เปิดเทคนิคทำสื่อสไตล์ “พี่บอส” - เจ้าพ่อสายกิจกรรม ขยัน ‘หาทำ’ จนติดรอบพอร์ตผลิตสื่อ นิเทศ จุฬาฯ

สวัสดีค่ะน้องๆ หลายคนคงทราบข่าวว่าทางคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดรับนิสิตเข้าศึกษาในรอบ Portfolio เมื่อปีที่แล้ว หรือปีการศึกษา 2564 เป็นปีแรก ในสาขาวาทนิเทศ และสาขาการออกแบบและผลิตสื่อ สำหรับใครที่สนใจโครงการนี้ ก็คงอยากได้รีวิวจากพี่ๆ รุ่นแรกเพื่อช่วยในการเตรียมตัวใช่ไหมคะ ทางเราเลยไม่รอช้า รีบพาตัวรุ่นพี่คนเก่งที่ผ่านการคัดเลือกมาแชร์ประสบการณ์สอบเข้าแบบจัดเต็ม เพื่อให้น้องๆ รู้แนวทางการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ยังไงล่ะ ^^

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่

คราวก่อนเราได้คุยกับ ‘พี่นีน’ จากสาขาวาทนิเทศไปแล้ว วันนี้ก็ถึงตาของ ‘พี่บอส - กฤตติกร ขจรชัยฤทธิ์’ จากสาขาการออกแบบและผลิตสื่อบ้างแล้วล่ะค่ะ ขอบอกเลยว่ารุ่นพี่คนนี้ไม่ธรรมดา นอกจากเขาจะมี Passion ของนักทำสื่ออย่างแรงกล้าแล้ว ความคิดก็ยังบรรเจิดไม่เหมือนใคร สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ชนะใจกรรมการได้ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไมค์โบย่าและมือถือเครื่องเดียวเท่านั้น! ว่าแล้วก็อย่ารอช้า เราไปทำความรู้จักพี่บอสกันเลยค่ะ

เปิดเทคนิคทำสื่อสไตล์ “พี่บอส” - เจ้าพ่อสายกิจกรรม ขยัน ‘หาทำ’ จนติดรอบพอร์ตผลิตสื่อ นิเทศ จุฬาฯ
เปิดเทคนิคทำสื่อสไตล์ “พี่บอส” - เจ้าพ่อสายกิจกรรม ขยัน ‘หาทำ’ จนติดรอบพอร์ตผลิตสื่อ นิเทศ จุฬาฯ

เปิดเทคนิคทำสื่อ + ค้นหาตัวเองสไตล์พี่บอส

‘หาทำ’ คำนี้ทำให้เจอตัวเอง

‘หาทำ’ คือคำแรกที่พี่บอสเลือกนิยามตัวเองสมัยเรียนมัธยม ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหาเรื่องใส่ตัวนะ แต่แปลว่าชอบลองกิจกรรมหลายๆ อย่างต่างหาก พี่บอสทำมาหมดแล้ว ทั้งทีม PR กิจกรรมโรงเรียน PR พรรคในโรงเรียน งานประเมิน และงานอื่นๆ อีกมากมายขนาดนับนิ้วไม่หมด ซึ่งความเป็นคนหาทำนี่เองที่ช่วยให้ค้นพบว่า งานสายคอนเทนต์นี่แหละ ใช่สำหรับเขาที่สุด

อย่างไรก็ตาม พี่บอสเสริมว่าถ้าเอาแต่ลองทำอะไรคนเดียว ก็จะได้เห็นตัวเองแค่มุมเดียว คงไม่มากพอจะรู้ว่าเราชอบอะไรแน่ ถ้าอยากหาตัวเองให้เจอ ต้องลองให้คนอื่นมองเข้ามาในตัวเราด้วย ดังนั้น การทำกิจกรรมที่ได้พบปะเพื่อนๆ และสังคมใหม่ๆ จึงสำคัญกว่าที่คิดค่ะ รู้แบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมก้าวออกจากเซฟโซน แล้วลองทำกิจกรรมกับเพื่อนใหม่ดูนะคะ

พี่บอสกับเพื่อนๆ ในฐานะนักสื่อสารรุ่นเยาว์
พี่บอสกับเพื่อนๆ ในฐานะนักสื่อสารรุ่นเยาว์

“It’s Me นี่แหละฉัน” 

หลังทราบข่าวจากเว็บไซต์เด็กดีว่านิเทศจุฬาฯ เปิดรับรอบพอร์ตครั้งแรก พี่บอสก็ตัดสินใจสมัครทันทีค่ะ เพราะสำหรับเด็กสายวิทย์ที่ต้องใช้คะแนน PAT1 ที่อัตราแข่งขันสูงเพื่อยื่นเข้า รอบพอร์ตถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่ควรคว้าไว้ พี่บอสเลยทุ่มเพื่อรอบนี้แบบหมดหน้าตัก โดยใช้เวลาเตรียมพอร์ตราว 3 เดือนทีเดียว

ด้วยความชอบหาทำเป็นทุนเดิม พี่บอสเลยได้เปรียบในด้านปริมาณและความหลากหลายของผลงาน แต่จะเน้นหนักไปในสายครีเอทีฟ สร้างสรรค์คอนเทนต์สักหน่อย อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกบททดสอบสุดหินรออยู่ นั่นคือการสร้างสรรค์สื่อภายใต้โจทย์ “It’s Me นี่แหละฉัน” ซึ่งโจทย์กว้างๆ แบบนี้แหละค่ะ ท้าทายผู้สมัครสุดๆ เพราะนอกจากต้องตีโจทย์ให้แตกและไม่เหมือนใครแล้ว ยังต้องหาทางสื่อสารแนวคิดเหล่านี้ให้น่าสนใจ ไม่จำเจอีกด้วย

‘แนะนำตัวที่ไม่ใช้วิธีแนะนำตัว’ นี่ไม่ใช่ชื่อเพลง Getsunova แต่เป็นคอนเซปต์ที่พี่บอสวางไว้ตั้งแต่รู้โจทย์ จนกระทั่งออกมาเป็น ‘In-Ear Cinema’ หรือภาพยนตร์เสียงที่ใช้กลวิธีเล่าเรื่องแบบ Fiction นิดๆ มีทั้งตัวละคร ฉาก ปมขัดแย้ง และเส้นเรื่องที่ชัดเจน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังสักเรื่อง มากกว่าฟังเด็กม.6 แนะนำตัวเข้าคณะนิเทศ นอกจากนั้น พี่บอสยังใช้ Foley หรือการทำเสียง SFX ประกอบด้วย ทำให้ผู้ฟังได้อรรถรสเต็มที่เมื่อฟังผ่านหูฟัง ราวกับได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นกับผู้เล่า เรียกว่าทั้งสร้างสรรค์ น่าติดตาม และฟังเพลินมากๆ เลยค่ะ

อุปกรณ์ไหนๆ ก็ไม่สำคัญเท่าไอเดีย

 ใครที่กังวลเรื่องงบอุปกรณ์หรืองบตัดต่ออยู่ ขอให้สบายใจได้ค่ะ เพราะในการผลิตงาน In-Ear Cinema สุดปังนี้ พี่บอสใช้แค่ไมค์โบย่าราคาหลักร้อย กับโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวเท่านั้น! ส่วนการตัดต่อก็ใช้แค่โปรแกรมทั่วไป ไม่ได้มีเทคนิคมากมาย พี่บอสถึงขนาดเอ่ยปากเองเลยว่าอุปกรณ์ที่ใช้เนี่ยธรรมดามากๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านการคัดเลือกจนติดเป็นตัวจริงได้ เพราะสิ่งสำคัญในเกณฑ์ตัดสินไม่ใช่ Production เว่อร์วังอลังการ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของเราต่างหากล่ะ

‘ทำไมเราถึงอยากทำสิ่งนี้ออกมา?’ ‘ทำแล้วจะยกระดับชีวิตคนในสังคมอย่างไร’ คำถามสองข้อนี้คือสิ่งที่พี่บอสถามตัวเองทุกครั้งเวลาเลือกผลงานลงพอร์ต เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ค่อยเขียนคำอธิบายแนวคิดลงไป ไม่ใช่ใส่อะไรไปก็ได้ แต่ต้องเลือกงานที่มีคุณค่าต่อผู้เสพ และสอดคล้องกับที่ทางคณะต้องการด้วย รวมๆ คือเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ ให้ผลงานพิสูจน์แทนคำพูดไปเลยค่ะว่าเราเหมาะกับสายนิเทศยังไง เท่านี้ตำแหน่งนักเรียนสื่อก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

  พี่บอสยังได้เพิ่มเติมในแง่การทำสื่อลงพอร์ตว่า การทำงานโดยไม่มี Reference จะดึงตัวตนของเราออกมาได้มากที่สุด หลายๆ คนอาจมองพี่บอสเป็นแบบอย่าง เชื่อว่าถ้าทำงานแนวนี้ออกมาแล้วจะสอบติด แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าความเป็นตัวเอง น้องๆ จึงควรหาแนวทางที่ใช่สำหรับเราให้เจอ หมั่นเก็บประสบการณ์ให้มาก ไม่ลืมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนางานเราให้ดียิ่งขึ้นไปค่ะ

พี่บอสระหว่างขั้นตอนการถ่ายทำงาน 'เสียงของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ'
พี่บอสระหว่างขั้นตอนการถ่ายทำงาน 'เสียงของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ'

รอบสัมภาษณ์ พลาดไม่ได้

ถึงรอบพอร์ตของสาขาการออกแบบและผลิตสื่อจะวัดกันที่ผลงานเป็นหลัก แต่รอบตัดเชือกจริงๆ นั้นอยู่ที่การสอบสัมภาษณ์ค่ะ เพราะฉะนั้น หากอยากติดเป็น 1 ใน 5 ตัวจริง เราจะเทพาร์ตนี้ไม่ได้เด็ดขาด สำหรับเทคนิคพิชิตสัมภาษณ์ พี่บอสแนะนำว่าควรเสพสื่อคุณภาพให้หลากหลาย รวมถึงติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด การอยู่กับสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ จะช่วยหล่อหลอมให้เรามีนิสัยของนักสื่อสารที่ดี แถมตอบคำถามด้านนิเทศศาสตร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย ได้สองต่อเลยนะเนี่ย

ทั้งนี้ทั้งนั้น พี่บอสก็ไม่อยากให้น้องๆ เครียดกับมันจนเกินไป ความกดดันอาจช่วยให้เราระมัดระวังและมีสติ แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็พาลจะทำเราพลาดได้ง่ายๆ เหมือนกัน ขอแค่เป็นตัวเองเข้าไว้ และทำให้ดีที่สุดก็พอแล้วค่ะ

“มองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่คนนึง เขาไม่ได้จะจับผิดอะไรเราหรอก พยายามคิดแบบนี้ไว้ มันอยู่ที่เราครับ ถ้ากดดันตัวเอง เราจะทำได้ไม่ดี ตอบคำถามไปให้ดี ตามที่เราเข้าใจก็พอ อย่าไปเครียดว่าถ้าไม่ได้ชีวิตจะจบแค่ตรงนี้ เพราะต่อให้ผมพลาด ไม่ได้รอบนี้ ผมก็ยังจะทำสื่อต่อไปอยู่ดี”

พี่บอสระหว่างตัดต่อผลงาน  'เสียงของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ'
พี่บอสระหว่างตัดต่อผลงาน  'เสียงของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ'

ก้าวต่อในรั้วมหาลัย จะไม่หยุดหาทำ

แม้วันนี้พี่บอสจะประสบความสำเร็จ ได้เป็นว่าที่นิสิตนิเทศ จุฬาฯ สมดังตั้งใจแล้ว แต่เส้นทางของเขายังไม่จบเพียงเท่านี้ นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความฝัน แต่เป็นก้าวแรกในฐานะนักสื่อสารมืออาชีพ พี่บอสตั้งใจว่าจะใช้เวลาสี่ปีในรั้วมหาลัยฯ อย่างคุ้มค่า เรียนรู้ทุกอย่างให้ได้มากที่สุด เป็นพี่บอสคนเดิมในบทบาทใหม่ คนที่คอย ‘หาทำ’ สิ่งดีๆ และขยันท้าทายตัวเองต่อไป

ก่อนจากกันไปวันนี้ พี่บอสได้ฝากอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้น้องๆ ที่ตั้งใจสู้ในรอบพอร์ตด้วยล่ะค่ะ

“ปีนี้มันเหนื่อยครับ ก็เอาเท่าที่เราไหว พยายามสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้พอร์ตของเราให้ได้ จริงใจกับตัวเองเยอะๆ บางทีการที่เรามองตัวเอง อาจจะเห็นตัวเองแค่ด้านเดียว แต่ถ้าลองให้คนอื่นมองงานเรา ให้เค้าวิจารณ์ดูซิ แล้วเก็บความเห็นมาพัฒนางานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มันจะมีประโยชน์มาก สู้ๆ นะครับ”

น้องๆ คนไหนอยากปรึกษาพี่บอสเพิ่มเติม สามารถตามไปที่ Instagram : @b__ss__q ได้เลยค่ะ

โปรไฟล์ Instagram ของพี่บอส
โปรไฟล์ Instagram ของพี่บอส

ประสบการณ์ของพี่บอสพิสูจน์ให้เราเห็นว่าการหาทำไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างใครคิด ในทางกลับกัน กิจกรรมก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเรียนเลย ถ้าบริหารเวลาสำหรับสองสิ่งนี้อย่างเหมาะสม เราจะได้ทั้งรู้จักตัวเอง ทั้งสอบติดคณะที่หวังแน่นอน รู้แบบนี้ก็อย่าลืมลองหาทำแบบพี่บอสกันดูนะคะ ^^ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่า

 

พี่หลิง
พี่หลิง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด