เด็กทุนสองต่อ: ชีวิตม.ปลายที่ UWC ‘คอสตาริกา’ ต่อด้วยสาขาจิตวิทยา University of Florida ‘อเมริกา’

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ช่วงนี้หลายคนคงเริ่มมองหาโอกาสไปเปิดประสบการณ์ที่ต่างประเทศใช่มั้ยคะ วันนี้พี่เมนี่มีอีกเรื่องราวที่น่าสนใจมากของ ‘สรัน - สรันยา อาภรณ์สุวรรณ’ เด็กทุน United World College ที่ได้ไปเรียนมัธยมปลาย 2 ปีในระบบ IB ที่เข้มข้นแบบถึงพริกถึงขิง ใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำกับเพื่อนหลากหลายชาติจากทั่วโลก แถมยังเป็นประเทศที่แรร์สุดๆ อย่าง “คอสตาริกา” ด้วย!

และหลังจากไปจุดประกายแพสชันในตัวครั้งนั้นก็ยิ่งทำให้เป้าหมายเธอชัดเจนขึ้น จนตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตวิทยา ที่ University of Florida ของสหรัฐอเมริกา และเป็นนักเรียนทุนเต็มจำนวนด้วยนะคะ ตามมาเก็บข้อมูลกับแรงบันดาลใจดีๆ ด้วยกันเลย :)   

เด็กม. 5 ขอทุนเรียนต่อม.ปลายที่ ‘คอสตาริกา’

เราได้ไปเรียนต่อมัธยมปลายที่เมืองซานโฮเซ (San José) เมืองหลวงของคอสตาริกา ด้วยทุน United World College Scholarship ขอเล่าก่อนว่า United World College (UWC)  เป็นองค์กรนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การศึกษาเป็นตัวกลางเชื่อมนักเรียนจากทั่วโลกมาเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ร่วมกัน เพื่อที่ในอนาคตจะได้มีส่วนร่วมช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สันติภาพในอนาคต และปัจจุบันมีโรงเรียนในเครืออยู่ 18 แห่งทั่วโลก รวมถึงที่ภูเก็ตเองก็ด้วย โดยมีทุนให้ทั้งแบบเต็มจำนวนและจ่ายให้บางส่วน (ต่างกันในแต่ละประเทศ ส่วนของเรามีจ่ายเองบางส่วน)

ตอนสมัครเค้าจะให้เราลิสต์ประเทศที่อยากไป แต่สุดท้ายก็จะดูเรื่องความเหมาะสมด้วยเช่นกัน (***ทุนการศึกษาทั้งแบบเต็มจำนวนและบางส่วนจะขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของผู้ปกครอง***) มีกรอกข้อมูลทางออนไลน์ และจะสอบแบ่งเป็น 2 พาร์ตคือ เรียงความ (ไทย+อังกฤษ ตามหัวข้อประจำปี) และหลังจากนั้นก็จะมีสัมภาษณ์ (ข้อมูลทั้งหมดเช็กได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ UWC Thailand)

คำถามของปีที่เราเจอ (2560)

  • เรียงความภาษาไทย: ถามเกี่ยวกับแพสชันของเรา การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นในสังคม ประเด็นสังคมที่คิดว่าสำคัญ
  • เรียงความภาษาอังกฤษ: ถามเกี่ยวกับเหตุผลที่เราอยากไปเรียนที่ UWC คิดว่าเราจะมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาโรงเรียนหรือสนับสนุนในทางใดได้บ้าง
  • สัมภาษณ์: พอผ่านข้อเขียนไปได้ เค้าจะมีสัมภาษณ์ทั้งแบบกลุ่มและแบบเดี่ยว คนส่วนใหญ่ที่ได้คือจะทำกิจกรรมนอกเวลากันหมดเลย

คำถามเรียงความของปีล่าสุด (2564)

เรียงความส่วนที่ 1 (เลือกตอบเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ คำตอบแต่ละข้อความยาวไม่เกิน 150 คำ)    

เลือกตอบคำถาม 2 ข้อจาก 5 ข้อต่อไปนี้ 

  1. ในสังคมใดๆ ย่อมมีกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นต่างกัน จะทำอย่างไรให้สังคมนั้นสงบสันติ ประชาชนมีความสุข ภายใต้ความคิดเห็นที่ต่างกันของแต่ละกลุ่ม
  2. หากคุณเกิดในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย (จงเลือกมาหนึ่งประเทศ) คุณคิดว่าชีวิตของคุณจะเหมือนหรือต่างจากปัจจุบันอย่างไรบ้าง
  3. หากคุณมีโอกาสได้พูดในเวทีระดับนานาชาติ เช่น United Nations อะไรคือประเด็นแรกที่คุณจะพูดถึง เพราะอะไร และคุณจะนำเสนอประเด็นนั้นอย่างไร
  4. ถ้อยวลี (quote) ที่คุณชื่นชอบคืออะไร ใครเป็นผู้กล่าวไว้ และเหตุผลที่ชอบคืออะไร
  5. โลกจะเป็นอย่างไรในอีก 30 ปีข้างหน้า จงอภิปราย

เรียงความส่วนที่ 2 (ตอบเป็นภาษาอังกฤษ คำตอบแต่ละข้อความยาวไม่เกิน 300 คำ)

  1. อธิบายเหตุผลที่สนใจเข้าเรียนที่ UWC + เราจะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนมหา’ลัยในทางใดได้บ้างที่สะท้อนถึงมิชชันของ UWC + เราคาดหวังว่าจะได้รับอะไรจากประสบการณ์นี้
  2. อธิบายลักษณะของชุมชนที่อาศัยอยู่ พร้อมเสนอโพรโจกต์มาหนึ่งโครงการที่จะช่วยเหลือชุมชนของตัวเองได้
วิธีการสมัครคุณสมบัติผู้สมัคร

เตรียมตัวยังไง?

ตอนนั้นเราเตรียมตัวอยู่ครึ่งปีด้วยการหากิจกรรมทำเยอะๆ อย่างพวกค่ายและอาสาสมัครตามที่เราสนใจ (แต่การเรียนก็ไม่ทิ้งนะ) เพราะทุนนี้เค้าไม่ได้ตามหาเด็กหัวกะทิหรือเน้นเรียนอย่างเดียว แต่อยากได้คนที่กระตือรือร้นพอจะออกไปทำกิจกรรมต่างๆ จะได้ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตามเป้าหมายของโครงการนั่นเองค่ะ

ส่วนนอกนั้นก็มีฝึกสกิลเขียนเรียงความ เพราะถึงจะเรียนมาแบบ EP (English Program) ก็จริง แต่ไม่ได้เรียนเขียนแบบ Academic English เลย ส่วนสุดท้ายคือเตรียมฝึกสัมภาษณ์ โชคดีที่มีอาจารย์คนนึงในโรงเรียนเค้าช่วยสอน professional interview ให้เรา ช่วยไปได้มากเลยแหละ

คำแนะนำ

  • ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองหากิจกรรมทำนอกเวลาเรียนดู อาจฟังดูยากเพราะแค่เรียนก็เหนื่อยแล้ว แต่ลองเลือกสิ่งที่สนใจและทำที่ไหวก็ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนว่าทำมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ว่าเราไปทำอะไร ได้เรียนรู้อะไร และจะนำสิ่งที่ได้มาต่อยอดได้แค่ไหน
  • ถึงแม้ทาง UWC จะให้โอกาสกับเด็กทุกคนทั้งคนที่เก่งและไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ แต่ยังไงก็ควรฝึกไว้ก่อนนะคะ เพราะทางโครงการจะเอาไปพิจารณาด้วยว่าเราได้ภาษามากพอจะไปเรียนและสื่อสารกับคนที่นั่นมั้ย

ชีวิตโรงเรียนประจำแสนเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่า! (ฉบับเด็ก IB)

การเรียน

ชื่อเต็มของโรงเรียนเราคือ United World College Costa Rica มีนักเรียนประมาณ 200 คน จาก 60 ประเทศ เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ และเป็นระบบ IB (International Baccalaureate) คือมันดีเลยนะ แต่ก็เครียดและเหนื่อยสุดๆ เพราะเน้นเรียนแบบฝึก Critical Thinking กับ Problem-Solving ก็คือเป็นทักษะคิดเชิงวิพากษ์และแก้ไขปัญหานั่นเองค่ะ ทั้งกดดันและท้าทายมากกสำหรับเราที่มาจากระบบการศึกษาไทย แถมเขียนเรียงความภาษาอังกฤษก็เยอะด้วย TT

แล้วคะแนนเต็มของ IB คือ 7 จะมีบางวิชาที่พยายามแค่ไหน อ่านหนังสือจนเช้าก็แล้ว ปรับวิธีก็แล้ว ก็จะได้ที่ 5-6 ตลอด ถึงจะไม่เคยคิดว่าตัวเองไม่มีศักยภาพ แต่ก็เสียความมั่นใจเพราะตอนอยู่ไทยได้เกรด 3.9-4 มาตลอด พอตอนหลังเราก็เริ่มยอมรับว่านี่อาจไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด แต่การไม่ได้คะแนนที่ดีที่สุดไม่ได้แปลว่าเราโง่หรือประสบความสำเร็จไม่ได้ ชีวิตยังอีกยาวไกล ยังมีเวลาพัฒนาอีกเยอะ

ชีวิตเด็กหอ

รู้สึกเหมือนออกค่ายตลอดเวลา เราไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเลยย บ้านพักเรามีผู้หญิง 24 คนอยู่รวมกัน ห้องนึงแชร์กัน 3 คน แล้วห้องมันก็ไม่ได้ใหญ่ เตียงแทบจะแนบชิดกันอยู่แล้ว  สุดท้ายเลยแก้ปัญหาโดยการมานั่งคุยกันเลยว่าถ้าใครต้องการพื้นที่ส่วนตัวให้บอกตรงๆ อย่าเก็บไว้ในใจให้อึดอัด มันไม่ดีต่อใครทั้งนั้น

ได้เจอเหล่า Friends for life

ชีวิตที่คอสตาริกาเหมือนโดนโดราเอมอนใช้ไฟฉายย่อส่วนจาก 10 ปี เหลือ 2 ปี 5555 ช่วงนั้นคือยากทั้งด้านการเรียนและใช้ชีวิต ดังนั้น ‘เพื่อน’ เลยกลายเป็นสิ่งที่เราประทับใจที่สุด เพราะผ่านปัญหาต่างๆ มาด้วยกันจนผูกพันมาก แต่ละคนมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างกันก็จริง แต่เหมือนกันตรงที่เป็นเด็กขี้สงสัยกันหมด นั่งคุยเรื่องน่าสนใจกันตลอดอย่างเช่นการเมืองหรือวัฒนธรรมต่างๆ เลยเหมือนเป็นการฝึกให้เราต้องเปิดใจกับคนอื่น สุดท้ายแล้วคือทุกคนสนิทกันมากกและยังติดต่อกันถึงทุกวันนี้เลยค่ะ คิดว่าคงได้เป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิตแน่ๆ

เผยทริกเอาตัวรอด

  • สำคัญสุดคือต้องทำตัวให้ active ดันตัวเองให้ออกไปทำกิจกรรมเพื่อไปเจอคนใหม่ๆ ตอนนั้นเราไปเป็นกรรมการนักเรียนฝ่ายการศึกษาตอนปี 2 และได้ไปเข้ามีชมรม Write for Rights ของ Amnasty International อันนี้น่าสนใจมาก เราได้เขียนจดหมายเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง (ส่วนมากจะเป็นนักโทษที่เรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนหรือถูกจับด้วยเหตุผลที่ไม่ชอบธรรม) ส่งไปถึงนายกหรือประธานาธิบดีของประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ยังไปช่วยจัดงานเกี่ยวกับ culture ของโรงเรียนที่จะมีขึ้นบ่อยๆ แบบ Asian week ที่งานแซ่บเวอร์ เค้ามีให้แข่งกินเผ็ด เด็กจากเอเชียก็จะขนพริกกันมาจากบ้าน สนุกดี 5555
  • ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกตัวเองให้ได้ก่อน อย่างเวลาเสียใจหรือผิดหวัง ให้คิดไว้เสมอว่าชีวิตมีขึ้นมีลง ถึงประสบการณ์นี้จะน่าทึ่งแค่ไหน ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องมีความสุขตลอดเวลา และใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราคาดหวัง 100%
  • เตือนสติตัวเองว่าไม่ใช่เราคนเดียวนะที่กำลังปรับตัวอยู่ แต่เพื่อนๆ ทุกคนก็รู้สึกเหมือนกัน แล้วเดี๋ยวถ้ารู้สึกปลอดภัยกับคนกลุ่มนี้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเองค่ะ // ตอนนั้นใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะสนิทกับเพื่อน
  • คอยหาอะไรที่ชอบทำเพื่อสงบจิตใจตัวเองด้วย อย่างเราคือเป็นคนชอบฟังเพลงมากๆ แล้วพอไปคอสตาริกาถึงรู้ว่าไม่ได้แค่ชอบแล้วแหละ แต่เพลงทำให้เราเหมือนได้ connect กับครอบครัวที่อยู่ห่างไกล และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียว

รีวิวคอสตาริกาใน 5 ข้อ

  1. คนชอบเข้าใจผิดว่าคอสตาริกาอยู่อเมริกาใต้ แต่จริงๆ อยู่อเมริกากลาง ถึงจะใช้ภาษาสเปนเหมือนกันแต่วัฒนธรรมค่อนข้างต่างเลยค่ะ (คนที่นี่จะค่อนข้างซีเรียสกับการเรียกทวีปให้ถูกด้วยนะ)
  2. เป็นประเทศที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่เลย เมื่อปีที่แล้วคอสตาริกาคือแห่งแรกในทวีปที่ทำให้การแต่งงานแบบเพศเดียวกันถูกกฎหมาย!
  3. สิ่งที่เหมือนไทยคือรถโดยสารสาธารณะไม่ค่อยดี แล้วก็เดินทางคนเดียวไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ ต้องเป็นคนที่เดินทางบ่อยๆ หรือคนในพื้นที่ถึงจะรู้สึกโอเคกับการไปไหนมาไหนคนเดียว ขนาดโรงเรียนเราเองยังมีกฎว่าถ้าออกไปไหนต้องมีเพื่อนไปด้วยตลอด
  4. อากาศคล้ายไทยแต่ดีกว่า อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 25-26C ทั้งปี ช่วงกลางคืนก็จะหนาวนิดนึง ใส่ hoodie ได้กำลังสบายเลย
  5. ประเทศไม่ใหญ่แต่ทุกจังหวัดมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ส่วนแหล่งธรรมชาติคือปังสมคำร่ำลือเลยค่ะ! คนส่วนมากจะรู้ว่าทะเลสวย แต่จริงๆ ภูเขาก็สวยมากเหมือนกัน
อ่านเพิ่มเติมคอสตาริกา

เมื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้เราโตขึ้น

เราว่า 2 ปีที่ UWC เป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว เราเหมือนเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะต้องรับมือกับความรู้สึกตัวเองให้ได้ทั้งตอนสุขที่สุดหรือดิ่งที่สุด

เมื่อก่อนเราเป็นคนมองสิ่งต่างๆ แบบขาว-ดำ ทุกอย่างต้องถูกหรือผิดเท่านั้น แต่ UWC เปลี่ยนให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เพราะต้องอยู่ร่วมทั้งกับคนที่โตมาในสังคม liberal (เสรีนิยม) มากๆ จนไปถึงคนที่โตมาแบบ conservative (อนุรักษ์นิยม) ในครอบครัวที่เคร่งศาสนาสุดๆ สภาพแวดล้อมที่หลากหลายทำให้เราได้คลุกคลีกับทุกคน เรียนรู้ที่จะถอยออกมาก่อนตัดสินบางคนหรือบางสิ่ง ต่อให้ไม่เห็นด้วยแค่ไหน ก็ต้องเตือนตัวเองว่าความคิดเราหรือสิ่งที่เรารู้อาจเป็นแค่เศษเสี้ยวของความจริงทั้งหมดก็ได้ 

พอกลับมาไทยเลยไม่ได้มีแต่ความรู้สึกด้านลบกับคนที่คิดต่างรุนแรงเท่าแต่ก่อน อาจไม่ถึงกับความคิดเปลี่ยน แต่ได้เรียนรู้ว่าวัฒนธรรมไม่ใช่แค่เรื่องของสังคม คนแต่ละคนมีสิ่งที่เชื่อหรือเอาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจต่างกัน และเราอาจไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมดหรือเข้าใจเค้าทุกอย่าง

สู่แรงบันดาลใจเรียนต่อสายจิตวิทยา

เราสนใจจิตวิทยาตั้งแต่อยู่ไทยแล้ว พอยิ่งไปเจอวัฒนธรรมที่หลากหลายในคอสตาริกา ก็ยิ่งทำให้เราสนใจขึ้นไปอีก มนุษย์เป็นอะไรที่น่าทึ่งเหมือนกันนะ อย่างเรากับเพื่อนที่ต่างกันมากๆ ก็ยังมาคบกันได้ น่าจะเพราะทุกคนมีความคล้ายหรือจุดร่วมกันอยู่ ถึงจะโตมาจากคนละซีกของโลกก็ยังเข้าใจกันได้ 

อีกอย่างคือเรามีเพื่อนหลายคนเป็นซึมเศร้า เราเลยอยากเรียนด้านนี้ให้ลึกเพื่อเข้าใจว่าเค้ามาถึงจุดนี้ได้ยังไง แล้วการรักษาที่มีปัจจุบันมันให้อะไรได้บ้าง แล้วในอนาคตเราอยากเห็นประเทศไทยเป็น safe zone สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจริงๆ คนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้มากขึ้น รวมถึงมีการบรรจุเรื่องนี้ลงหลักสูตรการศึกษาให้คนทั่วไปเข้าใจวิธีรับมือกับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต (ถึงไม่เรียนจิตวิทยาก็ช่วยเหลือได้) สุดท้ายแล้วเราก็หวังให้โลกใจดีกับพวกเค้ามากขึ้น 

……..

ได้ทุนเต็มจำนวนต่อป.ตรีในฟลอริดา

เราเลือกเรียนมหา’ลัยที่อเมริกาเพราะชอบระบบเรียนที่ให้อิสระ เปิดโอกาสให้เรียนได้หลากหลายด้าน ไม่จำกัดแค่วิชาของสาขาเดียว หรือถ้าเรียนแล้วอยากเปลี่ยนใจก็ย้ายเมเจอร์ได้ ส่วนตอนนี้เราเตรียมขึ้นปี 3 คณะจิตวิทยา University of Florida (UF) ในรัฐฟลอริดา

และแม้ว่าค่าเรียนจะสูงมาก แต่มีทุนสนับสนุนนักเรียนต่างชาติเยอะนะ อย่างนักเรียนของ UWC จะมี Davis UWC Scholarship ให้ประมาณ 10,000-20,000 ดอลลาร์ (330,000 - 650,000 บาท) แล้วยังมีทุนเต็มจำนวนของ University of Florida สำหรับเด็ก UWC ทุกคนที่มหา’ลัยตอบรับเข้าเรียนด้วย เพราะเขาอยากให้เด็กต่างชาติเข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางชาติในมหา’ลัย **ถ้าสนใจทุนอย่าลืมเช็กรายละเอียดอีกครั้ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ

Photo Credit: UF Physics
Photo Credit: UF Physics

รีวิวเรียนเอก General Psychology

จิตวิทยาหรือ Psychology เป็นหนึ่งในสาขาฮิตทั้งของม.นี้และในอเมริกาเลยค่ะ เพราะเป็นศาสตร์ที่สอนให้เข้าใจคนและต่อยอดได้หลายทาง อาจจะเรียนสายจิตวิทยาโดยตรง หรือไปทาง Marketing ก็ได้ วิชาเรียนจะมีแนวๆ จิตวิทยาพฤติกรรม จิตวิทยากับกฎหมาย และจิตวิทยาผ่านมุมมองชีววิทยา ฯลฯ 

อาจารย์ส่วนใหญ่จะก็มีแพสชันกับเรื่องที่สอนมากกกก จนขนาดไม่ใช่เรื่องที่สนใจก็ยังเรียนแล้วสนุกไปด้วย หรือปกติป.โทกับเอกจะมีทำวิจัยกัน อาจารย์เค้าก็จะเล่างานวิจัยให้เด็กป.ตรีฟัง บางทีมีชวนให้ไปร่วมทดลองหรือเป็นหนูทดลองบ้างก็มี 5555

เปิดโลกสุดๆ ก็วิชานี้แหละ!

ยกให้วิชา ‘จิตวิทยากับกฎหมาย’ เลยค่ะ วิชานี้ทำให้เราเห็นความไม่สมบูรณ์แบบของระบบกฎหมายทั้งในอเมริกาและทั่วโลก อย่างเรื่องนักโทษที่มารู้ทีหลังว่าไม่ได้ทำผิด แต่ถูกประหารไปแล้ว หรือพวกวิธีสอบสวนโดยการทำร้ายร่างกายหรือกักขังเพื่อหวังให้สารภาพ หลายคนอาจคิดว่าสุดท้ายแล้วเค้าต้องพูดความจริงใช่มั้ยคะ แต่ผลวิจัยบอกว่าความเครียดและกดดันนี่แหละอาจจะเป็นตัวบังคับให้เค้าเลือกที่จะโกหกแทน

เราได้เห็นความจริงว่าขนาดระบบกฎหมายอเมริกาที่ถือว่าดีกว่าไทย ก็ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ ขนาดอาจารย์เรายังพยายามออกมาช่วยเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมและกำลังจะโดนประหารเร็วๆ นี้อยู่เลย

ออกมานอกคลาสก็ทำตามแพสชันได้

นอกจากการเรียนจะเจ๋งมากๆ แล้ว ด้วยความที่ UF เป็นม.ขนาดใหญ่มาก ทำให้มีชมรม (Clubs) ให้เลือกเป็นพันๆ เราก็เดินตามไปแพสชันไปเข้าชมรม Involvement Team ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่พยายามกระตุ้นให้คนออกไปหากิจกรรมทำนอกห้องเรียนมากขึ้น และเปิดให้คนนัดเข้ามาปรึกษาได้เลยว่าหากสนใจด้านนี้จะเหมาะกับคลับไหนบ้าง

อีกคลับที่เราไปเข้าชื่อว่า U Matter We Care องค์กรที่คอยสนับสนุนให้คนดูแลสุขภาพจิต เป็นตัวกลางระหว่างเด็กนักเรียนกับองค์กรอื่นๆ ของมหา’ลัย อย่าง Counseling Center และ Wellness Center กิจกรรมเป็นพาร์ตนึงที่แฮปปี้มากก เพราะเราได้ทำสิ่งที่รัก แล้วไม่เหงาด้วย เราได้เจอกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนกันเต็มไปหมด

6 ข้อที่บอกว่านี่แหละชีวิตเด็ก ม.ฟลอริดา!

  1. เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่จริงๆ และตั้งอยู่ใน College Town (เมืองมหา’ลัย) แค่นักศึกษาก็ปาไปครึ่งนึงของเมืองแล้ว และเกือบ 100% ของนักเรียนที่นี่ก็คือคนในรัฐฟลอริดา ซึ่งบางทีก็ทำให้เราโดดเดี่ยวเหมือนกัน เราเคยเรียนคอสตาริกาที่เดินไปไหนก็เจอแต่คนรู้จัก แต่ม.ฟลอริดาใหญ่จนเราอาจเดินไม่เจอเพื่อนไป 3 เดือนเลยก็ได้ถ้าไม่นัดกัน
  2. มีความเป็นอเมริกันสูงมาก บรรยากาศใน ม.คล้ายในหนัง ให้ฟีลเหมือนไปดูอเมริกันฟุตบอลที่จัดเวอร์วังสุดๆ สเตเดียมใหญ่แบบจุคนได้เป็นหมื่น มีเชียร์ลีดเดอร์ข้างสนาม
  3. พูดถึงกีฬา ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องอเมริกันฟุตบอลจนมีแฟนคลับทั้งศิษย์เก่าและคนทั่วไปพากันเดินทางเพื่อมาชมการแข่งขัน (ถึงขนาดขับรถมา 8 ชั่วโมงเลยก็มี) แต่กีฬาอื่นๆ อย่างบาสเกตบอลหรือยิมนาสติกก็แข่งจริงจังไม่แพ้กัน
  4. เมืองที่ตั้งของมหาวิทยาลัยน่ารักและมีชีวิตชีวาสุดๆ มีทั้งพวกพิพิธภัณฑ์ให้เด็ก UF เข้าฟรี มีสวนสวยๆ ให้เดินเล่น แทบจะมีกิจกรรม คลับ หรือทุกองค์กรที่รองรับทุกความสนใจ บางที ม.ก็พยายามจัดอีเวนต์ขึ้นมาเอง เช่น คอนเสิร์ตหรือการแข่งขันฟุตบอล
  5. เดินทางสะดวก นักศึกษาขึ้นรถเมล์ในเมืองได้ฟรี มีแอปฯ ให้ติดตาม รถก็มาตรงเวลาเพราะไม่มีปัญหารถติดแบบไทย ทางม้าลายก็คือทางม้าลายจริงๆ เวลาข้ามไม่ต้องกลัวโดนชนค่ะ
  6. คนที่นี่เปิดกว้าง ทำให้เรากล้าเป็นตัวของตัวเอง จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ ต่างจากบางสังคมที่เหมือนโดนคนคอยตัดสินเราตลอดเวลา

ทิ้งท้ายถึง #ทีมอเมริกา

  • แนะนำให้หาทุนไว้ก่อนเพราะ ม.ในอเมริกาค่าเรียนสูงมาก
  • อยากให้ลองเปิดใจกับหลายๆ มหาวิทยาลัยดู เพราะที่นี่คุณภาพการศึกษาดี และแม้บางแห่งอาจไม่ได้มีชื่อเสียงที่สุด แต่เค้ามีทุนสนับสนุนต่างชาติเยอะมากก
  • ลองสังเกตตัวเองว่าน่าจะเหมาะกับมหาวิทยาลัยสไตล์ไหน จะช่วยเพิ่มโอกาสที่เค้าตอบรับเข้าเรียน อย่างเช่นเราสนใจด้านวิจัย แล้ว ม.ฟลอริดาก็ให้ความสำคัญด้านนี้เหมือนกัน
  • ระบบยื่นเข้ามหา’ลัยส่วนมากจะใช้เป็น Common Application และต้องเขียนเรียงความภาษาอังกฤษแบบมหาศาล (ตอนนั้นเราเขียนแทบอ้วกเลยแหละ 5555) แถมบางมหา’ลัยยังมีเรียงความแยกเพิ่มมาอีก เพราะฉะนั้นเตรียมตัวฝึกไว้ดีๆ เลยนะคะ!
  • ที่นี่ค่อนข้างต่างจากไทย เพราะเค้าดูหลายๆ อย่างจากโพรไฟล์ของเรา ไม่ได้ตัดสินแค่คะแนนอย่างเดียว ถึงตอนนั้นเราจะตั้งใจกับ SAT แต่ก็ยังแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย // เป็นระบบที่ดีนะ แต่ก็ยังมีข้อเสียตรงความไม่เท่าเทียม เพราะแต่ละคนมีต้นทุนและเวลาในการเอาเวลาไปทำกิจกรรมไม่เท่ากัน

……..

เป็นยังไงกันบ้างคะทุกคนน ประสบการณ์ของสรันถือว่าเป็น once in a lifetime จริงๆ เลยเนอะ ทั้งต้องเจออุปสรรคเรื่องเปลี่ยนระบบการเรียน และต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น แต่สุดท้ายเธอก็หาวิธีจนผ่านมันมาได้ แล้วยังได้เพื่อนสนิทจากทั่วโลกมาอีก เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าสุดๆ น้องๆ คนไหนสนใจสมัครทุน UWC หรือเรียนต่อที่ University of Florida ลองเข้าไปดูรายละเอียดกันได้ที่เว็บด้านล่างเลยนะคะ // ส่วนใครที่กำลังเจอปัญหา ลองเอาวิธีของสรันไปปรับใช้กันดูนะ~

เว็บไซต์ UWC Thailandเว็บไซต์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณภาพจากเจ้าของเรื่อง

 Sources:https://www.th.uwc.org/page/https://www.phys.ufl.edu/wp/https://www.th.uwc.org/ https://www.ufl.edu/
พี่เมนี่
พี่เมนี่ - Columnist ปัจจัย 3 ในการดำรงชีวิต: ดูซีรีส์ กิน ชอปปิง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น