวกเธอกลับปฏิเสธการกักตัว ทำให้ถูกกระแสโจมตีอย่างรุนแรง  หนึ่งในคำด่าเหล่านั้นคือ Kimchi bitch (แปลเป็นไทยคงประมาณว่า ‘ยัยแรดกิมจิ’ ) ซึ่งสื่อความหมายถึงผู้หญิงที่จ้องจะจับผู้ชายรวยๆ 

ทีนี้ก็เป็นเรื่องค่ะ มีการโต้กลับจากฝ่ายหญิงด้วยคำว่า ‘ไอ้พวกชายกิมจิ’ และล้อเลียนถึงอวัยวะเพศ 6.9 ซม ของผู้ชายเกาหลีบ้าง แล้วหลังจากนั้นกลุ่มเฟมินิสต์ที่ค่อนข้างหัวรุนแรง (Radical feminist) ได้ปล่อยโปสเตอร์ออนไลน์ออกมา เป็นโลโก้นิ้วมือและนิ้วชี้ประกบกันเพื่อที่จะสื่อถึงอวัยวะเพศชายที่มีขนาดเล็กของคนเกาหลี 

Photo Credit: Indian Express
Photo Credit: Indian Express

ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เวลาเจอสัญลักษณ์แบบนี้ ผู้ชายเกาหลีก็มักจะตีความไปว่ากำลังโดนดูถูกและเหยียดหยามอยู่ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยก็ตามค่ะ

ปลดป้ายโฆษณาออกให้หมด

Photo Credit: Korea Times
Photo Credit: Korea Times
Photo Credit: Korea Times
Photo Credit: Korea Times

เช่นครั้งนึงร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ของเกาหลีอย่าง ‘G25’ เคยต้องปลดภาพโฆษณาที่มีการใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ประกบกันและทำท่าว่าจะหยิบไส้กรอก หลังจากปล่อยออกไปก็ถูกกลุ่มผู้ชายตีอย่างหนักว่าล้อเลียนขนาดอวัยวะเพศพวกเขา ทำแบบนี้มันเหยียดหยามกันสุดๆ และไม่สามารถรับได้! 

นอกจากนี้ยังมีเจ้าอื่นๆ ที่โดนเหมือนกันเพียงเพราะมีสัญลักษณ์ที่เป็นประเด็น เช่น  โฆษณาธนาคาร แบรนด์ไก่ทอดชื่อดัง หรือภาพโปรโมตแคมเปญของสถานีตำรวจกรุงโซล เป็นต้น ล้วนต้องปลดออกทั้งหมดเลยล่ะค่ะ

ดาราไอดอลก็ไม่เว้น

Photo Credot: IG @chaestival_
Photo Credot: IG @chaestival_

ไม่นานมานี้ ‘อี แชยอน’ อดีตสมาชิก ‘IZ*ONE’ ได้โพสต์สตอรี่ IG เป็นภาพที่เพื่อนของเธอทำมือลักษณะคล้ายกันนี้ เพื่อเล่นกับมุมกล้องและต้องการสื่อว่าตัวเธอเล็กเท่าเม็ดถั่วเขียว แต่ในคืนนั้น IG ของเธอกลับโดนแจ้งรีพอร์ตในหัวข้อ ‘บูลลี่และล่วงละเมิด’ เนื่องจากถูกตีความว่าเธอกำลังส่อเสียดล้อเลียนถึงความเป็นชายของพวกเขาอยู่ ทำเอาแชยอนงงไปเลยจนต้องมาโพสต์บอกว่า ‘รีพอร์ตกันทำไมคะ ฉันทำอะไรผิดเหรอ?’

Photo Credit: Hankyung
Photo Credit: Hankyung

และก่อนหน้านั้น ระหว่างเดินพรมแดงงานประกาศรางวัลโทรทัศน์ ‘Baeksang Arts Award 2021' ‘แจแจ’ YouTuber ชื่อดังได้โพสต์ท่าโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งคีบช็อกโกแลต ก็โดนโจมตีอีกเหมือนกัน     

นอกจากประเด็นนี้ แจแจยังต้องเผชิญออร่าความเกลียดชังจากชายเกาหลีแค่เพราะเธอออกตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรทีก็มีสายตาจับจ้องแล้วยกมาเป็นประเด็นด่าทอตลอดๆ

บังคับแค่ผู้ชายให้เกณฑ์ทหารนั้นไม่ยุติธรรม

Photo Credit: The Wall Street Journal
Photo Credit: The Wall Street Journal

เพราะอัตราการเกิดที่ลดลง

ผลพวงจากสงครามเกาหลีได้นำไปสู่กฎหมายที่ระบุว่า ชายเกาหลีใต้ทุกคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-35 ปี และมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ต้องเข้ากรมเกณฑ์ทหารเป็นระยะเวลา 18 เดือน เพื่อฝึกอบรมและเตรียมการรับมือกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

Photo Credit: PulseNews
Photo Credit: PulseNews

และเนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตอัตราการเกิดที่ต่ำลงในทุกปี จึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2022 จำนวนผู้ที่ร่วมกองทัพจะลดลง 6 เท่าจากปีก่อนๆ นอกจากนี้ฝ่ายกลาโหมยังออกมาบอกอีกว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า กองทัพจะเหลือทหารเพียงครึ่งเดียวจากจำนวนที่มีในปัจจุบัน

ฉันเข้าเธอก็ต้องเข้า

ผู้ชายเกาหลีหลายคนก็ไม่เต็มใจที่จะต้องเข้ากรม เพราะนอกจากต้องสูญเสียอิสรภาพไปเกือบ 2 ปีแล้ว ยังทำให้แผนการเรียนการทำงานล่าช้า และขัดต่อความก้าวหน้าในชีวิต อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกไม่ยุติธรรมที่มีแต่เพศชายต้องเข้าเกณฑ์ทหาร เลยเป็นอีกหนึ่งที่มาของแนวคิดที่ว่า ‘ผู้ชายตกเป็นเหยื่อความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ และพยายามส่งเสียงเรียกร้องว่าผู้หญิงก็ต้องเข้ากรมด้วยเหมือนกัน

Photo Credit: CNN
Photo Credit: CNN

จากงานวิจัยของ ‘มาคยองฮี’ นักวิจัยด้านนโยบายทางเพศจากสถาบันพัฒนาสตรีแห่งชาติเกาหลี ระบุว่า 72% ของผู้ชายให้ความเห็นว่าการบังคับเฉพาะผู้ชายให้เกณฑ์ทหารนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเลือกปฏิบัติทางเพศ ในขณะที่ 65% คิดว่าผู้หญิงควรที่จะต้องเข้าเกณฑ์ทหารด้วย และ 68% เชื่อว่ามันเป็นการเสียเวลาของผู้ชายที่ต้องเข้ากรม

“การเข้ากรมช่างไร้ประโยชน์ และมันก็ไม่ยุติธรรมด้วยที่มีเพียงแค่เพศเดียวที่ต้องสละเวลาช่วงวัย 20 ปีไปให้กองทัพ แทนที่จะได้ใช้เวลาทำตามความฝันของเรา” 

 

— นายพัค ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้ากรม

“ถ้าต้องใช้เวลาที่ควรพัฒนาตนเองไปเกณฑ์ทหาร เมื่อกลับออกมาผมจะไม่อยู่รั้งท้ายพวกผู้หญิงในตลาดแรงงานเหรอครับ” 

 

— นายคิมตั้งคำถาม

Photo Credit: Yonhap News
Photo Credit: Yonhap News

ด้วยเหตุนี้ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่าง ‘พัคยงจิน’ จึงได้ผุดนโยบายยกเลิกการเข้ากรม 18 เดือนของชายเกาหลี และเปลี่ยนมาให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงทุกคน ต้องเข้าอบรมการฝึกทหารพื้นฐานเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อทดแทนรูปแบบเดิม

แท้จริงแล้ว Feminisim/Feminist ที่โดนเกลียดชังคืออะไร? 

คลื่นการเคลื่อนไหว

‘Feminism’ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเหล่าเฟมินิสต์ที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียม สิทธิ และโอกาสต่างๆ ทางสังคมที่พวกเธอสมควรจะได้รับ ซึ่งมูฟเมนต์นี้มีมานานมากแล้วค่ะ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 กันเลยทีเดียว เป็นการแสดงเจตจำนงต้องการจะปลดแอก และทวงคืนพื้นที่หลักที่ถูกผู้ชายยึดครอง เพื่อที่ผู้หญิงจะสามารถพาตัวเองก้าวออกมาจากชายขอบที่ถูกผลักไสไปในตอนแรก เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

นอกจากนี้ยังมีการแสดงจุดยืนของผู้หญิง (Women’s Standpoint) ที่ต้องการหลุดพ้นจากวาทกรรม ‘ความเป็นหญิง’ หรือค่านิยมต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้พวกเธอเป็น รวมถึงโครงสร้างที่ทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงแค่วัตถุไม่ใช่คนที่มีชีวิต เริ่มต้นจากการเรียกร้องของคนขาว ไปสู่การต่อสู้ของผู้หญิงผิวดำ และในปัจจุบันที่กระแส #MeToo ได้ปลุกพลังให้หญิงสาวชาวตะวันออกทั้งหลายลุกขึ้นมาทวงความเป็นธรรมให้กับตัวเอง

นิยามการต่อสู้ที่แท้จริงคือแบบไหน?

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

แต่ไม่ได้มีแค่ชายชาวเกาหลีที่ต่อต้านแนวคิดนี้ เพราะสังคมอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงถึงผู้หญิงด้วยกันเองบางส่วนก็ไม่ชอบใจแนวคิดนี้ค่ะ เพราะมีภาพจำฝังหัวที่ว่าเฟมินิสต์คือผู้หญิงก้าวร้าว หัวรุนแรง เกลียดผู้ชาย และต้องการจะทำให้เพศของตัวเองเป็นใหญ่เหนือชาย 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หลักการของเฟมินิสต์นั้นง่ายนิดเดียวเองค่ะ นั่นคือการมองและปฏิบัติกับมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอกันโดยไม่ต้องมีเพศใดได้รับอภิสิทธิ์และอยู่เหนือกว่า และไม่มีใครต้องโดนกดขี่เพียงเพราะเพศสภาพของตน หรือกล่าวได้ว่าเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศไม่ใช่แค่เพียงผู้หญิงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ค่านิยมที่ผู้ชายต้องเข้มแข็งและห้ามอ่อนแอ จนในหลายๆ ครั้งไปกดทับให้พวกเขาไม่กล้าแสดงความอ่อนไหวออกมาเพราะกลัวสังคมตัดสินว่า ‘ไม่แมน’ และเฟมินิสต์ก็พยายามทำลายกรอบความเชื่อนี้เช่นกันค่ะ 

ถึงแม้ว่าขบวนการของเฟมินิสต์จะเริ่มจากการต่อสู้ของผู้หญิง แต่ไม่ได้สงวนเฉพาะสตรีเท่านั้น เพราะเฟมินิสต์ไม่ใช่เพศแต่เป็นแนวคิด  เป็นหลักการที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมของทุกคน ดังนั้นทุกคนสามารถเป็นเฟมินิสต์ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตามค่ะ

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

พจนานุกรมฉบับ Oxford ได้ให้ความหมายของ Feminisim ไว้ว่า “Feminism (N) The belief and aim that women should have the same rights and opportunities as men.” 

“จากความหมายและคำนิยามของ “Feminism” คือความเชื่อที่ว่าผู้ชายและผู้หญิงสมควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียม เป็นทั้งทฤษฎีทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเท่าเทียมทางสังคมของเพศต่างๆ … ถ้าคุณเกลียดคำนี้ (feminism/feminist) สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำแล้วค่ะ แต่แนวคิดเบื้องหลังต่างหากที่สำคัญที่สุด” 

 

— Emma Watson, UN 2014

“ถ้าผู้ชายไม่มีพฤติกรรมแข็งกร้าวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นจะต้องถูกกดทับหรือกดขี่ ถ้าผู้ชายไม่ต้องการจะควบคุมแต่แรก ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นรู้สึกว่าตัวเองต้องยอมจำนน ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงก็ควรจะอ่อนไหวหรือเข้มแข็งได้อย่างอิสระ”

 

— Emma Watson, UN 2014

...................................

ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ แต่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงและต่อสู้อยู่เสมอ ทว่าเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจสำหรับคนบางกลุ่มในสังคม ไม่เฉพาะในเกาหลีใต้ แต่ในอเมริกาใต้มีผู้หญิงถูกฆ่าและลักพาตัวรายวัน (อ่านต่อ) ที่เอเชียกลางก็มีเด็กหญิงมากมายถูกบังคับให้แต่งงานกับคนคราวพ่อ แอฟริกาเด็กสาวต้องเสียชีวิตจากการถูกขลิบอวัยวะเพศ เพียงแค่ลืมตามาดูโลก ผู้หญิงก็ถูกเปรียบให้เป็นดั่งสิ่งปฏิกูลเหมือนในสุภาษิตจีนที่ว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" หรือคำสอนของไทยเองก็จะมีสุภาษิตสอนหญิงหรือขนบว่าเกิดเป็นผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแบบไหน และยังมีพื้นที่อีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ผู้หญิงกำลังถูกกรอบค่านิยมครอบงำโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง

 

sources:Michele Dillon, “Chapter Ten: Feminist,” in Introduction to Sociological Theory: Theorists, Concaepts, and Their Applicability to the Twenty-First Century, 3rd Ed., (New York: John Wiley & Sons Ltd., 2020)https://foreignpolicy.com/2021/06/23/young-south-korean-men-hate-liberals-feminists/ https://www.billboard.com/articles/columns/k-town/8257777/female-k-pop-stars-face-criticism-feminist-behavior https://www.allkpop.com/article/2021/06/brave-entertainment-to-take-legal-action-against-malicious-commenters-spreading-false-information-that-brave-girls-yuna-is-a-feminist https://pann-choa.blogspot.com/2021/07/teen-stories-wow-look-at-those.html https://edition.cnn.com/2019/09/21/asia/korea-angry-young-men-intl-hnk/index.html https://www.wsj.com/articles/south-koreas-military-is-shrinkingsome-say-women-must-answer-the-call-of-duty-11622727598 https://en.yna.co.kr/view/AEN20210420007200315 https://www.hankyung.com/entertainment/article/202105143646H https://indianexpress.com/article/explained/explained-how-an-emoji-fueled-widespread-sexism-debate-in-south-korea-7362258/ https://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2021/05/694_308476.html https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/american_english/feminism https://asiasociety.org/korea/metoo-movement-south-korea https://www.bbc.com/news/world-asia-50135152 https://www.npr.org/2020/04/19/835486224/south-korean-bestseller-kim-jiyoung-born-1982-gives-public-voice-to-private-pain https://www.theguardian.com/books/2020/feb/19/kim-jiyoung-born-1982-cho-nam-joo-bestseller-review https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/0306422018819321 https://www.nytimes.com/2020/04/14/books/review/kim-jiyoung-born-1982-cho-nam-joo.html https://pulsenews.co.kr/view.php?year=2021&no=182191 https://time.com/6075235/moon-jae-in-south-korea-election/ https://www.bbc.com/news/world-asia-38114558 https://unsplash.com/photos/qjsmpf0aO48 https://www.bbc.com/thai/international-53153218 https://www.insight.co.kr/news/349182 https://www.soompi.com/article/1124159wpp/apinks-agency-addresses-concerns-son-naeuns-photo https://www.wmagazine.com/story/park-ye-eun-wonder-girls-hatfelt https://www.khan.co.kr/national/court-law/article/202107221509001 https://zapzee.net/2020/05/12/yeeun-confronts-a-youtuber-who-contradicted-her-feminist-remarks/ https://twitter.com/worldarchery/status/1418864507829592069/photo/1 
พี่ออมสิน
พี่ออมสิน - Columnist Mirror mirror on the wall who is the fairest of them all : ME

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
แมวเหมียวกระโดดกัดขา 1 ส.ค. 64 00:49 น. 6

'มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน'​อันนี้น่าจะสุภาษิตจีนนะคะ คนจีนค่อนข้างกดขี่ผู้หญิงค่ะ เน้นใช้งานไม่ค่อยให้ออกหน้าออกตา มองว่าลูกสาวทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลได้ง่ายแต่งงานแล้วก็ต้องออกเรือนไปอยู่บ้านผู้ชายจึงเป็นที่มาของค่าสินสอด สินสอดนี่คือค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้หญิงที่ลูกสาวไม่สามารถอยู่ดูแลรับใช้ได้แล้วค่ะ ถ้าคนไทยแท้ๆน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้านส่วนผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากกว่าค่ะ ตามต่างจังหวัดยังพอมีการบังคับให้ลูกสาวทำงานบ้านทุกอย่างแต่ลูกชายไม่ต้องทำเพราะเป็นผู้ชายอยู่นะคะ

0
กำลังโหลด
StanBTS 1 ส.ค. 64 01:32 น. 8

เป็นประเทศที่คนไทยเราควรมองเป็นเยี่ยงอย่างครับ นอกจากเจริญด้านเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนยังมีความกล้าที่แสดงความคิดเห็นทางสังคม กล้าที่จะสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่จริง เป็นกําลังใจให้ครับ

0
กำลังโหลด

11 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
beam 31 ก.ค. 64 19:59 น. 4

ขอบคุณมากๆนะคะ ข้อมูลละเอียดมากๆเลยค่ะ อ่านแล้วเศร้าสังคมปิตาธิปไตยมีอยู่ทุกมุมโลกจริงๆ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
แมวเหมียวกระโดดกัดขา 1 ส.ค. 64 00:49 น. 6

'มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน'​อันนี้น่าจะสุภาษิตจีนนะคะ คนจีนค่อนข้างกดขี่ผู้หญิงค่ะ เน้นใช้งานไม่ค่อยให้ออกหน้าออกตา มองว่าลูกสาวทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลได้ง่ายแต่งงานแล้วก็ต้องออกเรือนไปอยู่บ้านผู้ชายจึงเป็นที่มาของค่าสินสอด สินสอดนี่คือค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้หญิงที่ลูกสาวไม่สามารถอยู่ดูแลรับใช้ได้แล้วค่ะ ถ้าคนไทยแท้ๆน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้านส่วนผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากกว่าค่ะ ตามต่างจังหวัดยังพอมีการบังคับให้ลูกสาวทำงานบ้านทุกอย่างแต่ลูกชายไม่ต้องทำเพราะเป็นผู้ชายอยู่นะคะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
StanBTS 1 ส.ค. 64 01:32 น. 8

เป็นประเทศที่คนไทยเราควรมองเป็นเยี่ยงอย่างครับ นอกจากเจริญด้านเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนยังมีความกล้าที่แสดงความคิดเห็นทางสังคม กล้าที่จะสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่จริง เป็นกําลังใจให้ครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
บาส 28 ส.ค. 64 19:27 น. 10

มันวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น ก็เพราะการเกณฑ์ทหารอย่างเดียวเลย ถ้าล้มระบบนี้ได้ ผช ที่ต่อต้านเฟมก็น้อยลงแล้ว

0
กำลังโหลด
โถปูดอง2018 Member 4 มี.ค. 65 22:06 น. 11

ไม่แปลกใจถ้าชายเกาหลีจะโสด ดูแต่ละเรื่องดิโคตรปัญญานิ่ม มันกลัวไรกัน ยอมรับความจริงกันไม่ได้มากกว่าถ้าผญจะต้องได้เท่าตัวเองหรือได้ดีกว่าตัวเอง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด