เปิดปมแร่ ‘Mica’ ฉากหน้าเปล่งประกาย แต่เบื้องหลังดำมืดกับชีวิตนับหมื่นของเด็กอินเดีย

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D ในปัจจุบันเทรนด์การแต่งหน้าที่กำลังมาแรงคงหนีไม่พ้นการเติม “ความแวววาว” เพื่อให้ใบหน้าของเราดูมีชีวิตชีวา เปล่งประกายระยิบระยับอยู่เสมอ ก็เลยทำให้เครื่องสำอางที่ผสมกลิตเตอร์ (glitter) หรือชิมเมอร์ (shimmer) ถูกผลิตและวางจำหน่ายเยอะเป็นดอกเห็ด และเป็นที่นิยมสุดๆ เลยล่ะค่ะ

และเจ้าตัวที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่สร้างความสวยงามนี้มาจากแร่ที่เรียกว่า ‘ไมกา’ (Mica) แต่การจะได้มาซึ่งแร่ชนิดนี้มีความลับดำมืดซุกซ่อนอยู่ เมื่อต้นทุนในการทำเหมืองอย่างถูกต้องนั้นสูงลิบลิ่ว อีกทั้งการจะใช้ผลิตภัณฑ์สังเคราะห์มาแทนที่ก็แพงจนทำให้ต้นทุนยิ่งสูงขึ้นไปอีก จึงเกิดการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายในที่สุด!

ว่าแต่ Mica คืออะไร? มีความสำคัญมากขนาดไหน? และเด็กเหล่านี้ต้องพบเจออะไรบ้าง? ตามมาดูเบื้องหลังเลยค่ะ

...

Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

แร่ Mica คืออะไร? 

แร่ ‘Mica’ หรือ ‘ไมกา’ คำนี้มาจากภาษาละติน ‘Micare’ ที่แปลว่า เปล่งประกายเจิดจรัส เป็นแร่ธรรมชาติในตระกูล Silicate (ซิลิเกต) ในบางครั้งเรียกว่าแร่กลีบหิน ลักษณะของไมกาจะเป็นผลึกหิน ทนความร้อนและไม่นำไฟฟ้า มีมากถึง 37 ชนิด ซึ่งในแต่ละชนิดจะเป็นผลึกที่ทับซ้อนกันเป็นชั้นหนาโปร่งแสงและมีสีแตกต่างกันไป

สีของไมกาสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  • เลพิโดไลต์ (Lepidolite) สีม่วง สีชมพูกุหลาบ สีเงิน สีเทา
  • ไบโอไทต์ (Biotite) เขียวเข้ม น้ำตาล ดำ
  • โฟโลโกไพต์ (Phlogopite) น้ำตาลเหลือง เขียว ขาว
  • มัสโคไวท์ใส (Muscovite) ไม่มีสี สีใส

โดยสีที่พบมากที่สุด ได้แก่ เลพิโดไลต์สีม่วง (Purple Lepidolite) ไบโอไทต์สีดำ (Black Biotite) โฟโลโกไพต์สีน้ำตาล (Brown Phlogopite) และมัสโคไวท์ใส (Clear Muscovite) 

ชั้นของหินใสที่ซ้อนทับกันหนาๆ เหล่านี้สามารถลอกออกมาเป็นแผ่นบางๆ โปร่งแสงได้ มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า น้ำหนักเบาและยืดหยุ่น สามารถสะท้อนและหักเหแสงได้ดี

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ Mica

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไมกานั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งผลผลิตที่ได้และการนำไปใช้งานก็แตกต่างกันค่ะ

ไมกาแบบเกล็ด

Photo Credit: Minerals Education Coalition
Photo Credit: Minerals Education Coalition

ไมกาลักษณะนี้จะขุดกันในสหรัฐอเมริกาค่ะ โดยเป็นการระเบิดพื้นดินให้เป็นหลุมกว้างขนาดใหญ่ หลังจากถูกระเบิดแร่ชนิดนี้จะมีขนาดเล็กลงจนเหลือเพียงแค่ก้อนหินขนาดเท่าบอลลูกเล็กๆ เท่านั้น และจะใช้รถตักดินเพื่อขุดเอาแร่ที่ขึ้นมา ซึ่งการขุดเหมืองประเภทนี้กว่าครึ่งของสหรัฐสามารถพบได้ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา 

ไมกาชนิดนี้จะใช้เป็นตัวเชื่อยรอยต่อของยิปซัม นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมผลิตสียังใช้เพื่อทำให้เม็ดสีสว่างขึ้นและป้องกันการซึมผ่านของน้ำอีกด้วยนะคะ

ไมกาแบบแผ่น

Photo Credit: Minerals Education Coalition
Photo Credit: Minerals Education Coalition

การขุดไมกาแผ่นนี้จะใช้สว่านลม รอก และวัตถุระเบิดในการเจาะลึกลงใต้ดินตามแนวหินแกรนิตหรือหินอัคนี เมื่อขุดลงไปเจอแหล่งที่ไมกาเกาะกลุ่มกันอยู่ ในส่วนนี้จะใช้ระเบิดที่มีความแรงเพียง 40-60%เท่านั้น โดยจะทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตัวแร่เสียหาย หลังจากนั้นในขั้นตอนนี้จะต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการลงไปยังโพรงหินที่ถูกระเบิด เพื่อหยิบและคัดแยกไมกาทีละชิ้นใส่ในกระสอบ และนำขึ้นมายังพื้นดิน

ปัจจุบันไมกาประเภทนี้ไม่มีการขุดในอเมริกาแล้วค่ะ เนื่องจากต้นทุนสูงและทรัพยากรไมกาแผ่นมีจำกัด แต่เราสามารถพบเจอเหมืองลักษณะนี้ได้มากในอินเดีย เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำและมีหินตะกอนจำนวนมากที่จะสามารถพบไมกาแผ่นได้นั่นเองค่ะ

Photo Credit: Athr Beauty Photo by Terre des Hommes
Photo Credit: Athr Beauty Photo by Terre des Hommes 

สำหรับไมกาแผ่นแต่เดิมใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหรกรรมยานยนต์ หรือแม้กระทั่งถูกใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟัน แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเทรนด์ความวิ้งวับบนใบหน้าได้รับความนิยมสูงขึ้น ก็ทำให้ผงที่ได้จากไมกาแผ่นนี้ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างความระยิบระยับให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แป้ง อายแชโดว์ บลัชออน ไฮไลท์ ลิปสติก ฯลฯ 

เกิดอะไรขึ้นใน ‘Mica Belt’ 
แหล่งส่งออกไมกาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย

Photo Credit: Refinery29 โดย Hannah Minn
Photo Credit: Refinery29 โดย Hannah Minn

ในพื้นที่ของรัฐฌาร์ขัณฑ์ (Jharkhand) และรัฐพิหาร (Bihar) ที่นี่คนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์จากแร่ไมกามานานนับพันปี ทั้งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งและยารักษาโรค แต่ในยุคการล่าอาณานิคม อินเดียก็ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และอังกฤษได้ค้นพบแหล่งแร่ที่มีค่าและได้เรียกชื่อพื้นที่แถบนี้ว่า ‘Mica belt’ และขุดเหมืองแร่ขึ้นเพื่อขนทรัพยากรกลับไปยังประเทศแม่ในเวลาต่อมา

และภายหลังที่อินเดียได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษ ก็พบว่ามีเหมืองกว่า 700 แห่ง กับคนงานอีกกว่า 20,000 คน! 

ต่อมาในปี 1980 รัฐบาลของอินเดียได้ออกคำสั่งให้การทำเหมืองแร่ Mica เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทว่าพวกเขาล้มเหลวในการปิดใช้เหมือง เพราะเหมืองที่รกร้างได้กลายเป็นสถานที่แสวงหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ความงามที่แลกมาด้วยชีวิตของเด็กๆ 

Photo Credit: Unsplash by Sharon McCutcheon
Photo Credit: Unsplash by Sharon McCutcheon

แม้จะสวยมากขนาดไหน แต่ความงามนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายค่ะ สิ่งที่แลกมาซึ่งความแวววาวที่เปล่งประกายบนใบหน้าของเรานั้นคือประกายความสุขของเด็กๆ นับหมื่นที่ค่อยๆ หม่นลง และอาจต้องเผชิญความมืดมิดในที่สุด

ไมกาส่วนใหญ่ของโลกมาจากอินเดีย ซึ่งกว่า 70% ในนั้นผิดกฎหมายและไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ในรัฐฌาร์ขัณฑ์และรัฐพิหาร ณ ดินแดนทางตะวันออกของประเทศอินเดียที่ประชาชนยากจนที่สุด มีรายงานว่าเด็กราวๆ 22,000 คนเป็นแรงงานเก็บแร่ไมกา ในจำนวนนี้อายุต่ำที่สุดคือ 5 ขวบเท่านั้น!

เด็กเหล่านี้กำลังเสี่ยงชีวิต พวกเขาลงไปในเหมืองโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัว ไม่มีกระทั่งเครื่องมือที่คมมากพอในการขุดหิน หนำซ้ำตัวเหมืองเองก็ไม่ได้มาตรฐาน สามารถถล่มลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้การลงไปอยู่ใต้ดินนานๆ อาจทำให้พวกเขาติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นวัณโรค และโรคหอบหืดได้เช่นกัน

Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือมีเด็กจำนวนมากเสียชีวิตต่อเนื่องเป็นปกติเลยล่ะค่ะ เพียงแต่ว่าการใช้แรงงานเด็กนั้นผิดกฏหมาย ทางการจึงไม่ได้รับแจ้งเมื่อมีเด็กเสียชีวิต ส่งผลให้ตรวจสอบจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ แต่ผู้อำนวยการของมูลนิธิ Kailash Satyarthi Children’s Foundation (KSCF) ได้ออกมาคาดการณ์ว่าในแต่ละเดือนมีเด็กเสียชีวิตจากการทำงานราวๆ 10-12 คน และสำหรับเด็กที่เสียไป พวกมาเฟียหรือนายหน้าที่ดูแลจะจ่ายเงินให้คนละ 30,000 รูปี (~12,000 บาท) เท่านั้นเองค่ะ

ครอบครัว Kumari ที่สูญเสียลูกสาวจากเหตุการณ์เหมืองถล่ม
ครอบครัว Kumari ที่สูญเสียลูกสาวจากเหตุการณ์เหมืองถล่ม
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

ทำไมพวกเขาถึงต้องทำ?
ในมุม ‘มาเฟีย’ และ ‘เด็ก’

ในอินเดียจะเรียกกันว่า ‘Mica Mafia’ คือกลุ่มนายหน้าที่ไปครอบครองพื้นที่เหมืองที่ถูกทิ้งร้างอย่างผิดกฎหมาย เพื่อส่งออกไมก้าไปยังบริษัทที่จะรับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในท้องตลาด

และการจะได้มาซึ่งไมก้าจำนวนมหาศาลนี้ พวกนายหน้าจึงต้องการแรงงานราคาถูกจำนวนมากเพื่อให้กอบโกยแร่จากใต้ดินให้มากที่สุด และเหยื่อก็คือเด็กตัวเล็กๆ นั่นเองค่ะ เพราะพวกเขามองว่าเด็กทั้งคล่องแคล่วปราดเปรียว สามารถมุดเข้าไปในโพรงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว 

แผลเป็นจากเหมืองถล่มของ Surma Kumari วัย 11 ขวบ
แผลเป็นจากเหมืองถล่มของ Surma Kumari วัย 11 ขวบ
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

เนื่องจากปัญหาความยากจนและปากท้อง การเสี่ยงชีวิตลงไปในเหมืองร้างของเด็กๆ เพื่อเก็บแร่แลกเงินมาประทังชีวิตของตัวเองและครอบครัว จึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งเดียวที่พวกเขาทำได้ หากสามารถเก็บแร่ได้มากพอในหนึ่งวัน อย่างไมกา 50 กิโลกรัม จะแลกค่าแรงได้ตกคนละ 20-30 รูปี (~8-12บาท) ซึ่งแร่พวกนี้ที่ลงแรงขุดกันมาทั้งวันจะถูกส่งไปที่ไหนและใช้ทำอะไร พวกเขาไม่รู้แม้สักนิดเดียวเลยล่ะค่ะ

และแม้จะตระหนักดีถึงอันตราย และรู้ดีว่าตัวเองกำลังเสี่ยงชีวิต แต่เด็กๆ มองว่าการที่ตนลงไปเสี่ยงใต้เหมืองในแต่ละวันก็ยังมีโอกาสรอดออกมาได้ ดีกว่าเผชิญสิ่งที่น่ากลัวกว่าอย่างการหิวตายเพราะไม่มีอะไรกิน...

Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

“เมื่อความหิวมาเยือน มันไม่มีทางเลือกมากนักหรอก”

“หนูแค่อยากจะเรียนหนังสือ ถ้าหนูได้เรียน หนูจะได้กลายเป็นใครซักคนมั้ยคะ” 

POOJA BHURLA, 11

จะหยุดยั้งได้ยังไง?

บางแบรนด์ได้ออกมา take action เรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยประกาศว่าจะหยุดใช้แร่ไมกาธรรมชาติที่ถูกส่งออกมาจากอินเดีย แต่จะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ที่ให้คุณสมบัติใกล้เคียงกับไมกาแทน แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าแร่ธรรมชาติก็ตาม

Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce
Photo Credit: Refinery29 photographed by Jack Pearce

ในขณะที่หลายแบรนด์ในท้องตลาด ทั้งถูกและแพงก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ต่อเรื่องนี้ และในมุมผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าไมกาที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้นั้น ส่งมาจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย หรือว่ามีการรับซื้อผ่านพ่อค้าตัวแทนในอินเดียที่แสวงหาประโยชน์จากชีวิตที่น่าสงสารของเด็กเหล่านั้น

..................

เราในฐานะผู้บริโภคเป็นผู้ที่อยู่สุดปลายทางของสายพานการผลิตเหล่านี้ ที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเงินที่เสียไปนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังอันโหดร้ายในเหมืองไมกานี้หรือไม่ แต่อย่างน้อยเรายังส่งเสียงออกไปได้ค่ะ ส่งเสียงให้แบรนด์รับรู้และตระหนักว่าเราต้องการสนับสนุน “สินค้าที่ได้มาโดยชอบธรรมและมีจริยธรรม”  เพราะไม่ว่าจะเป็นความงามใดบนโลกก็ไม่ควรแลกมาด้วยชีวิตและคราบน้ำตาของใครทั้งสิ้น

 

 

Sources:https://scienceviews.com/geology/mica.htmlhttps://mineralseducationcoalition.org/minerals-database/mica/https://www.refinery29.com/en-us/2019/05/229746/mica-in-makeup-mining-child-labor-india-controversyhttps://brightly.eco/a-controversial-glow-child-labors-connection-to-cosmetics-highlighter/https://www.youtube.com/watch?v=IeR-h9C2fgc&t=859shttps://athrbeauty.com/blogs/goodvibesbeauty/the-truth-about-micahttps://unsplash.com/photos/4jLj-GdRn_A?utm_source=unsplash&utm_medium=referral&utm_content=creditShareLink

 

พี่ออมสิน
พี่ออมสิน - Columnist Mirror mirror on the wall who is the fairest of them all : ME

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น