เส้นทางเศรษฐี! รู้จักวิธีออมเงิน และประเภทของการลงทุน ที่วัยรุ่นควรศึกษาไว้!

Spoil :

  • Tips บริหารเงินออมในกระปุก 4 ใบ สำหรับใช้เมื่อฉุกเฉิน ใช้จ่ายในเป้าหมายการเงินระยะสั้น ระยะยาว และการลงทุนให้เงินทำงาน
  • หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม แตกต่างกันยังไง ผลตอบแทนมาจากไหน รู้จักการลงทุนพื้นฐานใกล้ตัวที่ควรรู้ไว้ตั้งแต่วัยรุ่น
  • การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลความน่าเชื่อถือ ลงทุนตามความเหมาะสมของรายได้และค่าใช้จ่ายประจำของตัวเอง

ในช่วงปีสองปีมานี้ ทั้งโควิด-19 ที่ยังระบาดไม่หยุดไม่หย่อน ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำจนทุกคนรู้สึกได้ แม้แต่วัยรุ่นอย่างเราๆ ที่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองยังสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ ก็ยังรู้สึกว่าต้องลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของตัวเองบางอย่างลงบ้าง และหันมาหาวิธีเก็บเงินหรือหาเงินเข้ากระเป๋ามากขึ้น

เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่า การออมเงินหรือวางแผนการเงินไว้สำหรับอนาคต เป็นเรื่องไกลตัว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ทุกคนเรียนรู้ว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ และเราควรมีเงินทุนสำรองไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่มันเกิดขึ้นได้จริง เราจึงมี วิธีบริหารจัดการเงินออมอย่างเป็นระบบ และการลงทุนพื้นฐานที่วัยรุ่นอย่างเราควรรู้ไว้  เพื่อสร้างสร้างความมั่นคงให้เราในอนาคต

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

บริหารเงินออมให้เรามั่นคง พร้อมรับทุกสถานการณ์

ก่อนอื่นต้องปูพื้นฐานกันก่อนว่า เงินออมที่มีอยู่หรือเงินออมในอนาคตของเรา ควรบริหารจัดการยังไง นั่นก็คือ หลักการออมเงินในกระปุก 4 ใบ นั่นเอง หลายๆ คนน่าจะงงว่า ทำไมต้องออมในกระปุกตั้ง 4 ใบ แต่จริงๆ แล้ว มันคือการแบ่งเงินออมออกเป็น 4 ส่วน เพื่อให้เงินออมของเราเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง ได้แก่

กระปุกที่ 1 ไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน

ก็คือเงินสำหรับใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตอนเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน 

กระปุกที่ 2 ไว้ใช้จ่ายกับเป้าหมายระยะสั้น 

เช่น เก็บเงินซื้อโทรศัพท์มือถือ ของที่อยากได้ หรือเก็บเงินสำหรับทริปเที่ยวกับเพื่อนๆ 

กระปุกที่ 3 ไว้ใช้จ่ายกับเป้าหมายระยะยาว

เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนต่อ ซื้อบ้านซื้อรถในอนาคต หรือเป็นเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหากว่างงาน

กระปุกที่ 4 ไว้สำหรับลงทุน

เป็นส่วนเงินออมที่ไว้ลงทุนต่างๆ เพื่อให้เงินทำงานด้วยตัวเอง เช่น การฝากเงินให้ได้ดอกเบี้ย การลงทุนในหุ้นและกองทุน

อ่านถึงตรงนี้อาจจะตกใจกัน ว่าเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่เลยจะหาเงินจากไหน และต้องออมเงินเยอะขนาดนี้เลยหรอ แต่ที่จริงแล้วหลักการออมในกระปุก 4 ใบ เป็นแค่การทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเราควรจัดการเงินของเราอย่างไร หากได้เรียนรู้เรื่องการจัดการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เราเคยชินเป็นนิสัยและสามารถบริหารจัดการเงินของเราได้เมื่อโตขึ้นได้ และการออมเงินไม่จำเป็นต้องออมทีละเยอะๆ จนรู้สึกว่าลำบาก หรือต้องลดรายจ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ไป สำหรับวัยรุ่นหรือมือใหม่หัดออมอย่างเราๆ เริ่มต้นออมแค่ 10% ของรายรับก็พอแล้ว หากมีรายรับมากขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มการออมไปเรื่อยๆ 

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

การลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นวัยรุ่นก็เริ่มได้

นอกจากการออมเงินหรือฝากเงินไว้ในธนาคารแล้ว แต่ถ้าฝากเงินไว้เฉยๆ ต่อไป ดอกเบี้ยที่ได้คงไม่สู้เงินเฟ้อในอนาคต ในตอนนี้เราจึงได้เห็นวัยรุ่นหลายๆ คน ลองหาวิธีอื่นๆ ให้เงินทำงานด้วยตนเอง เพื่อเรียนรู้และสร้างรายได้ให้ตัวเองกันได้หลายๆ วิธีแล้ว เช่น การลงทุนในหุ้น กองทุน หรือสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ยังสับสนและไม่รู้ว่าการลงทุนแต่ละรูปแบบต่างกันอย่างไร เราจึงเอาการลงทุนพื้นฐานที่ควรรู้เบื้องต้นมาฝากชาว Dek-D กัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย

หุ้น - การลงทุนในตลาดหุ้น เราจะได้ผลตอบแทน 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ เงินปันผล และ กำไรจากการซื้อขายหุ้น 

เงินปันผล คือ ผลตอบแทนจากการถือหุ้น สมมติว่าเราสนใจและซื้อหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่ง เราก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น และเมื่อบริษัทได้กำไรก็จะแบ่งเงินมาเป็นผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น เรียกว่า เงินปันผล ในอัตราหุ้นละเท่าๆ กัน ถ้าถือหุ้นมากก็ได้เงินปันผลมาก 

กำไรจากการซื้อขายหุ้น หรือส่วนต่างราคาหุ้น ก็คือการที่เราซื้อหุ้นมาในราคาถูกแต่เมื่อเวลาผ่านไปเราขายหุ้นนี้ได้ในราคาแพงมากกว่าที่เราซื้อมา ส่วนต่างนี้ก็คือกำไรจากการซื้อขายหุ้นนั่นเอง แต่ก็มีหลายคนที่ซื้อหุ้นมาแพงแต่ขายได้ถูก เพราะตลาดหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ก็เป็นธรรมดาของการลงทุนที่ผู้ลงทุนอย่างเราๆ ต้องรับความเสี่ยงนี้ให้ได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงทุน 

ข้อดีของการลงทุนในหุ้นคือ สามารถเริ่มต้นได้ง่ายแม้มีต้นทุนไม่มากนัก แต่ข้อเสียก็คือความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้น เราจึงต้องติดตามกระแสต่างๆ ของโลกตลอดเวลา เลือกซื้อหุ้นจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต และราคาเหมาะสมกับตัวเอง 

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

ตราสารหนี้ - ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อรัฐบาลหรือหน่วยงานเอกชนต้องการกู้เงินจากประชาชนเพื่อดำเนินธุรกิจหรือโครงการบางอย่าง ก็จะออกตราสารหนี้มาให้ผู้ที่สนใจลงทุนซื้อเก็บไว้ ถ้าเป็นของรัฐบาล เรียกว่า “พันธบัตร” ส่วนของเอกชนจะเรียกว่า “หุ้นกู้” ผู้ซื้ออย่างเราๆ ก็จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและได้สม่ำเสมอ เป็นการลงทุนที่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมาก แต่อย่าเพิ่งวางใจ ถ้าสนใจลงทุนใน “หุ้นกู้” ก่อนลงทุนเราต้องหาข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และจะสามารถจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เราได้ ซึ่งก็ดูได้จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ Credit Rating 

ภาพจาก pexels.com
ภาพจาก pexels.com

กองทุนรวม - เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่มีเวลาน้อย กองทุนรวมคือการระดมเงินทุนจำนวนน้อยๆ จากคนจำนวนมาก ตั้งเป็นกองทุนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยแต่ละกองทุนจะมี ผู้จัดการกองทุน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการลงทุนเป็นผู้ดูแลนำเงินของเราไปลงทุนให้ในหุ้นหรือตราสารหนี้ที่น่าสนใจ เพื่อให้ได้กำไรนั่นเอง แต่กองทุนรวมก็มีข้อจำกัดเช่นกันคือ ไม่เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้นๆ 

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

ในปัจจุบันนี้การลงทุนมีหลายประเภทมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกลงทุนประเภทไหนก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพร้อมของเราที่เป็นผู้ลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่ควรจำไว้ให้ขึ้นใจก็คือ การลงทุนในทุกๆ ประเภทมีความเสี่ยง เราจึงควรลงทุนเท่าที่เหมาะกับเรา และต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 หวังว่าความรู้ที่เรานำมาฝากในครั้งนี้ จะทำให้ชาว Dek-D เห็นความสำคัญของการออมและการบริหารจัดการเงินของตัวเองกันมากขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือในทุกๆ สถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และมีเงินเก็บเพื่อใช้เติมเต็มความฝันในอนาคตของทุกๆ คนนะคะ ถ้าใครมีวิธีการเก็บเงิน หรือประสบการณ์การลงทุนของตัวเอง อยากแบ่งปัน ก็มาแชร์กันในคอมเมนต์ได้เลย

 

ที่มา https://www.investopedia.com/articles/basics/11/3-s-simple-investing.asphttps://media.setinvestnow.com/setinvestnow/Documents/2020/Nov/02_financial-planning-teenagers.pdf 

 

 

พี่แก้มแก้ม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น