ทำไม? ใครๆ ก็ชอบดู "คลิปรีแอคชั่น" เบื้องหลังคอนเทนต์สุดฮิต ที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้!

Spoil :

  • Mirror Neurons เซลล์ประสาทสะท้อนสิ่งที่เห็น ทำให้มนุษย์เข้าใจความคิดความรู้สึกของกันและกันได้
  • รีแอคชั่นวิดีโอ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเข้าใจอารมณ์และการกระทำของคนในวิดีโอนั้นๆ จนเกิดความผูกพันและต้องการติดตามต่อไปเรื่อยๆ
  • เพราะความเหมือนและมีจุดเกี่ยวข้องร่วมกัน ทำให้ใครๆ ก็ชอบดูรีแอคชั่นวิดีโอ

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถ้าเป็นคนที่ชอบเสพคอนเทนต์จาก YouTube เป็นประจำ คงจะเห็นว่าคลิปวิดีโอแนวๆ Reaction ที่ไม่ว่าจะเป็น MV เพลง ซีรีส์ หรืออะไรก็ตามได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากๆ จนมีช่อง YouTube ที่ทำ Reaction โดยเฉพาะเกิดใหม่ขึ้นอีกมากมาย แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักคอนเทนต์ประเภทนี้กันก่อนดีกว่า 

รีแอคชั่นวิดีโอ (Reaction Video) คือวิดีโอที่แสดงให้เราเห็นถึงปฏิกิริยาทางอารมณ์ของผู้ที่ดูบางสิ่งบางอย่างอยู่ เช่น MV ซีรีส์ ตัวอย่างภาพยนตร์ หรือแม้แต่สิ่งของที่เคยเห็นเป็นครั้งแรก ซึ่งที่จริงแล้ว รีแอคชั่นวิดีโอมีทั้งแบบที่คนในวิดีโอรู้และไม่รู้ว่าตัวเองถูกถ่ายอยู่ เช่น วิดีโอประเภท Social Experiment  แต่ที่ได้รับความนิยมมากกว่า มักจะเป็นแบบที่คนในวิดีโอรู้ตัว และตั้งใจมารีแอคชั่นตามคอนเทนต์ต่างๆ 

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

แต่ทำไมเราถึงชอบดูรีแอคชั่นของคนกันขนาดนี้ ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจ แต่เรื่องนี้วิทยาศาสตร์ให้คำตอบได้ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

Mirror Neurons เซลล์ประสาทสะท้อนสิ่งที่เห็น

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

นี่อาจเป็นหนึ่งในทฤษฎีสำคัญที่อธิบายสถานการณ์นี้ได้ ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1990 มีการศึกษาโดยกลุ่มนักวิจัยชาวอิตาลีที่วิจัยเกี่ยวกับสมองของลิงแสม พบว่าเมื่อลิงเอื้อมหยิบอาหารจะมีเซลล์ประสาทกลุ่มหนึ่งที่ทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำงานเมื่อลิงเห็นมนุษย์เอื้อมหยิบอาหาร หลังจากนั้นจึงเรียกเซลล์ประสาทนี้ว่า Mirror Neurons หรือ เซลล์ประสาทกระจก ที่ทำให้เราทำอะไรสักอย่างตามสิ่งที่เรามองเห็น หรือเป็นกระจกสะท้อนสิ่งที่เห็นนั่นเอง ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราชอบดูคนอื่นทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น คนพยายามกลั้นขำ หรือเล่นเกมอะไรบางอย่างเป็นครั้งแรก

 Mirror Neurons จึงสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงมีความรู้สึกหรือสามารถเข้าใจมุมมองความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นได้ โดยการคิดว่าถ้าเราเป็นเขาคนนั้น ในสถานการณ์นั้น ทำให้เกิดความเข้าใจในสังคม แต่ส่วนอื่นๆ ในสมองก็อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน

เพราะความเข้าใจที่ตรงกัน จึงทำให้เกิดอารมณ์ร่วม

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

Empathy หรือความสามารถในการเข้าใจในมุมมองของคนอื่น อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนเข้าถึงรีแอคชั่นวิดีโอได้ง่าย Andrea Weinstein นักจิตวิทยาคลินิกและปริญญาเอกด้านจิตวิทยา จาก San Francisco VA Medical Center ให้ข้อมูลว่า ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องการความเข้าใจเพื่อสร้างความผูกพันทางสังคม และเมื่อเราเห็นใครมีรีแอคชั่นใหญ่ๆ กับสิ่งใดก็ตามจะทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจอารมณ์ของคนๆ นั้นมากขึ้น 

หลายๆ คนมักจะเคยมีเพื่อนที่ดื้อรั้นหรือฉุนเฉียวง่าย ซึ่งยากที่เราจะเข้าใจอารมณ์และการกระทำของเขา เพราะไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ แต่ในทางกลับกันหากเราเจอใครที่แสดงอารมณ์ออกมาชัดเจน ก็จะทำให้เราเข้าใจคนๆ นั้นและรู้สึกผูกพันมากขึ้นโดยอัตโนมัติ แม้เขาคนนั้นจะเป็นคนแปลกหน้าในอินเทอร์เน็ตก็ตาม และจะยิ่งผูกพันเข้าไปอีกเมื่อคนในหน้าจอมีรีแอคชั่นเหมือนกันกับเรา ทำให้เรามีความสุขกับการดูวิดีโอรีแอคชั่น

เธอเป็นเหมือนฉัน ฉันเป็นเหมือนเธอ

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

ความรู้สึกประมาณว่า “เธอเป็นเหมือนกับฉันเลย” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราชอบดูรีแอคชั่นวิดีโอ เช่นเดียวกับที่หลายๆ คนชอบดูคลิปขอแต่งงานที่ได้เห็นอารมณ์ของคู่รักและคนรอบข้างที่ล้วนปลื้มปริ่มไปกับสถานการณ์นั้น จนบางคนถึงขั้นร้องไห้ออกมาตามคนในวิดีโอก็มี  ซึ่งเกิดจากความรู้สึกร่วมที่เหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์นั้นเอง ซึ่งโดยรวมแล้วความรู้สึกนี้เรียกว่า การรับรู้ซึ่งกันและกัน ของผู้ชมอย่างเราและคนในวิดีโอ ทำให้รีแอคชั่นวิดีโอเป็นคอนเทนต์ที่มีผู้ติดตามเหนียวแน่น หรือผู้ติดตามกลุ่มประจำที่คอยเสพคอนเทนต์จาก YouTuber ช่องประจำที่ตรงกับความสนใจของตัวเอง

 ถึงแม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าความรู้สึกนี้เกิดจากอะไร แต่เราสามารถบอกได้ว่าบางอย่างในสมองของเราจะถูกกระตุ้นขึ้นมา เมื่อมีความรู้สึกว่าตัวเองและใครอีกคนมีจุดที่เหมือนกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน เหมือนกับ YouTuber หลายๆ คน ที่มีผู้ติดตามที่มีจุดที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ช่วงวัย เพศ ความสนใจ หรืออารมณ์ขันในแบบเดียวกัน ความรู้สึกที่ทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความคล้ายคลึงกับตัวเอง จึงทำให้คอนเทนต์ประเภทนี้ได้รับความนิยมนั่นเอง

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

เป็นไงกันบ้าง ใครจะไปรู้ว่าแค่วิดีโอรีแอคชั่นที่เราชอบดูกันจะมีหลักทางทางวิทยาศาตร์ซ้อนอยู่ขนาดนี้ สำหรับชาว Dek-D ที่ชอบดูรีแอคชั่นวิดีโอ ในครั้งต่อๆ ไปที่ดูคอนเทนต์ประเภทนี้ อย่าลืมเอาข้อมูลวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ข้อนี้ไปคิดตามระหว่างดูกันได้ แล้วมาดูกันว่าจะตรงกับตัวเองหรือไม่

 

ที่มาhttps://arstechnica.com/gaming/2016/04/the-science-behind-the-insane-popularity-of-react-videos-on-youtube/https://blog.homeforfiction.com/2018/10/14/why-do-people-make-reaction-videos/https://tech-ish.com/2020/02/20/why-people-love-react-videos/
พี่แก้มแก้ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น