โศกนาฏกรรมตราบาปของ ‘แคนาดา’ เมื่อโรงเรียนเคยเป็นสถานที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม!

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จัก ‘Genocide’ หรือ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ การกระทำอันโหดร้ายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาติพันธ์ุใดชาติพันธุ์หนึ่งต้องดับสูญ เช่น เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์  

แต่มีใครรู้บ้างไหมคะว่าการทำให้ชาติพันธุ์ใดๆ สูญหาย ไม่ได้จำเพาะเจาะจงที่เพียงการพรากชีวิตและลมหายใจของพวกเขาไปเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำที่โหดร้ายและทารุณไม่ต่างกันเรียกว่า ‘Cultural Genocide’ หรือ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุทางวัฒนธรรม’ นั่นเองค่ะ

วันนี้พี่ออมสินจะพาน้องๆ ไปย้อนรอยโศกนาฏกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรมของ ‘แคนาดา’ ประเทศที่ได้ชื่อว่าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และความหดหู่คือเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในรั้ว ‘โรงเรียน’ ความจริงทางประวัติศาสตร์จะโหดร้ายมากขนาดไหน ตามไปไขปริศนานี้พร้อมกันเลยค่ะ 

*Trigger Warning: บทความนี้มีเนื้อหาที่กระทบจิตใจ

หลุมฝังศพไร้ชื่อ กับร่างเด็กพื้นเมืองนับพัน

Kamloops Indian Residential School
Kamloops Indian Residential School
Photo Credit: BBC

ในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม 2021 ณ รัฐ British Columbia ประเทศแคนาดา ระหว่างที่มีการสำรวจพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ 'Kamloops Indian Residential School' โรงเรียนประจำสำหรับชนพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา หลังจากทีมสำรวจลองใช้สัญญาณเรดาห์ที่สามารถส่องทะลุไปถึงใต้ดินได้ พวกเขาก็พบว่าพื้นที่นั้นมีหลุมฝังศพที่ยังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนหรือลงชื่อใดๆ และภายในนั้นมีซากศพของเด็กนักเรียนชาวพื้นเมืองกว่า 215 ชีวิต!

Kamloops Indian Residential SchoolPhoto Credit: BBC
Kamloops Indian Residential SchoolPhoto Credit: BBC

Stephanie Scott ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่อความจริงและการปรองดองแห่งชาติ (National Centre for Truth and Reconciliation) กล่าวว่าในจำนวนเด็กทั้งหมดนี้ สามารถระบุตัวตนได้เพียง 50 คน ซึ่งพวกเขาเสียชีวิตระหว่างปี 1900-1971 แต่คนที่เหลือนั้นไม่สามารถระบุตัวตนได้ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าเด็กที่อายุน้อยที่สุด มีอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้นเองค่ะ

จากการค้นพบในครั้งนี้ ทางการและผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการค้นหาต่อไป เพราะพวกเขาเชื่อว่าในพื้นที่โรงเรียนอื่นที่ถูกฝังกลบ ยังคงมีชีวิตน้อยๆ อันน่าสงสารที่ถูกฝังอยู่ภายใต้ความมืดมิดและหนาวเหน็บ รอให้คนไปพบและนำเอาพวกเขาขึ้นมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง

พื้นที่ใกล้เคียง Marieval Indian Residential School ที่พบหลุมศพ
พื้นที่ใกล้เคียง Marieval Indian Residential School ที่พบหลุมศพ
Photo Credit: CNN

ล่าสุดในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา ชาวพื้นเมืองชาติแรกดั้งเดิม (First Nations) กลุ่ม Cowessess ผู้อาศัยอยู่ที่รัฐซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) ได้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาก็พบหลุมศพที่ฝังร่างเด็กชนพื้นเมืองอีกอย่างน้อยกว่า 700 ชีวิต ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของ 'Marieval Indian Residential School' โรงเรียนประจำในอดีตอีกเช่นกัน

ภาพวิว Cowesses Indian Residential School ปี 1923
ภาพวิว Cowesses Indian Residential School ปี 1923
Photo Credit: CNN

“เราภูมิใจในชาติพันธุ์ของเรา อาชญากรรมเดียวที่พวกเราเคยก่อในวัยเด็กคือการเกิดมาเป็นชนพื้นเมือง” Bobby Cameron หัวหน้าสมาพันธ์ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Federation of Sovereign Indigenous First Nations) 

“โลกกำลังจับตามองแคนาดาอยู่ เนื่องจากพวกเราได้ขุดเอาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมาบนพื้นโลก เรามีค่ายกักกันอยู่ที่นี่...ในแคนาดา...ในรัฐซัสแคตเชวันแห่งนี้ ที่ถูกเรียกว่าโรงเรียนประจำของชาวอินเดียน แคนาดาจะต้องถูกจดจำในฐานะชาติที่พยายามจะทำลายล้างชนพื้นเมืองดั้งเดิม เรามีหลักฐานทั้งหมด” Bobby Cameron

ภาพการไว้อาลัยของชาวแคนาดาต่อเหตุการณ์นี้
ภาพการไว้อาลัยของชาวแคนาดาต่อเหตุการณ์นี้
Photo Credit: BBC

จากการขุดพบร่างเด็กผู้เสียชีวิตนับร้อยรายนี้เอง ได้สร้างความสะเทือนใจและเศร้าสลดให้กับประชาชนชาวแคนาดาเป็นอย่างมาก พวกเขาพากันวางดอกไม้และตุ๊กตาเพื่อแสดงความอาลัยให้กับทุกชีวิตที่เสียไป ด้านนายกรัฐมนตรีของแคนาดาเองก็ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันค่ะ

นายกรัฐมนตรี Justin Trudeau คุกเข่าไว้อาลัย
นายกรัฐมนตรี Justin Trudeau คุกเข่าไว้อาลัย
Photo Credit: BBC

รู้จักชนพื้นเมืองในแคนาดา

‘Indigenous Peoples’ (Aboriginal Peoples) หรือ ‘ชนพื้นเมือง’ เป็นกลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว มีโครงสร้างสังคม ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนเป็นของตัวเองมาเนิ่นนานในดินแดนทวีปอเมริกาเหนือ ก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินทางมาถึงและก่อร่างสร้างชาติแคนาดาเสียอีก โดยชาวพื้นเมืองในแคนาดาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ 

First Nations

Photo Credit: Origins
Photo Credit: Origins

‘First Nations’ หรือกลุ่มชนชาติแรกดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ของแคนาดามายาวนาน เป็นการเรียกรวมๆ ของชาวพื้นเมืองทั้งหมดที่ประกอบไปด้วย 630 ชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของ 50 ชาติพันธุ์และ 50 ภาษาพื้นเมือง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคอาร์กติก(Arctic)

Inuit

Photo by A.P. Low, courtesy Library and Archives Canada
Photo by A.P. Low, courtesy Library and Archives Canada

‘Inuit’ หรือชาวเอสกิโม ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่ตอนเหนือของแคนาดา บ้านของพวกเขามีชื่อเรียกว่า ‘Nunangat’ ซึ่งประกอบไปด้วยผืนดิน ผืนน้ำ และน้ำแข็งในภูมิภาคอาร์กติก (Arctic)

Métis

Photo by Robert Bell, courtesy of Library and Archives Canada
Photo by Robert Bell, courtesy of Library and Archives Canada

Métis ชนกลุ่มนี้เป็นลูกผสมระหว่างชาวยุโรปที่เดินทางอพยพเข้ามาในแคนาดากับลูกหลานของชนพื้นเมืองดั้งเดิมค่ะ

เกิดอะไรขึ้นในอดีต
ณ โรงเรียนประจำของชนพื้นเมือง?

Photo Credit: BBC
Photo Credit: BBC

หลังจากชาวยุโรปได้เดินทางอพยพเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ พวกเขาไม่เพียงปฏิเสธการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสงบสุขกับชาวพื้นเมือง แต่ยังขับไล่ไสส่งและกีดกันเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เทียบเท่าชาวผิวขาวที่เข้ามาอาศัยและตั้งรกรากภายหลัง

เพื่อที่จะกวาดล้างชนพื้นเมืองให้หมดไป รัฐบาลในสมัยนั้นได้ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘Cultural Genocide’ หรือการกวาดล้างทางวัฒนธรรม ในช่วงปี 1874-1996 โดยมีนโยบายให้จัดตั้งโรงเรียนประจำ(Residential School)ทั้งหมดกว่า 130 แห่ง ทั่วทั้งแคนาดา ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้อยู่ในการบริหารงานโดยกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

Photo Credit: Origins
Photo Credit: Origins

นโยบายที่นำเอาลูกหลานชาวพื้นเมืองเข้าเรียนในโรงเรียนประจำกลายเป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ในช่วงปี 1920 ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมทุกครอบครัวจะต้องส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียน พ่อแม่หรือผู้ปกครองคนใดที่ไม่ยอมให้ลูกตัวเองไปเรียนจะถูกจำคุกอย่างไม่มีเงื่อนไขเลยค่ะ

เด็กชาวพื้นเมืองกว่า 150,000 คนถูกแยกจากพ่อแม่และถูกสั่งห้ามไม่ให้พบกับคนในครอบครัว ที่โรงเรียนเด็กๆ ถูกบังคับให้พูดภาษาอังกฤษห้ามพูดภาษาประจำเผ่าเด็ดขาด ให้ละทิ้งความเชื่อและวัฒนธรรมของตน แล้วหันมานับถือศาสนาคริสต์และเชื่อในพระเจ้า 

และนอกเหนือจากการถูกบังคับให้ทอดทิ้งรากวัฒนธรรมของตนแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กเหล่านี้ก็ไม่ได้ดีเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ไร้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการ อาคารที่พักอันหนาวเหน็บ สุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ยามที่เด็กป่วยไข้ก็ไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ใดๆ

Photo Credit: Origins
Photo Credit: Origins

ณ ช่วงเวลานั้นพวกเขายังถูกทารุณต่างๆ มากมายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ถูกตัดผมให้สั้น ซึ่งถือเป็นการทำร้ายจิตใจขั้นรุนแรง เพราะเส้นผมในความหมายของชนพื้นเมืองบางเผ่านั้น เปรียบเสมือนจิตวิญญาณหรือสิ่งที่สร้างพลังอำนาจให้กับตัวเอง อีกทั้งเด็กผู้ชายยังถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนเด็กผู้หญิงถูกบาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศ และถ้าหากตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน ทารกที่คลอดออกมาจะถูกแยกจากแม่และจับโยนใส่เตาเผา! 

Photo Credit: Origins
Photo Credit: Origins

เด็กหลายคนพยายามหนีออกมา แต่ก็มีคนที่ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ และมีเด็กหลายคนที่ต้องเสียชีวิตลง ในปี 2015 ได้มีการคาดการณ์ว่ามีเด็ก 6,000 กว่าคนที่เสียชีวิตระหว่างอยู่ในโรงเรียน โดยที่ไม่เคยได้กลับไปสู่อ้อมกอดของพ่อแม่อีกเลยตลอดกาล

Photo Credit: Origins
Photo Credit: Origins

ใครคือผู้รับผิดชอบ
กับโศกนาฏกรรมครั้งนี้?

นายกรัฐมนตรี Stephen Harper แถลงการณ์ขอโทษต่อชนพื้นเมือง
นายกรัฐมนตรี Stephen Harper แถลงการณ์ขอโทษต่อชนพื้นเมือง
Photo Credit: CBC

 

ในปี 2008  Stephen Harper นายกรัฐมนตรีของแคนาดาในขณะนั้น ได้ออกมาเป็นตัวแทนของรัฐบาลและกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อโศกนาฏกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยได้สื่อสารออกมาเป็น 7 ภาษาพื้นเมือง

แต่ในขณะเดียวกัน ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดการดูแลโรงเรียนประจำกว่า 70% ทั้งหมด ยังไม่มีคำขอโทษออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดค่ะ 

จากเหตุการณ์ที่มีการขุดพบหลุมศพของเด็กทั้งหมด 251 คนในเดือนพฤษภาคม ปี 2021  ทำให้นโยบายอันโหดร้ายของรัฐบาลแคนาดาในตอนนั้นได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมาก ผู้อำนวยการบริหารศูนย์เพื่อความจริงและการปรองดองแห่งชาติ (National Centre for Truth and Reconciliation) รวมถึงหัวหน้าชนเผ่าต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าพวกเขาต้องการที่จะให้มีการสืบสวนและตรวจสอบพื้นที่ของโรงเรียนทั้ง 130 แห่งอย่างละเอียด เพื่อค้นหาร่างที่ถูกทิ้งเอาไว้

“เราจะไม่หยุดค้นหาจนกว่าร่างของเหยื่อทุกชีวิตจะถูกค้นพบ” Bobby Cameron หัวหน้าสมาพันธ์ชนพื้นเมืองดั้งเดิม (Federation of Sovereign Indigenous First Nations) 

“ในตอนเด็กที่ฉันอยู่ในโรงเรียนประจำ ฉันถูกเหยียดชาติพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุด” 

Mary Bell, ผู้รอดชีวิตจากโรงเรียน

ให้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน

ทางรัฐบาลแคนาดาไม่ได้ฝังกลบและทำเป็นลืมเลือนอดีตอันโหดร้ายของชาติตน แต่พวกเขายอมรับว่านั่นเป็นความอัปยศ เป็นความจริงที่น่าอดสูในสิ่งที่รัฐบาลของพวกเขาเคยกระทำ 

“เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องเตือนใจอันน่าอับอาย กับระบบการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และความอยุติธรรมทั้งปวงที่พวกเขาผู้เป็นชนพื้นเมืองได้รับ และกำลังเผชิญอยู่ในประเทศนี้ พวกเราจำเป็นจะต้องตระหนักรู้ในความจริงที่เคยเกิดขึ้น เรียนรู้จากอดีต และเดินไปบนเส้นทางแห่งความปรองดองด้วยกัน เพื่อที่เราจะสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่า” 

— Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีของแคนาดา

 

Photo Credit: CBC
Photo Credit: CBC

เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรมนี้เองได้ถูกนำเสนอต่อสังคมผ่านซีรีส์เรื่อง ‘Anne With An E season 3’ Original Netflix จากประเทศแคนาดาด้วย โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละครเพื่อนรักของแอนน์ ‘กาเกว็ต’ เด็กสาวชาวพื้นเมืองเผ่า ‘Mi’kmaq’ ที่ถูกนำตัวไปที่โรงเรียนประจำ ซึ่งเธอต้องพบชะตากรรมที่เจ็บปวดและทุกข์ทรมาน ทั้งถูกตัดผม เปลี่ยนชื่อ บังคับให้ใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงถูกดุด่าและทำร้ายร่างกายอีกด้วย เมื่อเธอพยายามหนีออกมาก็ถูกตามจับตัวกลับไปอีก 

และในตอนจบบทสรุปของตัวละครนี้ไม่ได้จบอย่างสุขนิรันดร์ เพราะกาเกว็ตไม่ได้ออกมาจากโรงเรียนอีกเลย เช่นเดียวกับชะตากรรมของเด็กผู้โชคร้ายเหล่านั้นที่ถูกพรากอิสรภาพ โอกาส และลมหายใจ

Photo Credit: Twitter @AnneWithAnE
Photo Credit: Twitter @AnneWithAnE

...

นับเป็นโศกนาฏกรรมความเจ็บปวดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศแคนาดา เหยื่อเป็นแค่เด็กที่ควรจะได้เติบโตและสัมผัสความสวยงามของโลกใบนี้ แต่พวกเขายังไม่ทันจะได้ใช้ชีวิตอิสระภายใต้ท้องฟ้าสีครามกว้างใหญ่ กลับต้องสังเวยชีวิตและถูกฝังใต้ผืนดินมืดมิดอันเหน็บหนาวอย่างโดดเดี่ยว เพียงเพราะความเกลียดชังและอคติต่อชาติพันธุ์ของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น 

และความโหดร้ายพวกนี้จะไม่หายไปไหน หากเราไม่เรียนรู้ที่จะเคารพรวมถึงปฏิบัติกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียม ตราบใดที่เรามองเพื่อนร่วมโลกเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา เมื่อนั้นโลกใบนี้จะไร้ซึ่งเสียงร่ำไห้ แต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างที่ควรจะเป็น

 

 

sources:https://www.bbc.com/news/world-us-canada-57291530https://www.bbc.com/news/world-us-canada-57325653https://edition.cnn.com/2021/06/24/americas/canada-unmarked-graves-discovered/index.htmlhttps://www.rcaanc-cirnac.gc.ca/eng/1100100013785/1529102490303https://www.thecanadianencyclopedia.ca/en/article/aboriginal-peoplehttps://origins.osu.edu/article/canada-s-dark-side-indigenous-peoples-and-canada-s-150th-celebrationhttps://www.reuters.com/world/americas/remains-215-children-found-former-indigenous-school-site-canada-2021-05-28/https://www.bbc.com/news/world-us-canada-57592243https://www.cbc.ca/archives/government-apologizes-for-residential-schools-in-2008-1.4666041https://www.cbc.ca/anne/m_characters/kakwethttps://twitter.com/AnneWithAnE/status/1208470305234149378/photo/1
พี่ออมสิน
พี่ออมสิน - Columnist Mirror mirror on the wall who is the fairest of them all : ME

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น