เมื่อชาว Introvert ไปแลกเปลี่ยน AFS ที่ ‘อเมริกา’ ดินแดนแห่งเสรีภาพที่ช่วยเติม inspiration ให้เต็มเปี่ยม!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงประเทศที่คนนิยมไปแลกเปลี่ยนมากที่สุด คงต้องมี  'สหรัฐอเมริกา' อยู่ในลิสต์แน่ๆ เพราะนอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและทำให้ได้ฝึกภาษาเต็มๆ คุณภาพการศึกษาก็ยังดีและให้อิสระทางความคิดอีกด้วย วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปเปิดประสบการณ์แลกเปลี่ยน 11 เดือนที่อเมริกาของ ‘ออมสิน’ และ ‘เมนี่’ นักศึกษาฝึกงานของหมวดเรียนต่อนอก Dek-D ที่จะมาตีแผ่ชีวิตแลกเปลี่ยนฉบับมนุษย์ Introvert ตั้งแต่การเตรียมตัว การปรับตัว รวมถึงมุมมองที่เปลี่ยนไป

แนะนำว่าใครที่โลกส่วนตัวสูงและอยากลองออกจาก Comfort Zone ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ลองมารีวิวประกอบการตัดสินใจกันได้เลยค่ะ ^^  

Q: แนะนำตัวกันก่อนนน ไปแลกเปลี่ยนที่ไหน? ทำไมถึงเลือกประเทศนี้?

เมนี่ & ออมสิน
เมนี่ & ออมสิน

เมนี่: สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘เมนี่’ กำลังเรียนปี 3 คณะอักษรอินเตอร์จุฬาฯ (BALAC) ช่วง ม.5 เราเคยไปแลกเปลี่ยนที่รัฐเทนเนสซี (Tennessee) ในอเมริกา ตอนนั้นเราตัดสินใจไปเพราะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง   อยากหาโอกาสฝึกภาษากับเรียนรู้วัฒนธรรมไปด้วย พอดีพี่สาวเคยไป AFS ที่จีนมาก่อนแล้วเห็นเพื่อนฮิตไปแลกเปลี่ยนกัน ก็เลยอยากลองดูบ้าง // จริงๆ ตอนแรกอยากไปญี่ปุ่น แต่ช้อยส์นั้นต้องกลับมาซ้ำชั้น 2 ปี เลยเลือกอเมริกาแทน 5555

ออมสิน: สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘ออมสิน’ กำลังเรียนปี 3 คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เลือกรัฐเวอร์จิเนีย (Verginia) ที่อเมริกา จริงๆ อยากไปประเทศแปลกๆ ที่ไม่ค่อยมีใครไป แต่ตอนนั้นไม่มีโควตาประเทศอื่นเลย เหตุผลที่เราอยากแลกเปลี่ยนเพราะเคยนั่งอ่าน Study Abroad ใน Dek-D เห็นประสบการณ์คนอื่นน่าสนุกดี อยากลองไปบ้าง แล้วโรงเรียนเราก็เป็นศูนย์ AFS พอดีด้วย  

Q: เตรียมตัวยังไงกันบ้าง?

การเตรียมเอกสาร 

เมนี่: เตรียมเอกสารเยอะมาก ต้องถ่ายรูปตัวเองทำกิจกรรมต่างๆ ไปติดในเอกสาร แล้วก็มีฉีดวัคซีนกับตรวจสุขภาพไปก่อนด้วย

ออมสิน: เห็นด้วยๆ เตรียมเอกสารเยอะ AFS จะให้คู่มือว่าเราต้องเตรียมอะไรบ้าง มีฉีดวัคซีน ถ่ายรูปทำกิจกรรมหมวดละ 4-5 รูป เพราะโฮสต์จะมาดูรูปพวกนี้ด้วย  

การสอบ

เมนี่: เราไม่ค่อยได้เตรียมตัวเลยยย เพราะตอนนั้นเพิ่งเข้า ม.4 แล้วเรียนหนักมาก แต่ก็มีเตรียมสัมภาษณ์ไปบ้าง มีถามแนวจากเพื่อนที่เคยไปแลกเปลี่ยนมาก่อน แล้วลองซ้อมถามตอบกับตัวเอง พอวันจริงปุ๊บบรรยากาศซีเรียสนะ ทุกคนดูเครียด เราก็เครียด มีรอบที่ให้สอบเป็นกลุ่มด้วย เค้าให้ทำกิจกรรมด้วยกันเพื่อดูว่าเราปรับตัวได้มั้ย (แอบเกร็งทำตัวไม่ถูกนิดนึง) ส่วนรอบแสดงความสามารถพิเศษเราก็ซ้อมรำไทยไป

ออมสิน: เราก็โหลดข้อสอบเก่ามานั่งทำบ้าง แต่ที่เครียดกว่าคือการสอบสัมภาษณ์ เพราะเรารู้ตัวว่าพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง แล้วต้องแข่งกับรุ่นพี่คนอื่นๆ ด้วย จำวันสัมภาษณ์ผิดด้วย เกือบไปไม่ทัน 5555 พอถึงเวลาก็มีตอบได้แต่ติดตะกุกตะกัก ขอพูดไทยเค้าก็ไม่ให้ เราก็พยายามตอบให้ได้มากที่สุด  เอาจริงๆ เราไม่คิดว่าจะได้ 55555

ค่าใช้จ่าย

เมนี่: ค่าโครงการทั้งหมดประมาณหลักแสนนะ ส่วนค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่โฮสต์จะออกให้เรา ที่เราออกเองคือค่าชอปปิงกับกิจกรรมที่โรงเรียน เช่น ซื้อชุด อุปกรณ์ รองเท้าวิ่ง  

ออมสิน: จ่ายเงินมัดจำก้อนแรกประมาณ 50,000 บาท เพื่อรักษาสิทธิ์ รวมๆ ทั้งโครงการประมาณ สามสี่แสน ไม่รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ตอนอยู่ที่นั่นเราแทบไม่ได้ใช้เงินเลย  

Q: แชร์เรื่องโฮสต์ให้ฟังหน่อย

เมนี่: ตอนแรกได้โฮสต์ชั่วคราว 3 เดือน พวกเค้าน่ารักและดูแลเราดีนะ แต่หลังจากครบ 3 เดือนเราต้องหาโฮสต์ใหม่ ขนาดทำโปสเตอร์เพื่อประกาศหาก็ยังไม่ได้ สุดท้ายครอบครัวของหัวหน้า AFS Volunteer ของรัฐเค้าเลยรับไว้ก่อนจนกว่าจะหาได้ แต่ไปๆ มาๆ เข้ากันได้จนเค้ารับเป็นโฮสต์ของเราไปเลย กลายความเป็นความประทับใจสุดๆ เค้าทำอาหารเก่ง แล้วยังสอนเราด้วย มีพาไปรู้จักคนใหม่ๆ พาไปโบสถ์ ได้ร้องเพลงกับลองทำจิตอาสาหลายอย่าง เราแฮปปี้มาก 

ออมสิน: โฮสต์ของเราก็เป็นเหมือนคอมฟอร์ตโซนเลย เราประทับใจมากกก เค้าไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย แต่อย่างเสาร์อาทิตย์งี้เขาจะพาเราไปเที่ยวหลายที่ แล้วยังใส่ใจกระทั่งรู้ว่าเราชอบกินอันนี้ไม่กินอันนี้ บางทีพาเราไปเจอคนลี้ภัยที่อพยพจากสงครามด้วย ได้เห็นวัฒนธรรมและเปิดโลกเรามากจริงๆ

Q: ชีวิตเด็กไฮสคูลเป็นอย่างที่คิดไว้มั้ย?

เมนี่: โรงเรียนคือเรื่องน่าปวดใจสำหรับเรา โรงเรียนเราใหญ่ เพื่อนไม่ใช่แค่ไม่ตื่นเต้นกับเด็กแลกเปลี่ยนนะ แต่เรารู้สึกได้ถึงความเย็นชาด้วยซ้ำ เวลาทำงานกลุ่มยิ่งน่าอึดอัด แล้วยังต้องหาเพื่อนใหม่ตลอดเพราะระบบเรียนที่นั่นจะให้เปลี่ยนห้องไปเรื่อยๆ มีครั้งนึงเราขอไปกินข้าวกับเพื่อน ไปนั่งกับกลุ่มเค้า แต่เขาพูดเร็วจนเราฟังไม่ทัน (เหมือนเป็นอากาศ) พอกินเสร็จก็ลุกไปกันเอง เหลือเรานั่งคนเดียวอ่ะ เศร้ามาก TT 

แต่เรายังไม่ยอมแพ้นะ ถึงไม่ชอบออกกำลังกายแต่ก็ไปเข้าชมรมรักบี้กับชมรมลาครอส ฝึกเล่นให้ดีไม่ให้ถ่วงทีมเพราะเขาแข่งกันจริงจังมาก แต่ถึงทำได้ก็ไม่ได้เพื่อนอยู่ดี แล้วพอย้ายมาโรงเรียนที่สองเพราะเปลี่ยนโฮสต์ ก็เข้ากับใครไม่ได้เหมือนเดิม เหงากว่าเดิมอีก มีเจอเพื่อนน่ารักๆ ตอนไปอยู่ชมรมการแสดง แต่ก็เจอกันแค่ตอนทำกิจกรรม สรุปคือตอนไปอเมริกาเจอเพื่อนเยอะแต่ไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น ไปเที่ยวกับเพื่อนนับครั้งได้

ออมสิน: เรามีเพื่อนน้อยเหมือนเมนี่เลย ก่อนไปเราคิดในหัวว่าทุกคนต้องเข้าหาเราเพราะเราเป็นต่างชาติ แต่ปรากฏว่าที่โรงเรียนมีต่างชาติเยอะอยู่แล้ว ไม่ได้มีคนสนใจเราขนาดนั้น แล้วส่วนใหญ่จะจับกลุ่มกันเอง เช่น เด็กผิวขาว เด็กเวียดนาม ฯลฯ เราไม่รู้จะอยู่ตรงไหนเลย เวลาทำงานกลุ่มก็เหมือนมีกำแพง ขนาดพยายามไปเข้าชมรมวิ่งยังไม่มีคนที่สนิทจนถึงขั้นเป็นเพื่อนกันได้

มีช่วงที่เรารู้สึกเด็กแลกเปลี่ยนที่ชีวิตดีๆ มีแค่ในอินสตาแกรมเท่านั้นแหละ เราเห็นเพื่อนลงภาพโรงเรียนดีๆ ออกไปเที่ยวกับเพื่อน ก็นั่งนอยด์เพราะเอามาเทียบกับตัวเองว่าทำไมไม่เจอแบบนั้นบ้าง พอเวลาผ่านไปเริ่มตกตะกอนความคิดว่าจริงๆ เรามีโฮสต์ดี มีเพื่อนน้อยแต่ก็ดี แค่นี้ดีมากๆ แล้ว ไม่ต้องฝืนให้เหมือนใครก็ได้ พอคิดแบบนี้ก็มีความสุขขึ้นเยอะมากๆ 

Q: ถึงจะเหงาๆ เศร้าๆ บ้าง แต่เชื่อว่าต้องมีมุมที่ภูมิใจกับตัวเองมากแน่ๆ เล่าให้ฟังหน่อยสิ

เมนี่: เราได้เข้าชมรม Cultural Heritage Club เขาเฟรนด์ลี่ต้อนรับเราดีมาก (แต่ได้เจอกันแค่สัปดาห์ละครั้ง) มีครั้งนึงชมรมอยากทำเสื้อยืด เราไปช่วยออกแบบแล้วได้รับเลือกด้วย ภูมิใจมากก  // อ๋อ มีอีกเรื่องๆ เราเคยไปลองออดิชันเชียร์ลีดเดอร์ด้วยนะ ถึงสุดท้ายไม่ได้รับเลือกแต่ก็ภูมิใจที่ได้ลองทำสักครั้ง

ออมสิน: ส่วนของเราเป็นตอนเรียน เรามีลงวิชา AP Human Geography เนื้อหาเหมือนรวมหมวดสังคม เรียนเกี่ยวกับมนุษย์ ภาษา วัฒนธรรม แล้ววิชาเนี้ยมี quiz เกือบทุกวัน แปลก็ไม่ออก ต้องนั่งเปิด Dict ทุกตัว ทั้งเครียดทั้งกดดัน ได้ F มากินตลอดจนอิ่ม แต่เราพยายามมากก อ่านหนังสือถึงตี 2-3 สุดท้ายเราก็ได้ A มา ดีใจจนร้องไห้เลย TT

Q: ขอสัก 3-4 เรื่องที่ประทับใจสุดๆ ในอเมริกา

เมนี่: 

  1. วัฒนธรรมการให้กำลังใจตลอดเวลา คนที่นี่จะพูดให้กำลังใจเราบ่อยมาก เช่น วันนี้แต่งตัวสวยจังเลย ทำให้เรามั่นใจในตัวเองมากขึ้น ขนาดเราเล่นกีฬาห่วยมากเขาก็ยังชมเราเลย 5555
  2. เราเจอแต่คนอเมริกันที่กระตือรือร้นและเต็มที่กับทุกอย่าง ไม่มีใครเอื่อยเฉื่อย
  3. เทศกาลคริสมาสต์สนุกสุดๆ! มีจุดเทียน มีปาร์ตี้ ดีใจที่ได้มาเห็นมุมนี้
  4. เวลาทำพิธีกรรมทางศาสนา เขาต้อนรับคนทุกศาสนาเลย เหมือนได้มาสัมผัสอีกมุมของศาสนาคริสต์ที่เป็นเรื่องความรักและการแบ่งปันอย่างแท้จริง

ออมสิน: 

  1. ระบบเรียนที่นี่เหมือนมหาวิทยาลัยเลย เราเลือกเรียนสิ่งที่สนใจได้แบบอิสระ ชอบวาดรูปก็ไปลงวาดรูป เวลาสอนก็จริงจังมากๆ นะ อย่างวิชาภาษาอังกฤษได้เรียนวรรณกรรม เขาสอนให้คิดวิเคราะห์ ฉากนี้เป็นยังไง? ทำไมเขาถึงทำแบบนี้?
  2. เขาเคร่งเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) มากๆ ไม่เปิดเผยคะแนนของเราต่อหน้าคนอื่นเลย เวลาคืนข้อสอบจะคว่ำกระดาษลง เวลาขอเก็บข้อมูลหรือถ่ายวิดีโอต้องขออนุญาตก่อนตลอด
  3. ชอบกิจกรรมเดินเขาของคนที่นี่ ได้มองเห็นต้นไม้ ภูเขา ธรรมชาติ~

Q: มีเรื่องพีคๆ ที่เคยเจอมั้ย?

เมนี่: มีๆ เคยมีผู้ชายคนนึง ดูเป็นคนแปลกๆ เขาพยายามเข้ามาตีสนิทแล้วชวนไปเที่ยว  ตอนนั้นเราอยากมีเพื่อนเลยคุยกับเขาแหละ แต่ก็บอกไปประมาณว่าต้องถามโฮสต์ก่อน ทีนี้มีครั้งนึงเขาชวนไปห้องสมุด เราเริ่มกลัวเลยชวนเพื่อนไปด้วย ตอนนั้นรู้สึก uncomfortable มากๆ  เพราะเขาเอามือมาจับขาเรา นั่งเบียดๆ โอบไหล่ด้วย หลายครั้งมากกกก

ตอนนั้นเราลังเลว่าตัวเองกำลังถูกคุกคามหรือเป็นวัฒนธรรมของเขา แต่ยังไงก็ไม่โอเคอ่ะ เลยตัดสินใจบอกไปว่า  "ขยับออกไปได้ไหม?" เขาก็ดูอึ้งๆ หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยมายุ่งกับเราอีกเลย

ออมสิน: ที่อเมริกามีเหตุกราดยิงเยอะ ระบบรักษาความปลอดภัยที่นี่เลยสูงมาก คนต้องอยู่ในตึกเท่านั้นและมีตำรวจเฝ้า ช่วงพักเที่ยงถ้ากินเสร็จเร็วก็ออกไปไหนไม่ได้  และจะมีซ้อมรับมือเหตุการณ์ตลอด  แต่มีวันนึงที่ต้องซ้อมพอดี เรายังออกจากห้องเรียนไม่ได้ แต่รู้สึกเอ๊ะ มันซ้อมนานเกินไปเลยแอบเปิดม่านออกไป ปรากฏว่าเห็นตำรวจเต็มโรงเรียน! 

พอเพื่อนๆ ก็เปิดโทรศัพท์เช็กข่าวแล้วเจอว่ามีเหตุระเบิดในโรงเรียน คือเราตกใจมากกก หลังจากนั้นเขาก็ให้อพยพออกจากตึก แต่เหตุการณ์ไม่ได้วุ่นวายเพราะมีซ้อมเป็นประจำอยู่แล้ว เด็กที่นี่ก็ดูไม่ได้กลัวด้วยทั้งที่มีทั้งตำรวจ หมาตำรวจ รถโรงพยาบาลเต็มไปหมด เราก็รอจนกว่าเขาจะตรวจสอบเสร็จ สรุปว่าพลิกล็อก ไม่เจอระเบิด แต่มีคนเขียนคำว่า ระเบิด ในห้องน้ำ สืบไปสืบมาถึงพบว่าเป็นเด็กในโรงเรียนทำ เพราะช่วงนั้นมีการสอบ SOL (คล้ายข้อสอบของรัฐ ถ้าสอบผ่านไม่ต้องสอบไฟนอล) แล้วเขาไม่อยากสอบเลยสร้างสถานการณ์ขึ้นมา

Q: การแลกเปลี่ยน ได้เปลี่ยนอะไรเราบ้าง? 

เมนี่: เรื่องภาษาคือเห็นชัดมาก พูดภาษาอังกฤษคล่องและออกเสียงถูกต้องมากขึ้น แล้วยังมั่นใจขึ้นด้วย เราสามารถพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักได้ แล้วยังได้ลองทำสิ่งที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้ทำ เช่น ทำ musical , ทำจิตอาสา, เต้น Swing Dance

หลังจากกลับมาแม่ยังบอกว่า "เราเหมือนเป็นลูกธนูที่พร้อมพุ่งชนไปข้างหน้าอยู่ตลอด" ถึงแม้พื้นฐานจะยังเป็น introvert อยู่ก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็กล้าเข้าหาคนอื่นและออกไปทำกิจกรรมมากกว่าเดิม  มองโลกในแง่ดีและรักตัวเองมากขึ้น (เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวไปเยอะมากกก 555) 

สิ่งที่เราว่ามีค่ามากคือการได้เปิดมุมมองชีวิตและพาไปเจอคนจากหลากหลายชาติ เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมมากขึ้น และเห็นปัญหาสังคมที่เราเคยคิดว่าคงหมดไปจากอเมริกาแล้ว แต่จริงๆ ยังมีอยู่  เช่นเรื่องการเหยียดสีผิว (Racism)  พอกลับมารู้สึกอินเรื่องวัฒนธรรมมาก ตอน ม.6 เลยลงเรียน AP Literature ได้วิเคราะห์วรรณกรรม กลอนต่างๆ ที่ทำให้เราเหมือนได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมอีกครั้ง เป็นแรงบันดาลใจให้เราเลือกเข้าคณะอักษรศาสตร์ เพราะคิดว่าถ้าได้เข้าคณะนี้ก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น และรับรูุ้มุมมองอื่นๆ ในสังคมที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เมนี่
เมนี่

ออมสิน:  เรารู้สึกตัวเองโตขึ้นนิดหน่อย (เพราะอายุเพิ่มขึ้น 5555) แต่คนอื่นบอกเราดูโตและดูมีความมั่นใจขึ้นเยอะมากก กล้าเถียงกับครูมากขึ้น เราเคยขอไม่ให้ครูประกาศคะแนนแบบออกเสียงด้วย ส่วนภาษาก็เปลี่ยนจากคนที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย ให้พูดคล่องขึ้นเพราะใช้บ่อย

แล้วเหมือนกับว่าเรามองโลกกว้างขึ้นเรื่องวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และได้เปิดโลกเรื่องผู้ลี้ภัย (refugee) ทำให้เราอยากช่วยคนกลุ่มนี้มากขึ้น บวกกับโฮสต์พ่อทำอาชีพเกี่ยวกับ NGOs ทำให้ภาพเป้าหมายการเข้าคณะรัฐศาสตร์ของเรายิ่งชัดขึ้นไปอีก บางวิชาที่เราลงที่นั่นอย่าง Human Geography ก็ปูพื้นฐานความรู้ด้านนี้พอดี

ออมสิน
ออมสิน

Q: ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากทำอะไร?

เมนี่: ตอนนั้นเรารู้สึกว่าถ้าเราคุยเก่งกว่านี้คงมีเพื่อนเยอะแล้ว แต่พอมองกลับไปจริงๆ ก็รู้สึกตัวเองเก่งมากแล้ว ทำได้สุดมากแล้ว ไม่มีอะไรน่าเสียดายแล้วค่ะ  

ออมสิน: ทำไมเราไม่เข้าวงการแต่งหน้าตั้งแต่ตอนนั้น ที่นั่นเครื่องสำอางถูกๆ ดีๆ เยอะ เพิ่งจะมาเริ่มแต่งตัวแต่งหน้าตอนหลังๆ นี่เอง ก็รู้สึกเสียดาย ทำไมตอนนั้นยังยึดติดในกรอบความเป็นไทย ไม่ยอมแต่งหน้าแต่งตัว 555555  

Q: ชวนทิ้งท้ายถึงคนอยากแลกเปลี่ยน 

เมนี่: ถ้าพร้อมและมีโอกาสได้ไป ก็ไปเถอะ ถึงเรื่องที่เราเจอมาจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีมาก แต่มันทำให้เราโตขึ้นจริงๆ เหมือนได้ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อเข้าไปคุยกับใครสักคน 

สุดท้ายนี้ถ้าน้องๆ อยากทำอะไรก็ทำเลย ถึงสุดท้ายแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยได้พยายามลองทำเต็มที่แล้ว ดีกว่ามาเสียดายทีหลัง

ออมสิน: ถ้าใครมีทุนทรัพย์พร้อมก็อยากเชียร์ให้ไปจริงๆ คือจากที่อ่านเราเล่าเรื่องที่โรงเรียน มันก็อาจจะดูแย่ แต่พอมองกลับไปเราก็ภูมิใจกับตัวเองมาก อยากให้น้องๆ ลองออกไปเจอโลก ถึงตอนนี้มันจะเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว แต่ก็ไม่เท่าไปเจอจริงๆ ต้องได้ไปเจออีกซีกโลกหนึ่งว่าเขาทำอะไรกัน ไปสัมผัสความแตกต่าง จะทำให้เราเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น

........

จบกันไปแล้วนะคะกับประสบการณ์ของชาว introvert ทั้งสองคน ทำให้เราได้เห็นว่าการไปแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้มีด้านที่สวยงามอย่างเดียว ที่เราเห็นชีวิตเปลี่ยนของคนอื่นดีจัง ก็อาจจะเป็นเพราะเขาโชว์ให้เราเห็นแต่ด้านดีๆ เท่านั้น แต่การแลกเปลี่ยนก็ให้ประสบการณ์ต่างๆ มากมายนะคะ ได้ลองท้าทายตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง และอาจทำให้เราได้ค้นพบตัวตนในเวอร์ชันใหม่ๆ ของตัวเองอีกด้วย น้องๆ คนไหนอยากลองไปแลกเปลี่ยนแบบพี่เมนี่และพี่ออมสินดูบ้าง ลองศึกษารายละเอียดและเตรียมพร้อมให้ดี พี่เป็นกำลังใจให้นะคะ :) 

โครงการแลกเปลี่ยน AFS
พี่แพรวแพรว
พี่แพรวแพรว - Columnist มนุษย์ฝึกงาน ผู้หลงรักศิลปินเกาหลี ซีรีส์ และการนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น