10 เรื่องจริง ‘สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก’ สาขาที่ไม่ได้เรียนแค่นิทาน แต่ได้ทำงานด้านสื่อเด็กหลากรูปแบบ!

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าหญิงโฉมงามองค์หนึ่ง เธอมีชื่อว่า... อุ้ย น้องๆ มากันแล้วเหรอเนี่ย สงสัยต้องพักเทพนิยายไว้ก่อนแล้วสิ แหะๆ สวัสดีทุกคนนะคะ กลับมาเจอกันในบทความของ Dek-D TCAS เช่นเคย เล่นเปิดด้วยนิทานแบบนี้ น้องๆ คงเดากันได้ว่าคณะ/สาขาคราวนี้ต้องเกี่ยวข้องกับเด็กๆ แน่เลย ถูกต้องแล้วล่ะค่ะ เพราะวันนี้เราจะพาไปรู้จักสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กนั่นเอง แอบกระซิบว่าสาขานี้น่าสนใจมากๆ ยิ่งใครเป็นสายชอบทำสื่อเด็ก ยิ่งไม่ควรพลาดเลยค่ะ

แต่เอ… สาขานี้เปิดสอนที่ไหนบ้างนะ พอเข้าไปจะได้เรียนอะไร วรรณกรรมอย่างเดียวเลยรึเปล่า แล้วถ้าไม่รักเด็กจะรอดไหมเนี่ย น้องๆ คงอยากรู้แล้วล่ะสิ งั้นเราไปหาคำตอบใน ‘10 เรื่องจริงของสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก’ กันเลยดีกว่า  

 10 เรื่องจริงของสาขา ‘วรรณกรรมสำหรับเด็ก’ สาขาที่ไม่ได้เรียนแค่นิทาน ได้ทำงานด้านสื่อเด็กหลากรูปแบบ!
 10 เรื่องจริงของสาขา ‘วรรณกรรมสำหรับเด็ก’ สาขาที่ไม่ได้เรียนแค่นิทาน ได้ทำงานด้านสื่อเด็กหลากรูปแบบ!

10 เรื่องจริงของสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ที่เราอาจไม่รู้มาก่อน

   1.  เปิดสอนแค่ที่เดียวในประเทศไทย

ในบรรดามหาวิทยาลัยไทย มีเพียงคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เท่านั้น ที่เปิดสอนสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก และยังเป็นหนึ่งเดียวในประเทศอาเซียนที่เปิดสอนด้านนี้ในระดับปริญญาตรี หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อหลักสูตร แต่สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มศว นั้นก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นเวลากว่า 27 ปีแล้ว ไม่ใช่สาขาเปิดใหม่แต่อย่างใดค่ะ

     2. ‘เด็ก’ ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ 0-12 ปี

‘เด็ก’ คือคนอายุระหว่าง 0-12 ปี หลายคนคงชินกับนิยามนี้ พอมาเจอสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ก็อาจเข้าใจไปว่าเรียนทำสื่อให้เด็กเล็กหรือเปล่า นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งค่ะ จริงๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายของสาขาไม่ได้เจาะจงเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเยาวชน หรือวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 20 ปีด้วย สื่อสารตั้งแต่วัยเตาะแตะยันใกล้โตเป็นผู้ใหญ่เลยทีเดียว

นิสิตของสาขารุ่นแรกๆ ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ :  www.childrenlitswu.com
นิสิตของสาขารุ่นแรกๆ ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ :  www.childrenlitswu.com

   3.  ไม่ได้เรียนแค่นิทานหรือวรรณกรรม

ถึงจะชื่อวรรณกรรมเด็ก ก็ไม่ได้แปลว่าเรียนงานเขียนอย่างเดียว แต่เรียนสื่อเด็กแบบจัดเต็มเลยต่างหาก ขนมาหมดทั้งวิเคราะห์ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หนังสือภาพ หรืออะไรก็ตามที่เด็กเสพ นอกจากนั้น ทางสาขายังเปิดโอกาสให้นิสิตได้ลงมือทำสื่อหลากประเภทด้วยตัวเอง เช่น หนังสือนิทาน งานภาพประกอบ มังงะ กราฟิกดีไซน์ งานสื่อผ้า และอื่นๆ อีกมากมาย

  4.  สาขานี้ ไม่มี ‘อาจารย์’

ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิดหรอก เพราะที่นี่เราไม่เรียกผู้สอนว่า ‘อาจารย์’ เหมือนที่อื่น แต่จะใช้คำว่า ‘ครู’ แทน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าเหล่าคณาจารย์...ไม่สิ เหล่าคุณครูประจำสาขา ท่านรู้สึกว่าอาจารย์มันห่างเหินไปหน่อย ให้เรียกครูดีกว่า จะได้ดูใกล้ชิดสนิทสนมกัน เป็นกิมมิคเล็กๆ  ที่ไม่เหมือนใคร แถมน่ารักไม่เบาเลยนะเนี่ย

  5. น้องเป็ด นี่แหละชาววรรณเด็ก

น้องเป็ดเป็นเหมือนตัวแทนนิสิตสาขานี้  สาเหตุที่เป็นเจ้าตัวนี้ เพราะนิสิตวรรณเด็กนั้นขึ้นชื่อว่ามีทักษะรอบด้าน ทำได้ทุกอย่างตั้งแต่โปรแกรมดิจิทัลยันงานเย็บผ้า  เพียงแค่ไม่ได้ลงลึกหรือเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ เหมือนกับน้องเป็ดนั่นเองค่ะ

ภาพโปรโมตนิทรรศการต้นฉบับสารนิพนธ์ครั้งที่ 19 ของสาขา ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์  : www.childrenlitswu.com
ภาพโปรโมตนิทรรศการต้นฉบับสารนิพนธ์ครั้งที่ 19 ของสาขา ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์  : www.childrenlitswu.com

  6.  ไม่รักเด็กก็เรียนได้

ต่อให้เป็นคนประเภทเด็กกลัวอย่างแรง อารมณ์ว่าแค่เห็นหน้าเราก็ร้องจ้าแล้ว หรือจะเกลียดเด็กม้ากมากก็ตามแต่ ยังไง้ยังไงก็เรียนวรรณเด็กรอดค่ะ เผลอๆ คนไม่ชอบเด็กในเอกจะมากสูสีกับคนรักเด็กด้วยซ้ำ! (อันนี้รุ่นพี่บอกเองเลยนะ) ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนสาขานี้จะช่วยให้เราเข้าใจน้องๆ มากขึ้น แถมได้รู้วิธีรับมือพวกเขาอีกด้วย พอเรียนไปเรื่อยๆ ระวังรักเด็กขึ้นมาไม่รู้ตัวล่ะ ^^

  7. วาดรูปไม่เป็น ไม่ใช่ปัญหา

ถ้าพูดถึงสื่อสำหรับเด็ก สิ่งที่ขาดไม่ได้คงเป็นภาพประกอบสวยๆ ไว้ช่วยดึงความสนใจเหล่าหนูน้อย อย่างนี้คนวาดรูปไม่เป็นจะไหวไหมเนี่ย T_T อย่าได้กังวลค่ะ ทางสาขาพร้อมปูพื้นฐานให้อยู่แล้ว นิสิตทุกคนจะได้เรียนวิชาวาดรูปตั้งแต่ปี 1 กันเลย วาดไม่สวยก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์หลักๆ ของอาจารย์คืออยากให้เราได้ลองวาดดู ไม่มีการตีกรอบความคิดใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ

ตัวอย่างผลงานจากพี่มีจัง รุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 จากรายวิชา Character Design  (ขออนุญาตเจ้าของภาพแล้ว)
ตัวอย่างผลงานจากพี่มีจัง รุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 จากรายวิชา Character Design  (ขออนุญาตเจ้าของภาพแล้ว)

  8. ได้เรียนกับอาจารย์หมอด้วยนะ!

เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 นิสิตจะได้เรียนวิชา ‘พัฒนาการของเด็ก’ ซึ่งเป็นตัวบังคับของสาขา เนื้อหาโดยรวมจะคล้ายๆ ชีวะสมัย ม.ปลาย ต่างตรงที่เน้นสอนทุกอย่างเกี่ยวกับเด็ก การเจริญเติบโตของเด็ก จิตวิทยาเด็ก ความผิดปกติของโครโมโซม ได้เรียนครบหมด! ด้วยเนื้อหาที่เจาะลึกสุดๆ วิชานี้เลยมีอาจารย์หมอเป็นผู้สอน เรียนกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแบบนี้ รับรองได้ความรู้จุใจไม่มีอั้นชัวร์ค่ะ

  9. ‘นิทานและการเล่านิทาน’ สุดยอดวิชาปราบเซียน!

เพราะการเล่านิทานไม่ใช่แค่มายืนอ่านหนังสือ แต่เป็นศาสตร์การแสดงที่ต้องดึงคนฟังให้อยู่กับเราตลอดเวลา จึงไม่แปลกที่วิชาบังคับตัวนี้จะเรียนกันโหดมากก นิสิตจะได้ฝึกอ่านให้คล่อง ดึงความสนใจเด็กให้เป็น รู้วิธีใช้พร็อพประกอบการเล่า แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ อย่างท่าจับหนังสือก็มองข้ามไม่ได้! รู้แบบนี้แล้ว ใครยังมองว่าเล่านิทานเป็นเรื่องง่ายๆ อยู่ คงต้องคิดใหม่แล้วล่ะค่ะ

10. ประกอบอาชีพได้หลากหลาย

ไม่ใช่ว่าจบวรรณกรรมเด็กแล้วจะต้องเป็นนักเขียนเสมอไป ที่จริงแล้ว บัณฑิตวรรณเด็กสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านหนังสือ คุณครู นักออกแบบกราฟิก นักกิจกรรมสำหรับเด็ก ฯลฯ ไม่ต้องกลัวไม่มีงานทำ เพราะตราบใดที่โลกนี้ยังมีเด็กๆ อยู่ ยังไงก็มีงานรองรับเราแน่นอน ขึ้นอยู่กับเราว่าอยากไปต่อในสายงานไหนเท่านั้นเอง

เป็นอีกสาขาที่คนรักสื่อเด็กไม่ควรพลาดเลยค่ะ สำหรับวรรณกรรมสำหรับเด็ก มศว  เพราะนอกจากน้องๆ จะได้เรียนรู้การทำสื่อเด็กนานาประเภทแล้ว เรายังเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตเยาวชนคุณภาพสู่สังคม ช่วยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีอีกด้วยค่ะ คราวหน้าจะเป็นคณะ/สาขาไหน อย่าลืมติดตามกันนะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่า

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก :  http://www.childrenlitswu.com/
พี่หลิง
พี่หลิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด