เป็นอยู่มั้ย!? ภาวะ ‘Digital Overload’ เสพข่าวสารบนโซเชียลมากไปจนเครียดเกินรับไหว

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเราแบบครบวงจรไปแล้ว เพราะเป็นตัวช่วยทั้งเรื่องเรียน ทำงาน ติดต่อสื่อสาร และให้ความบันเทิง แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่สูบพลังชีวิตเราได้หากใช้เกินพอดี อย่างในสถานการณ์ที่ผู้คนต้องอยู่บ้านเรียนหรือทำงานออนไลน์ พร้อมกับคอยอัปเดตข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้บางคนเริ่มคิดแล้วว่าเราใช้เวลาตามข่าวมากเกินไปมั้ย หรือเริ่มสังเกตเห็นอารมณ์ด้านลบชัดขึ้นจนไม่เหมือนเราคนเดิม

ถ้ามีอาการข้างต้น ไม่แน่นะคะว่าอาจกำลังประสบกับภาวะ ‘Digital Overload’ หรือ ‘Information Overload’ ซึ่งพบได้ในทุกช่วงวัยที่ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เลยค่ะ วันนี้พี่เลยจะมาสรุปข้อมูลให้ฟังพร้อมวิธีรับมือเพื่อเซฟสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตามมาเช็กกันเลยค่า :)

ฟุ้งซ่าน กังวล เครียด เหนื่อยล้า
หลังสมองรับข้อมูลแบบโอเวอร์โหลด!

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าอาการ Digital Overload หรือ Information Overload คือภาวะที่ได้รับข้อมูลทางออนไลน์มากเกินไป จนทำให้ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล เครียด เหนื่อยล้า และอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ จริงๆ ภาวะนี้มีมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อโรคระบาดและเทรนด์การทำงานทางไกลเริ่มเข้ามา ก็ทำให้ผู้คนพากันประสบกับภาวะนี้มากขึ้น เพราะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับโลกออนไลน์

อย่างเช่นช่วงนี้ที่เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดจากทีวีหรือออนไลน์ตลอดเวลา ก่อนนอนก็เพิ่งอ่านข่าว เช้าอีกวันก็เจอเรื่องเดิมอีกแล้ว สมองของเราก็ไม่ได้พักจากการรับข้อมูลเหล่านั้น และสะสมจนเกิดภาวะ Digital Overload

นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุสำคัญคือ “การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน” (Multitasking) เช่น เคลียร์เอกสารพร้อมตอบอีเมลลูกค้า หรือใช้อุปกรณ์มากกว่า 1 เครื่องในเวลาเดียวกันนั่นเองค่ะ // งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมนี้จะส่งผลให้ทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ไม่ดีมากนัก และทักษะการกรองข้อมูลสำคัญก็ลดลงตามไปด้วย (แม้บางคนจะเลี่ยงการทำงาน Multitasking ไม่ได้ก็ตาม…)

สังเกตตัวเองแล้วอย่าชะล่าใจ
เพราะผลกระทบมากกว่าที่คิด

  1. งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดียบ่อยๆ จะก่อให้เกิดอารมณ์เครียด หงุดหงิด เหนื่อยล้า ปวดหัว และวิตกกังวล และวัยรุ่นที่ใช้เวลากับการดูหน้าจอมากเกินไปจะมีแนวโน้มไม่มีความสุข และทำให้อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นได้
  2. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนจะทำให้หลับยากขึ้น เนื่องจากได้รับแสงสีฟ้า (Blue Light) ในตอนกลางคืน ซึ่งแสงนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และชวนให้สมองเข้าใจผิดคิดว่าเป็นช่วงกลางวันอยู่!
  3. ปัญหาการมองเห็น  อาจมีอาการปวดตา ตาพร่ามัว หรือตาแห้งจากการจ้องหน้าจอมากเกินไป
  4. ความหนาแน่นของกระดูกลดลง เพราะเวลาใช้อุปกรณ์เรามักจะเผลอนั่งหรือนอนราบ ยิ่งถ้าไม่ได้ออกกำลังกายก็จะยิ่งเสี่ยงกระดูกหักมากขึ้นด้วยค่ะ
  5. น้ำหนักเพิ่มขึ้น พร้อมกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงด้วย หากเราอยู่นิ่งๆ จ้องโทรศัพท์ และไม่ค่อยได้ขยับตัวไปไหน
  6. ในกรณีที่รุนแรง ผู้ที่ใช้อุปกรณ์มากเกินไปอาจเผชิญกับการเสพติดดิจิทัล (Digital Addiction) ซึ่งไม่สามารถหยุดหรือเลิกใช้งานอุปกรณ์ได้ กระทบการเรียน การทำงาน และชีวิตส่วนตัว

วิธีรับมือกับ Digital Overload 

หากน้องๆ คนไหนกำลังเผชิญอยู่ในภาวะนี้ อาจจะไม่ได้มีวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด แต่ถ้าเราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละนิด รับรองว่าจะช่วยสร้างสมดุลการใช้งานทางออนไลน์ได้ไม่มากก็น้อยเลยค่ะ ว่าแล้วพี่เลยรวมวิธีดีๆ มาแนะนำกันค่ะ  

Time Limitation 
กำหนดเวลาในการทำงาน 

เวลาไหนคือเวลาทำงาน เวลาไหนคือเวลาพัก เราควรกำหนดให้ชัดไปเลยค่ะ ควรสร้างบาลานซ์ไม่ให้นั่งทำงานนานจนเกินไป เพราะถ้าเอาแต่จ้องคอมพิวเตอร์ก็อาจจะทำให้สายตาล้าน่าดู  

ส่วนเวลาก็ควรพักแบบหลบโซเชียลไปเลยก็ดี ถ้าไม่ได้มีข้อความหรืออีกเมลเร่งด่วนก็เลี่ยงตอบไปก่อน ซึ่งวิธีนี้เค้าว่ากันเวิร์กมาก เพราะเคยมีการทำลองเกี่ยวกับพฤติกรรมพบว่า คนที่เช็กอีเมลเพียงไม่กี่ครั้งต่อวัน มีอัตราความเครียดต่ำกว่าผู้ที่เช็กอีเมลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ดังนั้น ลองฝึกให้ชินก็อาจจะช่วยลดความเครียด และช่วยเพิ่มโฟกัสการทำงานได้มากขึ้น 

Stop multitasking 
หยุดทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

จับปลาสองมือ ถือยังไงก็ไม่หมด งานก็เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าหากเราทำหลายงานไปพร้อมกันก็อาจจะเสียสมาธิและทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้  

มีงานวิจัยบอกว่า ยิ่งคนเราสลับการทำงานมากเท่าไร ความสนใจต่องานตรงหน้าเรายิ่งแย่ลงเท่านั้น แต่ถ้าบางทีเราจำเป็นต้องทำหลายงานไปพร้อมกัน (ก็เรียนออนไลน์งานมันเยอะะะ) แนะนำว่าให้ลองสลับการทำงานให้น้อยลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับข้อมูลมากขึ้น

 Tech-Free Zones 
สร้างพื้นที่ปลอดเทคโนโลยี

ฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ทุกคนทำได้ค่ะ เราอาจเริ่มต้นจากอะไรง่ายๆ อย่างเช่น วางโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ให้ห่างเวลานั่งรับประทานอาหารหรือเวลาดูซีรีส์ จะได้มีเวลาโฟกัสกับกิจกรรมที่ตัวเองทำอยู่อย่างเต็มที่ 

Turn off notifications 
ใช้ฟังก์ชัน "ห้ามรบกวน" 

เมื่ออยู่ในเวลาว่างก็เปิดโหมดนี้เลยค่ะ เพราะนี่มันคือเวลาพักของเรา! การใช้ฟังก์ชันนี้จะช่วยให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองและได้ทำกิจกรรมอื่นๆ แบบไม่ถูกขัดจังหวะได้ (แล้วเราจะได้ไม่หงุดหงิดด้วยค่ะ 55555)

........

ภาวะ Digital Overload นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกับเรามากกว่าที่คิด และถ้ามันเกิดก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในสถานการณ์แบบนี้ ที่สำคัญคือ เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันไม่ให้อาการแย่ไปกว่าเดิม สำหรับใครที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อ่านข่าวในแต่ละวันแล้วหดหู่ ควรออกห่างจากสื่อโซเชียลมีเดียไปสักพักและให้เวลากับตัวเองเยอะๆ นะคะ   

 

Source & Photo Credit https://www.goodrx.com/blog/what-is-digital-overload-definition-symptoms-how-to-manage/https://allwork.space/2020/09/battling-with-digital-overload-here-are-5-strategies-to-help-you-cope/https://unsplash.com/photos/KQ0C6WtEGlohttps://unsplash.com/photos/MAGAXAYq_NEhttps://unsplash.com/photos/0aRycsfH57Ahttps://unsplash.com/photos/PfMXXv8XXgs 

 

 

พี่แพรวแพรว
พี่แพรวแพรว - Columnist มนุษย์ฝึกงาน ผู้หลงรักศิลปินเกาหลี ซีรีส์ และการนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น