สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ถ้าพูดถึงคณะสายวิทย์สุขภาพยอดฮิต เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่นึกถึง “คณะเภสัชศาสตร์” อย่าง TCAS64 เภสัชฯ มธ. ก็ติด TOP5 คณะสายวิทย์ที่มีผู้สมัครมากที่สุด นอกจากนี้ ผลสำรวจความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพยังพบว่าตลาดมีความต้องการเภสัชกรเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะเภสัชชุมชน เภสัชโรงพยาบาล เภสัชอุตสาหการ หรือเภสัชสายวิจัย ดังนั้น น้องๆ ที่สนใจสายงานด้านเภสัชกรรม มั่นใจได้เลยว่าจบมามีงานมั่นคงรองรับแน่นอน วันนี้พี่เมก้ารวบรวมแผนเตรียมความพร้อมสอบเภสัชฯ มาฝากน้องๆ แล้ว ตามไปดูกันเลยค่ะ  

เตรียมตัวสอบ TCAS65 "คณะเภสัชศาสตร์ "
เตรียมตัวสอบ TCAS65 "คณะเภสัชศาสตร์ "

เตรียมความพร้อม TCAS65 สู่คณะเภสัชศาสตร์  

คณะนี้เรียนอะไร

เภสัชกรในภาพที่หลายๆ คนรู้จัก ไม่ได้มีหน้าที่เพียงจัดยา ขายยา หรือจ่ายยา แต่จะต้องรู้หลักบริหารยา รู้สรรพคุณของตัวยาควบคู่กับศึกษาอาการของโรค รวมถึงติดตามและประเมินการรับยาของผู้ป่วยด้วย หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภาเภสัชกรรม เพื่อผลิตเภสัชกรที่มีความสามารถและทักษะทางวิชาชีพชั้นสูง โดยผู้เรียนจะใช้ระยะเวลาการศึกษาตลอด 6 ปีเต็ม!

ปีที่ 1-4 ส่วนใหญ่จะเน้นความรู้และเสริมทักษะการปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมขั้นพื้นฐาน น้องๆ จะได้เรียนความรู้พื้นฐานและวิชาเฉพาะทางสำหรับนิสิต/นักศึกษาเภสัชทั้งหมด เช่น คณิตศาสตร์และสถิติ แคลคูลัส คำนวณเภสัช จุลชีววิทยาทางการแพทย์ เคมีของยา ชีวเคมีคลินิก เคมีเภสัช เป็นต้น ไม่เพียงแต่ทฤษฎีจุกๆ น้องยังต้องเผื่อคิวสำหรับปฏิบัติการต่างๆ ไว้ด้วย ไม่ว่าจะปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา เภสัชกรรมปฏิบัติ และการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นต้น  

ปีที่ 5-6 น้องๆ จะได้เรียนวิชาต่างๆ แบบเจาะลึกตามสายวิชาชีพที่เลือก บางมหาวิทยาลัยจะแบ่งการเรียนเป็น 2 สาขาตั้งแต่แรกเข้าคือ “สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม” เน้นดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยาทั้งในโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา ไปจนถึงงานคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านยาและสุขภาพ และ “สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ” เน้นตรวจวิเคราะห์ วิจัย พัฒนา ผลิต ประกันคุณภาพ และควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ทั้งนี้บางมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้แบ่งสาขาตอนปี 1 แต่เรียกรวมเป็นสาขาเภสัชศาสตร์ก็จะให้เลือกสาขาที่ต้องการในชั้นปีสูงนี้เช่นเดียวกันค่ะ เช่น "ม.มหิดล" มีสาขาให้เลือกระหว่างเภสัชอุตสาหการและการบริบาลทางเภสัชกรรม "ม.ศิลปากร" มีรายวิชาให้เลือก 4 สาขาด้วยกัน คือเภสัชกรรมอุตสาหการ การบริบาลทางเภสัชกรรม (เน้นโรงพยาบาล) การบริบาลทางเภสัชกรรม (เน้นชุมชน) และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ เป็นต้น สำหรับ "ปีที่ 6" จะเป็นชั้นปีที่น้องๆ แยกย้ายไปฝึกปฏิบัติงานด้านเภสัชกรรมตามสายงานที่เลือกอย่างเต็มตัว บางคนก็เข้าฝึกในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา บางคนก็ถูกส่งไปประจำการตามโรงพยาบาลหรือร้านขายยาต่างๆ โดยจะต้องเก็บชั่วโมงฝึกงานให้ครบตามหลักสูตรด้วย ซึ่งนี่ก็จะเป็นบทพิสูจน์เลยว่าเราเป็นเภสัชกรที่มีใจรักในการทำงานด้านไหน เพราะมีสายงานให้ทำหลากหลายจริงๆ              

ส่วนน้องๆ ที่สนใจจะเรียนเภสัชศาสตร์ในสาขาที่เป็นวิทยาศาสตรบัณฑิตอย่าง “สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง” จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี โดยรวมจะเน้นผลิตผู้เชี่ยวชาญในการคิดค้น พัฒนาสูตรเครื่องสำอาง รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเครื่องสำอางด้วยเทคโนโลยีทางเภสัชกรรมค่ะ หลักสูตรนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อเรียนจบจึงมั่นใจได้ว่าน้องๆ จะสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อย่างแน่นอน    

 คณะนี้เหมาะกับใคร

1. น้องๆ ที่ “เรียนสายวิทย์” หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต รับนักเรียนที่จบแผนการเรียนวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะการเรียนกว่า 90% เน้นเนื้อหาวิทยาศาสตร์ทุกด้าน ทั้งเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา โดยเฉพาะเคมีและชีวะ ที่เรียนหนักมาก ไปๆ มาๆ อาจทำให้เทพด้านนี้โดยไม่รู้ตัว  

2. น้องๆ ที่ “ชอบเคมี” ต้องเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างยาและการผลิตยาต่างๆ เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้งสิ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหนีไปจากเคมี เคมีอินทรีย์มาแน่ เคมีวิเคราะห์เจอแน่ ถ้าไม่เป็นมิตรกันหรือไม่ถนัดก็ต้องเตรียมตัวให้หนักเลย!    

3. น้องๆ ที่ “หน่วยความจำเยอะ” ที่ต้องบอกแบบนี้เพราะการเรียนเภสัชมีเนื้อหาที่ต้องอาศัยความจำเยอะอยู่เหมือนกัน ท่องยาแหลก ท่องโรคแหลก ถ้าเราเมมเต็มง่ายอาจจะลำบากหน่อย ลองฝึกจัดระบบความคิดความจำให้เป็นระเบียบก็จะช่วยให้เหนื่อยน้อยลงได้ค่ะ    

4. น้องๆ ที่ “ปรับตัวง่าย” สำหรับการเรียนเภสัชฯ ระหว่างเรียนไม่ได้เจอแค่วิทย์แน่นอน น้องต้องเจอวิชาคำนวณด้วย ภาษาอังกฤษด้วย ดังนั้น เราต้องสามารถซึมซับความรู้ได้ทุกอย่าง ถึงไม่ชำนาญก็ต้องพยายามทำความเข้าใจและผ่านมันไปให้ได้ค่ะ    

คณะเภสัชศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต  (ภ.บ.)

  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
  • สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรเภสัชศาสตร์  

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ม.เชียงใหม่
  • ม.มหิดล
  • ม.สงขลานครินทร์
  • ม.ขอนแก่น
  • ม.ศิลปากร
  • ม.นเรศวร
  • ม.อุบลราชธานี
  • ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • ม.มหาสารคาม
  • ม.วลัยลักษณ์
  • ม.บูรพา
  • ม.พะเยา
  • ม.ธรรมศาสตร์ (รับรองแบบมีเงื่อนไข)
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ ม.รังสิต  ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  ม.พายัพ ม.สยาม ม.อีสเทิร์นเอเชีย (รับรองแบบมีเงื่อนไข) ม.เวสเทิร์น (ยังไม่ได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรม)
อ้างอิงข้อมูลจากรายชื่อมหาวิทยาลัยที่สภาเภสัชกรรมให้การรับรองหลักสูตรเภสัชศาสตร์ (ปี 64)

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษา

  • จุฬาฯ 26,500 บ. / ภาคการศึกษา
  • ม.เชียงใหม่ 20,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • ม.ธรรมศาสตร์ 52,000 บ. / ภาคการศีกษา
  • ม.มหิดล 30,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • ม.ศิลปากร 23,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • ม.พะเยา (สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 35,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • ม.พะเยา (สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง) 28,000 บ. / ภาคการศึกษา

ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิงข้อมูลจาก TCAS64)

รอบมหาวิทยาลัย/โครงการเกณฑ์คัดเลือกคะแนนต่ำสุดปี 64
รอบ 1 
Portfolio
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โครงการโอลิมปิกวิชาการสาขาเคมีและสาขาชีววิทยา
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.50 + ผ่านการอบรม สอวน. ค่าย 2 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนศูนย์ไปแข่งโอลิมปิกในสาขาเคมีหรือชีววิทยา + Portfolio -
ม.นเรศวร
โครงการส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สอวน. 
GPAX ตามที่สาขากำหนด + ผ่านการเข้าค่าย สอวน. ตามที่สาขากำหนด + Portfolio + สอบสัมภาษณ์ -
ม.เชียงใหม่ 
โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี 
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.75 + GPA อังกฤษ คณิต วิทย์ 
ไม่ต่ำกว่า 3.50 + Portfolio 
-
ม.สงขลานครินทร์  
โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.50 + GPA ไทย คณิต วิทย์ อังกฤษ สังคม ไม่ต่ำกว่า 3.50 + สอบสัมภาษณ์  -
    
รอบ 2 
Quota
ม.ธรรมศาสตร์  
โครงการรับนักเรียนพลเมืองจิตอาสา 
ประวัติกิจกรรมที่แสดงถึงความเป็นพลเมืองจิตอาสา (ไม่เกิน 5 ปี) + การคัดเลือกในค่ายฯ (3 วัน 2 คืน) + คะแนนรวม O-NET ไม่ต่ำกว่า 175 คะแนน  + คะแนน GAT ไม่ต่ำกว่า 150  คะแนน
(TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้)
-
ม.ศรีนครินทวิโรฒ (อุตสาหการ) 
โครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตพื้นที่ฯ เขต 7 
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 + คะแนนรวม O-NET ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 + GAT + PAT2 + วิชาสามัญ (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ 1 สังคมศึกษา ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ เคมี ชีววิทยา) + ผลตรวจร่างกาย + การทดสอบทัศนคติต่อวิชาชีพ + สอบสัมภาษณ์  
(TCAS65 ยกเลิกการใช้ O-NET รอติดตามเกณฑ์ปีนี้)
-
ม.อุบลราชธานี (บริบาล) 
โครงการรับตรงรอบโควตา หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต กลุ่มใช้ GAT และ PAT2
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 + GAT + PAT2 + สัมภาษณ์ -
ม.มหาสารคาม (บริบาล) 
โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
GAT 10% + วิชาสามัญ 90% (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ 1 สังคมศึกษา ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ เคมี ชีววิทยา) -
    
รอบ 3 Admissionจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บริบาล)
กสพท
วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท55.5011
ม.มหิดล  
กสพท
วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + วิชาเฉพาะ กสพท52.5572
ม.ขอนแก่น  วิชาสามัญ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมฯ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 1) + PAT248.1370
ม.ศิลปากรวิชาสามัญ (ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) + สอบสัมภาษณ์ 43.6000

อาชีพหลังจบการศึกษา

น้องๆ ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรเภสัชศาตรบัณฑิตจะต้องเข้ารับการสอบใบประกอบฯ ของสภาเภสัชกรรมเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม โดยการสอบวัดความรู้นี้ เป็นการสอบ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตอนจบชั้นปีที่ 4 และครั้งที่ 2 ตอนจบชั้นปีที่ 6 แบ่งเป็น 2 ส่วนคือการสอบความรู้ข้อเขียน (MCQ) และการสอบทักษะทางวิชาชีพ (OSPE) ทั้งนี้เมื่อได้ใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมาแล้วจะต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสะสมหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า 100 หน่วยกิต และแต่ละปีต้องเก็บหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยกิต สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สภาเภสัชกรรม และศูนย์สอบความรู้ฯ สภาเภสัชกรรม 

สาขาการบริบาลเภสัชกรรม ประกอบอาชีพเป็นเภสัชกรประจำร้านยา เภสัชกรประจำโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน เภสัชกรประจำคลินิก เภสัชกรประจำสถานพยาบาล เภสัชกรฝ่ายทะเบียนยา เภสัชกรฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข ผู้ประสานงานการวิจัยทางคลินิก นักวิเคราะห์วิจัยในสถาบัน กระทรวง กรมการแพทย์ต่างๆ  

สาขาเภสัชกรรมอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพเป็นเภสัชกรในอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย บริษัทยา อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และธุรกิจทางด้านเภสัชกรรมต่างๆ เช่น เภสัชกรฝ่ายผลิตยา เภสัชกรฝ่ายควบคุมมาตรฐานของตัวยาและการผลิต เภสัชกรฝ่ายการวิจัยคิดค้นและพัฒนาตัวยา เป็นต้น  

สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ประกอบอาชีพเป็นนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในสถาบันรัฐและเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอาง ผู้ควบคุมคุณภาพและการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผู้ให้คำปรึกษาด้านเครื่องสำอาง เป็นต้น  

จากที่รู้จัก “เภสัชศาสตร์” ไปพอสมควร น้องๆ คงรู้แล้วว่าคณะนี้เน้นด้านวิทยาศาสตร์มากๆ แต่อังกฤษก็ทิ้งไม่ได้ ดังนั้น การเตรียมตัวสอบเข้าคณะนี้ ต้องมี GAT และ PAT2 แน่นอน นอกจากนี้ใครที่ตั้งใจสอบ กสพท ต้องเตรียมอ่านวิชาเฉพาะ กสพท และวิชาสามัญ 7 วิชาหลักไว้ด้วยนะคะ ขอให้น้องๆ ที่มีใจรักในงานเภสัช ได้เข้าไปปรุงยาสมใจกันทั่วทุกคนค่ะ    

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Banner vector created by macrovector www.freepik.com
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

DIAMOND666 Member 12 ม.ค. 65 03:04 น. 1

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม (บริบาล)

โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของปีนี้ ไม่ใช้ o-net 60 % ใช่มั้ยครับ?

และคิดว่า ปี 66 จะกลับมาใช้ คะแนน o-net อีกมั้ยครับ.


0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

DIAMOND666 Member 12 ม.ค. 65 03:04 น. 1

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม (บริบาล)

โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของปีนี้ ไม่ใช้ o-net 60 % ใช่มั้ยครับ?

และคิดว่า ปี 66 จะกลับมาใช้ คะแนน o-net อีกมั้ยครับ.


0
กำลังโหลด
กำลังโหลด